ที่มา มติชน
คอลัมน์ เดินหน้าชน
โดย ชาญชัย กายพันธ์
"เห็นว่าผมจะไปเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร.แล้วจึงไม่สนใจฟังคำสั่ง หากทำตามคำสั่งเชื่อว่าจะจับคนร้ายได้ทันที แต่กลับเป็นว่าจุดเกิดเหตุไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่เลย จะสั่งการอะไรก็ทำไม่ได้"
นี่คือความตอนหนึ่งที่ พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ตำหนิผู้ใต้บังคับบัญชา
ระหว่างประชุมติดตามความคืบหน้าคดีคนร้ายยิงเอ็ม 79 ถล่มม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ท้องสนามหลวง ช่วงคืนวันที่ 15 พฤศจิกายน
กลายเป็นประเด็นที่สังคมทั่วไปวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าตำรวจละเลยหน้าที่และเกียร์ว่างตามที่ถูกตั้งข้อสังเกตเสมอมา
แต่กรณีดังกล่าวสำหรับวงการตำรวจแล้ว ถือเป็นเรื่องปกติอย่างยิ่งในยุคที่องค์กรไร้ผู้นำ หรือช่วงที่กำลังเปลี่ยนผ่านอำนาจจากผู้นำคนเก่าสู่ผู้นำคนใหม่
ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าปรากฏการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมาค่อนข้างยาวนานแล้ว
ยิ่งในช่วงที่ไม่มีความชัดเจนว่าใครคือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ตัวจริง ใครคือ ผบช.ตัวจริง ใครคือผู้บังคับการ (ผบก.) ตัวจริง รวมถึงใครคือหัวหน้าโรงพักตัวจริง
ส่งผลให้ตำรวจทุกระดับที่เฝ้ารอเวลาจะขยับสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น ต่างระมัดระวังการปฏิบัติหน้าที่ไม่ให้เกิดความผิดพลาด
แม้แต่ในระดับโรงพักก็ระมัดระวังเป็นพิเศษ
โดยเฉพาะการควบคุมปริมาณคดีไม่ให้โชว์สถิติคดีที่เกิดขึ้นในท้องที่ เกินกว่าที่ทาง ผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้นโยบายไว้
เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นที่ตำหนิระหว่างพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย
แต่ผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงก็คือประชาชนธรรมดาที่ไร้พวกไร้เส้นสาย
ขอยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงบนโรงพักแห่งหนึ่งในนครบาล
โดยผู้เสียหายซื้อรถกระบะป้ายแดง แต่เพราะเงินน้อยจึงใช้ระบบดาวน์แล้วผ่อนส่งได้เพียงไม่กี่เดือนรถถูกขโมย
หลังรถหายเจ้าของรถทำใจแล้วว่าคงได้คืนยาก เพราะไปแจ้งความที่โรงพัก พนักงานสอบสวนปลอบใจว่าให้ทำใจเพราะได้คืนยาก
ต่อมาได้แจ้งบริษัทประกันภัยเพื่อจะได้ค่าสินไหมตามที่บริษัทประกันตีราคาไว้
ทางพนักงานประกันมาพบพร้อมไปโรงพักขอหมายเลขคดีเพื่อนำไปเป็นหลักฐานรับค่าสินไหม
แต่คำตอบที่ได้รับจากพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีคือจะออกหมายเลขคดีให้ได้อีกสามเดือนข้างหน้า
รถหายต้นเดือนพฤศจิกายน แต่รับเลขคดีได้ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2553
ฟังแล้วก็สงสัยว่าทำไมถึงออกเลขคดีในทันทีไม่ได้ จึงถามเหตุผล
ทางพนักงานสอบสวนก็อธิบายว่าเป็นนโยบายที่ผู้บังคับบัญชาสั่งมาให้คุมสถิติคดีรถยนต์หาย โดยกำหนดว่าแต่ละเดือนจะรับคดีรถหายได้ไม่เกินกี่คัน
แต่ท้องที่นี้สถิติรถยนต์หายเกินกว่าที่กำหนดทะลุไปถึงสามเดือนแล้ว
เจ้าของรถและพนักงานประกันฟังแล้วถึงกับอึ้ง จึงต้องใช้วิธีพิเศษต่อรองได้เลขคดีในสองสัปดาห์หลังรถหาย
จากกรณีนี้สะท้อนถึงสภาพความเป็นจริงได้หลายมิติ ไม่ว่าจะคดีลักทรัพย์ที่พุ่งสูงขึ้น ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้รับการดูแลที่ถอยลงหรือถึงขั้นเกียร์ว่างของตำรวจ
ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากองค์กรตำรวจขาดผู้นำตัวจริงในทุกระดับ
ทำให้ตำรวจระดับปฏิบัติไร้ทิศทางในการทำงาน เพราะผู้บังคับบัญชาที่มีอยู่ล้วนแต่เป็นแค่รักษาราชการแทนเท่านั้น
ครั้นจะเดินหน้าทำงานอย่างเต็มที่ก็ไม่แน่ใจว่า เมื่อเกิดความผิดพลาด ผู้บังคับบัญชาที่นั่งรักษาราชการจะร่วมรับผิดชอบด้วยหรือไม่ ?
ซึ่งเหตุการณ์ไร้ภาวะผู้นำขององค์กรตำรวจจนส่งผลกระทบถึงประชาชน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คงปฏิเสธความรับผิดชอบลำบาก
เพราะเวลาของปีงบประมาณล่วงเลยมากว่าสองเดือนแล้ว
แต่นายอภิสิทธิ์ยังไม่กล้าตัดสินใจตั้ง "ผบ.ตร." คนใหม่เลย
หรือนายอภิสิทธิ์ มองว่าการตั้งผู้นำตำรวจ ที่มีผู้ใต้บังคับบัญชากว่าสองแสนคน เป็นแค่เรื่องเล็กๆ
หรือนายอภิสิทธิ์ มองว่าการกำหนดนโยบายของผู้นำตำรวจ ที่นำไปสู่การปฏิบัติเพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ที่ต้องผจญกับอาชญากรรมในทุกรูปแบบในห้วงเวลานี้เป็นเรื่องธรรมดา
ดังนั้น ถ้านายอภิสิทธิ์ มองปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กรตำรวจ เป็นเรื่องเล็กๆ เป็นเรื่องธรรมดา
นอกจากจะทำให้ความศรัทธาที่ตำรวจมีให้หดหายไปแล้ว ความคาดหวังที่ประชาชนมีให้ช่วงรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่ๆ ก็หดหายไปด้วย
ดังนั้น คำว่า ท่าดีทีเหลว น่าจะอธิบายความรู้สึกของประชาชนและตำรวจได้ดีกับรัฐบาลที่อายุจะครบหนึ่งปี !!