WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Saturday, March 26, 2011

ใบตองแห้งออนไลน์: เอาเจ้า แต่ไม่เอา 112 ได้ปะ?

ที่มา ประชาไท

ขยายความนิด เอาเจ้า: คือเอาระบอบประชาธิปไตยที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ไม่ใช่นิยมระบอบกษัตริย์หรือ Ultra Royalist

ไม่เอา 112: คือไม่ต้องยกเลิกทั้งหมด แต่แก้ไขให้อยู่ในภายใต้หลักการประชาธิปไตย ดังที่ (เข้าใจว่า) คณาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์จะนำเสนอ

ทำไมถึงต้อง “เอาเจ้า” สิ่งสำคัญที่สุดในทัศนะผมคือ ความรักเป็นเสรีภาพ คนที่บอกว่า “ไม่เอาเจ้า” ต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของคนที่เขา “รักในหลวง” ความรัก ความเคารพ สักการะ เป็นสิทธิเสรีภาพ เหมือนเสรีภาพในการนับถือศาสนา คนที่คิดว่าจะ “ไม่เอาเจ้า” ต้องยอมรับว่าคนไทยที่ “รักในหลวง” จำนวนมากมีความจริงใจ และเอาความเคารพรักนั้นมาเป็นพลังในการสร้างสรรค์ความดีงาม

ถึงแม้เราจะไม่ใช่พวกคลั่งอุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” แต่เราก็ต้องยอมรับว่าถ้าใช้อุดมการณ์ราชาชาตินิยมในระดับที่เหมาะสม ก็ย่อมมีคุณูปการ อุดมการณ์ชาตินิยมถ้าใช้ในแง่ของการต่อต้านการเอารัดเอาเปรียบ ชาติใหญ่รังแกชาติเล็ก มันก็สอดคล้องกับการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แต่ไม่ใช่ใช้เพียงเพื่อปลุกความเกลียดชัง บ้าคลั่งกับสัญลักษณ์และดินแดนเท่ากระแบะมือ

พูดไปทำไมมี พรรคคอมมิวนิสต์จีนชนะได้ก็เพราะชูอุดมการณ์ชาตินิยมทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่น พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามก็ชูชาตินิยมต่อสู้กับฝรั่งเศสมาตั้งแต่ต้น

อุดมการณ์ราชานิยมมีคุณูปการอย่างสูงต่อสังคมไทยตลอดมา ในแง่ที่เป็นสัญลักษณ์ของความรักผูกพันกันของคนในชาติ เป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิต “ความเป็นไทย” (ซึ่งเราคงไม่ปฏิเสธว่ามีข้อดีอยู่ในความเป็นไทย)

แต่อุดมการณ์ราชานิยมจะส่งผลร้ายแรงเมื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือทำลายอุดมการณ์ประชาธิปไตย ทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่เอากรณีสวรรคตมาเป็นข้ออ้างในการรัฐประหาร 2490 จอมเผด็จการผ้าขาวม้าแดง “ข้าพเจ้ารับผิดชอบแต่ผู้เดียว” เชิดชูสถาบันเพื่อกลบความฉ้อฉลไม่ชอบธรรมของตนเอง หรือเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ซึ่งบิดเบือนแต่งเติมภาพอ้างความจงรักภักดีมาฆ่าฟันนักศึกษาประชาชนอย่างโหดร้ายป่าเถื่อนที่สุดในประวัติศาสตร์ ตลอดมาจนการรัฐประหารของ รสช.เมื่อปี 2534 และรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ซึ่งยังผลให้เกิดวิกฤตต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

โจทย์ปัญหาร่วมกันระหว่างผู้รักประชาธิปไตย และผู้จงรักภักดีที่แท้จริง ขอเน้นว่า “ร่วมกัน” คือทำอย่างไรจะแยกอุดมการณ์ราชานิยมออกไปดำรงอยู่อย่างบริสุทธิ์ ไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ให้อุดมการณ์ราชานิยมเปล่งประกายแห่งคุณูปการ เป็นสัญลักษณ์ของความดีงาม ความรักความผูกพัน ส่งเสริมคุณธรรม และเป็นแบบอย่างของการอุทิศตนเพื่อส่วนรวม

ซึ่งทางออกมีทางเดียวเท่านั้นคือ ทำให้อุดมการณ์ราชานิยมอยู่ภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตย ภายใต้หลักการสิทธิเสรีภาพ ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง เปิดใจกว้างเข้าสู่สังคมยุคไอทีที่มิอาจปิดกั้นความเห็นหลากหลาย

ทรงเป็นประมุข

ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ ก็คือทรงเป็นประมุขของประเทศ ไม่มีประเทศไหนที่มีพระมหากษัตริย์แล้วไม่ใช่ประมุข ไม่ว่าอังกฤษ ญี่ปุ่น ฮอลแลนด์ สวีเดน ฯลฯ แต่ในบ้านเรา คำว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ถูกตีความเสียจนไม่เป็นประชาธิปไตย หรือเป็นประชาธิปไตยแต่ไม่สมบูรณ์ ความสัมพันธ์ระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ถูกทำให้คลุมเครือด้วยการอ้าง “พระราชอำนาจ” มาอยู่เหนืออำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ดังหนังสือเบสต์เซลเลอร์ของประมวล รุจนเสรี

หนังสือเล่มนี้ทั้งอ้างมั่ว และอ้างโดยมิบังควร โดยเฉพาะตอนที่อ้างว่าในหลวงทรงมีกระแสรับสั่งผ่านผู้อื่นมาชื่นชมหนังสือของตน ซึ่งถือเป็นการอาจเอื้อมมิบังควรอย่างยิ่ง คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนด่าเปรม ติณสูลานนท์ สมัยยังเป็นนายกฯ อ้างกระแสรับสั่งส่วนพระองค์ เรื่อง “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” โดยคึกฤทธิ์ชี้ว่าไม่ว่าพระองค์ท่านทรงมีกระแสรับสั่งจริงหรือไม่ก็ตาม เปรมก็ไม่ควรเอามาอ้างในทำนองที่ว่าในหลวงทรงสนับสนุน “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” เพื่อค้ำเก้าอี้ของตน

เราจะเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากการอ้างสถาบัน มักมาจากการอ้างของผู้ที่อ้างว่าใกล้ชิด จงรักภักดี แต่อ้างเพื่อประโยชน์ของตน หรือเพื่อยกคุณค่าสถานะของตน ในสังคมไทย พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพเทิดทูนสูงส่ง อยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง เมื่อมาอ้างเช่นนี้ก็เท่ากับเอาสถาบันไปอยู่ข้างตนเอง

ต้องเข้าใจด้วยว่าเมื่อเกิดการอ้างขึ้น สถาบันซึ่งเปรียบเหมือนพระต้องอยู่ในที่สูงมีเมตตาต่อพสกนิกรทุกคน ก็ตกอยู่ในภาวะลำบาก จะยอมรับหรือจะปฏิเสธ ก็กลายเป็นเข้าข้างใดข้างหนึ่งทั้งสิ้น พระองค์ท่านจึงต้องวางเฉย เพราะสมมติในหลวงมีพระราชดำรัสต่อสาธารณะ ว่าไม่ได้มีกระแสรับสั่งอย่างที่ประมวล รุจนเสรี เอาไปอ้าง ประมวลก็ต้องทำหนังสือกราบบังคมทูลลา ขอพระราชทานอภัยโทษ เอาเชือกคล้องเพดาน แล้วขึ้นไปยืนบนเก้าอี้ ลูกเมียร้องไห้ระงม

ฉะนั้น ถ้าต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงสถานะอันเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนต่อไปตลอดกาลนาน ก็ต้องยุติการอ้างสถาบัน และถ้าจะยังคงความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ก็ต้องเอาผิดผู้ที่แอบอ้างด้วย

คนไทยต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่า เราจะยึดถือพระราชดำรัสของในหลวงเท่านั้น เป็นท่าที จุดยืน หรือทัศนะของสถาบัน ผู้ที่อ้างว่าใกล้ชิด ผู้ที่อ้างว่าจงรักภักดี หรือแม้แต่ผู้ที่ถวายงาน กระทั่งองคมนตรี ต้องปิดปากให้สนิท ไม่แสดงทัศนะหรือท่าทีใดๆ โดยอ้างในหลวง อ้างพระบรมวงศานุวงศ์

โดยเฉพาะผู้มีตำแหน่งหน้าที่อยู่ใกล้ชิด ยิ่งไม่สมควรแม้แต่จะแสดงทัศนะของตัวเองในเรื่องการเมืองการปกครองหรือแนวทางพัฒนาประเทศ (เว้นแต่จะพูดเรื่องน้ำพริกเผาตราพันท้ายนรสิงห์ ก็แล้วไป) ซึ่งจะทำให้เข้าใจว่าสถาบันสนับสนุนหรือคัดค้านเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ถ้าพิเคราะห์จากพระราชดำรัสของในหลวง โดยเฉพาะพระราชดำรัสเรื่องมาตรา 7 จะเห็นได้ว่าแท้จริงแล้ว พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญมีอยู่อย่างจำกัด ดังที่ตรัสว่า ไม่เคยทำอะไรตามอำเภอใจ การโปรดเกล้าฯ ทุกเรื่องจะต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พวกที่อ้าง “พระราชอำนาจ” มักอ้างว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีอำนาจชี้ขาดทุกสิ่งทุกอย่าง การลงพระปรมาภิไธยไม่ใช่เพียง “พิธีกรรม” แต่ถ้าศึกษาแนวทางที่ในหลวงทรงปฏิบัติมา 60 กว่าปี จะเห็นได้ว่าทรงใช้พระราชอำนาจในด้าน “กระบวนการ” เท่านั้น การลงพระปรมาภิไธย ไม่ได้แสดงว่าพระองค์เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เช่น การโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคล เป็นความรับผิดชอบของผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา หรือประธานศาล ซึ่งเลือกสรรหรือแต่งตั้งกันมาตามกระบวนการ ไม่ได้แปลว่าในหลวงท่านจะเอาคนนั้น ไม่เอาคนนี้

ตัวอย่างเช่น กรณีคุณหญิงเป็ด ตอนที่มีปัญหาตำแหน่งผู้ว่า สตง.ที่วุฒิสภาทูลเกล้าฯ แล้วทางวังตีกลับ ก็มีคำอธิบายชัดเจนว่า เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ชี้ขาดว่าคุณหญิงเป็ดพ้นจากตำแหน่ง บอกแต่ว่ากระบวนการสรรหาไม่ชอบซึ่งยังไม่เป็นเหตุให้พ้นตำแหน่ง นี่คือเรื่องกระบวนการกติกา ไม่ใช่เรื่องที่ในหลวงทรงเข้าข้าง “คนดี” ตามที่บางคนบางพวกพยายามจะให้สังคมเชื่อ

รัฐธรรมนูญกำหนดให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจ “วีโต้” พระราชบัญญัติได้ นั่นเป็นเรื่องเดียวที่เปิดให้พระมหากษัตริย์แสดงความเห็นด้วยไม่เห็นด้วย แปลว่านอกจากนั้น พระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย นายกฯ ประธานสภา ประธานวุฒิสภา ทูลเกล้าฯ เรื่องใด พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยทั้งสิ้น จะแต่งตั้งใครเป็น ผบ.ทบ.ในหลวงไม่เกี่ยว เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล จะแต่งตั้งนักการเมืองชั่วแค่ไหนมาเป็นรัฐมนตรี ก็เป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี อย่ามาอ้างว่าในหลวงโปรดเกล้าฯ คนเลว เพราะในหลวงไม่เกี่ยว

ยกเว้นอย่างเดียวคือทำมาผิดขั้นตอนกระบวนการ พระมหากษัตริย์จึงเป็นด่านสุดท้ายที่จะกลั่นกรอง

ในรัฐบาลทักษิณ ในหลวงทรงตีกลับกฎหมาย 2 ฉบับ แต่ไม่ใช่การใช้อำนาจวีโต้ เป็นเรื่องการกลั่นกรอง เพราะสภาทำกฎหมายไปมั่ว เนื้อความผิดพลาดเลอะเทอะไปหมด ส่วนการวีโต้โดยทรงไม่เห็นด้วยจริงๆ ดูเหมือนจะยังไม่เคยเกิดในรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งผมเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้กรณีที่เป็นกฎหมายซึ่งสร้างความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคม มีคนไม่เห็นด้วยถวายฎีกาเป็นแสนเป็นล้านคน พระมหากษัตริย์จึงเป็นด่านสุดท้ายที่จะให้มีการทบทวน แต่พระมหากษัตริย์จะไม่วีโต้ด้วยความเห็นส่วนพระองค์ หรือด้วยผลประโยชน์ของสถาบัน

เพราะเท่าที่ผ่านมา ผมเชื่อว่ามีพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา หรือการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลจำนวนไม่น้อย ที่ในหลวงอาจจะไม่เห็นด้วย แต่ทรงลงพระปรมาภิไธย เพราะเป็นอำนาจและความรับผิดชอบของผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เอ้า ตัวอย่างเช่นพระราชกฤษฎีกาเอา กฟผ.เข้าตลาดหลักทรัพย์ ที่สหภาพรัฐวิสาหกิจคัดค้านกันโครมๆ รัฐธรรมนูญไม่ได้บอกนี่ครับว่าทรงวีโต้ได้ รัฐบาลทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงลงพระปรมาภิไธย ในกรณีเช่นนี้เราจะเห็นว่าพระราชอำนาจเท่ากับศูนย์ แต่ถ้ามีการทักท้วงกันว่า มติคณะรัฐมนตรีองค์ประชุมไม่ครบ หรือกฤษฎีกายังไม่ได้ตรวจแก้ให้เรียบร้อย อย่างนั้นในหลวงจะไม่ลงพระปรมาภิไธย

ที่ผมอธิบายมาทั้งหมด ก็เพื่อจะชี้ว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่แท้จริงนั้น ออกแบบมาเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจจำกัดที่สุด เพื่อให้สถาบันอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง เพราะ Spider-Man สอนว่า อำนาจอันยิ่งใหญ่ย่อมมาพร้อมกับความรับผิดชอบ ในระบอบประชาธิปไตยซึ่งยึดหลักนิติรัฐ ผู้ใช้อำนาจต้องรับผิดชอบ และต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้

สถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยออกแบบมาเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจ การใช้พระเดชให้คุณให้โทษ ให้มากที่สุด ดังจะเห็นได้ว่าแม้ศาลตัดสินพิพากษาประหารชีวิตบุคคลในพระปรมาภิไธย แต่เราก็ถือกันว่าผู้พิพากษาคือผู้รับผิดชอบต่อการใช้อำนาจนั้น ขณะที่นักโทษยังสามารถถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้

ในบางประเทศเช่นอังกฤษ แม้แต่พระราชดำรัสของสมเด็จพระราชินีอังกฤษ เมื่อเปิดประชุมรัฐสภา ก็ยังเป็นนโยบายที่รัฐบาลร่างให้แถลง ไม่มีความเห็นส่วนพระองค์ เป็นที่รับรู้โดยทั่วกัน โดยหลังเสด็จฯ กลับ ฝ่ายค้านก็จะเปิดฉากอภิปรายนโยบายนั้น

แต่ถามว่าพระมหากษัตริย์ทรงรับรู้การบริหารราชการแผ่นดินหรือไม่ ถ้าศึกษาจากหนังออสการ์ทั้ง The King Speech และ The Queen จะพบว่านายกรัฐมนตรีอังกฤษเข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานอยู่เสมอ และจะทรงให้คำปรึกษาในฐานะผู้รอบรู้มีประสบการณ์มามากมายหลายรัฐบาล ของไทยก็เช่นกัน แต่คำปรึกษานั้นจะต้องไม่ถูกนำมาอ้างอย่างมีนัยทางการเมือง

สถาบันพระมหากษัตริย์จะหลีกเลี่ยงการแสดงความเห็นทางการเมืองหรือทางสังคมที่มีผู้คนเห็นต่างเป็นสองหรือหลายฝ่าย เพราะความเห็นต่างนั้นไม่สามารถยุติได้ด้วยอำนาจหรือด้วยความเคารพศรัทธา ต้องปล่อยให้มีการต่อสู้ความคิดกันตามวิถีประชาธิปไตยจนมีข้อยุติ

ที่ผ่านมาผมจำได้ว่ามีครั้งเดียว คือสมัยร่างรัฐธรรมนูญ 2550 สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงขอให้ยุติการเคลื่อนไหวให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ผมตีความว่าพระองค์ท่านกระทำไปในฐานะที่พระมหากษ้ตริย์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกของทุกศาสนา ไม่สามารถปล่อยให้เกิดการเคลื่อนไหวแบบ “คลั่งพุทธ” กระทั่งก่อความแตกแยกระหว่างพสกนิกรศาสนาต่างๆ

ข้อดีของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” คือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์พ้นไปจากการใช้อำนาจ ใช้พระเดช มีแต่พระคุณ มีแต่ด้านที่ให้คุณ ให้อภัย ด้านการกุศล หรือยกย่องส่งเสริมผู้กระทำคุณงามความดี เช่น การให้เครื่องราชอิสริยาภรณ์

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พระมหากษัตริย์มีพระบารมี ยิ่งมีและใช้พระราชอำนาจน้อย ก็ยิ่งมีพระบารมีมาก ต่างกับยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่เป็นเหตุให้ถูกโค่นล้มจากอำนาจในที่สุด

“ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” จึงเป็นระบอบ The King can do no wrong เพราะ The King ไม่ได้มีพระราชอำนาจที่จะ do เรื่องใด การตัดสินใจทุกเรื่องมาจากอำนาจอธิปไตยของปวงชน ผ่านรัฐสภา ผ่านคณะรัฐมนตรี ตามกรอบกติกาที่กำหนดไว้ องค์พระประมุขเพียงกลั่นกรองให้เป็นไปตามกระบวนกติกา

พระบารมี

นักทฤษฎี “พระราชอำนาจ” มักอ้างว่าในหลวงทรงใช้พระราชอำนาจแก้ไขวิกฤตของบ้านเมือง ในกรณี 14 ตุลา 16 หรือพฤษภา 35 อันที่จริงไม่ใช่พระราชอำนาจ แต่เป็นเรื่องของพระบารมี เมื่อบ้านเมืองอยู่ในสภาพที่ไม่มีรัฐบาล หรือมีแต่ปกครองไม่ได้ ไม่มีรัฐสภา กลไกทุกอย่างเป็นอัมพาต เกิดสุญญากาศแห่งอำนาจ อย่าง 14 ตุลา ธรรมชาติของสังคมก็ต้องมองหาบุคคลซึ่งมีบารมีเป็นที่เคารพนับถือที่สุด เข้ามาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

หรืออย่างกรณีพฤษภา 35 เมื่อฉันทามติของสังคมปะทะกับรัฐบาลและกองทัพ เห็นได้ว่าจะต่อสู้กันจนเกิดวิกฤตไม่รู้จบ ในหลวงทรงมีพระบารมีที่ทุกฝ่ายยอมรับ จึงต้องเป็นคนกลาง เป็นผู้ไกล่เกลี่ย

แต่พอเกิดวิกฤตไล่ “ระบอบทักษิณ” ซึ่งสังคมแตกเป็นสองฝ่าย มีทั้งคนที่รักและเกลียดทักษิณ แล้วคนที่เกลียดไปดึงเอาสถาบันมาเป็นเครื่องมือ อ้างว่าทักษิณไม่จงรักภักดี กระทั่งเกิดรัฐประหารโดยตั้งข้อหา “หมิ่นเหม่” (ซึ่งในที่สุดก็เอาผิดไม่ได้) ใช้อำนาจรัฐประหารตุลาการภิวัตน์โดยอ้างสถาบัน มากำราบปราบปรามผู้ไม่เห็นด้วย จนวิกฤตยืดเยื้อมา 5 ปี

ตลอดเวลา 5 ปี ในหลวงไม่เคยมีพระราชดำรัสหรือแสดงท่าทีว่าพระองค์เลือกข้าง แต่พฤติกรรมของผู้มีอำนาจหน้าที่อยู่ใกล้ชิดพระองค์ ได้ทำให้สถาบันถูกดึงลงมาอยู่ในความขัดแย้ง จนกระทั่งทำหน้าที่คนกลางผู้ไกล่เกลี่ยได้ยากลำบาก มิหนำซ้ำ เมื่อมีการตอบโต้จากฝ่ายผู้ต่อต้านรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ ซึ่งบางครั้งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพาดพิงในเชิงเนื้อหาหลักการ ก็ถูกตั้งข้อกล่าวหาร้ายแรงครอบกบาล จนเกิดคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพขึ้นมากที่สุดในประวัติศาสตร์ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนใน 65 ปีของรัชกาลปัจจุบัน

คำถามสำหรับผู้จงรักภักดีที่แท้จริงคือ ควรจะทำอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ เดินหน้าฆ่ามัน? ปราบเสี้ยนหนามพวกที่มีแนวโน้มว่าจะไม่จงรักภักดีบังอาจวิพากษ์วิจารณ์ให้หมดสิ้น

คำถามนี้ต้องย้อนถามว่า พระบารมีของพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะในหลวงรัชกาลปัจจุบัน เกิดจากอะไร เกิดจากพระเดชหรือพระมหากรุณาธิคุณ เกิดจากอำนาจหรือทรงเป็นหลักของคุณธรรมความดีงาม

ถ้าต้องการยุติวิกฤตครั้งนี้ ถ้าต้องการ “ปกป้องสถาบัน” จริงๆ ไม่ใช่อ้างเพื่อผลประโยชน์ของพรรคพวกตัว สิ่งแรกเลยที่ต้องทำ ก็คือช่วยกันเอาสถาบันออกไปจากวิกฤต ยุติการอ้างสถาบันในการต่อสู้แบ่งฝักฝ่ายทางการเมือง และการปราบปรามฝ่ายตรงข้าม ยุติการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับผู้แสดงความเห็นโดยสุจริต และใช้หลักเมตตาธรรมแทนที่จะใช้กฎหมายเป็นอาวุธ โดยผู้อยู่ใกล้ชิดสถาบันควรยอมรับผิดว่าปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเพราะพวกตน “ดึงฟ้าลงต่ำ”

นอกจากนี้ ยังจะต้องมีการ “ปฏิรูป” กำหนดอำนาจบทบาทที่จำกัดและชัดเจนของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อการเมืองการปกครอง เพื่อให้เป็นไปตามหลักการที่กล่าวข้างต้น เพื่อให้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของพสกนิกรทุกคนทุกฝ่าย ไม่ว่าจะต่อสู้ขัดแย้งกันแค่ไหน

ทั้งยังต้องจำกัดอำนาจบทบาทของผู้ที่อยู่ใกล้ชิดสถาบัน ไม่ว่าองคมนตรี หรือผู้ถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ก็ไม่ควรขับเฟอร์รารีไปเที่ยวแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างเลือกข้าง

ผมไม่เคยเชื่อเลยว่าทักษิณจะล้มสถาบัน หรือต่อให้คิดจริงก็ทำไม่ได้ ตราบใดที่สถาบันอยู่เหนือความขัดแย้งและมีแต่พระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรทุกฝ่าย ผมเชื่อว่าตอนนั้นทักษิณอยากจะ “โหน” สถาบันต่างหาก แล้วก็ขัดแข้งขัดขากันกับคนอื่นๆ ที่ต้องการ “โหน” สถาบันเช่นกัน โดยคนเหล่านี้ก็ไม่ต่างจากทักษิณ ที่ต่างมุ่งหวังลาภยศสรรเสริญ ความเจริญก้าวหน้า หรือกระทั่งผลประโยชน์ แม้อาจมากน้อยต่างกัน

ความเคารพสักการะ สร้างขึ้นจากเสรีภาพ

พระบารมีของในหลวง ความเคารพรักที่ประชาชนมีต่อพระมหากษัตริย์ ไม่ได้สร้างขึ้นจากกฎหมาย แต่สร้างขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณ พระราชกรณียกิจ ที่พระองค์ทรงเสียสละเพื่อประชาชน

บทบัญญัติมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญที่ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” จึงไม่ถูกต้อง เพราะความเคารพสักการะ ความ “รักในหลวง” ไม่ได้มาจากการบังคับใช้กฎหมาย แต่มาจากพระราชจริยวัตรของพระองค์

เช่นเดียวกับมาตรา 112 ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็ไม่ใช่สิ่งเสริมสร้างพระบารมี โดยเฉพาะเมื่อถูกใช้ในทางการเมือง

สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นทองแท้ไม่กลัวไฟ จึงไม่กลัวการแสดงความเห็นต่างหรือท้วงติง แม้โดยหลักธรรมชาติ ไม่ว่าใครทำความดีแค่ไหนก็จะต้องมี “คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ” แต่ถ้าใครมีอคติ มีเจตนาไม่ซื่อ ก็ต้องแพ้ภัยตัวเอง

เราจึงต้องทำให้ความเคารพรักต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อยู่ภายใต้กรอบสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย และต้องเปิดใจกว้างว่า การวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้มาจากผู้ที่ต่อต้านเสมอไป ผู้ที่เคารพรักบางครั้งก็จะเสนอแนะให้ความเห็นหรือท้วงติงเช่นกัน

เอ้า ยกตัวอย่าง ส.ศิวรักษ์ ได้ชื่อว่าเป็นผู้จงรักภักดีแถวหน้า แต่โดนคดีหมิ่นฯ มาไม่รู้กี่ครั้ง (แล้วก็หลุดทุกครั้ง แปลกไหม) ผมเคยสัมภาษณ์ ส.ศิวรักษ์ลงไทยโพสต์แทบลอยด์ คนอ่านร้องว่า โห! ช่างกล้า หารู้ไม่ว่ารีไรท์ไปเหงื่อแตกไป แตกพลั่กๆ แต่ใครจะปฏิเสธว่าอาจารย์ ส.แกพูดด้วยความปรารถนาดี นึ่คือคน “ปกป้องสถาบัน” ตัวจริง

การเปิดกว้างไม่ใช่สิ่งที่จะทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าคิดว่าจะต้องรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ในกรอบอุดมการณ์จารีตนิยมตลอดไป ก็อาจคิดว่าการเปิดให้มีสิทธิเสรีภาพจะบ่อนทำลายสถาบันศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพเทิดทูน แต่ความเป็นจริงสถาบันพระมหากษ้ตริย์ทุกประเทศ แม้แต่ประเทศไทย ต่างก็ปรับตัวเข้าสู่โลกสมัยใหม่ โลกแห่งเสรีภาพของการเสนอข่าวสาร และสร้างความเคารพศรัทธาขึ้นจากวัฒนธรรมเสรีประชาธิปไตยมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เหลือเพียงพันธนาการสุดท้ายคือมาตรา 112 เท่านั้น

เอ้า ดูง่ายๆ คนชั้นกลางข้างมากติดสติกเกอร์ “รักในหลวง” ทั้งที่คนชั้นกลางนี่แหละ คือพวกปากหอยปากปู หูยาว ขาเมาธ์ ชอบฟังข่าวเล่าลือ ได้ดูคลิปดู YouTube ก่อนใคร นั่นแสดงว่าความ “รักในหลวง” ของคนชั้นกลางได้ผ่านการต่อสู้ในสงครามข้อมูลข่าวสารมาระดับหนึ่งแล้ว

สถาบันกษัตริย์ในโลกตะวันตก ยกตัวอย่างอังกฤษ ระบอบที่ใกล้เคียงกับเรามากที่สุด ดำรงความเคารพรักศรัทธาอยู่ได้อย่างยั่งยืนภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตย อังกฤษไม่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และไม่เปิดเพลง God Save the Queen ในโรงหนังมาตั้งแต่หลายสิบปีที่แล้ว แต่เมื่อปลายปี 2552 ผมอ่านข่าวดีเจคนหนึ่ง ปิดเทปเสียงควีนอลิซาเบธพระราชทานพรปีใหม่แก่พสกนิกร แล้วบอกว่าไร้สาระ ผลคือชาวบ้านโทรไปด่ากันตรึม และดีเจคนนั้นก็ถูกไล่ออก

สถาบันกษัตริย์ของอังกฤษไม่เพียงปรับตัวได้ในวัฒนธรรมประชาธิปไตย แต่ปรับตัวได้กระทั่งวัฒนธรรมป๊อป จากเจ้าหญิงไดอานาถึงเจ้าชายวิลเลียมส์ ทั้งเป็นที่เคารพเทิดทูน เป็นที่รักและนิยม ผสมความเท่ cool และเซ็กซี่อยู่หน่อยๆ แบบเซเลบส์ เจ้าชายวิลเลียมส์จะเข้าพิธีอภิเษก คนอังกฤษเป็นปลื้ม กระทั่งคนอเมริกันยังอิจฉา ว่าทำไมประเทศตูไม่มีกษัตริย์อย่างเขามั่ง

แต่โพลล์คนอังกฤษก็ออกมาน่าทึ่ง คือทั้งปลื้มปิติต่อพิธีอภิเษก เชื่อว่าสถาบันกษัตริย์จะรุ่งเรืองยืนยง แต่ขณะเดียวกันก็เห็นด้วยกับพวก republic ว่าไม่ควรเอางบประมาณของรัฐไปจัดพิธีอย่างสิ้นเปลือง ซึ่งสถาบันก็รับฟัง เจ้าชายวิลเลียมส์จัดพิธีอภิเษกอย่างเรียบง่าย เชิญแขกทุกชนชั้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีบทบาททำงานเพื่อสังคม

ผมไม่คิดว่าการยกเลิกมาตรา 112 จะทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ยิ่งถ้าเป็นการแก้ไขตามที่กลุ่มคณาจารย์นิติราษฎร์เสนอ (ผมคาดเอาจากที่เคยคุยกับ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ มาบ่อยครั้ง) คือไม่ได้ยกเลิกทั้งหมด แต่เปิดช่องให้ยกเว้นการติชมโดยสุจริต คงเอาผิดเฉพาะผู้ที่ลบหลู่ดูหมิ่น ซึ่งผมเห็นด้วย เพราะถึงอย่างไรเราก็ต้องปกป้องประมุข ไม่ให้ถูกลบหลู่ดูหมิ่น นี่เป็นข้อยกเว้น จะอ้างความเสมอภาคโดยเฉลี่ยสัมบูรณ์ไม่ได้ ต้องปกป้องสูงกว่าคนทั่วไปในกฎหมายหมิ่นประมาท

แต่ประเด็นนี้ก็มีเรื่องเกี่ยวเนื่องกันคือ ควรยกเลิกโทษจำคุกฐานหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญามาตรา 326 ให้เหลือแต่ความผิดทางแพ่งเท่านั้น เพราะอารยะประเทศหลายๆ ประเทศเขายกเลิกกันหมดแล้ว นี่ผมไม่ได้พูดเอง แต่ครูพักลักจำเขามา ตอนที่ทักษิณกับชินคอร์ปฟ้องหมิ่นไทยโพสต์ ฟ้องสื่อฟ้องใครต่อใครทั่วไปหมด พวกสภาทนายความพวกนักสิทธิมนุษยชนเขาร้องแรกแหกกระเฌอว่าควรยกเลิกโทษจำคุกได้แล้ว เพราะกลายเป็นอาวุธปิดกั้นเสรีภาพสื่อ แต่พอรัฐบาลสมัคร ศาลตัดสินว่าสมัครหมิ่นรองผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งอาจมีผลต่อการดำรงตำแหน่งนายกฯ (ถ้าไม่ถูกปลดเสียก่อนเพราะทำกับข้าวออกทีวี) ผมตามหาตัวคนเรียกร้องให้ยกเลิกโทษจำคุก ตามเท่าไหร่ก็ไม่เจอ

คือถ้ายกเลิกโทษจำคุกฐานหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป เหลือเพียงโทษจำคุกสถานเบากับผู้ลบหลู่ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ โดยยกเว้นการติชมโดยสุจริต ก็จะเป็นการแก้ไขกฎหมายที่ชัดเจนทั้งระบบ

ผมไม่คิดว่าการแก้ไขมาตรา 112 จะมีผลต่อพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์โดยตรง เพราะทรงเป็นที่เคารพรักของคนไทยด้วยพระราชจริยาวัตร ถ้าจะมีพวกนิยม Republic ก็คงมีแค่หยิบมือหนึ่ง อย่าประเมินสถานการณ์ผิด แบบที่คิดว่าคนเสื้อแดงนับล้านๆ “ไม่เอาเจ้า” ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะผู้ใกล้ชิดสถาบันมีพฤติกรรมที่ทำให้เขารู้สึกว่าอยู่ตรงข้ามพวกเขา ถ้าพ้นจากสถานการณ์เฉพาะหน้านี้ไป ถ้าดึงสถาบันออกจากความขัดแย้งได้ คนส่วนใหญ่ก็จะกลับมาอยู่ในสภาพปกติ

การแก้ไขมาตรา 112 จะมีผลโดยตรงกับผู้อยู่รอบข้างที่อ้างอิงสถาบันต่างหาก เพราะผู้ที่เห็นต่างจะสามารถตอบโต้ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ พูดกันถึงหลักการของระบอบ อำนาจ บทบาท ที่ชัดเจน ขจัดความคลุมเครือที่เปิดช่องให้มีการอ้างโน่นอ้างนี่เพื่อเข้ามาใช้อำนาจพิเศษโดยไม่ชอบธรรม ขณะที่สถาบันก็จะได้ฟังความโดยตรงจากผู้ที่อยู่ห่างไกล ทั้งผู้ที่จงรักภักดีและผู้ที่มีความเห็นตรงข้าม

เรียนว่าที่เขียนมาทั้งหมด ผมไม่ได้เสแสร้งเป็นผู้จงรักภักดี เพราะผมผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลา และเคยเข้าป่า แต่ประสบการณ์ชีวิตสอนให้เราใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ (แม้บางช่วงจะอดมีอารมณ์ไม่ได้ก็ตาม) นักประชาธิปไตยที่มีเหตุผลย่อมมองเห็นว่า บนพื้นฐานของสังคมไทย ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์มีข้อดีมากกว่าไม่มี (ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการต่อสู้ฆ่าฟันกันเลือดนองเพื่อไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ) นี่คือจุดร่วมกับผู้จงรักภักดี โดยสิ่งสำคัญที่ต้องแสวงจุดร่วมก็คือการเอาสถาบันออกจากความขัดแย้ง ไม่ถูกนำมาเกี่ยวข้องกับการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ เป็นที่เคารพรักศรัทธาอย่างยั่งยืน ภายใต้อุดมการณ์สิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย และหลักนิติรัฐ

ใบตองแห้ง
25 มี.ค.54