ที่มา ประชาไท
นักปรัชญาชายขอบ
ปัญหาการอ้างเสียงส่วนใหญ่ของรัฐบาลสมัคร และรัฐบาลสมชายคือ การถือว่าตนเองได้รับการเลือกตั้งมาด้วยเสียงส่วนใหญ่ จึงมีความชอบธรรมที่จะใช้เสียงส่วนใหญ่ในสภาเพื่อนำไปสู่การออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ทักษิณพ้นผิดจากคดีความต่างๆ
การอ้างเสียงส่วนใหญ่เช่นนี้ถือว่าไม่ซื่อตรงต่อเจตนารมณ์ของการเลือกตั้ง เพราะเจตนารมณ์ของการเลือกตั้งต้องการได้ตัวแทนของของประชาชนมาทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมทั้งในด้านการบริหาร นิติบัญญัติ และการตรวจสอบ ไม่ใช่ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
ส่วนปัญหาการอ้างเสียงส่วนใหญ่ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ คือการแย่งชิง ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยมาสนับสนุนฝ่ายตน เป็นรัฐบาลที่มีองคมนตรี ทหาร หรือฝ่ายศักดินา-อำมาตย์ และพันธมิตรฯหนุนหลัง ทำให้ที่มาของเสียงส่วนใหญ่ไม่ชอบธรรม โดยเฉพาะอำนาจที่ไม่ยึดโยงอยู่กับอำนาจของประชาชนที่หนุนหลังรัฐบาล เป็นอำนาจซึ่งเป็นตัวแปรหลักของความขัดแย้งทางการเมืองในยุคปัจจุบัน ทั้งหมดนี้ทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ชอบธรรมในการอ้างเสียงส่วนใหญ่
ปัญหาการอ้างเสียงส่วนใหญ่ของรัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชาย เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้รัฐบาลทั้งสองต้องจบลงเช่นนั้น ส่วนปัญหาการอ้างเสียงส่วนใหญ่ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ไม่สามารถสร้างความสมานฉันท์ในชาติได้ตามนโยบายที่ประกาศไว้
ทางออกที่ควรจะเป็น คือการกลับไปใช้ “กติกาการตัดสินด้วยเสียงส่วนใหญ่” โดยการยุบสภาเลือกตั้งใหม่!
แน่นอนว่าธรรมชาติของการเมือง รัฐบาลไหนจะยุบสภาก็ต่อเมื่อไม่สามารถบริหารงานต่อไปได้ หรือประเมินว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ฝ่ายตนได้เปรียบ
พรรคประชาธิปัตย์เคยประณามรัฐบาลทักษิณว่ายุบสภาโดยไม่มีเหตุจำเป็น แต่ชิงยุบเพราะเห็นว่าฝ่ายตนอยู่ในสถานการณ์ที่ได้เปรียบ (ทั้งที่จริงในขณะนั้นทักษิณถูกวิจารณ์อย่างหนักในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน การขายหุ้นไม่เสียภาษี ไร้จริยธรรมทางการเมือง)
แล้วสถานะที่ได้เปรียบของทักษิณในขณะนั้นคืออะไร? ความเป็นรัฐบาลรักษาการที่ยังอาจใช้กลไกทางราชการเพื่อความได้เปรียบในการเลือกตั้งหรือ? แม้จะใช่แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะการจัดเลือกตั้งอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และมีองค์กรตรวจสอบอื่นๆอีกมาก
สิ่งที่น่ากลัวคือคะแนนนิยมในตัวทักษิณและนโยบายพรรคไทยรักไทยที่ยังมีอยู่อย่างท่วมท้นนั้นต่างหาก แต่ก็เป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตยมิใช่หรือที่พรรคการเมืองจะสร้างผลงานให้ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชน ถ้าเรากลัวพรรคอื่นจะได้รับความนิยมเหนือกว่า เราก็ต้องสร้างผลงานให้เหนือกว่าเขามิใช่หรือ?
น่าเสียดายที่สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ในอดีตและหรือรัฐบาลอภิสิทธิ์ในปัจจุบันทำ กลับไม่ใช่การแสดงผลงานที่เหนือกว่าคู่แข่ง แต่เป็นการสร้าง/ขยายภาพคู่แข่งให้น่ากลัวสำหรับสังคมไทย
อันที่จริง ณ เวลานี้ ทักษิณไม่ใช่คู่แข่งของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เพราะสถานะของ “นักโทษหนีคุก” ย่อมไม่อาจสร้างผลงานใดๆให้เหนือกว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ ทักษิณทำได้แค่ “พูด” หรือ “แสดงบท” ที่ไม่มี “authority” ใดๆที่จะสร้างผลงานเหนือกว่า หรือสร้างคะแนนนิยมเหนือกว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ได้เลย แต่ทำไมการพูด การแสดงบทของทักษิณจึงทำให้อภิสิทธิ์และพลพรรคหัวปั่นไปตามๆกันตลอดปีที่ผ่านมา?
และทำไมรัฐบาลอภิสิทธิ์จึงกลัวทักษิณ พร้อมกับพยายามสร้างภาพทักษิณให้น่ากลัวสำหรับสังคมไทยด้วยวาทกรรม “อันตรายต่อสถาบัน” ตามรอยพันธมิตรฯ
ลึกๆแล้วสิ่งที่รัฐบาลอภิสิทธิ์กลัวคือกลัวคะแนนนิยมในตัวทักษิณใช่หรือไม่? นี่จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่กล้าคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่!
การกลัวคะแนนนิยมในตัวทักษิณ ยิ่งสะท้อนความไม่เชื่อมั่นว่าตนเองสามารถสร้างผลงานได้ดีกว่าทักษิณ และการที่ประชาชนจำนวนมากยังนิยมในตัวทักษิณแม้เขาไม่มี “authority” ใดๆที่จะทำประโยชน์ให้สังคม ยิ่งสะท้อนความล้มเหลวของรัฐบาลอภิสิทธิ์ว่าวิธีการต่างๆที่คุณทำงานหรือทำลายความน่าเชื่อถือฝ่ายตรงข้ามนั้นไม่อาจเอาชนะใจประชาชนได้
ในสภาวะที่พรรคเพื่อไทยอยู่ในสภาพอ่อนปวกเปียก เพราะคอยแต่อาศัยกินบุญเก่าของทักษิณ และทักษิณเองก็ยังร่อนเร่พเนจร คู่แข่งที่แท้จริงของรัฐบาลอภิสิทธิ์คือใคร? รัฐบาลอภิสิทธิ์กลัวใครจึงไม่กล้ายุบสภาเลือกตั้งใหม่?
หากมิใช่กลัวความผิดของตัว ความผิดที่ตัวเองเคยประณามคนอื่นแล้วตัวเองก็ทำความผิดทำนองเดียวกันนั้น และกลัว “ความไร้ประสิทธิภาพ” ของตัวเองจะแสดงผลคะแนนเลือกตั้งออกมาน้อยกว่าครั้งที่แล้ว!