ที่มา ไทยรัฐ
ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา
ที่ขยายวงลุกลามจากวิกฤติ "ทักษิณ" กลายเป็นวิกฤติความขัดแย้งทางการทูตระหว่างประเทศ
ส่งผลกระทบไปถึงอิสรภาพของวิศวกรชาวไทยในกัมพูชา ที่ถูกจับกุมโดนตั้งข้อกล่าวหามีพฤติกรรมเป็นสายลับ
จารกรรมข้อมูลตารางการบินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา
ปมปัญหาเหล่านี้จะจบแบบไหน รัฐบาลจะหาทางคลี่คลายอย่างไร
เป็นเรื่องที่สังคมกำลังเฝ้าจับตาด้วยความห่วงใย
ขณะเดียวกัน เมื่อหันกลับมามองการเมืองภายใน โดยเฉพาะเวทีรัฐสภาที่ถือเป็นเวทีในการแก้ไขปัญหาของประเทศ
มาถึงวันนี้ เหลือเวลาทำการอีกเพียง 5 วัน ก็จะครบกำหนด 120 วันของสมัยประชุมรัฐสภา สมัยสามัญนิติบัญญัติ
ที่จะได้ฤกษ์ปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป และจะเปิดประชุมรัฐสภา สมัยสามัญทั่วไป ในช่วงต้นปีหน้า
จากการที่รัฐสภาได้ฤกษ์ปิดสมัยประชุมในครั้งนี้ ประ-ชาชนส่วนใหญ่ที่เฝ้าติดตามการทำงานของบรรดาผู้แทนปวงชน คงมีความรู้สึกคล้ายๆกัน
ปลอดโปร่ง โล่งอก ที่รัฐสภาปิดเทอมซะที
เพราะในห้วง 3 เดือนกว่าที่ผ่านมา เวทีประชุมสภามีแต่บรรยากาศที่สร้างความเบื่อหน่าย รำคาญใจ ให้กับประชาชนที่เฝ้ามองการทำงานของบรรดา ส.ส.และ ส.ว.
ไม่มีภาพการทำงานที่ราบรื่น ไม่มีบรรยากาศของความร่วมไม้ร่วมมือที่จะทำงานแก้ไขปัญหาของประเทศ
มองหาผลงานดีๆ ในแนวสร้างสรรค์ที่ตั้งใจทำเพื่อประชาชนไม่เจอ
มีแต่พฤติกรรมที่แสดงออกถึงความขัดแย้ง แตกแยก กักขฬะ หยาบคาย ท้าตีท้าต่อย ด่าทอกันเละเทะ
ทำลายภาพพจน์ของรัฐสภา เสียหายย่อยยับ
จนทำให้ประชาชนคนดูบางส่วนทนไม่ไหว ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิติเตียน เชิงประชดประชัน
ถึงขั้นเสนอให้มีการจัดเรตการถ่ายทอดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรทางโทรทัศน์ โดยกำหนดข้อความเตือน
"ไม่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน ผู้ใหญ่ควรใช้วิจารณ-ญาณในการชม"
เพราะเกรงว่าเด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนทั่วไป ที่ติดตามการถ่ายทอดการประชุมสภาฯ จะเอาพฤติกรรมในการอภิปรายของผู้แทนฯไปเป็นเยี่ยงอย่าง
สะท้อนความตกต่ำ พฤติกรรมเป็นพิษต่อสังคม
ทั้งนี้ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยระบบตัวแทน โดยเฉพาะระบบรัฐสภา ส.ส. และ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ถือเป็นโครงสร้างสำคัญ เป็นหัวใจในการแก้ไขปัญหาของประเทศ
โดยมีรัฐสภาเป็นเวทีในการระดมสมอง แสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะในฐานะตัวแทนปวงชน
ทั้งในเรื่องการออกกฎหมายและมาตรการต่างๆ
เพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาของประชาชนและประเทศชาติ นำพาบ้านเมืองไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง
ตรงนี้ คือหลักสากลของระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา
ที่สำคัญ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 122
"สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ
และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์"
ในขณะที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 123 บัญญัติไว้ด้วยว่า
ก่อนเข้ารับหน้าที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
"ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"
แน่นอน กระบวนการปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ของ ส.ส.และ ส.ว.ตามที่ได้รับมอบอำนาจจากประชาชนให้เข้ามาทำงานในสภา
ดูแล้วมีความเข้มขลัง ภาคภูมิ เต็มไปด้วยศักดิ์ศรี อุดมด้วยเกียรติ ในสถานะผู้แทนปวงชนชาวไทย
สังคมให้การยกย่องว่าเป็น "ผู้ทรงเกียรติ"
แต่มาถึงภาคการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.และ ส.ว. โดยเฉพาะในห้วงที่ประเทศชาติกำลังเผชิญวิกฤติรุมเร้า
ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจ ปัญหาด้านการค้าการส่งออก ข้าวยากหมากแพง กระทบปากท้องความเดือดร้อนของประชาชน
วิกฤติการเมือง ปัญหาความขัดแย้งแตกแยกในสังคมจากวิกฤติ "ทักษิณ" ลามไปถึงความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน
วิกฤติสังคม ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม ลักวิ่งชิงปล้น แหล่งมั่วสุมอบายมุข หวย บ่อน ซ่อง ศีลธรรมเสื่อมทราม
วิกฤติปัญหาเหล่านี้ เป็นภารกิจร่วมกันของผู้แทนปวงชนที่จะต้องหาทางคลี่คลาย
เพราะต้องไม่ลืมว่า เวทีรัฐสภานั้นประกอบด้วยตัวแทนจากทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ
โดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร เป็นเวทีทำหน้าที่ของ ส.ส.จากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน
ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลมีเสียงเกินหนึ่งของสภาฯ เป็นฐานเสียงสนับสนุนรัฐบาลในการทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน
ในขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน เป็นเสียงข้างน้อยในสภาฯ มีหน้าที่หลักในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล
ทั้งนี้ในปัจจุบันสภาผู้แทนราษฎร มี ส.ส.รวมทั้งสิ้น 473 คน
แบ่งเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลที่ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และพรรคกิจสังคม รวม 273 คน
ขณะที่ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย พรรคประชาราช และพรรคมาตุภูมิ มี ส.ส. 200 คน
แต่ในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาฯ ทุกคนล้วนเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย
มีหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนพี่น้องประชาชน ยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติส่วนรวมเป็นที่ตั้ง โดยใช้สภาฯเป็นเวทีในการแก้ไขปัญหาให้ชาติบ้านเมือง
แต่จากภาพที่ปรากฏต่อสายตาสาธารณะ เวทีสภาผู้แทนราษฎรกลับไม่ใช่เวทีในการแก้ปัญหา แต่กลายเป็นเวทีที่เพิ่มปัญหา
ส.ส.ฝ่ายค้าน กับ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ต่างใช้เวทีนี้เป็นสมรภูมิชำระแค้น ฟาดฟันกันทางการเมือง เล่นเกมชิงอำนาจกันแบบไม่ลืมหูลืมตา
ยิ่งสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ว่าด้วยวิกฤติ "ทักษิณ" ทวีความเข้มข้นมากขึ้นเท่าไหร่ เกมในสภาฯก็ยิ่งเพิ่มความร้อนแรงเป็นเงาตามตัว
ถึงขั้นชี้หน้าด่ากราด ท้าตีท้าต่อย ตะโกนแจกกล้วย ด่าพ่อล่อแม่ เละเทะไปหมด
ใช้เวทีในการอภิปราย ปั่นหัวประชาชน เพื่อเกมชิงอำนาจ ชิงความเป็นใหญ่ ไม่มีบรรยากาศของการทำงานเพื่อชาติ
โดยเฉพาะการพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ ถ้าเห็นว่าฝ่ายตรงข้ามจะได้เปรียบ ได้แต้ม ได้คะแนน ก็ใช้วิธีป่วน วอล์กเอาต์ นับองค์ประชุม
จนเป็นเหตุให้สภาฯล่มซ้ำซาก
ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง ถนัดโชว์ลีลาตีฝีปาก แต่เนื้อหาไม่ได้ต่างกัน ตอดนิดตอดหน่อย กระแนะกระแหนเหน็บแนม
จุดชนวนให้เกิดความปั่นป่วนอยู่บ่อยๆ
ที่สำคัญ ในความเป็นเสียงข้างมากของฝ่ายรัฐบาล มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ กุมสภาพความได้เปรียบในเรื่องขององค์ประชุม
แต่พอฝ่ายค้านเล่นเกมวอล์กเอาต์ ขอนับองค์ประชุม กลับล่มไม่เป็นท่า
เพราะ ส.ส.ซีกรัฐบาล ขาดความรับผิดชอบ โดดร่ม สันหลังยาว
ปรากฏการณ์เหล่านี้ นอกจากสร้างความเบื่อหน่ายเอือม-ระอาให้แก่ผู้คนในสังคมแล้ว ยังกระทบต่อส่วนรวมโดยตรง
เพราะสภาฯล่มแต่ละครั้ง ก็เท่ากับปิดโอกาสที่จะทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ
พฤติกรรมที่เกิดขึ้น ไม่เว้นแม้แต่การประชุมร่วมรัฐสภา ที่ ส.ส.และ ส.ว.ต้องมาประชุมร่วมกัน เพื่อพิจารณาเรื่องสำคัญๆของประเทศ ก็ยังเกิดปัญหารัฐสภาล่มซ้ำซาก
เพราะ ส.ว.จำนวนมาก ติดเชื้อสันหลังยาว โดดร่ม ขาดประชุม
เละเทะทั้งสภาล่าง-สภาสูง
นี่คือปรากฏการณ์ที่สะท้อนพฤติกรรมของผู้แทนปวงชน
เล่นเกมการเมือง ขัดแย้งช่วงชิงอำนาจกัน แบบหน้า มืดตามัว
เข้าขั้น เข้าข่ายน้ำเน่า ฆาตกรรมประเทศ
แต่ขณะเดียวกัน ส.ส.ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล รวมถึงไป ส.ว.ส่วนใหญ่ กลับออกมาประสานเสียงขานรับ
กับการที่ ครม.อนุมัติร่างกฎหมายให้ขึ้นเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ส.ส.และ ส.ว. จากเดิมที่ได้รับเดือนละ 104,000 บาท เป็นเดือนละ 110,000 บาท
เพิ่มเบี้ยประชุมกรรมาธิการ จาก 1,000 บาทต่อครั้งต่อคน เป็น 1,200 บาท
รวมทั้งการเพิ่มสิทธิประโยชน์ สวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล ค่าน้ำมันรถไปประชุมสภา
เห็นดี เห็นงาม ในการขึ้นเงินเดือนให้ตัวเอง
ถือเป็นผลงานที่เป็นเอกภาพ น่าชื่นใจในหมู่ผู้แทนปวงชน
แต่หารู้ไม่ว่า เป็นเรื่องที่น่าสะอิดสะเอียนของคนทั้งประเทศ.
ทีมการเมือง