WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Friday, November 27, 2009

ธีระ สุธีวรางกูร: อย่าจำกัดการแข่งขันในการประมูลคลื่นความถี่ 3G

ที่มา ประชาไท

คงเป็นเรื่องธรรมดาเสียแล้วสำหรับ สังคมไทยที่วาทกรรมเรื่องความรักชาติจะถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ในสถานการณ์ใด สถานการณ์หนึ่งเพื่อนำมาเป็นเหตุผลในการสนับสนุนข้ออ้างของฝ่ายหนึ่งและ เพื่อต่อต้านฝ่ายตรงกันข้าม

ข้อกล่าวอ้างนี้เป็นเรื่องยอดนิยม เพราะทำได้ง่ายโดยไม่จำเป็นต้องมีคำอธิบายทางวิชาการ
เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้แต่ในเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ 2.1GHz หรือ3G ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ข้ออ้างดังกล่าวก็ยังถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อกีดกันบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติ ไม่ให้ได้รับสิทธิในการใช้คลื่นความถี่เพื่อแข่งขันในการเป็นผู้ให้บริการด้วย
การกีดกันดังกล่าวนี้จะทำให้เกิดการจำกัดการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ
3G คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร
ความจริงแล้ว การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่สามหรือ 3G ถือเรื่องธรรมดามากสำหรับการพัฒนาทางเทคโนโลยี เพราะเป็นการพัฒนาที่ต่อยอดจากการให้บริการด้วยเทคโนโลยีที่ให้บริการอยู่ แล้วในขณะนี้ เพียงแต่ว่าการให้บริการ 3G จะทำให้ผู้ใช้บริการสามารถรับและส่งข้อมูล (data) ด้วยความเร็วที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค นอกจากนั้น ก็ยังทำให้การใช้อินเตอร์เน็ตหรือดาวน์โหลดข้อมูลในขณะที่ผู้ใช้บริการ เคลื่อนที่อยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในการให้บริการ 3G นั้น ผู้ประกอบการจะต้องได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งคลื่นความถี่ย่าน 2.1GHz เป็นคลื่นความถี่ย่านหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ได้ตามมาตรฐานสากล และในขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็จะต้องสร้างโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อให้บริการ 3G ด้วย โดยคาดการณ์กันว่าการลงทุนในเรื่องนี้จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 300,000 ล้านบาท
จากการศึกษาของ GSM Association (GSMA) ระบุว่าหากมีการให้บริการ 3G ระหว่างปี พ.ศ. 2553 ถึง พ.ศ. 2557 จะก่อให้เกิดการจ้างงานเกือบ 80,000 ตำแหน่งต่อปี นอกจากนั้น การใช้อินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 10% จะทำให้ GDP ของประเทศโตขึ้นประมาณ 1.3 % อีกทั้งรัฐยังจะได้รับรายได้เพิ่มขึ้นจากการที่บริษัทที่ให้บริการต้องเสีย ค่าคลื่นความถี่ให้แก่รัฐและต้องเสียภาษีนำเข้าอุปกรณ์ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการให้บริการ 3G และที่ต้องไม่ลืมก็คือ การเกิดบริษัทที่ให้บริการด้านเนื้อหา (content) ยังทำให้รัฐได้รับภาษีในด้านต่างๆ อีกมาก การพัฒนาเทคโนโลยีก็จะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเจริญก้าวหน้าและมีความ สะดวกยิ่งขึ้น
อนึ่ง หากมองในภาพของประชาชน กิจการโทรคมนาคม และประโยชน์ต่อสังคม ประชาชนเองในฐานะที่เป็นผู้บริโภคก็จะได้สิทธิในการเลือกใช้บริการที่ดีที่ สุด และการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ง่ายจะทำให้เกิดการพัฒนาด้านการให้บริการ สาธารณะสุข โรงพยาบาล การศึกษาและการพัฒนาท้องที่ห่างไกล กล่าวได้ว่าการให้บริการ 3G จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศในวงกว้างต่อเนื่องกันไปเป็นลูกโซ่ไม่รู้จบ
อย่างไรก็ดี หลังจากที่ กทช. ได้เผยแพร่ร่างข้อสนเทศหรือ IM และได้จัดการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะไปเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2552 ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งมีความพยายามกีดกันไม่ให้บริษัทที่มีผู้ถือหุ้นต่างชาติเปิดให้ บริการ 3G ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ของประเทศไทยมีอยู่ 3 ราย โดย 2 ใน 3 รายมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นนักลงทุนต่างชาติ
หากการกีดกันดังกล่าวสัมฤทธิ์ผล ก็ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า การให้บริการ 3G ในประเทศไทยจะถูกจำกัดให้อยู่ในมือของผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงรายเดียว
การจำกัดการแข่งขันโดยอ้างเรื่อง “รัฐต่างด้าว” ข้ออ้างที่ยกขึ้นมาเพื่อจำกัดการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมมีหลายรูปแบบ รูปแบบแรก เห็นได้จากถ้อยแถลงของผู้แทนบริษัทเอกชนบางบริษัทในวันที่ กทช. จัดรับฟังความเห็นสาธารณะเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2552 ที่อ้างว่า ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่สองรายในประเทศไทยมีผู้ถือหุ้นที่ เป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลต่างประเทศอันขัดแย้งต่อมาตรา 84 (1) ของรัฐธรรมนูญ
ความจริงแล้วบทบัญญัติมาตรา 84 (1) ของรัฐธรรมนูญมิได้ห้ามรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไทยหรือรัฐบาลต่างประเทศ ในการถือหุ้นในบริษัทเอกชนเพื่อประกอบธุรกิจ และหากบริษัทนั้นๆไม่ ได้รับมอบหมายจากรัฐผ่านทางกฎหมายให้มีอำนาจรัฐแล้ว ลำพังการถือหุ้นในบริษัทเอกชนโดยรัฐบาลไทยหรือรัฐบาลต่างประเทศไม่ว่าในสัด ส่วนเท่าใด ย่อมไม่สามารถทำให้บริษัทที่รัฐถือหุ้นอยู่กลายเป็น”รัฐ” ขึ้นมาได้ จึงไม่สามารถตีความว่าการประกอบธุรกิจของบริษัทที่รัฐถือหุ้นอยู่นั้นเป็น การประกอบธุรกิจโดย ”รัฐ”
กรณีของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ประกอบธุรกิจในต่างประเทศ เป็นตัวอย่างที่ไม่เคยถือกันว่าเป็นเรื่องที่ ”รัฐไทย” เข้าไปประกอบกิจการในต่างประเทศ เพราะหากถือกันเช่นนั้น ก็จะเท่ากับว่าบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ย่อมไม่ตกอยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐต่างประเทศ เพราะตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายของรัฐหนึ่งจะบังคับเอากับรัฐต่างประเทศอีกรัฐหนึ่งไม่ได้
ด้วยเหตุผลข้อนี้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไม่ใช่รัฐไทย ฉันใด การที่รัฐบาลต่างประเทศมาลงทุนในบริษัทเอกชนในประเทศไทยไม่ว่าจะในสัดส่วน เท่าใด ก็ไม่ทำให้ ”บริษัท” นั้นกลายเป็น ”รัฐต่างด้าว” ขึ้นมาได้ ฉันนั้น ทั้งนี้ มิพักต้องพูดถึงว่าในทางข้อเท็จจริงแล้ว บริษัทดังกล่าวนั้นก็ตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายไทยอย่างสมบูรณ์
การจำกัดการแข่งขันโดยอ้างเรื่องการครอบงำกิจการโทรคมนาคมโดยคนต่างด้าว
ความพยายามจำกัดการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมรูปแบบที่สองก็คือการพยายามทักท้วงขอให้ กทช.ใช้อำนาจตามมาตรา 8 แห่ง พรบ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ออกกฎเกณฑ์พิเศษกีดกันไม่ให้บริษัทที่ผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติบริหารกิจการอยู่ เข้าร่วมขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ 2.1GHz โดยอ้างว่าคลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติ ไม่ควรตกอยู่ในมือของบริษัทเหล่านั้นอันจะมีผลให้เกิดการครอบงำกิจการโทรคมนาคมโดยคนต่างด้าว
การกล่าวอ้างเช่นนี้ ถือเป็นเหตุผลที่คลาดเคลื่อนจากสภาพความเป็นจริง เพราะในเมื่อคลื่นความถี่ 2.1 GHz เป็นทรัพยากรของชาติ จึงเป็นไปไม่ได้ที่คลื่นความถี่จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของต่างชาติได้ อีกทั้ง กทช.ก็เพียงแต่จะให้ ”สิทธิในการใช้” คลื่นความถี่ในระยะเวลาอันจำกัดแก่ผู้ที่ชนะการประมูลเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการขายคลื่นความถี่ให้ต่างชาติ
นอกจากนั้น ประเทศไทยยังมีนโยบายในการสนับสนุนให้มีการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติมาตลอด โดยในปี พ.ศ.2549 รัฐสภาได้ทำการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 เพื่อเชื้อเชิญให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบกิจการ โทรคมนาคมได้มากขึ้นจากที่อนุญาตให้ถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 25 มาเป็นถือหุ้นได้ไม่ถึงร้อยละ 50 เหมือนๆ กับธุรกิจให้บริการอื่นๆ และรัฐสภาก็ไม่ได้ตรากฎหมายจำกัดสิทธิของผู้ถือหุ้นต่างชาติในการออกเสียงใน ที่ประชุมผู้ถือหุ้น ประกอบกับการถือหุ้นร้อยละ 49 ก็ยากที่จะเป็นเสียงข้างน้อยในที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะสำหรับบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ อีกทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2550 – 2554 หน้า 93 ก็ได้ระบุว่า ประเทศไทยจะ “ทบทวน มาตรการส่งเสริมการลงทุนให้เอื้อต่อการประกอบการของนักลงทุนภายในประเทศและ นักลงทุนต่างประเทศภายใต้สภาพแวดล้อมของการแข่งขันที่เป็นธรรม” ในหน้า 150 ก็ระบุว่า ประเทศไทย ”ควรศึกษา…เพื่อกำหนด/ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุน…เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและสนับสนุนนักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ”
สิ่ง เหล่านี้เป็นที่เห็นได้ชัดว่าประเทศไทยยินดีที่จะให้นักลงทุนต่างชาติสามารถ เข้ามาลงทุนและบริหารบริษัทที่ประกอบกิจการโทรคมนาคมได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดการแข่งขันและเพื่อประโยชน์สุดท้ายของผู้บริโภคโดยรวม ดังนั้น แม้ พรบ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 จะเปิดช่องให้อำนาจ กทช. สามารถ กำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการครอบงำของคนต่างด้าวได้ แต่การออกกฎเกณฑ์ดังกล่าวนี้ก็ต้องมีเนื้อความที่สอดคล้องกับกฎหมายอื่นทั้ง ระบบ และจะต้องพิจารณาให้ดีว่ามีเหตุจำเป็นใดที่ สำคัญยิ่งกว่าการส่งเสริมการแข่งขันหรือไม่ และเหตุดังกล่าวนั้นสอดรับกับข้อยกเว้นที่กำหนดไว้ในมาตรา 43 และมาตรา 81(1) ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ไม่ว่าเหตุนั้นจะเป็นอย่างไร กฎเกณฑ์ดังกล่าวย่อมไม่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ถือหุ้นจนเกินสมควร
การจำกัดการแข่งขันโดยอ้างเรื่องความมั่นคง
ความพยายามจำกัดการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมรูปแบบที่สาม คือการมีผู้พยายามทักท้วงขอให้ กทช.กำหนดกฎเกณฑ์พิเศษ จำกัดมิให้บริษัทที่ผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติมีอำนาจบริหารกิจการ เข้าร่วมขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ 2.1GHz โดยอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงของชาติ
โดยแท้ที่จริงนั้น คลื่นความถี่ 2.1GHz เป็น คลื่นความถี่ที่ทั่วโลกยอมรับว่าใช้เพื่อกิจการทางพาณิชย์ ไม่ใช่เป็นคลื่นที่ใช้ในราชการทหาร นอกจากนั้น สารัตถะของกิจการโทรคมนาคมโดยตัวของมันเองก็มิได้เป็นเรื่องความมั่นคง เพราะหากเป็นเช่นนั้น ประเทศไทยก็คงไม่อนุญาตให้เอกชนเข้ามาร่วมให้บริการนี้ตั้งแต่ต้น และคงไม่แปลงสภาพองค์กรของรัฐทั้งสองแห่ง คือ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ให้เป็นบริษัทเอกชน
ส่วนข้ออ้างเรื่องการดักฟังการสนทนานั้น รัฐไทยก็สามารถประกาศใช้กฎหมายเพื่อควบคุมดูแลได้โดยสามารถลงโทษผู้ประกอบการที่กระทำผิดไม่ว่าจะมีผู้ถือหุ้นเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ ดังนั้น การกีดกันนักลงทุนต่างชาติโดยอ้างเหตุผลความมั่นคงจึงเป็นเรื่องที่ไม่รับ กับข้อเท็จจริง
การจำกัดการแข่งขันโดยการเสนอให้ กทช.ใช้วิธีการประกวดซอง (Beauty Contest)
แทนการประมูล หรือเสนอให้มีการกำหนดโควต้า (set aside)
ความพยายามจำกัดการแข่งขันในการให้บริการ 3G รูปแบบที่สี่ ก็คือการที่มีผู้พยายามเสนอให้ กทช. ทำการจัดสรรคลื่นความถี่โดยวิธีการประกวดซอง (beauty contest) แทนการจัดสรรโดยวิธีการประมูลที่เป็นการแข่งขันราคา กล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นการขอให้ ”ผู้ประกอบการที่ไม่มีผู้ถือหุ้นต่างชาติ มีสิทธิพิเศษไม่ต้องแข่งขันประมูลราคากับผู้ประกอบการที่มีผู้ถือหุ้นต่างชาติ” ซึ่งหากเป็นไปตามข้อเสนอนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการที่ไม่มีผู้ถือหุ้นต่างชาติ สามารถเสนอข้อเสนอทางเทคนิคและทางพาณิชย์ให้แก่ กทช.ทำการพิจารณาเพื่อจัดสรรคลื่นความถี่ให้แก่ตนได้ ซึ่งต่างจากวิธีการประมูลที่ กทช. จะจัดสรรคลื่นความถี่ให้แก่ผู้ที่ให้ราคาประมูลสูงสุด
อาจกล่าว ได้ว่าข้อเสนอข้างต้นไม่สอดรับกับข้อมูลทางวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ปัจจุบันต่างเห็นกันว่า การจัดสรรคลื่นความถี่โดยวิธีการประมูลเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากกว่า การจัดสรรคลื่นความถี่โดยวิธีการประกวดซอง เพราะวิธีการประมูลเป็นวิธีการที่โปร่งใสกว่าและเชื่อได้ว่าผู้ที่ชนะการ ประมูลซึ่งเป็นผู้ที่ให้คุณค่าทางเศรษฐกิจแก่คลื่นความถี่มากที่สุด ย่อมน่าจะเป็นผู้ที่จะใช้คลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากที่สุด ปัจจุบันนี้ การจัดสรรคลื่นความถี่โดยวิธีการประมูลจึงเป็นวิธีการที่ใช้กันแพร่หลาย เช่น ในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา เดนมาร์ค สวิสเซอร์แลนด์ ฮังการี เยอรมัน ออสเตรเลีย ศรีลังกา ไต้หวัน และแม้แต่ในประเทศที่เคยใช้การประกวดซอง เช่น อินโดนิเซีย หรือ เอสโตเนีย ก็ได้หันมาใช้การจัดสรรโดยวิธีการประมูลเช่นกัน
ต่อข้ออ้างที่ว่าการประมูลจะทำให้คลื่นความถี่มีราคาสูง และทำให้ค่าบริการ 3G สูงตามไปด้วยนั้น ในปัจจุบัน นักวิชาการต่างเห็นว่ากันว่าข้ออ้างเหล่านี้มีน้ำหนักน้อย เพราะค่าคลื่นความถี่ที่ผู้ชนะการประมูลจ่ายให้แก่รัฐนั้นถือได้ว่าเป็นทุน จม (sunk cost) ที่ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ผู้ประกอบการจะสามารถนำมาเป็นปัจจัยในการกำหนดราคาค่าบริการได้ แท้จริงแล้ว ราคาค่าบริการ 3G จะสูงหรือต่ำนั้นขึ้นอยู่กับระดับการแข่งขันในการให้บริการ 3G เป็นหลัก และการประกวดซองก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าค่าบริการจะถูกกว่า ดังนั้น นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลอย่าง Ronald H. Coase จึงได้ยกย่องว่าการจัดสรรคลื่นความถี่โดยวิธีการประมูลเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ( โปรดดู Coase, Ronald, "The Federal Communication Commission", Journal of Law & Economics Vol II 1959, pp. 1-40 ) การเสนอให้ กทช. นำวิธีการประกวดซองมาใช้จึงขาดเหตุผลทางวิชาการสนับสนุน
อนึ่ง ที่มีการเสนอกันว่า หาก กทช. ยังยืนยันที่จะใช้วิธีการประมูลต่อไป ก็ขอเสนอให้ กทช. ใช้วิธีการกำหนดโควตา (set aside) เพื่อสงวนคลื่นความถี่ไว้ให้แก่ ”ผู้ประกอบการไทย” หรือ ”รัฐวิสาหกิจ” นั้น ข้อเสนอเช่นนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นการจำกัดการแข่งขันในการประมูล และเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการที่ไม่ถูกวิธี เพราะเป็นการให้มีสิทธิพิเศษโดยไม่มีเหตุสมควร ซึ่งจะเป็นโทษต่อผู้บริโภคและประเทศโดยรวม
การจำกัดการแข่งขันเพื่อปกป้องรายได้ตามสัญญาสัมปทานที่อาจลดลง
ความพยายามจำกัดการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมรูปแบบที่ห้า คือการกล่าวอ้างว่า การจัดสรรคลื่นความถี่ 2.1GHz จะทำให้รายได้ตามสัญญาสัมปทานที่บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้รับจากผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลงเพราะผู้ใช้บริการจะย้ายไปใช้ บริการ 3G แทน
ต่อความข้อนี้ ในเมื่อบริษัททั้งสองได้รับการแปลงสภาพแล้ว แม้รัฐบาลจะถือหุ้นทั้งหมด สองบริษัทดังกล่าวก็ย่อมไม่ใช่องคาพยพของรัฐอีกต่อไป ดังที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยในคดีการ แปลงสภาพองค์การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว สัญญาสัมปทานจึงควรโอนมาเป็นของกระทรวงการคลังโดยตรง ไม่ควรอยู่ในมือของบริษัททั้งสอง รายได้ตามสัญญาสัมปทานที่บริษัททั้งสองได้รับจำนวนหนึ่งก็ไม่ได้ส่งเข้ากระทรวงการคลัง มีเพียงส่วนเล็กน้อยเท่านั้นที่นำส่ง การจำกัดการแข่งขันในการให้บริการ 3G เพียงเพื่อปกป้องรายได้ของบริษัททั้งสองซึ่งไม่ใช่รัฐย่อมไม่ถูกต้อง ที่สำคัญที่สุดก็คือ หากผู้ใช้บริการเลือกใช้บริการ 3G นั่นก็เป็นผลตามธรรมดาของการแข่งขัน ประชาชนไม่ควรถูกตัดโอกาสที่จะได้เลือกใช้บริการที่ดีขึ้น เพียงเพื่อปกป้องการไร้ความสามารถในการแข่งขันของบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
จากที่กล่าวมาทั้งหมด ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องตอบตัวเองว่า ยังเชื่อมั่นในหลักการแข่งขันทางการค้าและระบบเศรษฐกิจเสรีหรือไม่ ถ้าไม่ เนื้อความของรัฐธรรมนูญมาตรา 84 ที่บัญญัติว่า รัฐ ”ต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจเสรี…โดยต้องยกเลิกและละเว้นการตรากฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ควบคุมธุรกิจซึ่งมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ” ก็ไม่จำเป็นที่จะคงอยู่ต่อไปในกฎหมายสูงสุดของประเทศ