ที่มา ประชาไท
โลกไร้พรมแดนในประเทศที่มีพรมแดน
ความขัดแย้งระหว่างระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติกับสังคมโลกาภิวัตน์
ท่านคณบดี เพื่อนอาจารย์ นักศึกษา และท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย
วันนี้ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้มาแสดงปาฐกถาเนื่องในโอกาสที่คณะฯได้ก่อตั้งมาครบ 60 ปีเต็ม
ผมเองเป็นสมาชิกของประชาคมรัฐศาสตร์มาเป็นเวลายาวนาน ตั้งแต่ครั้งเป็นนักศึกษามาจนกระทั่งเป็นอาจารย์ รวมเวลาแล้วประมาณครึ่งหนึ่งของอายุคณะฯ ซึ่งเท่ากับประมาณครึ่งหนึ่งของอายุผมเองเช่นกัน คณะรัฐศาสตร์และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปรียบเสมือนบ้านของผม คนเราเมื่อได้รับการเชื่อถือศรัทธาจากสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน ก็ย่อมอดรู้สึกปีติตื้นตันมิได้
อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า เรื่องที่เราจะคุยกันในวันนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก... เพราะฉะนั้น ผมจึงต้องขอเรียนไว้ตั้งแต่ต้นว่า สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้เป็นเพียงแง่คิด คำถาม และการตั้งข้อสังเกต โดยทั้งหมดเป็นเพียงทัศนะส่วนตัวซึ่งอาจจะผิดหรือถูกก็ได้ ผมเพียงอยากจุดประเด็นให้ท่านทั้งหลายนำไปคิดต่อ และให้ผู้คนที่ห่วงใยบ้านเมืองนำไปช่วยกันพิจารณา
เมื่อพูดถึงความขัดแย้งระหว่างระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติ (Nation-state) กับสังคมโลกาภิวัตน์ สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจคงหนีไม่พ้นประเด็นใหญ่ๆ สามเรื่องคือ หนึ่ง รัฐชาติคืออะไร ทำไมจึงขัดแย้งกับสังคมโลกาภิวัตน์ สอง ความขัดแย้งดังกล่าวมีลักษณะอย่างไร และ สาม เมื่อขัดแย้งกันแล้วเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง เราจะแก้ปัญหาด้วยหนทางไหน
แน่ละ ประเด็นใหญ่ทั้งสามประเด็นนี้พัวพันกันอย่างแยกไม่ออก และบางทีก็อาจจะต้องพูดถึงแบบรวมๆ กันไปก่อนอื่น ผมคงต้องขออนุญาตย้ำสักนิดว่า การพูดถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจระดับรัฐนั้น ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องก้าวล่วงไปสู่ปริมณฑลของปรัชญาการเมืองด้วย เพราะผู้คนมองบทบาทของรัฐด้วยสายตาที่แตกต่างกัน มีข้อเรียกร้องต่อรัฐที่แตกต่างกัน และรัฐเองก็มีจินตนาการเรื่องอำนาจของตน
รัฐชาติเป็นรัฐสมัยใหม่ ซึ่งไม่ว่าเราจะรู้สึกคุ้นเคยสักแค่ไหนก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่ารูปแบบความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบนี้ไม่ได้มีมาแต่โบราณกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีรัฐสมัยใหม่ของไทยและชาติไทยในความหมายสมัยใหม่ ซึ่งเราอาจนับอายุถอยหลังไปได้เพียงประมาณ 80-90 ปีเท่านั้นเอง
อำนาจการเมืองเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ซึ่งขึ้นต่อการยอมรับของผู้อยู่ใต้อำนาจค่อนข้างมาก และการยอมรับนั้นก็มักจะต้องอาศัยศรัทธาเกี่ยวกับประโยชน์สุขบางประการที่ผู้อยู่ใต้อำนาจเชื่อว่าอำนาจดังกล่าวจะนำมาให้
การเกิดขึ้น มีอยู่ และดำเนินไปของระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติ ก็เช่นเดียวกับอำนาจรัฐในรูปแบบอื่น คือต้องอาศัยจินตนาการทางการเมืองมารองรับ เพียงแต่ว่าข้ออ้างความชอบธรรมของรัฐชาติมีเนื้อหาสาระเป็นลักษณะเฉพาะของตน ซึ่งทั้งต่างจากการใช้อำนาจปกครองแบบโบราณ และเริ่มแตกต่างมากขึ้นเรื่อยๆ กับชุดความคิดความเชื่อของสังคมโลกาภิวัตน์
กล่าวโดยสังเขปแล้ว เราอาจสรุปได้สั้นๆ ว่าอำนาจแบบรัฐชาติมีรากฐานอยู่บนจินตนาการใหญ่ทางการเมือง 3 ประการคือ
หนึ่ง มีการตีเส้นแบ่งความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างพลเมืองหรือประชากรของตนกับคนอื่นที่ไม่ได้สังกัดรัฐนี้ พูดง่ายๆ คือมีการนิยามสมาชิกภาพของประเทศไว้อย่างตายตัว มีเขามีเรา มีความเป็นคนไทยและไม่ใช่คนไทยทั้งโดยบัญญัติทางกฎหมายและโดยนิยามทางวัฒนธรรม
สอง มีการถือว่าประชากรที่สังกัดอำนาจรัฐเดียวกัน เกี่ยวโยงสัมพันธ์กันในหลายๆ มิติ กระทั่งเปรียบดังสมาชิกในครอบครัวใหญ่ ซึ่งมีชะตากรรมทุกข์สุขร้อนหนาวร่วมกัน
และสาม เช่นนี้แล้วจึงถือว่าทั้งประเทศเป็นหน่วยผลประโยชน์ใหญ่ และถือว่าผลประโยชน์ส่วนรวมมีจริง โดยมักเรียกขานว่าเป็นผลประโยชน์แห่งชาติ ทั้งนี้โดยมีนัยว่า ทุกคนที่เป็นสมาชิกของชาติย่อมได้รับผลประโยชน์ดังกล่าวอย่างทั่วหน้า (แม้ว่าบางทีอาจจะไม่เสมอกัน)
จากจินตนาการใหญ่ทั้งสามประการนี้ รัฐชาติจึงได้ออกแบบสถาบันการเมืองการปกครองขึ้นมารองรับ และตรากฎหมายจำนวนนับไม่ถ้วนขึ้นมา เพื่อจัดตั้งความสัมพันธ์ทางอำนาจกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจสังคมให้เป็นไปตามความเชื่อของรัฐ นอกจากนี้แล้วยังดำเนินการปลูกฝังขัดเกลารูปการจิตสำนึกของประชากรให้เข้ามาอยู่ในกรอบเดียวกัน
ในความเห็นของผม เราอาจเรียกกระบวนการเหล่านี้โดยรวมว่าเป็นระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติ
แน่นอน เมื่อพูดถึงกรณีของประเทศไทย ระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยนักวิชาการและปัญญาชนจำนวนมาก ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับรัฐชาติล้วนแล้วแต่เคยถูกตรวจสอบตั้งคำถามมาอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสมจริงของจินตนาการชาตินิยม ความชอบธรรมของตัวสถาบันการเมืองการปกครอง ความเป็นธรรมของแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือความถูกต้องของสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมแห่งชาติ และอีกหลายๆ ด้านที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางอำนาจ
อย่างไรตาม ผมคิดว่าคำวิจารณ์เหล่านั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับการพูดคุยในวันนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา แม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วยกับหลายสิ่งหลายอย่างที่รัฐไทยเป็นอยู่และทำไป แต่ข้อวิจารณ์ก็ยังคงจำกัดอยู่ในกรอบของรัฐชาติอยู่ดี เราเพียงอยากให้รัฐชาติของไทยเป็นรัฐชาติที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
แต่ปัญหามีอยู่ว่า ในขณะนี้ตัวแบบที่ตกเป็นเป้าวิจารณ์ของนักวิชาการและปัญญาชนเองกลับกำลังถูกแปรรูปด้วยปัจจัยอื่นอยู่ตลอดเวลา กล่าวให้ชัดขึ้นก็คือว่า ตัวระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติเองกำลังถูกหักล้างกัดกร่อนอย่างรวดเร็วด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จนทำให้เกิดคำถามว่า รัฐชาติของไทยจะสามารถรักษาระเบียบอำนาจของตนไว้หรือไม่ มันสายไปแล้วหรือไม่ที่จะจำกัดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไว้ในกรอบคิดแบบรัฐชาติ และสุดท้ายคืออะไรจะเกิดขึ้นเมื่อรัฐชาติต้องแปรรูปไปเป็นรัฐแบบอื่น เราพร้อมหรือไม่ที่จะพบกับการเปลี่ยนแปลงระดับนั้น พวกเราในฐานะประชาชนของประเทศไทยจะสามารถควบคุมทิศทางการเปลี่ยนแปลงและจังหวะก้าวการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้แค่ไหน
เรื่องที่น่ากังวลก็คือ ที่ผ่านมาเรายังมีองค์ความรู้ไม่พอที่จะตอบคำถามเหล่านั้น และอาจจะต้องทำการค้นคว้าวิจัยกันโดยด่วน ผมคิดว่านี่ควรจะเป็นวาระสำคัญที่สุดของวงการวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายสังคมศาสตร์
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม มาถึงวันนี้การเอ่ยถึงความขัดแย้งระหว่างรัฐชาติกับกระแสโลกาภิวัตน์ คงไม่สามารถพูดกันในความหมายเก่าๆ ได้อีกแล้ว
ผมยังจำได้ว่า ในห้วงวิกฤตเศรษฐกิจปี2540 เราเคยพูดกันถึงเรื่อง ’เสียกรุง’ เรื่อง ’กู้ชาติ’ กระทั่งพูดเรื่อง ’การขายชาติ’ ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อมองผ่านจุดยืนของลัทธิชาตินิยมและระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติ แรงกดดันจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund/ IMF) ดูเหมือนเป็นการละเมิดอธิปไตยของไทย อีกทั้งการออกกฎหมาย 11 ฉบับโดยรัฐบาลไทยเพื่อยกเลิกข้อจำกัดของการค้าและการลงทุนแบบไร้พรมแดน ก็ดูคล้ายเป็นการยอมจำนนต่อต่างชาติและเปิดประตูให้ต่างชาติเข้ามาถือครองประเทศไทย
ถึงวันนี้ หลังจากเหตุการณ์คลี่คลายมานานกว่าสิบปี เราจึงเห็นชัดว่าระเบียบเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์ที่ประเทศไทยถูกกดดันให้ยอมรับนั้น ไม่เพียงกลายเป็นกฏเกณฑ์ที่ใช้กันทั้งโลก หากยังมาจากกรอบคิดที่แตกต่างจากจินตนาการมูลฐานของรัฐชาติอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือมันเป็นแนวคิดที่ยกเลิกพรมแดนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และในบางด้านก็กำลังเคลื่อนตัวเข้าไปสู่การยกเลิกพรมแดนในทางการเมืองด้วย เช่นนี้แล้วจินตภาพเรื่องอธิปไตยเหนือดินแดนก็ดี เรื่องเศรษฐกิจแห่งชาติก็ดี หรือเรื่องวัฒนธรรมแห่งชาติก็ดี ในหลายๆ กรณี จึงกลายเป็นเรื่องนอกประเด็น กระทั่งถูกมองว่าล้าหลัง ไม่เกิดประโยชน์
แน่นอน การที่เราไม่สามารถมองปัญหาด้วยกรอบคิดเก่าๆ ไม่ได้มาจากแรงกดดันของการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกเท่านั้น หากยังเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายในสังคมไทยช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาด้วย
พูดง่ายๆก็คือว่าหลังจากเปิดประเทศต้อนรับการค้าและการลงทุนอย่างเสรีทั่วด้าน สิ่งที่เกิดขึ้นตามหลังมาทั้งหมดล้วนมีผลประโยชน์ของคนไทยเข้าไปเกี่ยวข้อง อย่างน้อยก็บางส่วน แต่เป็นบางส่วนที่มีจำนวนมากและมีน้ำหนักทางสังคมมิใช่น้อย
ทุนต่างชาติไม่เพียงเข้ามาซื้อหุ้น ตั้งโรงงาน และถือครองทรัพย์สินในประเทศไทยเท่านั้น ผู้ประกอบการชาวไทยเองก็ร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ หรือไม่ก็ประกอบธุรกิจที่โยงใยก่อเกื้อเอื้อประโยชน์ให้กันและกัน ยิ่งไปกว่านั้น นักธุรกิจไทยเองก็อาศัยระเบียบการค้าโลกที่เปิดกว้างข้ามพรมแดนไปลงทุนในต่างประเทศอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าผู้บริโภคไทยจำนวนไม่น้อยชื่นชอบห้างใหญ่ของบรรษัทข้ามชาติมากกว่าร้านโชห่วย และมีพลเมืองไทยจำนวนมากพอสมควรที่ยังชีพด้วยการทำงานให้กับบริษัทต่างประเทศ หรือออกไปขายแรงงานในประเทศอื่นๆ
ในทางการเมืองแล้วสภาพที่เกิดขึ้นเช่นนี้หมายความว่ากระไร? พูดให้ตรงจุดมันย่อมไม่ใช่อะไรอื่น หากคือการรื้อถอนจินตนาการแบบรัฐชาติในส่วนที่เป็นรากฐานที่สุด โดยเกิดขึ้นอย่างเป็นไปเอง ปราศจากจิตสำนึกจงใจ และไม่ขึ้นต่อเจตนารมย์ของผู้ใด
ใช่หรือไม่ว่าสังคมไทยในเวลานี้ได้กลายเป็นสังคมโลกาภิวัตน์ไปแล้ว เป็นโลกไร้พรมแดนที่ทับซ้อนอยู่ในประเทศที่มีพรมแดน เส้นแบ่งระหว่างความเป็นคนไทยกับคนอื่นมีความหมายน้อยลง คนไทยไม่ได้มีชะตากรรมร่วมกันเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน หลายคนมีเส้นทางเดินชีวิตร่วมกับชาวต่างประเทศเสียมากกว่า บ้างก็โดดเดี่ยวยากแค้นไปโดยลำพัง
ส่วนผลประโยชน์แห่งชาตินั้นก็มีความหมายพร่ามัวไปหมด โดยเฉพาะผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งไม่เพียงต้องแบ่งก้อนใหญ่ให้ชาวต่างประเทศเท่านั้น ส่วนที่แบ่งกันเองก็เหลื่อมล้ำอย่างยิ่ง กระทั่งมีคนที่ไม่ได้ส่วนแบ่งเลย
ผมคงไม่ต้องพูดก็ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยไปในทิศทางนี้ ได้ทำให้เกิดความสับสนอลหม่านในแนวคิดเรื่องชาติขนาดไหน แต่เฉพาะหน้า ผมขอตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงภายในสังคมไทยดังกล่าว ทำให้มีการใช้จินตภาพเรื่องชาติต่างจากเดิมไปสองเรื่องคือ
หนึ่ง ใช้เป็นวาทกรรมทางการเมืองสำหรับต่อสู้กันภายในประเทศ เช่นมีการพูดถึงการ ‘กู้ชาติ’ ให้รอดพ้นจากคนไทยด้วยกัน หรือไม่ก็ช่วงชิงกันเป็นผู้พิทักษ์รักษา ’ผลประโยชน์ของชาติ’ ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงในเรื่องนี้ ก็เป็นดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือนับวันยิ่งถูกทำให้ว่างเปล่าด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์
สอง มีการใช้วาทกรรมเรื่องชาติไปในทางการตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ และถือเป็นส่วนหนึ่งของงานโฆษณาสินค้าที่ปกติมักไม่ค่อยถูกจำกัดด้วยหิริโอตัปปะ หรือความรับผิดชอบเรื่องความถูกต้องทางหลักการใดๆ
ตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้คือกรณีแจก ’เช็คช่วยชาติ’ ซึ่งเป็นนโยบายกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศของรัฐบาลเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้รัฐบาลได้ตกลงกับห้างร้านต่างๆ ในการรับเช็คและเพิ่มมูลค่าของเช็ค เพื่อประกันว่าผู้ที่ได้รับแจกเงินหัวละ 2,000 บาท จะหมดสิ้นแรงจูงใจในการเอาเงินจำนวนนั้นไปเก็บออม ผลที่ออกมาก็คือมีการใช้คำว่า ’ชาติ’ ในข้อความโฆษณาสารพัด เช่นชวนให้ซื้อเครื่องสำอางต่างประเทศเพื่อชาติ ชวนดูหนัง หรือเข้าห้องร้องคาราโอเกะเพื่อชาติ เป็นต้น พูดง่ายๆคือมีการบอกผู้บริโภคว่า แค่ออกไปหาความบันเทิงเริงรมย์ก็ถือว่ารักชาติมากแล้ว
นอกจากนี้ ผมยังเคยเห็นป้ายคำขวัญตามเมืองท่องเที่ยวต่างๆ ระบุว่า “นักท่องเที่ยวเป็นคนสำคัญของชาติ” ซึ่งนับเป็นเรื่องแปลกหูแปลกตามากสำหรับคนที่ถูกสอนมาว่า บุคคลสำคัญของชาติควรจะประกอบด้วยคุณงามความดีบางประการ
พูดก็พูดเถอะ ในความเห็นของผม การนำจินตภาพเรื่องชาติมาใช้ทางการเมืองและธุรกิจแบบที่กล่าวมานี้ แทนที่จะช่วยรักษาความขลังของคำว่าชาติ กลับจะยิ่งเร่งความเสื่อมทรุดของของแนวคิดชาตินิยมและระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติ ซึ่งกำลังเกิดขึ้นอยู่แล้วโดยปัจจัยทางภววิสัย
กลับมาเรื่องความขัดแย้งระหว่างระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติกับสังคมโลกาภิวัตน์ จากที่กล่าวมาทั้งหมด ท่านทั้งหลายคงจะเห็นแล้วว่า คำว่าขัดแย้งในที่นี้คงไม่ได้หมายถึงการต่อสู้เชิงปฏิปักษ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศมหาอำนาจ หรือการเข้ากันไม่ได้โดยสิ้นเชิงระหว่างผลประโยชน์ไทยกับผลประโยชน์ต่างชาติ และยิ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยกับโลกทั้งโลก
ถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น คำตอบคือ เป็นเพราะนับวันเส้นแบ่งระหว่างเรากับเขาดังกล่าวแทบไม่มีอยู่ในทางปฏิบัติ หรือเหลืออยู่น้อยเต็มที แม้จะยังมีเหลืออยู่มากในจินตนาการของหลายๆ คนก็ตาม
เช่นนี้แล้วความขัดแย้งที่เรากำลังพูดถึงหมายความว่ากระไร ตามความเข้าใจของผมถ้าพิจารณาจากประเด็นที่เราพูดกันในวันนี้ มันน่าจะหมายถึงลักษณะที่อาจจะเข้ากันไม่ได้ หรือไม่สอดคล้องกันระหว่างระเบียบอำนาจที่เราใช้อยู่กับสังคมที่แปรเปลี่ยนไป
พูดอีกแบบหนึ่งก็คือผมเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่พวกเราซึ่งอยู่ในแวดวงวิชาการควรจะต้องช่วยกันค้นคว้าหาคำตอบกันเสียที ว่ารัฐชาติแบบที่เรารู้จักจะสามารถดูแลสังคมไทยที่เป็น ’พหูพจน์’ ได้หรือไม่ จะอำนวยความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจและสังคมอันประกอบด้วยปัจจัยข้ามชาติมากมายหลายอย่างด้วยวิธีใด และถ้าทำไม่ได้ รูปแบบความสัมพันธ์ทางอำนาจในประเทศนี้ควรจะต้องเปลี่ยนแปลงหรือถูกแก้ไขปรับปรุงอย่างไร
ผมขออนุญาตย้ำตรงนี้ว่านี่เป็นเรื่องใหญ่กว่าความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มเสื้อสีต่างๆ ที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าในบางมิติ ปัญหาทั้งสองระดับอาจจะเกี่ยวโยงกันอยู่ การเปลี่ยนแปลงในลักษณะของรัฐนั้น ถึงอย่างไรก็ย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับระบอบการปกครอง และในระดับรัฐบาล
ทั้งโดยทฤษฎีรัฐศาสตร์และจากประสบการณ์ตรงของประเทศไทย ลักษณะของรัฐมีความสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจและสังคมตลอดจนวิถีวัฒนธรรมอย่างแยกไม่ออก และเมื่อเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไป รูปแบบของรัฐก็มักหนีไม่พ้นที่จะต้องเปลี่ยนตาม
ตัวอย่างชัดเจนที่สุดในเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ซึ่งเราอาจจะเรียกว่าเป็นยุคโลกาภิวัตน์ครั้งที่หนึ่งก็ได้ ภายใต้แรงกดดันของลัทธิล่าอาณานิคม ราชอาณาจักรสยามได้ยอมทำสัญญาเปิดประเทศกับราชอาณาจักรอังกฤษเมื่อ พ.ศ.2398 (ซึ่งมักเรียกกันว่าสนธิสัญญาบาวริง) ต่อมาก็ได้ทำสัญญาที่คล้ายกันกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ส่งผลให้สยามต้องเปิดประตูกว้างต้อนรับสิ่งที่เรียกว่าระบบการค้าเสรี
การเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลกได้นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมสยามอย่างรวดเร็ว เมื่อบวกกับความอ่อนแอของระบบไพร่ขุนนางที่มีมาก่อน ในที่สุดก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความ สัมพันธ์ทางอำนาจอย่างลึกซึ้งถึงราก ทั้งภายในศูนย์อำนาจและระหว่างศูนย์อำนาจกับพลเมืองที่อยู่ใต้การปกครอง
พูดสั้นๆ ก็คือ ภายในระยะเวลาประมาณไม่ถึง 50 ปี โลกาภิวัตน์รอบแรกได้ส่งผลให้รัฐศักดินาโบราณของไทยซึ่งเคยมีระบบกระจายอำนาจสูง แปรรูปเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และกลายเป็นต้นทางของการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ในเวลาต่อมา
แน่นอน ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ทางการเมืองในช่วงนี้ก็จะพบว่า การเปลี่ยนแปลงทางด้าน
เศรษฐกิจเป็นเงื่อนไขสำคัญยิ่งที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของรัฐทั้งมีความจำเป็น และเป็นไปได้ ดังนั้นเมื่อเอาตัวอย่างดังกล่าวมาเป็นข้อเปรียบเทียบกับยุคโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน ก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงในระดับรัฐของประเทศไทย น่าจะมีทั้งความจำเป็นและความเป็นไปได้เช่นเดียวกัน
ถามว่าทำไมผมจึงตั้งข้อสังเกตเช่นนี้ แน่ละ ในฐานะปัญญาชนที่หมกมุ่นครุ่นคิดเรื่องของรัฐไทยมานาน สภาพการณ์ปัจจุบันย่อมเป็นเรื่องเย้ายวนมากที่จะชวนให้คิดอะไรแบบอภิมหาทฤษฎี (Grand Theory) ว่าด้วยวิวัฒนาการของรัฐและสังคมไทย แต่ท้ายที่สุด ผมก็ต้องยอมรับว่า ตัวเองไม่มีทั้งปัญญาและความกล้าหาญพอที่จะทำเรื่องสุ่มเสี่ยงทางวิชาการขนาดนั้น...
อย่างไรก็ดี ถ้าเรายอมรับว่ารัฐเป็นแกนกลางความสัมพันธ์ทางอำนาจของแต่ละประเทศ และเป็นกลไกหลักในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ผู้คนในสังคม ก็คงต้องยอมรับว่า บัดนี้มีหลักฐานเชิงประจักษ์มากมาย ซึ่งชี้ให้เห็นว่าบทบาทหน้าที่ดังกล่าวของรัฐไทยกำลังอ่อนแอลงอย่างน่าตกใจ ในบางด้านรัฐไทยมีอำนาจน้อยลง กระทั่งได้รับฉันทานุมัติในการใช้อำนาจน้อยลง รัฐบังคับใช้กฏหมายบางเรื่องไม่ได้ ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าในระยะหลังๆ อำนาจรัฐมักถูกขืนต้านในรูปแบบต่างๆ มากขึ้นทุกที
สภาพเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ระเบียบอำนาจแบบที่เราใช้อยู่กำลังมีปัญหาโดยตัวของมันเอง ซึ่งย่อมส่งผลลดทอนประสิทธิภาพของรัฐในการดูแลสังคมลงไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันปัญหาที่รัฐต้องแก้ไม่เพียงมีจำนวนเพิ่มขึ้น หากยังมีลักษณะใหม่ๆ เปลี่ยนไปจากเดิม โดยที่ตัวรัฐเองก็ไม่สามารถใช้วิธีการเดิมๆ มาแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง
ถามว่ารัฐไทยกำลังเผชิญปัญหาอะไรบ้างที่ทำให้เกิดความจำเป็นในการปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจ ต่อเรื่องนี้ถ้าพูดเป็นรายละเอียดรูปธรรมก็คงไม่สามารถลำดับได้หมดสิ้น แต่ในความเห็นของผม คิดว่าอาจจัดเป็นหมวดปัญหาใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภทคือ
1) ปัญหาการบูรณาการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์กับผลประโยชน์ของส่วนอื่นๆ ในสังคมไทย (Economic Integration)
2) ปัญหาความไม่ลงตัวในเรื่องการจัดสรรอำนาจทางการเมืองและพื้นที่ทางการเมืองในสังคมแบบพหุลักษณะ (Political Disintegration)
อันดับแรก เกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ก็ดังที่ตั้งข้อสังเกตไว้แล้ว ถึงวันนี้เราคงต้องยอมรับว่า ผลประโยชน์ของผู้คนในประเทศไทยมีความหลากหลายมาก ไม่ได้เป็นหนึ่งเดียว กระทั่งขัดแย้งกันเองเกินกว่าจะใช้คำว่าผลประโยชน์แห่งชาติมาเป็นข้ออ้างในการบริหารอำนาจ
นอกจากนี้เราคงต้องยอมรับว่า โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจมีทั้งผลบวกและลบ และผู้คนได้เสียจากโลกาภิวัตน์ไม่เท่ากัน คำว่ากลุ่มทุนโลกาภิวัตน์จริงๆ แล้วแทบไม่มีเรื่องสัญชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง อาจจะหมายถึงนักลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาในประเทศไทย หรือหมายถึงทุนไทยที่ร่วมลงทุนกับต่างชาติและลงทุนในต่างประเทศก็ได้
ระบบการค้าการลงทุนที่ไร้พรมแดน ไม่เพียงทำให้ผลประโยชน์ของทุนไทยและทุนต่างชาติคละเคล้ากันจนแยกไม่ออกเท่านั้น แม้ในระดับของการจ้างงานก็ยังมีลักษณะไร้พรมแดนไปด้วย ดังจะเห็นได้จากการนำแรงงานต่างชาติเข้ามาในจำนวนมหาศาล ทำให้ประเทศไทยมีประชากรที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยในจำนวนที่มีนัยสำคัญ
ประเด็นใหญ่ในเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่พวกเขาเป็นต่างชาติที่เข้ามาอาศัยประเทศไทยทำกิน นั่นเป็นกรอบคิดเก่าที่ใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะแรงงานดังกล่าวจำนวนสองล้านห้าแสนคนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพลังการผลิต ที่ช่วยลดต้นทุนและช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทั้งของทุนไทยและทุนต่างชาติบางกลุ่ม (ขณะเดียวกันก็กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่คอยตรึงราคาค่าแรงของผู้ใช้แรงงานชาวไทยด้วย)
กล่าวอีกแบบหนึ่งคือ แรงงานต่างชาติเป็นคนนอกโดยนิตินัยเท่านั้น หากโดยการดำรงอยู่พวกเขาเป็นคนในของระบบการผลิตในประเทศไทย ซึ่งสมควรได้รับการดูแลตามฐานะและศักดิ์ศรีของความเป็นคน ตรงนี้ เข้าใจว่าระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติก็ยังไม่ได้เปิดพื้นที่เท่าควร ทำให้การกดขี่ข่มเหงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างชาติกลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา (ตรงกันข้ามกับการเข้ามาของนักลงทุนหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งมักได้รับการดูแลเป็นพิเศษ)
แน่ละ การออกฎหมาย 11 ฉบับเพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของไอเอ็มเอฟ ไม่เพียงลดอำนาจรัฐไทยในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ และลดทอนความเป็นรัฐชาติของไทยเท่านั้น หากยังพารัฐไทยให้เอียงไปในทางดูแลอำนวยความสะดวกให้กับการเติบโตของทุนโลกาภิวัตน์ด้วย
แต่ประเด็นมีอยู่ว่า สภาพดังกล่าวสามารถกลายเป็นปัญหาทางการเมืองในระดับคอขาดบาดตายได้ ถ้ารัฐไทยยังใช้คำว่าผลประโยชน์แห่งชาติไปผัดหน้าทาแป้งให้กับการขยายตัวของฝ่ายทุนเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่สนใจใยดีการสูญเสียผลประโยชน์ของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ตัวอย่างในเรื่องดังกล่าวได้แก่การประท้วงของชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งเดือดร้อนจากการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทั้งโดยทุนไทยและทุนต่างชาติ ทั้งนี้โดยมีกรณีความขัดแย้งที่มาบตาพุดเป็นตัวอย่างล่าสุด
จริงอยู่ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเติบโตของจีดีพี (Gross Domestic Product) และการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมได้ก่อประโยชน์ให้คนจำนวนไม่น้อย แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่าการเติบโตของระบบทุนในยุคโลกาภิวัตน์เป็นแค่ส่วนหนึ่งของส่วนทั้งหมดอันประกอบขึ้นเป็นประเทศไทย คนจำนวนหนึ่งได้รับผลประโยชน์ คนอีกจำนวนหนึ่งไม่ได้รับอะไร แล้วยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องสูญเสียสิ่งที่เคยได้รับอีกต่างหาก
ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางเศรษฐกิจในประเทศไทยนั้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีมาแต่เดิมเแล้ว และเมื่อผนึกผนวกโครงสร้างนี้เข้ากับกระแสโลกาภิวัตน์โดยไม่มีการปรับสมดุลใดๆ สภาพที่เกิดขึ้นก็จะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก ดังเราจะเห็นได้จากช่องว่างระหว่างรายได้ของคนรวยสุด 20 เปอร์เซนต์กับคนจนสุด 20 เปอร์เซนต์ข้างล่างซึ่งต่างกันถึง 13 เท่า และถ้าจะพูดถึงการกระจุกตัวของความมั่งคั่งจริงๆ แล้ว ตัวเลขยังน่าตกใจกว่านี้ ล่าสุดนักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งคำนวนว่า 42 เปอร์เซนต์ของเงินฝากในธนาคารของทั้งประเทศ ซึ่งมีค่าประมาณหนึ่งในสามของจีดีพีประเทศไทย เป็นของคนจำนวนเพียงสามหมื่นห้าพันคน (เทียบกับประชากร 64 ล้านคน) หรืออาจจะน้อยกว่านั้น (ผาสุก พงษ์ไพจิตร/ มติชน 18 พย.52)
เพราะฉะนั้น ปัญหาจึงไม่ใช่อยู่ที่การต่อต้านการค้าการลงทุนแบบไร้พรมแดน หากอยู่ที่การจัดวางฐานะของสิ่งนี้ไว้ในที่ทางอันเหมาะสมและสอดคล้องกับความเป็นจริง ผลประโยชน์ของทุนเป็นได้อย่างมากก็แค่ส่วนหนึ่งของส่วนทั้งหมด หรือถ้าจะใช้คำเก่าๆ คงต้องพูดว่า เป็นแค่ส่วนหนึ่งของ ’ผลประโยชน์แห่งชาติ’ เพราะทุนกับชาติไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
ในความเห็นของผม มีแต่เราต้องมองความจริงตรงนี้โดยไม่หลบตาเท่านั้น จึงจะแก้ปัญหาข้อพิพาทต่างๆ ได้บ้าง การบูรณาการผลประโยชน์ของกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์เข้ากับส่วนอื่นๆ ของสังคมไทยจะทำไม่ได้เลย ถ้ารัฐไทยยังถือว่า การเติบโตของภาคธุรกิจเป็นดัชนีชี้วัด ’ความเจริญรุ่งเรืองของชาติ’ เพียงอย่างเดียว และกดดันให้ผู้ยึดถือคุณค่าแบบอื่นในสังคม ตลอดจนกลุ่มชนที่เดือดร้อนจากการถูกช่วงชิงทรัพยากร หรือเดือดร้อนจากการสูญเสียสิ่งแวดล้อมอันเอื้อต่อสุขภาวะ ต้องหลีกทางให้โดยไม่มีเงื่อนไข
ในทางตรงกันข้าม ถ้าเรายอมรับกันอย่างตรงไปตรงมาว่า ในสังคมไทยมีผลประโยชน์ของชาวต่างชาติ และผลประโยชน์ของชาวต่างชาติก็ปะปนอยู่กับผลประโยชน์ของคนไทยบางส่วน การตกลงหาความสมดุลกับส่วนอื่นๆ ของสังคมไทยก็อยู่ในวิสัยทำได้ การสังเคราะห์ผลประโยชน์ส่วนรวมขึ้นมาใหม่จากความจริงที่เป็นรูปธรรมก็พอทำได้
แต่ก็แน่ละ ทิศทางเช่นนี้จะปรากฏเป็นจริงก็ต่อเมื่อมีการข้ามพ้นการอ้างชาติแบบเลื่อนลอย ก็ต่อเมื่อมีเปลี่ยนแปลงในกระบวนการกำหนดนโยบาย และการบริหารความเป็นธรรมโดยรัฐในขั้นตอนต่างๆ ซึ่งต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมอย่างสมศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกัน
อันนี้ไม่ใช่ระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติที่เราคุ้นเคยอยู่ และอาจจะต้องมีการค้นคว้าหารูปแบบที่เหมาะสม กระทั่งมีการออกแบบสถาบันใหม่ๆ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม มันหมดเวลาแล้วที่รัฐจะบัญชาสังคมจากข้างบนลงมา
พูดก็พูดเถอะ ตั้งแต่รัฐไทยตอบสนองข้อเรียกร้องของไอเอ็มเอฟด้วยการออกกฎหมาย 11 ฉบับ อำนาจของรัฐในการแทรกแซงและกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจก็นับว่าน้อยลงมาก ยิ่งไปทำสัญญาทวิภาคีแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับประเทศต่างๆ รวมทั้งข้อตกลงที่ทำไว้กับอาเซียนในเรื่องการค้าและระบบจัดเก็บภาษี ก็ยิ่งทำให้อำนาจของรัฐในการกำหนดเศรษฐกิจลดน้อยลงไปอีก ผลก็คือกลไกตลาดกลายเป็นสถาบันหลักในการกำหนดทุกข์สุขของประชาชน และรัฐก็แทบจะกลายเป็น ’นักเลง’ คุมตลาดเท่านั้นเอง
แต่ตลาดหรือสถาบันตลาดไม่ได้รับผิดชอบตัวเองได้เสมอไป บ่อยครั้งไม่ได้มีธรรมาภิบาลที่ตนชอบเรียกร้องเอากับรัฐ ทำให้การแทรกแซงของรัฐยังเป็นเรื่องจำเป็น ดังเราจะเห็นได้จากตัวอย่างในกรณีวิกฤตเศรษฐกิจไทยปี 2540 และวิกฤตในสหรัฐอเมริกาเมื่อปีกลาย
คำถามมีอยู่ว่า แล้วรัฐควรมีบทบาทเพียงแค่นี้กระนั้นหรือ เป็นยามรักษาความปลอดภัย และเป็นหน่วยบรรเทาทุกข์เวลาเกิดไฟไหม้ตลาด?
จริงอยู่ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราคงไม่ต้องการให้รัฐไทยขยายตัวไปทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบผู้คนในทุกเรื่องราวของชีวิต เพราะนั่นจะยิ่งเสริมฐานะครอบงำของรัฐให้อยู่เหนือสังคมเข้าไปอีก ดังนั้นข้อเรียกร้องเฉพาะหน้าจึงมีอยู่ว่า รัฐจะทำหน้าที่บริหารความเป็นธรรมในสังคมที่เปลี่ยนไปได้อย่างไร
ตามความเห็นของผม สิ่งแรกที่รัฐจะต้องทำคือบูรณาการ (Integrate) สังคมไทยเสียใหม่ ยอมรับการมีอยู่ของทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แทนที่จะปิดบังมันไว้ด้วยจินตนาการเรื่องชาติ จากนั้นหาทางประสานประโยชน์ระหว่างทุนข้ามชาติ ทุนไทย แรงงานต่างชาติ แรงงานไทย เกษตรกรรายย่อย ชุมชนท้องถิ่น ผู้ค้าปลีก ชาวประมงพื้นบ้าน คนชั้นกลาง คนชั้นล่าง ข้าราชการทั้งทหารและพลเรือน และอีกหลายภาคส่วนที่ประกอบขึ้นเป็นสังคมไทยปัจจุบัน
ณ จุดนี้ผมขออนุญาตขยายความคำใหญ่ๆที่ตัวเองนำมาใช้สักสองคำบูรณาการ หมายถึงการทำหน่วยย่อยที่กระจัดกระจายหรือแม้แต่ขัดแย้งกัน ให้เปลี่ยนมามีความสัมพันธ์โยงใยกัน เอื้อประโยชน์ให้กัน อีกทั้งมีความพอใจในความสัมพันธ์ดังกล่าว อันนี้ย่อมต่างจากความสมานฉันท์แบบเลื่อนลอยที่อาศัยการรณรงค์ทางอุดมการณ์เป็นสำคัญ
สำหรับการบริหารความเป็นธรรมนั้น นับเป็นหน้าที่เก่าแก่สุดและเป็นภารกิจใจกลางที่สุดของรัฐหรือผู้กุมอำนาจการปกครอง แม้เนื้อหาของความเป็นธรรมจะขึ้นอยู่กับการยึดถือของสังคมในแต่ละยุคสมัย แต่เราอาจกล่าวได้ว่า สังคมที่ปราศจากความเป็นธรรม จะไม่มีวันได้พบกับความสงบร่มเย็น
อันดับต่อไป เรามาพูดถึงเรื่องความไม่ลงตัวในการจัดสรรอำนาจและพื้นที่ทางการเมืองถามว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับยุคโลกาภิวัตน์อย่างไร ผมคิดว่าเกี่ยวข้องกันอยู่ในสองประเด็น คือ
หนึ่ง ระบบเศรษฐกิจแบบไร้พรมแดนตลอดจนโลกาภิวัตน์ในด้านข่าวสารส่งผลให้สังคมไทยแตกพหุ (แยกเป็นกลุ่มย่อย) อย่างรวดเร็ว ทั้งในแง่ของกลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มวัฒนธรรม ข้อนี้ทำให้สังคมไทยปกครองยากขึ้น
สอง โลกาภิวัตน์ทำให้เกิดชนชั้นนำกลุ่มใหม่ๆ ที่มั่งคั่งขึ้นมาอย่างรวดเร็วและมหาศาล เช่นเดียวกับชนชั้นนำที่มาทีหลังในประวัติศาสตร์ และทุกหนแห่งในโลก คนเหล่านี้ต้องการส่วนแบ่งในอำนาจการเมืองการปกครอง แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มีทั้งประสบการณ์และความรู้ที่เป็นศาสตร์ศิลป์ของการปกครอง ทำให้เกิดเป็นความขัดแย้งต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
พูดถึงประเด็นแรก การที่สังคมไทยถูกพลูรอลไลซ์ (Pluralized) อย่างรวดเร็วเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่โลกทัศน์ในเรื่องผลประโยชน์ วิถีชีวิต แบบแผนทางวัฒนธรรม ความคิดความเชื่อในด้านจิตวิญญาณ มาจนถึงความคิดเห็นทางการเมือง สภาพดังกล่าวทำให้การครอบงำด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมแบบเก่าทำได้ยากขึ้น กระทั่งทำไม่ได้อีกต่อไป คนไทยในปัจจุบันตีความคำว่าชาติและความเป็นไทยแตกต่างกันไป กระทั่งเลิกเชื่อในจินตนาการแบบนี้ ดังจะเห็นได้จากพฤติกรรมของชนรุ่นหลังจำนวนไม่น้อย ที่อยากมีชีวิตทางวัตถุแบบชาวตะวันตก แต่อยากมีหน้าตาแบบชาวเกาหลี ขณะเดียวกันก็อาจชื่นชอบนักร้องใต้หวัน นักฟุตบอลบราซิล และชอบกินอาหารญี่ปุ่น เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้น การที่คนไทยบางส่วนเริ่มมีผลประโยชน์แบบไร้พรมแดน ย่อมทำให้เป็นการยากขึ้นสำหรับรัฐชาติที่มีพรมแดนตายตัว ตลอดจนผู้คนที่ถือมั่นในลัทธิชาตินิยม จะสามารถยืนยันเรื่อง ’ผลประโยชน์ไทย’ ได้อย่างเคร่งครัดตามจารีตดั้งเดิม
ล่าสุด ตัวอย่างที่น่าสนใจในเรื่องนี้ได้แก่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา ดังที่ทราบกันอยู่แล้ว การที่นายกรัฐมนตรีเขมรแต่งตั้งอดีตนายกรัฐมนตรีไทยเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจนั้นได้สร้างความไม่พอใจให้กับนายกรัฐมนตรีไทยคนปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเห็นว่าอดีตนายกรัฐมนตรีท่านนี้มี ’ความผิด’ ทั้งในทางการเมืองและทางอาญา ขณะเดียวกันก็มีคนไทยบางส่วนที่โกรธแค้นฝ่ายกัมพูชา เพราะเห็นว่ามา ’แทรกแซง’ กิจการภายในของไทย หรืออย่างน้อยไม่ให้เกียรติประเทศไทยเท่าที่ควร
อย่างไรก็ดี การณ์ปรากฏว่ามีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้เห็นด้วยกับการตอบโต้ถึงขั้นเรียกทูตกลับของรัฐบาลไทยเลย หากกลับเทอารมณ์ไปวิตกกังวลว่า ความขัดแย้งนี้จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจไทยในกัมพูชาซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งการส่งสินค้าไปขายและการลงทุนหลายหมื่นล้านบาท แม้แต่นักธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็ยังอดวิตกไม่ได้ว่า ยอดขายทัวร์ไปเขมรอาจจะได้รับแรงกระทบกระเทือน ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าชาวบ้านที่ทำการค้าบริเวณชายแดนไทยกัมพูชา ต่างก็ภาวนาให้เรื่องนี้จบลงเร็วๆ
ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าทุกวันนี้ แม้แต่เรื่องความขัดแย้งระดับคลาสสิก คือเรื่องเรื่อง ’ศักดิ์ศรีของประเทศ’ คนไทยก็ไม่ได้เห็นพ้องต้องกัน
แน่ละ ในมิติทางการเมือง ลักษณะ ’พหูพจน์’ ของสังคมไทยดังกล่าวสามารถนำไปสู่ข้อพิพาทได้สารพัดอย่าง และได้โดยง่าย ทั้งขัดแย้งกันเองในหมู่ประชาชนและขัดแย้งกับผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีการใช้อำนาจรัฐกดดันหรือรอนสิทธิของบรรดากลุ่มย่อยเหล่านั้น
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว หากพวกเราประสงค์ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ก็จำเป็นต้องมีการปรับตัวกันอย่างขนานใหญ่ กล่าวคือในทางวัฒนธรรมการเมืองนั้นจะต้องไม่มีการผูกขาดนิยามความเป็นชาติและความเป็นไทย (ซึ่งมักใช้เป็นข้อกำหนดถูกผิด) หากเห็นต่างเรื่องใดก็ว่ากันไปตามเนื้อผ้าและตามลักษณะรูปธรรมของความขัดแย้ง เรามีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างสันติและแก้ไขกรณีพิพาท (Conflict Resolution) ด้วยสันติวิธี ซึ่งในเรื่องนี้การศึกษาวิจัยทางวิชาการได้ดำเนินมาบ้างแล้ว เพียงแต่ว่าโดยกระบวนการทางสังคมและกระบวนการทางการเมือง สันติวิธียังห่างไกลลักษณะของความเป็นสถาบัน
อย่างไรก็ตาม มาตรการสำคัญที่สุดในการลดแรงกระแทกของสังคมที่กำลังแตกปัจเจกแยกกลุ่มย่อย ก็คือการมีพื้นที่ทางการเมือง (Political Space) ให้กับทุกฝ่าย อันนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกคนทุกกลุ่มจะต้องขึ้นเวทีการเมืองเพื่อช่วงชิงอำนาจ แต่หมายถึงการมีหนทางเข้าถึงกระบวนการใช้อำนาจได้ในกรณีที่ส่งผลกระทบถึงตน อีกทั้งมีพื้นที่ในการอธิบายเรื่องราวของตนต่อรัฐและผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนสังคมส่วนที่เหลือ พูดง่ายๆ ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสังคมพหุลักษณะจะต้องอยู่ในวิถีของการเมืองแบบมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ มิฉะนั้นแล้วปัญหาไหนก็แก้ไม่ได้
กล่าวสำหรับเรื่องนี้ จริงๆ ก็นับว่าเราได้เริ่มต้นกันมาบ้างแล้ว เช่นมีการกำหนดเรื่องสิทธิชุมชนและการเมืองภาคประชาชนไว้ในรัฐธรรมนูญ ตลอดจนมีการใช้ระบบประชาพิจารณ์ และการหยั่งประชามติเป็นครั้งคราว แต่ที่ผ่านมาถือว่ายังไม่พอ เรายังต้องช่วยกันขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในทิศทางนี้ต่อไป
ต่อมา พูดถึงประเด็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำไทยในปัจจุบัน อันที่จริงกรณีทำนองนี้เคยเกิดขึ้นเป็นระยะๆ มาแล้วในประวัติศาสตร์การสร้างรัฐชาติของประเทศไทย เช่นในปี 2475 ปี 2516 และปี 2535 เป็นต้น ซึ่งแต่ละครั้งที่เกิดขึ้นก็ส่งให้มีการปรับเปลี่ยนระบอบการปกครองตามหลังมา
การเปลี่ยนระบอบการปกครองดังกล่าวไม่ว่าจะถูกเรียกว่าเป็นระบอบอะไรก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มีการขยายพื้นที่ในส่วนยอดของศูนย์อำนาจเพื่อให้ชนชั้นนำกลุ่มใหม่หรือรุ่นใหม่เข้ามาอยู่ในพันธมิตรการปกครอง และผ่านกาลเวลาสักระยะหนึ่ง ชนชั้นนำใหม่และเก่าก็มักจะปรับตัวเข้าหากัน กำหนดฐานะอันเหมาะควรให้กันและกัน ตลอดจนร่วมกันใช้อำนาจทางการเมืองบังคับบัญชาสังคมที่อยู่เบื้องล่าง
อย่างไรก็ดี สภาพดังกล่าวได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 กล่าวคือชนชั้นนำเก่าจากภาคธุรกิจเอกชนซึ่งเคยร่วมมือเป็นพันธมิตรกับชนชั้นนำจากภาครัฐมาเป็นอย่างดี ได้ถูกวิกฤตครั้งนั้นทำให้มีฐานะเสื่อมถอยลงทั้งในทางการเมืองและทางสังคม ขณะเดียวกันก็ได้เกิดชนชั้นนำกลุ่มใหม่ที่เติบใหญ่มาจากระบบทุนโลกาภิวัตน์ ซึ่งสามารถรวบรวมความมั่งคั่งของประเทศไว้ในมือตนได้อย่างรวดเร็ว และมหาศาลอย่างเหลือเชื่อ ที่สำคัญคือคนกลุ่มนี้ไม่เชื่อถือในการบริหารประเทศทั้งโดยชนชั้นนำจากภาครัฐ และโดยนักการเมืองรุ่นเก่าซึ่งมักเป็นตัวแทนของภาคธุรกิจในกรอบรัฐชาติมากกว่าธุรกิจแบบไร้พรมแดน
ดังนั้น พวกเขาจึงไม่เพียงตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเข้าไปมีส่วนแบ่งในศูนย์อำนาจเหมือนดังที่ชนชั้นนำจากภาคเอกชน (Business Elite) รุ่นก่อนๆ เคยต่อรองกับชนชั้นนำในระบบราชการ (Bureaucratic Elite) หากมีความประสงค์ถึงขั้นเข้าไปแทนที่ชนชั้นนำรุ่นเก่าๆ ทั้งหมดในการบริหารจัดการบ้านเมือง
ในบางด้าน เราอาจกล่าวได้ว่านี่เป็นการขึ้นกุมอำนาจโดยตรงของกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ในประเทศไทย ซึ่งผ่านมาทางระบบการเลือกตั้ง และมาพร้อมกับความคิดที่แน่นอนชุดหนึ่งในการปรับเปลี่ยนทั้งกลไกรัฐและสังคมไทย ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าจะทำให้ประเทศไทยเชื่อมร้อยกับโลกไร้พรมแดนได้อย่างกระฉับกระเฉงขึ้น
แต่ก็อีกนั่นแหละ ความสามารถในเรื่องการค้าการลงทุนกับศาสตร์ศิลป์แห่งการปกครอง ถึงอย่างไรก็ยังมีลักษณะแตกต่างกัน...
สรุปสั้นๆ ในชั้นนี้ก็คือ หลังจากปกครองประเทศไทยอยู่ได้ 5-6 ปี การสถาปนาอำนาจนำ (Political Hegemony) ของนักการเมืองจากกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ก็ถูกท้าทายอย่างรุนแรงจากหลายภาคส่วนของสังคม กระทั่งถูกโค่นลงด้วยรัฐประหารในปี 2549 จากนั้นประเทศไทยก็ต้องพบกับความแตกแยกทางการเมืองที่หนักหน่วงร้ายแรงที่สุด นับตั้งแต่สงครามระหว่างซ้ายขวาสงบลงเมื่อประมาณ30 ปีก่อน
อย่างไรก็ดี ที่ผมกล่าวมาข้างต้นไม่ใช่เรื่องฟื้นฝอยหาตะเข็บ หรือกล่าวหาฝ่ายไหนทั้งสิ้น ผมเพียงอยากชวนท่านมาทบทวนว่า กระแสโลกาภิวัตน์ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในมิติของการแข่งขันชิงอำนาจอย่างไร และโดยภาพรวมก็อยากจะบอกว่า ประเทศไทยเคยพยายามปรับตัวเข้าหาโลกาภิวัตน์มาแล้วครั้งหนึ่ง โดยการนำของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งบังเอิญรีบร้อนและไม่มีความคิดแยบคายพอที่จะบูรณาการสังคมไทยให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและมอบฉันทานุมัติเสียก่อน ท่านเหล่านั้นจึงต้องประสบกับความล้มเหลว
แน่ละ เมื่อพูดถึงความขัดแย้งทางการเมืองในปี 2549 ที่ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เรื่องของพฤติกรรมและผลประโยชน์ของบุคคลอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ในวันนี้ผมจะขออนุญาตละเว้นเสีย ไม่กล่าวถึงฝ่ายใดทั้งสิ้น สิ่งที่อยากจะพูดคือ ประเด็นโครงสร้างที่ทำให้การแบ่งพื้นที่อำนาจระหว่างชนชั้นนำก็ดี การเปิดพื้นที่การเมืองให้มวลชนชั้นล่างก็ดีมีอุปสรรคขัดขวางอยู่มากทีเดียว กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ เราคงไม่สามารถพูดถึงปัญหาเหล่านี้ได้อย่างครบถ้วน หากไม่พิจารณาโครงสร้างอำนาจของรัฐชาติอันมีมาแต่เดิมควบคู่ไปด้วย
ดังที่ทราบกันดี อำนาจรัฐสมัยใหม่ของไทยนั้นรวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลางมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ที่เข้าใจยากก็คือ ทำไมยังคงรวมศูนย์อยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ ทั้งๆ ที่เราพยายามสร้างระบอบการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย และเคลื่อนเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์มาระยะหนึ่งแล้ว
การรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ด้วยการกำหนดให้ทั้งประเทศอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกรุงเทพฯนั้น แม้จะอธิบายความจำเป็นได้ด้วยเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ แต่เราก็คงต้องยอมรับเหมือนกันว่า โครงสร้างอำนาจแบบนี้ทำให้พัฒนาการของการเมืองไทยสมัยใหม่เต็มไปด้วยการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจในส่วนกลางอย่างเลี่ยงไม่พ้น ใครคุมส่วนกลางได้ ก็คุมที่เหลือได้ทั้งประเทศ
ดังนั้น มันจึงเป็นโครงสร้างหลักที่ทำให้การเมืองไทยมีลักษณะแบบ “Winner Takes All” ผู้ชนะได้ไปหมด ผู้แพ้สูญเสียทุกอย่าง ข้อนี้ ใช่หรือไม่ว่าส่งผลให้ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำที่แข่งกันสถาปนาอำนาจนำ ลื่นไถลไปสู่ความรุนแรงเป็นระยะๆ
ในขณะเดียวกัน โครงสร้างอำนาจรัฐแบบรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง ก็ทำให้ประเทศไทยขาดรากฐานการปกครองตนเองแบบสมัยใหม่ในระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแรง รวมทั้งทำให้การสร้างประชาสังคม (Civil Society) ในทุกระดับเป็นไปด้วยความยากลำบากเนื่องจากการควบคุมอย่างหนาแน่นของภาครัฐ พูดสั้นๆ คือมันเป็นโครงสร้างอำนาจที่ทำให้ท้องถิ่นอ่อนแอ ประชาชนอ่อนแอ กระทั่งดูแลตัวเองไม่ได้ในหลายๆ กรณี
สภาพทั้งหมดเมื่อนำมาบวกรวมกับความเหลื่อมล้ำสุดขั้วทางเศรษฐกิจ ย่อมให้มวลชนชั้นล่างๆ จำนวนมากเหลือทางเลือกไม่มากนัก ภายใต้เงื่อนไขที่บีบคั้นจากรอบทิศทาง พวกเขาจนปัญญาในการสร้างพลังอิสระ สิ้นหวังในการแสดงตัวตนทางการเมืองอย่างเป็นเอกเทศ จึงหันมาฝากความหวังไว้กับชนชั้นนำทางการเมืองกลุ่มนั้นบ้างกลุ่มนี้บ้าง กลายเป็น ’การเมืองแบบหางเครื่อง’ แทนที่จะเป็นการเมืองภาคประชาชน
ในความเห็นของผม ความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันในเชิงโครงสร้างของนานาปัจจัยเหล่านี้นี่แหละที่นำมาสู่สถานการณ์การเมืองอันหนักหน่วงในปัจจุบัน ผมไม่คิดว่าเราจะหาทางออกอะไรได้ ถ้ายังเห็นว่าทั้งหมดเป็นความขัดแย้งระหว่างถูกกับผิด หรือระหว่างดีกับชั่วแบบขาวล้วนดำล้วน เมื่อมองจากภาพมุมกว้างแล้ว ผมกลับเห็นว่า แต่ละฝ่ายเป็นผลผลิตของเงื่อนไขเชิงโครงสร้าง เป็นบุตรธิดาแห่งแผ่นดินด้วยกันทั้งสิ้น แต่ละฝ่ายมีข้อเสนอที่ดี แต่ก็มีความจำกัดในด้านอื่นๆ เกินกว่าจะสามารถรับเหมาทำแทนคนที่เหลือทั้งประเทศ
อย่างไรก็ดี ในเมื่อปัญหามีอยู่ ก็ต้องหาทางแก้ไขกันไป เพียงแต่ว่าแก้อย่างไรจึงจะตรงจุดและเกิดผลดีต่อองค์รวม
ในฐานะนักเรียนรัฐศาสตร์ ผมคิดว่าคำถามใหญ่สุดสำหรับประเทศไทยในชั่วโมงนี้มีอยู่ 2 ข้อ คือ
หนึ่ง ในยุคโลกาภิวัตน์ มันเป็นไปได้หรือไม่ที่ประเทศไทยจะปฏิเสธการมีส่วนแบ่งในพื้นที่อำนาจของชนชั้นนำจากกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ และถ้าปฏิเสธไม่ได้จะทำอย่างไร จะออกแบบสถาบันการเมืองแบบไหนจึงจะทำให้ทุกฝ่ายมีพื้นที่ทางการเมืองอันพอเหมาะพอควร?
สอง ในยุคโลกาภิวัตน์ รัฐไทยจะปกครองสังคมพหุลักษณ์ (Pluralized Society) ด้วยระบบรวมศูนย์อำนาจได้ต่อไปหรือไม่ และถ้าทำไม่ได้จะทำอย่างไร?
แน่นอน คำตอบสำหรับคำถามใหญ่สองข้อนี้ ถ้าจะให้ชัดเจนจริงๆ คงไม่ใช่เรื่องที่คิดเอาเองตามใจชอบได้ หากจะต้องมีการศึกษาค้นคว้ากันอย่างเร่งด่วน โดยอาศัยทั้งแง่คิดมุมมองจากทฤษฎีการเมือง และข้อมูลเชิงประจักษ์ อีกทั้งยังต้องอาศัยการช่วยกันคิดช่วยกันทำความเข้าใจจากหลายๆฝ่ายที่ห่วงใยบ้านเมือง
อย่างไรก็ตาม โดยความเห็นส่วนตัวของผม ประเด็นเรื่องใครควรเป็นผู้ปกครองยังไม่สำคัญเท่าโครงสร้างอำนาจการปกครองและวิธีปกครอง ซึ่งมองจากมุมนี้แล้ว ผมคิดว่าระบบรัฐสภาแบบที่ผ่านมาและเป็นอยู่ยังไม่เพียงพอสำหรับการดูแลประเทศในยุคโลกาภิวัตน์ ทั้งนี้เนื่องจากระบบดังกล่าวยังคงต้องทำงานผ่านโครงสร้างบริหารแบบรวมศูนย์ ซึ่งเกิดก่อนประชาธิปไตยและแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
กล่าวให้ชัดขึ้นก็คือ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างอำนาจรัฐกันครั้งใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยการปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับประชาสังคมโดยรวมอย่างหนึ่ง กับการปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างศูนย์กลางกับท้องถิ่นอีกอย่างหนึ่ง
จะว่าไปทั้งสองอย่างนี้เราเริ่มดำเนินการมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่พอ ประเทศไทยจะต้องมีกระบวนการที่รัฐรับฟังสังคมมากกว่านี้ ให้ประชาสังคมเป็นผู้ใช้ดุลพินิจและมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจมากกว่านี้ ส่วนเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นก็ต้องเลิกใช้ทฤษฎีเจ้านายแบ่งงานให้ลูกน้องเสียที หากต้องอนุญาตให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยตัวของเขาเอง ไม่ว่าระดับตำบล อำเภอ หรือจังหวัด จากนั้นถักทอเข้าหากันด้วยความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบแนวราบ โดยมีส่วนกลางเป็นเพียงผู้ประสานงาน ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชา
ผมตระหนักดีว่าที่ผ่านมาการปกครองท้องถิ่นยังมีปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งในแง่ศักยภาพในการดูแลตนเอง ความอ่อนแอของประชาสังคมระดับล่าง การทุจริตคอร์รัปชั่น ระบบอุปถัมภ์และความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง ฯลฯ แต่ผมคิดว่า เราไม่มีทางเลือกเป็นอื่นนอกจากจะต้องมุ่งหน้าไปในทิศทางนี้ ทั้งเพื่อลดความขัดแย้งในส่วนกลาง (โดยทำให้การผูกขาดอำนาจรัฐเป็นไปไม่ได้) และเพื่อทำให้รัฐไทยสามารถอยู่กับสังคมพหุลักษณ์ได้ และสุดท้ายเพื่อให้สังคมไทยสามารถบริหารประเทศร่วมกับรัฐได้
ในสุนทรพจน์เปิดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่เพิ่งผ่านมา ท่านนายกรัฐมนตรีไทยคนปัจจุบันได้กล่าวถึงความหวังที่อาเซียนจะกลายเป็นโลกไร้พรมแดนในทางเศรษฐกิจ โดยเห็นว่านี่จะเป็นก้าวแรกที่จะขยายไปสู่การเชื่อมโยงที่กว้างขึ้นในเอเชียตะวันออก ซึ่งจะเชื่อมอาเซียนเข้ากับส่วนที่เหลือของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
จากนั้นท่านก็สรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า
“...ภารกิจที่รออยู่ข้างหน้าของเราย่อมไม่ง่ายดายนัก และรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียวคงไม่สามารถทำให้บรรลุผลได้ ดังนั้น จึงเป็นความรับผิดชอบของทุกภาคส่วนของสังคม รวมทั้งภาคเอกชนและภาคประชาสังคม” (มติชน 24 ต.ค.52)
จากคำพูดของท่านนายกฯที่ผมยกมา เราจะเห็นได้ว่า แม้แต่ผู้นำประเทศก็ยังต้องยอมรับว่าในโลกแบบไร้พรมแดน การยึดถือรัฐเป็นตัวตั้ง หรือเป็นผู้แสดงที่โดดเดี่ยวโดยลำพังคงเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่า ในแถลงการณ์ของเวทีอาเซียนภาคประชาชนครั้งที่ 2 การเรียกร้องให้ประชาคมอาเซียนมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ก็นับเป็นประเด็นสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง (มติชน 25 ตค.52)
ปัญหามีอยู่ว่า ภายใต้กรอบคิดของลัทธิชาตินิยมแบบเก่า เราจะบูรณาการภาคธุรกิจเอกชนที่คละเคล้าไปด้วยผลประโยชน์ต่างชาติเข้ากับภาคประชาสังคมที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายได้อย่างไร และภายใต้โครงสร้างอำนาจรัฐซึ่งยังรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง ภาคประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกระแสโลกาภิวัตน์ได้อย่างไร
พูดกันตามความจริง เมื่ออำนาจรวมศูนย์ ปัญหาก็พลอยรวมศูนย์ไปด้วย การที่กลไกแก้ปัญหาในระดับล่างมีอำนาจน้อยและค่อนข้างอ่อนแอ ทำให้รัฐบาลไทยทุกรัฐบาลไม่ว่าอยู่ในระบอบไหน ล้วนต้องเผชิญกับสภาวะข้อเรียกร้องท่วมท้นจากทุกภาคส่วนของสังคม ส่งผลให้ขาดทั้งประสิทธิภาพและเสถียรภาพในการทำงาน
ยิ่งมาถึงสมัยนี้ ปัญหาใหม่ๆ อันเนื่องมาจากกระแสโลกาภิวัตน์ ยิ่งกลายเป็นปัญหาที่ระบบราชการแบบรัฐชาติแก้ไขได้ยาก เนื่องจากไม่มีกฏระเบียบรองรับหรือบางทีก็ถูกขัดขวางไว้ด้วยกฏระเบียบที่มากเกินไป เพราะฉะนั้นเรื่องเล็กเรื่องน้อยจึงต้องส่งมาที่รัฐบาลและกลายเป็นประเด็นการเมืองโดยไม่จำเป็น ดังเช่นกรณี ด.ช.หม่องลูกแรงงานต่างชาติ ซึ่งจำเป็นต้องเดินทางออกนอกประเทศเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันพับเครื่องบินกระดาษ เป็นต้น
กล่าวเฉพาะในทางเศรษฐกิจ ยุคโลกาภิวัตน์ทำให้ท้องถิ่นหลายแห่งทั้งสำคัญขึ้นและได้รับผลกระทบมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณชายแดน แล้วเราจะปล่อยให้พวกเขาเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นโดยไม่มีอำนาจบริหารจัดการอะไรเลยกระนั้นหรือ
ยกตัวอย่างเช่นในเวลานี้ กลุ่มทุนข้ามชาติได้สร้างเมืองกาสิโนขนาดยักษ์ขึ้นในดินแดนของประเทศเพื่อนบ้าน ตรงกันข้ามกับอำเภอเชียงแสนและเชียงของ เรื่องนี้ทำให้ภาคธุรกิจดีอกดีใจคิดว่าสภาพดังกล่าวจะกระตุ้นการค้าและการท่องเที่ยวบริเวณหัวเมืองชายแดนส่วนนั้น แต่ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า คนท้องถิ่นที่มองเห็นผลทางลบของมันจะมีอำนาจอะไรบ้างในการปกป้องชุมชนอันศักดิ์สิทธิ์และเก่าแก่ของตน ไม่ให้กลายเป็นตลาดยาเสพติดและซ่องโสเภณี
ในทำนองเดียวกัน ในจังหวัดตากซึ่งมีการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นในสามอำเภอเพื่อใช้แรงงานราคาถูกจากพม่า ทั้งนี้โดยมีโรงงานผลิตเครื่องนุ่งห่มอยู่ประมาณ 80 แห่ง และกิจการใหญ่ๆ ก็เป็นของต่างชาติ เช่น ฮ่องกง ใต้หวัน พูดง่ายๆ คือในบางกรณีทั้งทุนและแรงงานล้วนเป็นชาวต่างชาติ แล้วเราจะบูรณาการสิ่งเหล่านี้เข้ากับผลประโยชน์ของชาวบ้านในพื้นที่อย่างไร ถ้าพวกเขาไม่มีอำนาจทางการเมืองเพื่อต่อรองโดยตรง
ล่าสุด เมื่อประมาณเกือบสองเดือนที่แล้ว เจ้าหน้าที่สภาพัฒน์ฯได้เข้าไปสำรวจพื้นที่ในจังหวัดกาญจนบุรีเพื่อหาทางตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนพม่า ที่อำเภอสังขละ และบ้านพุน้ำร้อน นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการส่งเสริมระบบทุนโลกาภิวัตน์โดยอำนาจรัฐแบบรวมศูนย์ ซึ่งผมยังไม่แน่ใจว่าได้อนุญาตให้ท้องถิ่นเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจมากน้อยแค่ไหน
ไม่เพียงแต่ท้องถิ่นชายแดนจะได้รับผลกระทบจากนโยบายของกรุงเทพฯเท่านั้น แม้แต่กระแสโลกาภิวัตน์ในประเทศเพื่อนบ้านก็อาจส่งผลกระทบต่อพวกเขาได้ เช่นโครงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนล่าง 12 แห่งเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้ไทยและเวียดนาม และการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน
ประเทศพม่า 13 แห่ง โครงการเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและพันธุ์พืชพันธุ์ปลาอย่างเลี่ยงไม่พ้น เช่นนี้แล้วการมีอำนาจเพิ่มขึ้นเพื่อต่อรองโดยตรงกับภาคีที่เกี่ยวข้องจึงกลายเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับท้องถิ่นไทยในปัจจุบัน
ที่ผมยกตัวอย่างมาทั้งหมดนี้ไม่ใช่การมองโลกาภิวัตน์ในแง่ร้ายไปเสียทั้งหมด ผมเพียงแต่คิดว่าการปรับโครงสร้างอำนาจขนานใหญ่ด้วยการกระจายอำนาจ เท่ากับช่วยสร้างกระบวนการแก้ไขและป้องกันข้อพิพาทไว้ล่วงหน้า อีกทั้งปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ของทั้งท้องถิ่นและภูมิภาคต่างๆ ในการเข้าหาโลกาภิวัตน์จากอัตลักษณ์อันหลากหลายของตน ซึ่งจะทำได้ก็โดยเปลี่ยนฐานะของท้องถิ่นจากฝ่ายที่ถูกกระทำข้างเดียว มาเป็นหุ้นส่วนของโลกาภิวัตน์อย่างเสมอหน้ากับฝ่ายทุน และฝ่ายรัฐ
ถามว่าแล้วท้องถิ่นไทยมีขีดความสามารถพอที่จะแบกรับภารกิจใหม่เช่นนี้หรือไม่ เรียนตรงๆว่า ถ้าให้ตอบเดี๋ยวนี้ก็คงต้องบอกว่า พร้อมบางส่วน และไม่พร้อมบางส่วน และเรายังคงต้องไปสำรวจค้นคว้าหาคำตอบจากความเป็นจริง
ความจำเป็นนั้นเกิดขึ้นแล้ว แต่ความเป็นไปได้ยังต้องวิจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรูปแบบการกระจายอำนาจ การจัดเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นต่างๆ ความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตยในท้องถิ่นกับประชาธิปไตยในระดับประเทศ ที่มาที่ไปของงบประมาณ และอีกหลายๆประเด็น
ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย
ผมต้องขออภัยที่ได้ใช้เวลาค่อนข้างมากพูดถึงเรื่องราวที่ใหญ่โตเกินตัว แต่พวกเราที่อยู่ในประชาคมวิชาการคงจะทราบดีว่า สำหรับประเด็นที่สลับซับซ้อนขนาดนี้ สิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมด ถึงอย่างไรก็เป็นเพียงการย่อความ ยังมีอีกหลายอย่างที่ผมไม่ได้เอ่ยถึงเนื่องความจำกัดทางด้านเวลา และความจำกัดทางด้านความรับรู้ของตัวเอง
สรุปรวมความแล้วก็คือว่า การที่โลกไร้พรมแดนเข้ามาอยู่ในประเทศที่มีพรมแดน ทำให้เราจะต้องพิจารณาหาหนทางบูรณาการประเทศกันใหม่ ทั้งในส่วนที่เป็นภาครัฐและภาคสังคม ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม
ยิ่งไปกว่านั้น การสร้างความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันใหม่ในบริบทของความเป็นจริงแห่งปัจจุบัน คงจะไม่สามารถทำได้ในกรอบคิดดั้งเดิมของลัทธิชาตินิยม หรือภายใต้ระเบียบอำนาจแบบเก่าๆ อย่างที่เราคุ้นเคยกัน
ผมเข้าใจดีว่านี่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ใด โดยส่วนตัวแล้ว ผมเองก็ยังผูกพันอยู่กับความคิดเรื่องชาติแบบดั้งเดิม แต่เราคงต้องยอมรับว่า ในระยะที่ผ่านมาคำว่าชาติได้กลายเป็นคำขวัญของการเมืองแบบผู้ชนะได้ไปหมด สมัยก่อนระบบเผด็จการมักอ้างชาติในการผูกขาดอำนาจ ต่อมารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็อ้างชาติให้คนอื่นเงียบ สุดท้ายกลุ่มการเมืองที่ขัดแย้งกันก็อ้างชาติเพื่อผูกขาดความถูกต้อง เราคงจะอยู่กันอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ เพราะมันไม่สอดคล้องกับความจริง
ปัญหาการบูรณาการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์กับผลประโยชน์ของ
ส่วนอื่นๆ ในสังคมไทยก็ดี ปัญหาความไม่ลงตัวในเรื่องการจัดสรรอำนาจทางการเมืองและพื้นที่ทางการเมืองในสังคมแบบพหุลักษณะก็ดี จะแก้ได้ก็ต่อเมื่อเราขยายเส้นขอบฟ้าทางปัญญาให้กว้างกว่าการใช้นิยามเดียวมาตัดสินที่อยู่ที่ยืนของผู้คน
ปัจจุบันอำนาจรัฐไทยถูกจำกัดโดยเงื่อนไขโลกาภิวัตน์อยู่แล้ว แต่ไม่ได้ถูกกำกับโดยประชาสังคมเท่าที่ควร อำนาจรัฐบางส่วนถูกโอนให้สถาบันตลาด แต่ตลาดเองก็ไม่สามารถให้ความเป็นธรรมกับสมาชิกในสังคมได้อย่างทั่วถึง มิหนำซ้ำยังจะดึงรัฐไปรับใช้การขยายตัวของทุนอยู่ตลอดเวลา
แน่ละ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ฝากความมั่งคั่งและอยู่รอดของตนไว้กับทุนและแรงงานจากต่างประเทศ อีกจำนวนไม่น้อยพอใจกับวิถีชีวิตที่ไม่ต้องถูกนิยามด้วยวัฒนธรรมแห่งชาติ และดีใจที่ได้ปรุงแต่งตัวเองไปตามกระแสบริโภคสากล
แต่เราก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า ยังมีอีกหลายกลุ่มที่เดือดร้อนกับโลกไร้พรมแดน บ้างถูกเบียดยึดพื้นที่ทางเศรษฐกิจและการเมือง บ้างถูกคุกคามความอยู่รอดอย่างแท้จริง และบ้างเพียงรู้สึกเจ็บปวดเมื่อโลกที่ตัวเองคุ้นเคยกำลังเลือนหายไป
การดำรงอยู่ของสังคมไทยทั้งสองส่วนเป็นสาเหตุสำคัญของกรณีพิพาทในหลายๆ เรื่อง และนี่คือเหตุผลหลักที่ทำให้ต้องมีการปรับสมดุลกันในประเทศไทย
ผมขอขอบคุณคณะรัฐศาสตร์ที่ให้เกียรติ และขอบคุณทุกท่านที่กรุณารับฟัง