ที่มา ประชาไท
ศิวะ รณยุทธ์
28 ธันวาคม 2552
ความคลี่คลายของสถานการณ์ของการต่อสู้ของผู้รักประชาธิปไตยในหลายเดือนมานี้ ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวที่จะจัดขบวนใหม่ของการต่อสู้ให้เหมาะสม เพราะปรากฏการณ์ที่ชัดเจนได้ยืนยันว่า กลุ่มอำมาตย์(พันธมิตรข้าราชการ+ทุนอภิสิทธิ์ ที่หนุนหลังโดยราชสำนัก) ยังคงดื้อรั้นที่จะยึดกุมอำนาจเผด็จการซ่อนรูปแบบ ‘โต๊ะแชร์’ เพื่อแบ่งปันผลระโยชน์ต่างตอบแทนกันในคนจำนวนน้อยนิดเอาไว้ในกำมือต่อไป ภายใต้โครงสร้างรัฐซ้อนรัฐอันซับซ้อนในนาม ‘ประชาธิปไตยรู้รักสามัคคี’ ที่ลวงโลก
ถึงแม้ว่า สถานการณ์จะเอื้ออำนวยให้การเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาชน แต่คำถามเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่เหมาะสมในการต่อสู้เพื่อเอาชนะศัตรูของประชาธิปไตยยังดำรงอยู่มิได้ขาดว่า จะดำเนินการขับเคลื่อนกันต่อไปอย่างไรเพื่อพัฒนาสมรรถนะของพลังประชาธิปไตยจากปริมาณสู่คุณภาพ แล้วแปรเปลี่ยนไปบรรลุชัยชนะเหนือพลังเผด็จการทุกรูปแบบ
ข้อเขียนชิ้นนี้ ถือเป็นการให้คำอธิบายกับข้อเสนอเดิมที่ว่าด้วยการสร้าง ‘ยุทธศาสตร์ที่เป็นเอกภาพ ยุทธวิธีที่หลากหลาย’ เมื่อหลายเดือนก่อน โดยสาระสำคัญที่ต้องการย้ำให้เห็นว่า การจะบรรลุเพื่อสร้างยุทธศาสตร์ยุทธวิธีดังกล่าวได้ จะต้องผ่านการก้าวข้าม 2 อุปสรรคสำคัญของขบวนการประชาธิปไตยให้ได้เสียก่อนนั่นคือ
1) ก้าวข้ามทางอุดมการณ์
2) ก้าวข้ามทางการจัดตั้ง
ข้อเสนอ 2 ก้าวข้ามนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากข้อสรุปของอันโตนิโอ กัมชี่ที่ว่าด้วย อำนาจนำ ที่มีข้อเสนอสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงสังคมที่แท้จริง จำเป็นต้องเปลี่ยนจิตสำนึกของสังคมในทางการเมืองและวัฒนธรรมด้วย นอกเหนือจากการยึดครองอำนาจรัฐทางการเมืองและเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการยอมรับการเปลี่ยนแปลงโดยไม่มีการบังคับกดขี่ ซึ่งจะทำได้จะต้องเอาชนะในสงคราม 2 ด้านพร้อมกันไปคือ สงครามอุดมการณ์(และวัฒนธรรม) กับ สงครามขับเคลื่อนทางการจัดตั้ง ซึ่งสอดคล้องกับ เหมา เจ๋อ ตง ในส่วนที่ว่า “หากจะปฏิวัติต้องมีทฤษฎีปฏิวัติ และมีองค์กรจัดตั้งเพื่อปฏิวัติ” นั่นเอง
ก้าวข้ามทางอุดมการณ์
แม้ว่านักสู้เพื่อประชาธิปไตยไทยจะได้ผ่านบทเรียนมาครั้งแล้วครั้งเล่าในการต่อสู้กับเผด็จการหลากรูปแบบ แต่ย่างก้าวของประชาธิปไตยที่ยั่งยืนก็ยังไม่บรรลุเป้าหมาย โดยเฉพาะประเด็นปัญหาเกี่ยวกับอุปสรรคทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งยังไม่สามารถก้าวข้ามได้
อุปสรรคทางด้านอุดมการณ์(และวัฒนธรรม)ที่ยังแฝงเร้นและยังไม่อาจก้าวข้ามได้พ้นดังที่ได้สรุปอย่างย่นย่อต่อไปนี้คือ สิ่งที่เราต้องก้าวข้ามไปให้ได้ ก่อนจะนำไปสู่เรื่องของการจัดตั้งที่จะส่งผลเป็นรูปธรรม
มายาคติเรื่องประชาธิปไตยคือสิ่งแปลกปลอม(การชิงสุกก่อนห่าม - เอาความคิดฝรั่ง ที่ไม่เหมาะกับสังคมไทยมาใช้-เป็นการกระทำของกลุ่มโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม - รัชกาลที่ ๗ เป็นบิดาแห่งการปกครองประชาธิปไตยไทย) สร้างความแตกแยกทางสังคม (ทำให้ไม่รู้รักสามัคคีซึ่งมีคุณค่าเหนือกว่าความยุติธรรมของสังคม ไม่ได้คนดีปกครองบ้านเมืองแต่มีรัฐบาลเลือกตั้งสามานย์ ทำให้ทุนครอบรัฐ และเกิดวัฒนธรรมซื้อเสียง) ทั้งที่ข้อเท็จจริงแล้ว ประชาธิปไตยคือ วัฒนธรรมที่เปิดโอกาสให้มวลชนในสังคมแสดงความหลากหลายทางความคิดเพื่อสะท้อนข้อเท็จจริงของตนอย่างเปิดเผย และได้รัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพซึ่งบั่นทอนการลงทุน และทำให้เศรษฐกิจทรุดโทรม ทั้งที่มีหลักฐานสนับสนุนย้ำว่า ชาติที่มีประชาธิปไตยเต็มรูปและประชาชนมีหลักประกันเสรีภาพ/เสมอภาคนั้น สามารถแปรพลังของรัฐให้กลายเป็นพลังการผลิตใหม่ๆได้เหนือกว่าชาติประชาธิปไตยครึ่งใบหรือเผด็จการที่มีข้อจำกัดในการสร้างพลังทางเศรษฐกิจ
มายาคติว่าด้วยความบริสุทธิ์ของอุดมการณ์ (หรือ ชุดความคิดสำเร็จรูปชี้นำมวลชน) สังคมที่ไม่สามารถแยกแยะสภาพที่แท้จริงทางสังคมออกจากความเชื่อเรื่องอุดมการณ์ที่บริสุทธิ์อันกระด้างต่อความเป็นจริงทางสังคม ย่อมตกเป็นเหยื่อของ ‘ความจริงสำเร็จรูปที่ถูกปรุงแต่งขึ้น’ ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อของสงครามทางการเมือง โดยเชื่อว่าจะสามารถนำไปสู่เป้าหมายที่บริสุทธ์ทางความเชื่อได้ โดยปฏิเสธสัจธรรมที่ว่า ทุกความเชื่อและทฤษฏีทางสังคมใดๆล้วนมีด้านสว่างและด้านมืดเสมอ ดังจะเห็นได้จาก ข้ออ้างเรื่องเอกลักษณ์ความเป็นไทยเพื่อเชิดชูอำนาจราชสำนักและความคิดชาตินิยมสำเร็จรูปของพวกอำมาตย์ ทั้งที่ความจริงแล้วสังคมไทยประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรมจนไม่จำเป็นต้องนิยามอย่างยัดเยียดในเรื่องเอกลักษณ์ไทย หรือ ทฤษฎีที่เชื่อว่าสังคมต้องมีเป้าหมายในตัวเองเพื่อมุ่งไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์และมีวิวัฒนาการเป็นเส้นตรง หรือ การปฏิวัติต้องมีพรรคชี้นำหลักที่มีทฤษฎีปฏิวัติชี้นำเป็นต้นซึ่งได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่า มีข้อบกพร่องที่ต้องทบทวนอยู่มาก
มายาคติว่าด้วยประชาธิปไตยจากเบื้องบน เชื่อมั่นว่า พวกอำมาตย์นั้นมีกระบวนทัศน์และจิตใจประชาธิปไตยมากเพียงพอที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้เป็นประชาธิปไตยโดยสันติวิธีได้ด้วยข้อเสนอปฏิรูปทางการเมือง ซึ่งโดยข้อเท็จจริง แม้ประชาธิปไตยจากเบื้องบน(ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าการได้มาของประชาธิปไตยจากเบื้องล่าง)เช่นว่านี้ จะมีตัวอย่างจำนวนน้อยในโลกนี้ (เช่น ญี่ปุ่น สวีเดน หรือ ภูฏาน) แต่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้ยืนยันมากว่าร้อยปีนับแต่มีการเปลี่ยนสังคมไทยให้ทันสมัยแบบตะวันตกแล้วว่า พวกอำมาตย์ที่ครองอำนาจผูกขาด ล้วนถือประชาธิปไตยเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยสำหรับสังคมไทยเสมอมา อาทิเช่น หลังจากการอภิวัฒน์ของคณะราษฎร พ.ศ.2475 พวกอำมาตย์ก็สร้างนิทานโกหกว่า หาอะไรดีไม่ได้และเป็นการ ‘เอาหมามานั่งเมือง’ ซึ่งยืนยันขัดเจนว่า พวกเขาจะไม่มีวันยอมให้มวลชนได้เข้ามาส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของสังคมและตนเองอย่างเด็ดขาด การรัฐประหาร 2549 ที่นำร่องโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกติกาของรัฐธรรมนูญ2550 ยืนยันชัดเจนให้ประจักษ์อยู่แล้ว
มายาคติว่าด้วยทุนสามานย์ มองเห็นแต่ด้านมืดของทุนนิยมว่า เป็นระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา และหากทุนครอบงำรัฐ จะทำให้กลุ่มทุนผูกขาดหาประโยชน์จากการมีอำนาจทางการเมืองเหนือประชาชนกลุ่มอื่นๆ ทั้งที่โดยหากใช้วิภาษวิธีวิเคราะห์กันแล้ว ทุนนิยมเช่นเดียวกันกับระบบเศรษฐกิจการเมืองอื่นๆของมนุษย์ นั่นคือก็มีทั้งด้านมืดและสว่างดำรงอยู่ควบคู่กันไป จุดเด่นของทุนนิยมโดยเฉพาะทุนนิยมเสรี อยู่ที่มันสามารถสร้างพลังการผลิตด้วยกระบวนการของคนกลุ่มต่างๆให้หลากหลายรูปแบบอย่างไม่จำกัดได้ดีกว่ากระบวนการผลิตด้วยระบบอื่นๆโดยเปรียบเทียบ แม้จะมีด้านมืดที่ภายในระบบนี้จะมีปัญหาความผันผวนเป็นวงจรขาขึ้นและขาลงที่สร้างปัญหาเชิงโครงสร้างและผลกระทบต่อชีวิตผู้คนเป็นระยะๆ รวมถึงปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ทางการผลิตที่เกิดการกระจุกตัวของความมั่งคั่งโดยกลุ่มทุนผูกขาดจำนวนน้อย แต่ก็ยังคงสามารถวิวัฒน์ให้ก้าวหน้าท่ามกลางการต่อสู้ระหว่างทุนผูกขาดกับทุนเสรีก็เป็นสิ่งที่ดำเนินตลอดเวลาซึ่งรองรับเสียงเรียกร้องต้องการของผู้คนในสังคมได้ดีกว่าระบบเศรษฐกิจอื่นๆอย่างยากปฏิเสธได้ ตัวอย่างเช่นสังคมไทยยุคหลังกรณีการลุกฮือของชนชั้นกลาง 2535 ทำให้ทุนใหม่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมกับธุรกิจและช่องหารายได้นอกจารีตเดิมของทุนผูกขาดดั้งเดิมที่เกาะติดอำนาจเผด็จการมายาวนาน แต่เมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งอันเป็นผลจากความไม่พร้อมในการเข้าร่วมวงไพบูลย์ของกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้กลุ่มอำมาตย์วิตกจริตกับอนาคตที่ตนเองไม่เข้าใจและเริ่มควบคุมไม่ได้จนกระทั่งสร้างกระแสทวนประวัติศาสตร์ด้วยการยอมให้อดีตกลับมาหลอกหลอนผู้คนในสังคมครั้งใหม่ หวังเกาะกุมยึดอำนาจรัฐเพื่อรักษาอำนาจและประโยชน์ของตนอย่างเหนียวแน่น เดินสวนทางกับกลุ่มทุนใหม่ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ฉกฉวยโอกาสใช้เครื่องมือเก่าคร่ำครึอย่างกองทัพเข้ามา หวังกระชากโครงสร้างสังคมให้ถอยหลังกลับอย่างเพ้อฝันว่า จะสามารถสร้างแดนสนธยาของทุนผูกขาดที่รวมศูนย์และแจกจ่ายผลประโยชน์ในกลุ่มอำมาตย์จำนวนน้อย ปฏิเสธทั้งการโอนกิจการเป็นของรัฐ (เพราะกลัวเสียอำนาจในการครอบครองปัจจัยการผลิตด้วยถูกยึดความมั่งคั่งแบบรัฐสังคมนิยม) และการเปิดเสรีทางธุรกิจเต็มรูป(เพราะรู้ดีว่าไม่สามารถแข่งขันได้ในบรรยากาศเปิด)
มายาคติว่า กองทัพเท่านั้นเป็นกำลังหลักของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในชาติกำลังหรือด้อยพัฒนา ข้อสรุปหยาบๆว่าการเมืองไทยต้องมีทหารและกองทัพกำกับและแทรกแซง และรัฐบาลต้องรักษาสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพซึ่งเป็นเสาหลักพิทักษ์ราชบัลลังค์ และความมั่นคงของชาติ จึงเป็นข้ออ้างที่ใช้ทำรัฐประหารมาโดยตลอด ทั้งที่โดยข้อเท็จจริง รัฐบาลทหารหรือรัฐบาลทหารตั้งนั้นได้พิสูจน์ถึงการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพและฉ้อฉลทุกรูปแบบสูงกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งหลายเท่ามาตลอด อีกทั้งผู้นำของกองทัพซึ่งทำตนเป็นทหารการเมืองมากกว่าทหารอาชีพในปัจจุบันก็ขาดคุณสมบัติพื้นฐานของผู้นำรัฐในยุคที่สังคมเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะพวกเขาไม่สามารถเข้าใจสภาวะที่แท้จริงทางสังคมในประเทศและพลวัตของการเปลี่ยนทางด้านภูมิศาสตร์การเมืองของโลกได้ แต่พวกเขายังดื้อรั้นหวังจะฉวยโอกาสหาประโยชน์เข้าส่วนตัวและพรรคพวกจากการผูกขาดอำนาจทางการเมืองต่อไปไม่สิ้นสุด กลายเป็นกาฝากหรือโจรการเมืองอย่างชัดเจน
มายาคติเรื่องคนเดือนตุลา ตราประทับแบบเหมาโหลต่อกลุ่มคนที่เรียกตัวว่าคนเดือนตุลา หรือพวกที่มีกิจกรรมเคลื่อนไหวขับเคลื่อนสังคมก่อนและหลัง 14 ตุลาคม 2516 เป็นพวก ‘ก้าวหน้า’ เปิดช่องให้กลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่พลัดหลงกับกระแสดังกล่าว โดยที่ยังไม่เข้าใจถ่องแท้ทางทฤษฎี และไม่ได้ดัดแปลงตนเองอย่างถึงที่สุดฉวยโอกาสนำไปสร้างภาพลักษณ์หลอกลวงผู้คนที่ไม่รู้จำแนกแยกแยะ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วจะต้องพิจารณาพฤติกรรมในปัจจุบันเป็นสำคัญว่า ได้มีส่วนร่วมในการต่อสู้เพื่อขับเคลื่อนขบวนประชาธิปไตยของมวลชนมากน้อยเพียงใดและนักสู้เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริงย่อมถือเอาความรุนแรงเป็นแค่เครื่องมือ มิใช่เป้าหมาย
มายาคติว่า การใช้ความรุนแรง ไม่ใช่วิถีประชาธิปไตย ข้อเท็จจริงก็คือ การใช้ความรุนแรงเชิงกลยุทธ์เพื่อยกระดับการต่อสู้ทางการเมือง กับการใช้ความรุนแรงแบบลัทธิทหารอย่างพร่ำเพรื่อ มีความแตกต่างกันเพราะในประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อได้มาเพื่อประชาธิปไตยของสังคมต่างๆในโลก ล้วนแสดงให้เห็นว่า หากชนชั้นปกครองดื้อรั้นสร้างระบอบผูกขาดอำนาจเผด็จการในกลุ่มอภิสิทธิ์ชนจำนวนน้อย โดยปฏิเสธประชาธิปไตยจากเบื้องล่าง(ซึ่งมีตัวอย่างจำนวนน้อยเต็มที) มวลชนที่รักประชาธิปไตยก็ไม่มีทางเลือกที่ต้องผสมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธเป็นหนึ่งในยุทธวิธีเพื่อการต่อสู้
การก้าวข้ามอุปสรรคทางด้านอุดมการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น จะช่วยให้สามารถมองทะลุไปถึงความหมายที่ชัดเจนของข้อเรียกร้อง ‘ยุทธศาสตร์ที่เป็นเอกภาพ ยุทธวิธีที่หลากหลาย’ เพื่อช่วยให้สามารถมุ่งไปสู่การก้าวข้ามทางจัดตั้งอย่างเป็นระบบในการต่อสู้เพื่อขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าอย่างพลิกแพลงได้
ก้าวข้ามทางการจัดตั้ง
ขั้นตอนของการก้าวข้ามทางการจัดตั้ง คือ การขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมของการต่อสู้ ซึ่งหากคนในขบวนการปฏิวัติประชาธิปไตยเกิดความเข้าใจเพียงพอในรูปฉันทามติร่วม (ไม่ใช่ประชาธิปไตยรวมศูนย์แบบเดิม)ว่า ยุทธวิธีขับเคลื่อนทุกอย่างที่ถูกนำมาใช้ จะต้องสามารถสร้างแรงเหวี่ยงเพื่อเอาชนะทางการเมืองให้ได้ทางใดทางหนึ่ง
การเอาชนะทางการเมืองคืออะไร? ลดขวัญกำลังใจ ทำให้ศัตรูไม่กล้าปราบปรามกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวอย่างถูกกฎหมายและกึ่งถูกกฎหมาย ทำให้ศัตรูจำต้องเปลี่ยนเกมเล่นที่ไม่ถนัด บีบให้ศัตรูต้องยอมรับเงื่อนไขบางประการที่เราเสนอ และเปลี่ยนฐานะจากการตั้งรับทางการเมืองของฝ่ายเราเป็นการรุกทางการเมืองต่อศัตรู
การรุกทางการเมือง คืออะไร? ชุดของยุทธวิธีเพื่อสร้างปลุกระดมมวลชน สร้างความปั่นป่วนให้ศัตรู การโฆษณาชวนเชื่อ การล้มล้างความน่าเชื่อถือและความชอบธรรมของอำนาจรัฐ การกัดกร่อนความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ การโจมตีด้วยกำลังอาวุธ การลุกฮือและประท้วง การเจรจาเพื่อหาทางออก และปฏิบัติการนอกแบบอื่นๆ
ขั้นตอนของการขับเคลื่อนที่สำคัญ เริ่มต้นที่กลุ่มจัดตั้งของผู้รักประชาธิปไตยที่กระจัดกระจายกันในที่ต่างๆที่สามารถก้าวข้ามอุปสรรคทางอุดมการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นได้บางส่วนหรือทั้งหมด จัดการปรึกษาหารือกันเพื่อสร้างฉันทามติร่วมเพื่อกำหนดเข็มมุ่งของการต่อสู้ในรูปพหุภาคีใต้หลักการ ‘หนึ่งแนวร่วมในหลากแนวร่วมที่เสมอภาค’ โดยไม่ถือว่ากลุ่มใดชี้นำ แต่ให้ถือเอาข้อเสนอที่เป็นไปได้ และมีพลังมากที่สุดในการเอาชนะทางการเมืองเป็นธงนำ ซึ่งเมื่อได้ฉันทามติร่วมแล้ว ก็จะเกิดเอกภาพทางยุทธศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมขึ้นมา
จากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนของการลงมือปฏิบัติการผ่านยุทธวิธีเพื่อรุกทางการเมืองที่แต่ละกลุ่มจัดตั้ง(ทั้งในรูปองค์กรเปิด หรือ กึ่งเปิดกึ่งปิด หรือ ปิด) มีความถนัดบนสถานการณ์ที่เป็นจริง ซึ่งเพื่อให้เข้าใจถึงการใช้ยุทธวิธีที่หลากหลายในการต่อสู้ มีต้นแบบที่ประสบความสำเร็จมาแล้วให้พิจารณาเพื่อประยุกต์ใช้เข้ากับสถานการณ์อย่างยืดหยุ่น ซึ่งมี 3 โมเดลดังนี้
1. นิคารากัวโมเดล กลุ่มซานดินิสต้า(ชื่อย่อภาษาสเปนคือ FSLN- Frente Sandinista de Liberación Nacional) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1961 มีเป้าหมายหลักคือ ให้เจตจำนงของออกุสโต่ ซานดิโน่ อดีตผู้นำนักปฏิรูปที่ถูกลอบสังหารบรรลุนั่นคือ โค่นล้มอำนาจของเผด็จการโซโมซ่า และลดการครอบงำของสหรัฐฯแต่เนื่องจากความซับซ้อนของสังคม และมุมมองของแกนนำที่มีวิธีการจัดตั้งและต่อสู้แตกต่างกัน รวมทั้งมีอุดมการณ์ย่อยที่ขัดแย้งกันภายใน จึงตกลงกันให้มีรูปแบบการจัดตั้งตาม ‘ร่วมทางยุทธศาสตร์ แยกทางยุทธวิธี’ ผสมเข้ากับการหาทางสร้างแนวร่วมกับศาสนจักรโรมันคาธอลิก เกิดเป็นขบวนที่แยกแนวทางการต่อสู้ทางยุทธวิธี 3 แนวคือ
- สู้รบนอกแบบยาวนานในชนบท (GPP-guerra popular prolongada)หาการสนับสนุนและสร้างฐานที่มั่นจากชาวนาในชนบทเพื่อรบยืดเยื้อแบบลัทธิเหมา ผสมลัทธิเทววิทยาเพื่อการปลดปล่อย ของนักบวชคาธอลิกนอกคอก นำโดยกลุ่มนักปฏิวัติที่มีเชื้อสายพื้นเมืองที่พยายามประยุกต์คำสอนและวิถีชีวิตของพระเยซูเข้ากับลัทธิมาร์กซ โดยมีคำขวัญง่ายๆคือ ‘พระเยซูคือมาร์กซิสท์ที่แท้จริงคนแรก’ ถือว่าภารกิจของนักบวชคริสต์และศาสนจักร ไม่ใช่การยกระดับจิตวิญญาณหรือไถ่บาป แต่ต้องช่วยปลดปล่อยมวลชนผู้ถูกกดขี่ให้ได้รับความยุติธรรมทางสังคมพร้อมไปด้วย ผลของแนวคิดนี้ถือการปฏิวัติไม่ขัดแย้งกับศาสนาจักรโรมันคาธอลิก
- ทำสงครามและลุกฮือในเขตเมือง(TP- tendencia proletaria) ยึดแนวทางทรอตสกี้และเลนินสร้างฐานมวลชนจากกรรมกรและปัญญาชนในเมืองหลัก กลุ่มนี้เชื่อมโยงเครือข่ายเข้ากับค่ายโซเวียต/ยุโรปตะวันออก
- สร้างแนวร่วมหลากหลาย/ลุกฮือฉาบฉวยหากมีจังหวะ หรือ ‘ทางสายที่สาม’ (TI- tercerista/insurrecctionista) นำโดย 3 พี่น้องออร์เตก้า ประสานการต่อสู้ระหว่างกลุ่มกำลังต่างๆในประเทศ แม้กระทั่งพวกที่แสวงหาแนวทางรัฐสภา รวมทั้งประสานข้ามชาติกับปัญญาชนเสรีนิยมและซ้ายสากล เน้นยุทธศาสตร์ประชาสัมพันธ์ผ่านปฏิบัติการครึกโครมเพื่อสะท้อนความเหลวแหลกของรัฐบาลโซโมซ่า กลุ่มนี้เชื่อมโยงและได้รับการฝึกอาวุธจากคิวบา
การต่อสู้ของทั้งสามแนวทางพร้อมกันโดยไม่มีส่วนใดชี้นำ (แม้จะมีการประชุมเพื่อประสานกันเป็นระยะอย่างไม่ต่อเนื่องเพื่อประเมินสถานการณ์) ในระยะแรกไม่ประสบความสำเร็จมากนัก โดย เฉพาะศาสนจักรคาธอลิกกระแสหลักซึ่งมีอิทธิพลและขึ้นต่อวาติกัน ไม่ยอมรับแนวทางของกลุ่มเทววิทยาเพื่อการปลดปล่อย ยกเว้นกลุ่มที่สามที่สามารถสร้างผลสะเทือนจากการลักพาตัว ยึดสถานที่ราชการบางแห่ง และลอบสังหารคนของรัฐบาลบางคน เพื่อแลกกับการออกอากาศและตีพิมพ์โฆษณาอุดมการณ์ของตน แต่ก็ต้องเผชิญกับการปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐบาลโซโมซ่าเช่นกัน
จุดผกผันของซานดินิสต้า เกิดขึ้นหลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ค.ศ. 1972 ในเมืองหลวง มานากัว ทำให้มีคนตายและบาดเจ็บจำนวนมาก เงินและสิ่งของบรรเทาทุกข์จากนานาชาติถูกแปรเป็นความร่ำรวยของเจ้าหน้าที่รัฐและตระกูลโซโมซ่าอย่างเต็มที่ ทำให้ตระกูลที่มีอำนาจทางการเมืองใหญ่ๆ และ ศาสนจักรคาธอลิก หันมาโจมตีโซโมซ่า แต่ถูกตอบโต้ด้วยการลอบสังหารคนของตระกูล และคุมขังนักบวชคาธอลิก ผลักดันให้ซานดินิสต้ามีพันธมิตรใหม่ที่สำคัญเพิ่มขึ้น และเพิ่มปฏิบัติการลักพาตัว และลอบสังหารในเขตเมืองรุนแรงมากขึ้น
ในปลายปี ค.ศ. 1974 กลุ่มปฏิบัติการของซานดินิสต้าบุกเข้ายึดงานเลี้ยงของกระทรวงเกษตรและยึดตัวประกันรวมทั้งคนในตระกูลโซโมซ่าด้วย ยิงทิ้งรัฐมนตรีเกษตร และได้รับเงินค่าไถ่ตัวประกัน 2 ล้านดอลลาร์ ต่อรองให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองสำคัญของกลุ่ม 14 คน และได้ออกอากาศแถลงการณ์ของกลุ่มเต็มฉบับผ่านทางวิทยุ และตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ทั่วประเทศ แต่ที่สำคัญ ทำให้รัฐบาลโซโมซ่ารับปากว่าจะเพิ่มเงินเดือนให้ทหารชั้นผู้น้อยในกองทัพคนละอย่างต่ำ 500 คอร์โดบา(มาตราเงินท้องถิ่น)
ผลของปฏิบัติการดังกล่าว คือการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกหลายตัว กลุ่มศาสนจักรคาธอลิก กลุ่มทุนใหญ่ของประเทศ(กลุ่ม 12) และกลุ่มทหารชั้นผู้น้อย ได้เริ่มต้นใส่ ‘เกียร์ว่าง’ กับรัฐบาลโซโมซ่าอย่างจริงจังนับแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งยิ่งทำให้แนวร่วมซานดินิสต้าเพิ่มมากขึ้น สามารถปฏิบัติการเชิงรุกได้ในทุกพื้นที่ของประเทศ
ท้ายสุดโซโมซ่าก็ถูกโดดเดี่ยว จนต้องพาครอบครัวหนีไปลี้ภัยในปารากวัย ใน ค.ศ. 1979 และถูกกลุ่มไล่ล่าตามไปวางระเบิดเสียชีวิตในรถยนต์
เมื่อสิ้นรัฐบาลโซโมซ่า ซานดินิสต้าที่แตกกลุ่มทางยุทธวิธีได้กลับมาเจรจาเพื่อรวมตัวกัน เตรียมพร้อมสำหรับยุทธศาสตร์ใหม่มุ่งเข้าสู่การเมืองแบบประชาธิปไตยในเวทีรัฐสภาและการเลือกตั้งในทุกระดับ ในฐานะพรรคการเมืองแบบเปิด พร้อมกับยกเลิกรูปแบบการจัดตั้งที่มุ่งใช้ความรุนแรงอันเป็นยุทธวิธีเดิมที่เคยใช้ต่อสู้กับเผด็จการ เพราะธาตุแท้พวกเขาคือ เป็นมากกว่านักปฏิวัติ แต่มุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมที่ดีกว่า
นิคารากัวประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่บนรากฐานความคิดปฏิรูปของซานดิโน่แต่เดิม พร้อมกับประกาศเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งผลลัพธ์ปรากฏว่า กลุ่มซานดินิสต้าได้รับคะแนนนิยมล้นหลาม เข้ายึดกุมอำนาจรัฐทั้งในรัฐสภาและในตำแหน่งบริหาร จนกระทั่งอเมริกาประกาศคว่ำบาตรทางการค้ากับนิคารากัวทุกชนิด พร้อมสนับสนุนเจ้าที่ดินให้ก่อตั้งกองกำลังอาวุธคอนตร้าต่อสู้กับรัฐบาล ทำให้มีคนตายจำนวนหลายหมื่นคน ทำให้เศรษฐกิจประเทศเริ่มทรุดโทรมอย่างรุนแรง แต่นิคารากัวก็ไม่หวนกลับไปสู่เส้นทางการรัฐประหารหรือยึดอำนาจเผด็จการอีก เพราะยังคงเปิดช่องทางเปลี่ยนอำนาจผ่านการเลือกตั้ง ที่แม้กลุ่มซานดินิสต้าจะแพ้เลือกตั้งหลายครั้งในการเป็นรัฐบาล แต่ก็ยังคงใช้เวทีรัฐสภาผลักดันนโยบายสำคัญของตนเองต่อมาโดยไม่หวนกลับไปใช้ความรุนแรงอีก จนกระทั่งกลับมาครองอำนาจอีกครั้งผ่านกระบวนการเลือกตั้งในปัจจุบัน
การสนับสนุนอันแข็งขันของมวลชนต่อซานดินิสต้า และการสร้างพันธมิตรกับต่างชาติอย่างได้สมดุลของรัฐบาลนิคารากัว ทำให้ปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐฯถูกบีบให้ลดปฏิบัติการต่อต้านนิคารากัวลงเกือบทั้งหมด
2.โมเดลเนปาล นับแต่คริสต์ศักราช1960 เป็นต้นมา ราชสำนักเนปาลใช้ยุทธศาสตร์หลอกล่อประชาชนที่รักประชาธิปไตยโดยให้มีการเลือกตั้งแบบลักปิดลักเปิดสลับการยึดอำนาจคืนโดยอาศัยช่องโหว่รัฐธรรมนูญหลายครั้ง ทำให้บรรดาผู้รักประชาธิปไตยส่วนหนึ่งสรุปได้ว่า กษัตริย์เนปาลใช้ระบอบสมบูรณายาสิทธิราช จะไม่มีวันยอมให้เกิดประชาธิปไตยจากเบื้องบนแน่นอน พวกเขาส่วนหนึ่งจึงมองเห็นว่า ราชสำนักคือปัญหาความล้าหลังของชาติ ดำเนินการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสท์แห่งเนปาล-CPN(UC) ขึ้นมาใน ค.ศ. 1990 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบท โดยยึดหลักความคิดเหมา เจ๋อ ตงที่ว่า อำนาจรัฐเกิดจากปากกระบอกปืน แต่เนื่องจากมองเห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ยังไม่พร้อมยอมรับการลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธเต็มที่ จึงจัดตั้งพรรคลูกขึ้นมาเป็นกองหน้าในเขตเมืองชี่อพรรคSJM เพื่อต่อสู้ในรัฐสภาอย่างถูกกฏหมาย ทั้งสองพรรคชูคำขวัญเดียวกันคือ ชาตินิยม ประชาธิปไตย และ ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (nationalism, democracy and livelihood)
ต่อมา เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการต่อสู้ 2 เวที CPN(UC) กับ SJM จึงแยกตัวเป็นอิสระจากกันใน ค.ศ.1996 โดย CPN เปลี่ยนชื่อเป็น CPN(Maoist) ดำเนินการทำ ‘สงครามประชาชนในเขตชนบทอย่างเต็มรูป ส่วน SJM ทำการต่อสู้ในรัฐสภาอย่างเดียวเพื่อทำการเปิดโปงสภาพรัฐล้มเหลว’ ภายใต้บงการของราชสำนักที่ยอมสิโรราบต่ออินเดียอย่างชัดเจน
ประจันดา ผู้นำพรรค CPN(Maoist) ได้ประกาศแผนงานการเมืองเรียกว่า ลัทธิมาร์กซ-เลนิน ความคิดเหมาเจ๋อตง ตามแนวทางประจันดา พร้อมกับประกาศยุทธศาสตร์การต่อสู้ 5 ช่องทางเพื่อสร้างแรงเหวี่ยงทางการเมือง ภายใต้ยุทธวิธีที่ไม่ยึดถือแนวทาง ‘ป่าล้อมเมือง’ แบบเหมา แต่เรียกว่า กลยุทธ์กิ้งก่าเปลี่ยนสี ที่ประกอบด้วย
แนวทางมวลชน (กิจกรรมทางการเมือง) ปลุกระดมมวลชนในชนบทเพื่อเตรียมต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ สร้างฐานที่มั่นและอำนาจรัฐของประชาชนต่อต้านราชสำนัก โดยมุ่งการสร้างฐานสนับสนุนจากมวลชนเพื่อเตรียมความพร้อมในการต่อสู้ด้วยอาวุธ
สร้างแนวร่วม(เครือข่ายพันธมิตรประชาธิปไตย) ส่งผู้ปฏิบัติงานเข้าไปร่วมต่อสู้กับมวลชนในประเด็นการต่อสู้ที่เป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับจิตสำนึกทางการเมืองของมวลชนผ่านรูปแบบหลากหลาย เช่นสหพันธ์นักเรียน สหกรณ์สินเชื่อ สหกรณ์เกษตรกร กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอาชีพ
กองกำลังอาวุธ(โจมตีด้วยความรุนแรง) ทำการโจมตีสำนักงานรัฐโดยเฉพาะสถานีตำรวจในชนบท โดยยกเว้นการโจมตีกองทหารในกรณีจำเป็น แต่ไม่เน้นการทำสงครามยืดเยื้อ หากหวังใช้ความรุนแรงเป็นการสร้างแรงเหวี่ยงทางการเมืองในระดับประเทศ ทั้งการเผยความอ่อนแอของรัฐบาล และการปกป้องผู้ร่วมต่อสู้ในแนวทางอื่นๆ
สงครามการเมือง(ปลุกระดมมวลชนสร้างการเมืองบนท้องถนนและนอกรัฐสภาในเขตเมืองด้วยความไม่รุนแรง เช่นปิดถนนชุมนุมอภิปราย) เพื่อปลุกเร้ามวลชนให้มองเห็นความอ่อนแอของอำนาจรัฐ พร้อมกับเสนอแนวทางเจรจาเพื่อสันติภาพร่วมไปด้วยเป็นระยะๆ
ต่อสู้ทางสากล สร้างพันธมิตรกับพรรคหรือชาติหรือกลุ่มการเมืองหรือสื่อมวลชนในต่างประเทศอย่างกว้างขวาง เพื่อเผยแพร่แนวทางการต่อสู้ให้เกิดความชอบธรรม และต่อต้านการช่วยเหลือจากต่างประเทศที่มีต่อรัฐบาลเนปาลของราชสำนัก
กลยุทธ์กิ้งก่าเปลี่ยนสีของCPN(Maoist) ที่สอดประสานกับการต่อสุ้ทางรัฐสภาของSJM ได้บั่นทอนอำนาจรัฐของรัฐบาลใต้ราชสำนักอย่างรุนแรง จนกระทั่งราชสำนักต้องดำเนินการขั้นแตกหักนั่นคือกระชับอำนาจเบ็ดเสร็จโดยการยึดอำนาจและล้มรัฐธรรมนูญเก่าสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งถือเป็นการเร่งฆ่าตัวตายเร็วมากยิ่งขึ้น เพราะทำให้มวลชนมองเห็นความเลวร้ายของราชสำนักอย่างโดดเด่นในฐานะปัญหาหลักของชาติชัดเจน ทำลายความชอบธรรมในอำนาจจนหมดสิ้น
CPN(Maoist)จับมือกับ SJM ได้พยายามสร้างกระแสรุกทางการเมือง ด้วยการยื่นข้อเสนอเจรจาสันติภาพกับราชสำนักหลายครั้งโดยให้มีคนกลางเข้ามาร่วมด้วย แต่ถูกปฏิเสธ ทำให้ CPN(Maoist)ตัดสินใจรุกฆาตด้วยการลงมือโจมตีกองทหารอย่างจริงจัง จนกระทั่งสามารถครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในชนบทเอาไว้ได้ และเมื่อมวลชนในเขตเมืองเริ่มกระแสต่อต้านราชสำนักมากขึ้นจนถึงระดับปฏิเสธอำนาจของราชสำนักถึงขั้นลุกฮือเดินขบวนต่อต้านอย่างกว้างขวางในเมืองหลวง กองกำลังของ CPN(Maoist)จึงประกาศเข้าล้อมเมืองหลวงเพื่อหวังเผด็จศึก
หลังจากการต่อสู้ที่มีความสูญเสียจำนวนมาก พรรค CPN(Maoist) ก็เห็นพ้องกับข้อเสนอของพรรค SJM ในการสร้างแนวร่วมกับกลุ่มการเมืองถูกกฎหมายอื่นๆ จัดตั้งแนวร่วมประชาชน หลังการประชุมหารือที่เมืองหลวงของอินเดีย ในปลายปี ค.ศ. 2005 เพื่อยื่นข้อเรียกร้อง 12 ประการให้เนปาลมีประชาธิปไตยแบบเบ็ดเสร็จ โดยปราศจากการแทรกแซงของราชสำนัก
ข้อเรียกร้องดังกล่าวนอกจากนำมาซึ่งบทอวสานของราชสำนักเนปาลในอำนาจการเมืองแล้ว ยังหมายถึงการสิ้นสุดการใช้ความรุนแรงทุกชนิดของ CPN(Maoist) ด้วย
ประจันดา ประกาศว่า การใช้ความรุนแรงเป็นยุทธวิธีที่จำเป็นระยะหนึ่งกับพวกเผด็จการ และเมื่อหมดความจำเป็นก็พร้อมสำหรับการต่อสู้ในทางรัฐสภา ดังนั้นพรรค CPN(Maoist) จึงรวมตัวกับพรรคSJM เพื่อเตรียมการเลือกตั้งโดยมีสหประชาชาติเป็นสักขีพยาน ซึ่งผลลัพธ์ออกมา ปรากฏว่า พรรค CPN(Maoist) ได้ครองเสียงข้างมากในรัฐสภา และแม้ว่าต่อมา ประจันดาที่ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีจะลาออกจากตำแหน่งเพราะขัดแย้งทางการเมือง แต่ก็ยังคงยืนกรานต่อสู้ในแนวทางสันติวิธีต่อไป ไม่กลับไปสู่การต่อสู้ด้วยอาวุธอีกต่อไป
3. โมเดลเครือข่ายสังคม (social networks) รูปแบบการจัดตั้งนอกจารีตที่ถูกประดิษฐ์ใหม่ของยุคหลังปฏิวัติสื่อสารโทรคมนาคมผ่านเครือข่ายออนไลน์ ถือเป็นรูปแบบการจัดตั้งที่ยืดหยุ่นและมีพลังมากที่สุดสำหรับคนร่วมสมัย ผู้ใช้งานในอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันสามารถเขียนและอธิบายความสนใจ และกิจการที่ได้ทำ และเชื่อมโยงกับความสนใจและกิจกรรมของผู้อื่น ในบริการที่ประกอบด้วย การแช็ต ส่งข้อความ ส่งอีเมล วิดีโอ เพลง อัปโหลดรูป และ บล็อก บริการเครือข่ายสังคมที่เป็นที่นิยมในโลกร่วมสมัย ได้แก่ ไฮไฟฟ์ มายสเปซ เฟซบุ๊ก ออร์กัต มัลติพลาย โดยเว็บเหล่านี้มีผู้ใช้มากมาย เช่น ไฮไฟฟ์เป็นเว็บไซต์ที่คนไทยใช้มากที่สุด ส่วนบริการเครือข่ายสังคม ที่ทำขึ้นมาสำหรับคนไทยโดยเฉพาะ คือ บางกอกสเปซ โครงสร้างง่ายๆของเครือข่ายสังคม เรียกกันว่า เครือข่ายว่าว (ดูรูปประกอบ)
เครือข่ายสังคม ประกอบด้วยองค์ประกอบหลักคือ สมาชิกส่วนบุคคล และ สายสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในรูปเครือข่าย (เครือข่ายส่วนตัว หรือ เครือข่ายองค์กร) โดยยอมรับเอาความหลากหลายของสมาชิกแต่ละคนว่า สามารถที่จะสร้างเครือข่ายส่วนตัวได้มากกว่า 1 เครือข่ายที่มีลักษณะแตกต่างกัน แต่ละเครือข่ายจะเชื่อมโยงกันอย่างแน่นแฟ้นใกล้ชิดได้อย่างน้อย 6 ราย และไม่เกิน 159 ราย โดยมีตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ 114 ราย
ความแน่นแฟ้นของเครือข่าย ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสาระและเป้าหมายที่เครือข่ายใช้สื่อสารสัมพันธ์กันว่าต้องการเปิด หรือ ปิด ซึ่งสามารถใช้เป็นพื้นฐานพิจารณา ‘ทุนทางสังคม’ของเครือข่ายต่างๆได้ ไม่เพียงเท่านั้น แต่ละเครือข่ายก็สามารถที่จะตัดสินใจว่าจะยินยอมให้เชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายอื่นๆได้มากน้อยเท่าใด จึงถือได้ว่า เครือข่ายดังกล่าวถือเป็นประชาธิปไตยทางตรง มีวัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบพหุนิยมอย่างเต็มที่ นอกเหนือจากประชาธิปไตยแบบตัวแทนตามจารีตเดิม
โดยทั่วไปแล้ว เครือข่ายที่ประสบความสำเร็จในเป้าหมายที่สมาชิกทั้งหมดร่วมวางกันเอาไว้ จะพร้อมที่จะเปิดรับหรือเชื่อมต่อกับเครือข่ายอื่นๆ ซึ่งเท่ากับแต่ละเครือข่ายสังคม สามารถที่จะเป็นองค์กรจัดตั้งกึ่งเปิดกึ่งปิดได้อย่างสะดวก และสามารถแยกแยะมิตรหรือศัตรู (หรือเราและคนอื่น) ได้ง่ายและเร็ว เพราะสามารถตรวจสอบข้อมูล เพิ่มเติมข้อมูล และลบทิ้งข้อมูลได้สะดวกทั้งทางตรงและอ้อม ถือเป็นรูปองค์กรจัดตั้งเคลื่อนที่เร็วที่มีประสิทธิภาพสูง
ทั้ง 3 โมเดลดังกล่าว สามารถนำมาผสมผสานใช้ได้ในเชิงยุทธวิธีอย่างหลากหลายเป็นรูปธรรมภายใต้สาระของการเอาชนะทางการเมือง และออกแบบสร้างระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงและยั่งยืนพร้อมกันไปเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการสถาปนาสังคมประชาธิปไตยพหุนิยมและนิติรัฐที่สอดคล้องกับแนวทาง ‘ยุติธรรมอย่างเสมอหน้า ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม’ ที่เป็นรูปธรรมและมีการเตรียมให้รอบคอบล่วงหน้า โดยไม่ต้องรอ ‘ท่านผู้นำ’ ที่ประทานจากฟากฟ้าที่ไหนๆเพื่อป้องกันสภาพหนีเสือปะจระเข้ อันหมายถึงการที่มีชนชั้นปกครองใหม่ ทรยศต่อการต่อสู้และ สวมรอยนำเอาชุดความคิดหรือกระบวนทัศน์เก่ามาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างรูปแบบการกดขี่ปวงชั้นที่ไม่ต่างจากเดิม เสมือนผีเก่าเข้าสิงร่างใหม่
เงื่อนไขสำคัญของการก้าวข้ามเพื่อปฏิวัติประชาธิปไตยที่นำเสนอมาทั้งหมดนี้ ถือเป็นแนวทางที่สามารถ ยกระดับทางด้านจิตสำนึกและอุดมการณ์เข้ากับการต่อสู้กระบวนการขับเคลื่อนที่จัดตั้งเป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาสมรรถนะจากปริมาณสู่คุณภาพ แสวงหาโอกาสในการต่อสู้ในทุกปริมณฑล ทั้งถูกกฎหมาย กึ่งถูกกฎหมาย ผิดกฎหมาย และทางสากล ไม่ปฏิเสธรูปแบบที่เป็นไปได้ที่จะแสวงหาความยืดหยุ่นในการต่อสู้โดยไม่หลงเข้าสู่กับดัก ‘เป้าหมายสำคัญกว่าวิธีการ’ หรือ ‘วิธีการดี สู่เป้าหมายที่ดี’อย่างเถรตรง
ความสามารถของผู้รักประชาธิปไตยในการก้าวข้ามเพื่อปฏิวัติประชาธิปไตย ตามแนวทางนี้ คนส่วนใหญ่ก็ได้ยอมรับกันแล้วว่า ประชาธิปไตยเป็นสาระของความสัมพันธ์เชิงอำนาจและผลประโยชน์ของสังคมที่ก้าวหน้าที่สุด ตราบใดที่กระบวนทัศน์หลักของสังคมยึดมั่นในหลักการเรื่องความเสมอภาคทางสังคม ที่ตั้งบนฐานรากของการเคารพในศักดิ์ศรีซึ่งกันและกันของชนชั้นต่างๆ โดยยอมรับว่าสังคมมีชนชั้นได้ แต่ก็สามารถทำให้สมาชิกเลื่อนชนชั้นได้หลักการเรื่อง เสรีภาพของการมีส่วนร่วม ความยุติธรรม เสมอภาค และความสามารถในการปรับปรุงตนเอง ซึ่งจะทำให้ประชาธิปไตยที่ยั่งยืนทั้งที่เป็นแบบตัวแทนหรือทางตรงให้เกิดขึ้นได้ เพราะมีการเตรียมการอย่างรอบคอบล่วงหน้า เพื่อป้องกันสภาพหนีเสือปะจระเข้ (อันหมายถึงการที่มีชนชั้นปกครองใหม่ ทรยศต่อการต่อสู้และ สวมรอยนำเอาชุดความคิดหรือกระบวนทัศน์เก่ามาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างรูปแบบการกดขี่ปวงชั้นที่ไม่ต่างจากเดิม เสมือนผีเก่าเข้าสิงร่างใหม่) ที่จะนำสังคมถอยหลังกลับสู่สภาพการผูกขาดอำนาจแบบ ‘โต๊ะแชร์’ ของกลุ่มอำมาตย์
การต่อสู้เพื่อปฏิวัติประชาธิปไตย ถือเป็นสงครามที่เป็นธรรม และสงครามที่เป็นธรรม ย่อมนำชัยชนะเป็นผลตอบแทนในท้ายที่สุด ขอเพียงทุ่มเทอย่างเข้าถึงและสร้างพลังที่เป็นรูปธรรมอย่างจริงจังเท่านั้น
แนวนโยบาย ของ ‘ขบวนการรักชาติสยามเพื่อสิทธิเสรีภาพและการเปลี่ยนแปลงสังคมใหม่’ สถานการณ์ของโลกหลังวิกฤตทุนนิยมครั้งล่าสุด ปัญหาหลักที่เผชิญหน้าและส่งผลต่อพลวัติของชาติและประชาชนทั่วโลกในขณะที่ มีปัญหาหลักอยู่สามเรื่องคือ - วิกฤตฟองสบู่ของทุนนิยมสหรัฐอันเป็นแกนหลักของทุนนิยมโลก - วิกฤตของสภาวะแวดล้อมของโลก - การจัดระเบียบใหม่ทางภูมิศาสตร์การเมืองของโลก - วิกฤตฟองสบู่เศรษฐกิจแตกของสหรัฐฯที่ลุกลามไปเกือบทั่วโลกเป็นเวลานานเกือบ 2 ปีมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะเคยมีการคาดเดาถึงการล่มสลายของระบบทุนนิยมโลก แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นดูเหมือนว่าทุนนิยมกำลังจะมีการเปลี่ยนโฉมในตัวเองครั้งใหม่เพื่อฟื้นตัวกลับมามีเสถียรภาพ ชั่วคราวเพื่อฟื้นตัวกลับมาแข็งแกร่งตามวงจร อีกครั้งอย่างช้าๆ พร้อมกับการปรับตัวของกลุ่มทุนทั่วโลก โดยยังไม่ล่มสลายตาม การคาดเดาของ นักคิดวิเคราะห์บางกลุ่ม ซึ่งทำให้้สถานการณ์ปฏิวัติใหญ่ในระดับ โลกยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะในขณะที่ยังไม่สามารถมองหารูปแบบ หรือชุด ความ คิดที่สามารถ ท้าทาย การดำรงอยู่เศรษฐกิจทุนนิยมได้ชัดเจน ดังจะเห็นได้ จากการที่ชาติสังคมนิยมส่วนใหญ่ก็ยังต้องรับเอาควา่มคิดทุนนิยมไปปรับใช้เพื่อ สร้้างและสะสมความมั่งคั่งทางวัตถุในระดับสูง รวมทั้งร่วมมิือในระดับสำคัญ เพื่อ ประคองให้ทุนนิยมอยู่รอดต่อไป เหตุผลก็เพราะว่า โลกาภิวัตน์และการลงทุน ข้ามชาติทำให้ความเป็นหุ้นส่วนแบบขึ้นต่อกันและกันของเอกชนและรัฐชาติต่างๆซับซ้อนอย่างมาก ผลลัพธ์คือการปะทะรุนแรงระหว่าง ทุนนิยมกับระบบเศรษฐกิจอื่นยังไม่เกิดขึ้น ทำให้ สถานการณ์ของการปฏิวัตของโลก เพื่อทำลายทุนนิยมยังไม่ปรากฏชัด แม้ว่าจะมี การขูดรีดความมั่งคั่ง และการกระจุกของกลุ่มทุนผูกขาดระดับโลก ที่ทำให้เกิด ความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นรุนแรงมากยิ่งขึ้นก็ตาม วิกฤตสภาวะแวดล้อมของภาวะโลกร้อน เพราะใช้คาร์บอนไดออกไซด์เกินขนาด ของชาติต่างๆ ทำให้เกิดความปริวิตกว่าจะนำไปสู้ความสูญเสียต่อมนุษยชาติ โดยรวม จนต้องมีการประชุมเพื่อแก้ปัญหาใหญ่โต แต่ผลลัพธ์ดูเหมือนว่ายังห่าง ไกล จากความคาดหวังในทางบวกมาก ดังนั้นจึงคาดเดาได้ว่าจะต้องมีวิกฤตเพิ่ม มากขึ้น เพื่อหาทางออกด้วยต้นทุนที่แสนแพงในอนาคต ด้านภูมิศาสตร์การเมือง ความเติบใหญ่ของเศรษฐกิจ 4 ชาติขนาดใหญ่อย่าง อินเดีย จีน รัสเซีย และบราซิล กลายเป็นมหาอำนาจใหม่ที่แทรกขึ้นมาแข่งขัน กับมหาอำนาจเก่าอย่างสหรัฐ และพันธมิตรนาโต้-ญี่ปุ่น ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยน ภูมิศาสตร์การเมืองของโลกในปัจจุบัน และจะยิ่งเห็นชัดในอนาคต กลุ่มชาติมหาอำนาจเก่าและใหม่เหล่านี้ ต่างเพิ่มการแข่งขันกันเพื่อสร้างพื้นที่อิทธิพลของตนเองกันอย่างจริงจัง แต่ยังสามารถควบคุมให้ไม่ลุกลามเป็นสงคราม เปิดเผย ขนาดใหญ่ที่จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของแต่ละฝ่าย ผลของการเร่งสร้างเขตอิทธิพลนี้ เห็นได้ชัดเจนจากวิกฤตและสงครามตัวแทน ขนาดย่อมในหลายประเทศทั่วโลก โดยพื้นที่ซึ่งจะมีความสำคัญมากที่สุดในอนาคต ได้แก่ชาติต่างๆรอบมหาสมุทรอินเดีย นับแต่คลองสุเอซจนถึงช่องแคบมะละกา สถานการณ์เช่นนี้ ส่งผลให้ไทยและชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็นพื้นที่ ซึ่งมหาอำนาจโดยเฉพาะสหรัฐ จีน รัสเซีย และ อินเดีย ต้องการรุกเข้ามาสร้างเขต อิทธิพลขึ้นใหม่ โดยผ่านรูปแบบของการเข้ามาสร้างมิตรภาพใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ ในแต่ละรัฐ โดยยึดผลประโยชน์เป็นหลัก อุดมการณ์เป็นรอง นั่นหมายความว่า โอกาสที่จะเกิดการแทรกแซงกิจการทางการเมืองใน ประเทศเหล่านี้เกิดขึ้นได้ใน ทางอ้อม แต่จะไม่ถูกแทรกแซงโดยตรง เว้นเสียแต่ว่า การเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐ ในชาติใดๆส่งผลให้ดุลอำนาจ หรือเขตอิทธิพลเกิดการเปลี่ยนขั้วชนิดที่มหาอำนาจ บางรายยอมรับไม่ได้ สถานการณ์ของปัญหาประชาธิปไตยไทย ความขัดแย้งทางเศรษศาสตร์การเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา ๔ ปีที่ผ่านมา ของสังคมไทย จำแนกออกได้เป็น ๓ ระดับ คือ - ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนชั้นปกครองด้วยกันเอง ระหว่างกลุ่มอำมาตย์(พันธมิตรข้าราชการนำโดยกองทัพ-ทุนอภิสิทธิ์เก่า ที่หนุนหลังโดยราชสำนัก) กับกลุ่มทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นกลุ่มทุนใหม่ - ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นปกครองกลุ่มอำมาตย์ที่เป็นเผด็จการ กับ ประชาชนผู้รักความยุติธรรมและประชาธิปไตย - ความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกันเอง แสดงออกด้วยสัญลักษณ์ และรูปธรรม ผ่านกลุ่มคนเสื้อเหลืองและแดง - ความขัดแย้งดังกล่าว บานปลายเป็นความขัดแย้งระหว่างระหว่างรัฐไทยที่ถูก ครอบงำโดยชุดความคิดชาตินิยมคับแคบจากการต่อสู้ทางการเมืองภายใน ส่งผลให้มี นโยบายต่างประเทศถอยหลังเข้าคลอง สร้างปัญหาขัดแย้งกับรัฐบาลกัมพูชา และเมียนมาร์อย่างเปิดเผย หากพิจารณาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่าความขัดแย้งหลักของสังคม ยังเป็น ปัญหาระหว่างชนชั้นปกครองกลุ่มอำมาตย์ที่เป็นเผด็จการ ต้องการกระชับอำนาจ ให้ยาวนานต่อไปไม่สิ้นสุด กับ ประชาชนผู้รักความยุติธรรมและประชาธิปไตย ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวได้พัฒนามาถึงขั้นที่ไม่อาจยินยอมให้ดำรงอยู่ต่อไปได้อีก ผลักดันให้เกิดสถานการณ์ที่ต้องปฏิวัติประชาธิปไตย ที่ประชาชนผู้รักความ ยุติธรรมและประชาธิปไตยต้องเข้าสู่สงครามอันเป็นธรรมอีกครั้ง ในขณะที่ความ ขัดแย้งอื่นยังคงเป็นด้านรอง แม้ว่าในขณะนี้ สถานภาพการต่อสู้ของฝ่ายประชาชนยัังตกเป็นรองกลุ่มอำมาตย์ หลายเท่า แต่ความตื่นตัวของมหาประชาชนได้ขึ้นสู่ระดับสูง พร้อมจะท้าทาย อำนาจเผด็จการของกลุ่มอำมาตย์อย่างจริงจัง ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ขบวนการรักชาติสยามเพื่อสิทธิเสรีภาพและการเปลี่ยนแปลงสังคมใหม่ ที่จัดตั้งกันขึ้นจากกลุ่มบุคคลที่ต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่ีง ของการขับเคลื่อนให้เกิด”ยุติธรรมแบบเสมอหน้า ประชาธิปไตย แบบมีส่วนร่วม” อย่างถึงที่สุด ได้ประมวล วิเคราะห์ และสรุปออกมาเป็นแนวนโยบายดังต่อไปนี้ 1) ร่วมมือเพื่อต่อสู้และสถาปนารัฐประชาธิปไตยพหุนิยมจากเบื้องล่าง ที่เปิดโอกาสให้สมาชิกสังคมทุกชนชั้น ชาติพันธุ์ อาชีพ และ วัฒนธรรม เข้ามีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อม ด้วยหลักการเสมอภาคทางการเมืองและสังคม พร้อมกัับสร้างหลักประกันรับรองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของ พลเมืองทุกระดับภายใต้กรอบสัญญาประชาคม และนิติรัฐ เพื่อให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมเปิดมีวัฒนธรรมประชาธิปไตย โปร่งใส และกระตุ้น ศักยภาพเชิงสร้างสรรค์ของพลเมืองทุกคน 2) สามัคคีกับผู้รักความยุติธรรมและประชาธิปไตยทุกกลุ่มบนหลักการ ”แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” ไม่สร้างเงื่อนไขบังคับให้กลุ่มที่เข้าร่วมขบวนยอมรับการนำฝ่ายเดียว ดำเนินการรุกทางการเมืองเพื่อสร้างเงื่อนไขที่เหมาะสมไปเอาชนะทางการเมือง โค่นอำนาจรัฐเผด็จการของกลุ่มอำมาตย์ เพื่อเป้าหมายสู่ประชาธิไตยที่กินได้ของมวลมหาประชาชน 3) ระดมสรรพกำลัง ร่วมมือ และสนับสนุนให้มวลชนเคลื่อนไหว จัดตั้ง องค์กรมวลชนผู้รักประชาธิปไตย เพื่อใช้การเคลื่อนไหวทุกรูปแบบที่เป็น รูปธรรม ทั้ง ถูกกฏหมาย กึ่งถูกกฏหมาย ผิดกฏหมาย และทางสากล เพื่อทำการปฏิวัติประชาธิปไตย ในลักษณะแนวร่วมประชาชาติ ยกระดับการ ต่อสู้จากปริมาณสู่คุณภาพผ่านฉันทามติร่วม 4) มุ่งสร้างอำนาจรัฐใหม่ที่ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจทุนนิยมก้าวหน้าและยั่งยืน บนหลักการเสมอภาคตามผลงาน ที่นอกจากปลดปล่อยพลังการผลิต ให้สามารถแข่งขันได้แล้วยังมีความรับผิดชอบในการกระจายความมั่งคั่ง ยกระดับมาตรฐานของคุณภาพชีวิต มวลชนผู้ทำการผลิตอย่างจริงจัง เพื่อลดช่องว่างทางชนชั้น และลดการผูกขาดตัดตอนของทุนอภิสิทธิ์ ทั้งจากภายในและภายนอก 5) มุ่งแสวงหามิตรและการสนับสนุนทางสากลในรูปแบบการเคลื่อนไหวแบบ ”ในประสานนอก” เพื่อให้การต่อสู้บรรลุจุด มุ่งหมาย ภายใต้หลักการ ”ชาติที่เท่าเทียมในเวทีโลก” ไม่สร้้างเงื่อนไขที่ผูกมัดให้เกิดการครอบงำ ของต่างชาติทุกด้านในอนาคต ……………………………………. (หมายเหตุ) 1) ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะเจรจาหาทางออกที่เหมาะสม เพื่อให้เส้นทางสู่ เป้าหมายบรรลุเร็วขึ้นโดยสันติวิธี แต่ต้องยืนหยัดเป้าหมายหลักเรื่อง อำนาจรัฐประชาธิปไตยพหุนิยมจากเบื้องล่างทั้งทางตรงและทางอ้อม พร้อมหลักประกันสิทธิเสรีภาพ ขั้นพื้นฐานของพลเมืองภายใต้กรอบ สัญญาประชาคม 2) สร้างความมั่นใจให้ประชาคมโลกตระหนักว่า การสถาปนาอำนาจรัฐใหม่ของ ปวงชนนี้ พร้อมจะยอมรับข้อตกลงหรือสนธิสัญญาเสมอภาคในระดับ พหุภาคี ที่ได้กระทำมาในรัฐบาลก่อนหน้า เพื่อรักษาดุลทางภูมิศาสตร์การเมืองให้ เหมาะสม เว้นแต่ในกรณีข้อตกลงหรือสนธิสัญญาไม่เสมอภาค หรือที่ขัดแย้ง กับเจตนารมณ์ของมวลชนชาวไทยในระดับทวิภาคีจะต้องมีการทบทวนเพื่อ เจรจาปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ |