ที่มา ข่าวสด
แต่ข้อสรุปว่าใครจะเป็นฝ่ายได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ จากการปลุกกระแส"ชาตินิยม-คลั่งชาติ"ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ สู้กับยุทธศาสตร์"โลกล้อมไทย" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ
ยังต้องใช้เวลามากกว่านี้เป็นตัวตัดสิน
การไปหลงใหลได้ปลื้มกับผล โพลบางสำนัก ที่ระบุรัฐบาลไทยคะแนนเรตติ้งพุ่งพรวดด้วยดำเนินมาตรการ"ตาต่อตาฟัน ต่อฟัน" กับรัฐบาลกัมพูชาจากกรณีที่เกิดขึ้นนั้น
อาจเป็นตัวชักพาให้นโยบายของรัฐ บาลต่อกัมพูชาเข้ารกเข้าพงไปมากกว่านี้
อย่างล่าสุดมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เริ่มออกมาตักเตือนรัฐบาลบ้างแล้วว่าอย่าโหมปลุกกระแสชาตินิยมจนมากเกินไป
เดี๋ยวจะบานปลายจนคุมไม่อยู่
เพราะจะดีร้ายอย่างไรกัมพูชาคือประเทศเพื่อนบ้านรั้วติดกัน
การตอบโต้ด้วยกระแสชาตินิยมที่มากเกินไปอาจส่งผลร้ายต่อความปลอดภัยของประชาชนทั้ง 2 ประ เทศได้
โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ชะ ตากรรมของวิศวกรไทย ซึ่งถูกจับกุมยัดเยียดข้อหาเป็นสายลับยังอยู่ในเงื้อมมือรัฐบาลกัมพูชา
ถ้ารัฐบาลไทยยังอยากเล่นบทพระ เอกต่อไป
ก็จำเป็นต้องระมัดระวังและไม่ทำอะไรผลีผลามมุทะลุมากกว่านี้
และสิ่งสำคัญคือรัฐบาลต้องไม่หลงเล่นตามเกมของพ.ต.ท.ทักษิณอย่างเด็ดขาด
แน่นอนว่าพ.ต.ท.ทักษิณ จำเป็นต้องอาศัยกรณีนายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ วิศวกรไทยที่ถูกจับกุม เป็นเกมลบล้างการถูกพะยี่ห้อ"คนเหนือ ชื่อใต้ ใจเขมร"
จนทำให้คะแนนนิยมของพ.ต.ท.ทักษิณในหมู่คนไทยลดฮวบฮาบ และอาจส่งผลเสียหายต่อแผนการกลับคืนสู่อำนาจในอนาคตได้
แต่ในฐานะรัฐบาลที่ต้องดูแลรับผิดชอบเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อความปลอดภัยของประชาชน
การดำเนินการตอบโต้กัมพูชาแบบแรงมาแรงไปโดยเอาเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ตั้ง
ไม่น่าจะใช่การเดิมพันที่คุ้มค่าเท่าใดนัก
สิ่งที่รัฐบาลทำเท่าที่เห็นในขณะนี้คือความพยายามโยนความผิด
ว่าปัญหาความร้าวฉานระหว่างไทย-กัมพูชาเกิดขึ้นหลังจากพล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ เดินทางไปพบนายกฯฮุนเซน และการเดินทางมาของ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อรับตำแหน่งที่ปรึกษารัฐบาลและนายกฯกัมพูชา
ซึ่งถือเป็นความจริงเพียงส่วนหนึ่ง
เพราะยังมีอีกมุมมองของคนเป็นกลางๆ คือรัฐบาลเองก็มีส่วนสร้างปัญหาความขัดแย้งนี้ด้วยเช่นกันโดยไม่รู้ตัว หรืออาจจะรู้แต่ทำเป็นลืม
เรื่องของเรื่องเริ่มจากสมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านเมื่อไม่นานมานี้
ได้ร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรฯ หยิบยกเรื่องที่กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก มาเป็นเกมถล่มรัฐบาลพรรคพลังประชาชนตอนนั้นอย่างหนัก
กระทั่งเกิดการปลี่ยนแปลงทางการเมืองในไทย พรรคประชาธิปัตย์ได้ขึ้นเป็นรัฐบาล
ก็ยังอุตส่าห์ไปคว้าเอานายกษิต ภิรมย์ ซึ่งเคยมีประวัติขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ด่าทอผู้นำกัมพูชาด้วยถ้อยคำหยาบคายรุนแรง มาเป็นรมว.การต่างประเทศ
ผลที่ได้คือถึงแม้นายอภิสิทธิ์ จะมีบุคลิกความเป็นอินเตอร์ มากกว่านายกฯไทยหลายคนก่อนหน้านี้เวลาขึ้นเวทีระดับผู้นำนานาชาติ อย่างที่เห็นบนเวทีเอเปก และเวทีผู้นำสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ที่ผ่านมา
แต่ขณะเดียวกันบทบาทของรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกลับเป็นหนังคนละม้วนคนละอารมณ์
ความสัมพันธ์อันมึนชาที่หลายประเทศในอาเซียน อาทิ พม่า มาเลเซีย และกัมพูชาหยิบยื่นให้ไทย ทั้งที่ไทยมีฐานะเป็นถึงประธานอาเซียน
บ่งบอกถึงการดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศของไทยภายใต้การถือธงของนายกษิต ว่าประ สบความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ
ตรงนี้เองคือจุดอ่อนที่หลายคนเห็นตรงกันว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์จำเป็นต้องสลัดหลุดให้ได้โดยด่วน
ก่อนทุกอย่างจะเลวร้ายลงไปกว่านี้
อย่างไรก็ตามระหว่างที่รัฐบาลกำลังหาทางปีนป่ายขึ้นจากหลุมกับดัก"ทักษิณ-ฮุนเซน"
สัญญาณอันตรายอื่นเริ่มก่อตัวเข้ามาประชิดรัฐบาลพร้อมกันอีกหลายเรื่อง
ที่ประจานไปทั่วโลกคือการคอร์รัปชั่น ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ 84 จาก 180 ประ เทศทั่วโลก ด้วยคะแนน 3.4 เต็ม 10 หล่นจากอันดับ 80 เมื่อปีที่แล้ว
อันน่าจะเป็นผลมาจากความไม่โปร่งใสในนโยบายประชานิยม อาทิ โครงการชุมชนพอเพียง การใช้งบประมาณไทยเข้มแข็ง เป็นต้น และยังไม่สามารถสะสางได้
ล่าสุดนโยบายการแก้หนี้นอกระบบ รัฐบาลก็ถูกมองว่านำเอางบประมาณนับหมื่นล้านมาละลายเพื่อมุ่งหาคะแนนนิยมทางการเมืองส่วนตัว มากกว่าหวังผลแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
การเดินหน้าขึ้นเงินค่าตอบแทนให้กับส.ส.และส.ว. ขณะที่สถิติ"สภาล่ม"มากถึง 10 ครั้งในรอบ 11 เดือน ทำให้เกิดเสียง วิพากษ์วิจารณ์ดังกระหึ่ม
การที่สภาล่มบ่อยครั้งยังสะท้อนว่ารัฐบาลเริ่มมีปัญหาเอกภาพภายในพรรคแกนนำและพรรคร่วม ซึ่งจะต้องเร่งแก้ไขให้ทันก่อนฝ่ายค้านจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในการประชุมสภาสมัยหน้า
ปัญหาในวงการตำรวจที่ยังคาราคาซัง
การที่นายอภิสิทธิ์ ตั้งพล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ อดีตรองผบ.ตร. เข้ามาเป็นรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง เพื่อคานอำนาจนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ
เป็นหลักฐานยืนยันว่าความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้เป็นแค่ข่าวโคมลอยตามที่บรรดาแกนนำและส.ส.พรรคออกมาปฏิเสธก่อนหน้านี้
หันมาดูเกมนอกสภา กลุ่มคนเสื้อแดงประกาศดีเดย์ชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาล ระหว่าง 28 พ.ย.-2 ธ.ค. ฉุดบรรยากาศการเมืองเข้าสู่ภาวะอันตรายอีกระลอก
ถ้ารัฐบาลยังไม่กลับสู่เกมของตัวเองโดยยังหลงติดอยู่ในกับดักหมากล้อมของทักษิณ
ก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้ฝ่ายตรงข้ามเข้าใกล้ชัยชนะมากขึ้น