ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ เหล็กใน
นี่เป็นนโยบายประชานิยมแน่นอน เพราะได้คะแนนเสียงเต็มๆ จากกลุ่มลูกหนี้ที่ต้องทนถูกโขกสับจากเจ้าหนี้มาเฟียทั้งหลาย
จากตัวเลขของรัฐบาลระบุว่ามีคนเป็นหนี้นอกระบบประมาณ 1 ล้านราย แต่หากดูคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าโครงการเชื่อว่าน่าจะได้รับการอนุมัติไม่ถึงครึ่ง
เงื่อนไขคร่าวๆ เป็นหนี้ก่อนวันที่ 19 พ.ย.52 ซึ่งเป็นวันเปิดโครงการ คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 12% ต่อปี (ต่ำสุด 6% กรณีกู้ไม่เกิน 30,000 บาท) และต้องใช้บุคคลค้ำประกัน 1-2 คน ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 8 ปี
โครงการนี้มีธนาคารหลายแห่งเข้าร่วมด้วย ซึ่งแน่นอนว่าตัวเลขการอนุมัติอาจจะไม่มากเท่าที่รัฐบาลต้องการ เพราะธนาคารก็ต้องดูความเสี่ยงของผู้กู้และผู้ค้ำประกันด้วย
ขณะเดียวกันนักวิชาการที่สำรวจเกี่ยวกับหนี้สินครัวเรือน มองว่าหนี้ในระบบโดยเฉพาะบรรดานอนแบงก์ หรือบัตรเครดิต ทั้งหลาย เป็นปัญหาที่ใหญ่กว่า และมีวงเงินมากกว่าหลายเท่า
แถมดอกเบี้ยก็ดุเดือดใกล้เคียงกันตก 20 % ขึ้นไปต่อปีทั้งสิ้น
เพียงแต่พฤติกรรมทวงนี้ไม่ดุเดือดเลือดพล่านเท่ากับหนี้นอกระบบเท่านั้น
จึงมีเสียงเรียกร้องให้ช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มนี้ด้วย
อย่างไรก็ตามไม่ว่าการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ จะช่วยได้มาก-น้อยแค่ไหน ก็ถือว่าเป็นนโยบายที่น่าชื่นชม เพราะอย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนกลุ่มหนึ่ง
แต่สิ่งที่รัฐต้องคิดต่อก็คือเมื่อช่วยได้แล้ว ทำอย่างไรไม่ให้คนเหล่านี้กลับไปเป็นหนี้นอกระบบอีก!?
ต้องยอมรับประการหนึ่งว่าลูกหนี้นอกระบบคือบุคคลที่ไม่สามารถกู้ในระบบได้ ไม่ว่าจะเป็นบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่ไร้หลักประกัน หรือแม้แต่คนทำงานที่รูดบัตรเครดิตจนเต็มวงเงิน ไม่สามารถกู้เพิ่มได้แล้ว
เจ้าหนี้เงินกู้แม้จะโหด แต่การกู้ยืมเงินล้วนแต่เป็นความสมัครใจของลูกหนี้ทั้งสิ้น
เกือบ 100% ของลูกหนี้รู้อยู่เต็มอกว่าต้องถูกขูดรีดดอกเบี้ยขนาดไหน และหากไม่จ่ายตามนัดต้องเจอกับอะไรบ้าง
รู้ทั้งรู้แต่ก็ทำเพราะเหตุผลต่างๆ กันไป
รัฐบาลจึงต้องหาทางแก้ที่ต้นเหตุ ทั้งแนะนำการใช้ชีวิตพอเพียง การรู้จักเก็บออมเผื่อไว้เมื่อยามต้องใช้เงิน ฯลฯ
เพราะไม่เช่นนั้นแม้จะปัญหาหนี้นอกระบบในครานี้ได้ แต่เวลาไม่นานปัญหาเดิมๆ ก็จะกลับมา
ดีไม่ดีพวกที่เข้าโครงการ เมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่งอาจจะกลับไปกู้นอกระบบอีกครั้ง และชีวิตก็จะยิ่งสาหัสกว่าเก่าเพราะเท่ากับเป็นหนี้ 2 ทาง
ทั้งในและนอกระบบไปพร้อมๆ กัน