WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Saturday, March 26, 2011

ความจริง..บนโลกไซเบอร์

ที่มา thaifreenews

โดย bozo



“ยุทธศาสตร์ 2 ขา 5 เขต เราเพิ่มเขตที่ 5 คือเขตที่อยู่ในโลกไซเบอร์...
พี่น้องต้องเข้าไปต่อสู้ในเขตนี้ด้วย”

นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธาน
แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
แดงทั้งแผ่นดิน ปราศรัยกับคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2554
ที่ครบรอบ 1 ปีของการชุมนุมใหญ่ “นปช. แดงทั้งแผ่นดิน”
ที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนตามยุทธศาสตร์ 2 ขา 5 เขต คือ
ขาหนึ่งต่อสู้ในสภา อีกขาอยู่ในถนนต่อสู้กับคนเสื้อแดง
ส่วน 5 เขตคือ
1.ในชนบท
2.ในเมือง
3.ในกรุงเทพฯ
4.ในต่างประเทศ และ
5.ในโลกไซเบอร์

แต่อุปสรรคสำคัญคือระบอบที่ล้าหลังอย่าง “ระบอบอำมาตย์”
ทั้งๆที่เศรษฐกิจไทยเป็นทุนนิยมแล้ว
แต่เมื่อศูนย์อำนาจการเมือง
การปกครองและศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจอยู่ในกรุงเทพฯ ดังนั้น
สนามการต่อสู้ที่จริงจังและแตกหักจึงอยู่ในกรุงเทพฯ
คนเสื้อแดงจึงต้องปักหลักต่อสู้ในเขตกรุงเทพฯ

“ตาสว่าง” ไม่ต้อง “ปากสว่าง”

ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน กล่าวถึง
ยุทธวิธีเคลื่อนไหวของ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน โดยขึ้นกล่าวปราศรัยเป็นครั้งแรก
หลังจากถูกจองจำกว่า 9 เดือนว่า ต้องสอดรับกับสถานการณ์
โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น นปช. แดงทั้งแผ่นดิน
ทุกคนต้องทำตัวเป็นผู้ปฏิบัติงานในสนามเลือกตั้งของฝ่ายประชาธิปไตย
ไม่ใช่หัวคะแนนเหมือนในอดีต
โดยคนเสื้อแดงจะปูพรมทั่วทุกอณูพื้นที่ของประเทศไทย
เพื่อไปอธิบายหลักการ แนวคิดเรื่องประชาธิปไตย
ไปติดอาวุธทางความคิด ติดอาวุธทางปัญญาให้ประชาชน
จนประชาชนเกิดความเข้าใจว่าทำไมต้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

“สิ่งที่ผมได้ยินตอนอยู่ในเรือนจำคือคำว่าตาสว่าง ไม่รู้ใครเขาพูดกัน
แต่ผมได้ยินพี่น้องบอกว่าตาสว่างๆๆ
ถามว่าพี่น้องตาสว่างแล้วผมสว่างไหม ผมก็สว่าง
เมื่อประชาชนตาสว่างก็จะไม่มีใครสามารถซ่อนตัวอยู่ในมุมมืดได้อีกต่อไป
ประเด็นคือเมื่อตาสว่างแล้วเราจะทำอย่างไรต่อ พี่น้องที่เคารพครับ
สำหรับผมที่จะพูดคุยกับพี่น้องในฐานะที่เราเดินต่อสู้ในเวทีกลางแจ้ง
เราต่อสู้อย่างเปิดเผย เราต่อสู้อย่างตรงไปตรงมาตลอดแบบนี้
ผมอยากจะบอกกับพี่น้องว่า ตาสว่างแต่บางทีปากไม่ต้อง สว่างก็ได้ครับ
ตาสว่างไม่จำเป็นว่าปากต้องสว่าง
ในบางสถานการณ์เสียงกระซิบมันได้ผลกว่าเสียงตะโกนครับ”

สงครามข่าวสาร

นายณัฐวุฒิยอมรับว่าเจ็บปวดที่ถูกขัง 9 เดือน
แต่เทียบไม่ได้กับการบาดเจ็บล้มตายของพี่น้องเสื้อแดง
ที่วันนี้ยังถูกกล่าวหาเป็นผู้ก่อการร้ายและล้มสถาบัน
กรณีโลกอาหรับก็ทำให้วันนี้สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงโบกพัดให้คนเสื้อแดง
ที่เจ็บปวดจากการต่อสู้มีความรู้สึกสดชื่นตื่นตัวขึ้นมาอีกครั้ง เฉกเช่นคนทั่วโลก
ที่กำลังต่อสู้กับอำนาจเผด็จการเพื่อให้ได้ประชาธิปไตย แม้ในลิเบียยังลูกผีลูกคน

“ท่านเห็นไหมว่าสถานการณ์การต่อสู้ของเรา
อยู่ในระนาบใกล้เคียงกับสถานการณ์ของเขาเหมือนกัน
แล้วเดาไม่ถูกว่าประชาชนประเทศไหนจะถึงเส้นชัยแห่งประชาธิปไตยก่อนกัน
แต่สิ่งที่ผมมั่นใจได้ก็คือ
ไม่มีประชาชนในประเทศใดๆจะยอมศิโรราบต่ออำนาจของผู้เผด็จการอีกแล้ว
นี่คือสิ่งที่ผมมั่นใจ”

อย่างไรก็ตาม นายณัฐวุฒิยืนยันว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงจะเป็นไปอย่างสันติวิธี
แม้จะต้องต่อสู้ทั้ง “มือที่มองไม่เห็น” อำนาจพิเศษ และอำนาจมืดต่างๆที่พูดไม่ได้
แต่คนเสื้อแดงต้อง “ตาสว่าง” รู้แจ้งเห็นจริงเพื่อต่อสู้ให้ได้ชัยชนะ

โดยเฉพาะในโลกไซเบอร์ที่นางธิดาให้พี่น้องคนเสื้อแดงเข้าไปต่อสู้ในเขตนี้ด้วย
เพราะวันนี้โลกไซเบอร์กลายเป็นสนามต่อสู้สำคัญของคนทั้งโลก
ที่ใช้ทวงอำนาจจากคนส่วนน้อยคืน อย่างกระแสประชาธิปไตยในโลกอาหรับ
ที่เกิดจากโลกไซเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊คหรือทวิตเตอร์

เช่นเดียวกับขบวนการเสื้อแดงจะต้องสู้ต่อไปเรื่อยๆ มีการชุมนุมเดือนละ 2 ครั้ง
จนกว่าจะได้รับความยุติธรรมและมีผู้รับผิดชอบ 91 ศพที่เสียชีวิต
ในเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต”
การรณรงค์ของกลุ่ม “ไม่เอา 112” เพื่อไม่ให้นำกฎหมายหมิ่นเบื้องสูง
มาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
หรือกรณี “วิกิลีกส์” ที่นำข้อเท็จจริงและเบื้องหลังสถานการณ์ต่างๆในโลก
และประเทศไทยออกมาเปิดเผย

ความจริงเผาบ้านเผาเมือง

โดยเฉพาะเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่วันนี้ยังไม่มีคำตอบว่า
ใครเป็น “ฆาตกร” หรือ “ใครสั่งฆ่าประชาชน” รวมทั้งใครที่เผาบ้านเผาเมือง
แต่ในโลกไซเบอร์นั้นกลับสามารถค้นหาทั้งภาพถ่าย คลิปวิดีโอ ข่าว
และความคิดเห็นทุกแง่ทุกมุมได้ แม้จะถูกปิดกั้นจากอำนาจรัฐหรือผู้นำเผด็จการก็ตาม

โลกไซเบอร์จึงเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด
โดยเฉพาะการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและประชาธิปไตยซึ่งไม่มีใครปิดกั้นได้
ประชาธิปไตยจึงถูกส่งผ่านทางโลกไซเบอร์
ซึ่งมีพลานุภาพน่ากลัวไม่น้อยไปกว่าสึนามิถล่มประเทศญี่ปุ่น

อย่างกรณีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ที่อภิปรายอย่างดุเดือดในสภานั้น
หลักฐานมากมายก็นำมาจากโลกไซ-เบอร์ที่มีการนำไปเผยแพร่
ซึ่งสื่อกระแสหลักหรือสื่อทั่วไปไม่นำเสนอหรือไม่กล้านำเสนอ
อย่างการชี้แจงของตัวแทนผู้บริหารของเซ็นทรัลเวิลด์ต่อคณะกรรม-การ
ติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา
ที่มีนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ เป็นประธานว่า
มีคนกลุ่มหนึ่งพยายามลอบเผาห้างหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ
เนื่องจากมีหน่วยรักษาความปลอดภัยคอยป้องกันเหตุจำนวนหลายร้อยคน
หลังจากคนเสื้อแดงมอบตัวแล้ว

กลุ่มคนดังกล่าวพร้อมอาวุธครบมือ
ได้เข้ามาภายในเซ็นทรัลเวิลด์จนสามารถบีบให้หน่วยรักษาความปลอด ภัยยอมจำนน
และสามารถเผาได้สำเร็จ โดยมีวิดีโอบันทึกภาพกลุ่มคนที่วางเพลิงไว้ด้วย

สอดคล้องกับนายสุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล
ที่ให้สัมภาษณ์หลังเกิดการเผาห้างไม่ถึง 2 เดือนว่า
ห้างมีวอร์รูมตั้งแต่เดินขบวนที่มีเจ้าหน้าที่ประจำตลอด 24 ชั่วโมง
มีผู้บริหารระดับหนึ่งประจำอยู่เพื่อประเมินสถานการณ์ก่อน
รายงานตรงถึงผู้บริหารระดับสูงได้ตลอดเวลา วอร์รูม
จึงมีข้อความถึงผู้บริหารตลอดทุก 10 นาที หรือทุกครึ่งชั่วโมงแล้วแต่ความเคลื่อนไหว

ซักฟอกผ่านโลกไซเบอร์

แม้แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ 9 รัฐมนตรี
ก็ยังมีการตอบโต้ผ่านโลกไซเบอร์
โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์
ตอบโต้นายอภิสิทธิ์ที่ชี้แจงนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย
ในฐานะหัวหน้าทีมอภิปราย ฝ่ายค้าน
เรื่องหนี้สาธารณะว่ารัฐบาลต้องกู้เงินมาฟื้นฟูเศรษฐกิจที่พรรคเพื่อไทยก่อเอาไว้
และยืนยันว่ามีหนี้น้อยกว่ายุค พ.ต.ท.ทักษิณ โดย พ.ต.ท.ทักษิณทวิตว่า

“ได้ฟังคุณอภิสิทธิ์ตอบคุณมิ่งขวัญในสภาแล้วรู้สึกว่าน้องยังเด็กเหลือเกิน
นักการเมืองที่ดีต้องพูดความจริงต่อประชาชนครับ ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน”

พ.ต.ท.ทักษิณยังทวิตต่อว่า
สมัยตนรับหนี้มาจากรัฐบาลประชาธิปัตย์ 2 ก้อนใหญ่ๆคือ
1.หนี้กองทุนฟื้นฟูที่เกิดจากการขายทรัพย์ที่เอามาจากสถาบันการเงินล้มแบบโง่ๆ
ให้กับโกลด์แมน ซาคส์, เลห์แมน บราเธอร์ส และจีอี แคปปิตอล
ที่ได้ราคาไม่ถึง 20% ของต้นทุนทรัพย์สิน แถมยังช่วยไม่ให้ฝรั่งเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีก
หนี้ก้อนนี้ประมาณ 700,000 ล้านบาท
หนี้ก้อนที่ 2 กู้มาจากโครงการมิยาซาวา, ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี), ธนาคารโลก
และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประมาณ 600,000 กว่าล้านบาท
ซึ่งหนี้ไอเอ็มเอฟประมาณ 400,000 ล้านบาท ใช้ไปหมดแล้ว
รัฐบาลนายอภิสิทธิ์เข้ามาจึงถือโอกาสกู้เงินเพื่อหวังผลทางการเมืองและมีการคอร์รัปชัน
ทำให้หนี้สูงขึ้นเป็นลำดับ

“ขอแนะนำว่าให้ยอมรับและบอกว่าจะให้ความสนใจเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น
จะใช้เงินที่กู้มาให้เกิดประโยชน์กว่านี้ จะปล่อยให้โกงน้อยลง
จะไม่ให้เกิดการกักตุนสินค้าและตามมาด้วยการขึ้นราคาแบบนี้อีก
ผมว่าดูจะเป็นผู้ใหญ่กว่า ได้รับความเห็นใจกว่า บอกประชาชนไปเลยครับว่า
ผมกำลังเรียนรู้งานอยู่ อีกหน่อยผมก็เก่งเองครับ”

“จาตุรนต์” ทวิตถล่มซ้ำ

เช่นเดียวกับนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย
ในฐานะทีมวอร์รูมติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ซึ่งมีแกนนำพรรคและสมาชิกบ้านเลขที่ 111 คอยประเมินผลการอภิปราย
ก็ทวิตข้อความตอบ โต้นายอภิสิทธิ์เรื่องหนี้ว่า
พรรคไทยรักไทยทำให้หนี้ที่พรรคประชาธิปัตย์สร้างไว้ลดลงอย่างมากและรวดเร็ว

“คุณอภิสิทธิ์ไปเอาตัวเลขหนี้สาธารณะมาจากไหน
และยังตัดตอนประวัติศาสตร์มาพูด ลักไก่เอาแบบไม่น่าเชื่อ
เรื่องตัวเลขหนี้สาธารณะเป็นอย่างไรก็เรื่องหนึ่ง
แต่หนี้ตอนไหนมากกว่าตอนไหนไม่ใช่ประเด็น
จะจับให้มั่นคั้นให้ตายต้องรวบรวมเรื่องใหญ่ๆ
ที่คุณอภิสิทธิ์ไม่ตอบหรือตอบไม่ได้มาแสดงให้เห็น แล้วจะพบว่า
คุณอภิสิทธิ์สอบตกแน่ แต่ผมขอไม่ทำเองนะครับ
เรื่องหนี้สาธารณะคุณอภิสิทธิ์คิดผิดถนัด
ที่มาคุยว่าหนี้สมัยตัวเองน้อยกว่าสมัยคุณทักษิณ
ทั้งๆที่เรื่องนี้เป็นจุดแข็งที่สุดของคุณทักษิณ และเป็นจุดอ่อนที่สุดของคุณอภิสิทธิ์”

ปชป. รัวทวิตแจงประชาชน

ในวันเดียวกันทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ได้เขียน ข้อความลงทวิตเตอร์ โดยใช้ชื่อว่า
“@democratTH” สรุปประเด็นการชี้แจงของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ
รองนายกรัฐมนตรี เป็นข้อความสั้นๆอย่างต่อเนื่อง
ทวิตเตอร์ไทยคู่ฟ้า “Thaikhufa” ของรัฐบาลก็โพสต์ข้อความรวมถึงรายงาน
ความเคลื่อนไหวต่างๆของนายอภิสิทธิ์และรัฐมนตรีที่ชี้แจงในการอภิปรายทันที
ในแต่ละประเด็นแบบนาทีต่อนาทีทีเดียว

วอร์รูมกองทัพ

แม้แต่กองทัพบกก็ตั้งวอร์รูม
โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เปิดเผยว่า
วอร์รูมเป็นแค่การติดตามสถานการณ์ทางทหาร ซึ่งกองทัพบกมีงานทุกวันอยู่แล้ว
มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบติดตามสถานการณ์รอบประเทศ 24 ชั่วโมง มี 7 กองกำลังทำงาน
แต่หากมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับทหารถามเข้ามาก็ตอบไปเท่านั้น
เพราะการทำงานของทหารเป็นผู้ปฏิบัติเท่านั้น

อย่างเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)
ที่กองทัพเข้าไปรับผิดชอบก็ทำตามคนที่สั่งการโดยชอบตามกฎหมายคือรัฐบาล
ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายอภิสิทธิ์ที่ระบุว่า
จงใจใช้อำนาจหน้าที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายสั่งการทหารเข่นฆ่าประชาชนนั้น
เรื่องการใช้กำลังทหารไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง ประชาชนต้องแยกให้ออก
เพราะเจ้าหน้าที่ทหารเลี่ยงคำสั่งไม่ได้ กฎหมายคือกฎหมาย ความรับผิดชอบมีอยู่แล้ว
ถ้าสั่งการมาแล้วชอบด้วยกฎหมายก็ต้องปฏิบัติ จะปฏิบัติอย่างไรให้เกิดความปลอดภัย
ต้องใช้ความระมัดระวัง โดยยืนยันว่าช่วงกระชับพื้นที่ทหารทำตามคำสั่ง
ที่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาล ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
กลุ่มเสื้อแดงมีสิทธิเลี่ยงพื้นที่อันตรายได้แต่กลับหันมาสู้กับกฎหมาย

การเมืองบนโลกไซเบอร์

โลกไซเบอร์จึงกลายเป็นพื้นที่การตอบโต้การอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาลที่ดุเดือดไม่น้อยกว่าในสภา
และยังอาจได้ข้อเท็จจริงหรือข้อมูลที่ชัดเจนกว่าการอภิปรายในสภา
เพราะไม่ถูกขัดจังหวะจากบรรดาองครักษ์พิทักษ์นาย หรือเป็นข้อมูลจากผู้รู้จริง
ซึ่งทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยก็มีการตั้งวอร์รูมขึ้นมาต่อสู้กัน

วันนี้โลกไซเบอร์จึงมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
ในเวทีการเมืองและการเคลื่อนไหวต่างๆของภาคประชาชน
แม้แต่การก่ออาชญากรรมและก่อการร้ายต่างๆ เหมือนทีวี.ออนไลน์
ที่ขณะนี้คนไทยหลายสิบล้านคนเลือกดูแทนทีวี.เสรีหรือสื่อหลัก
ที่มีการนำเสนอที่อยู่ในกรอบและมอมเมา

อาชญากรรมหรือการเมือง

นิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ 2 กรก-ฎาคม 2552
ได้เคยวิเคราะห์การเมืองบนโลกไซเบอร์ของไทยว่าเหมือนกับจีน
เพราะทั้ง 2 ประเทศคอยอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย
แต่โลกไซเบอร์ในจีนกลับเป็นสมรภูมิระหว่างเสรีภาพในการพูดและการเซ็นเซอร์
เช่นเดียวกับไทยที่แม้จะมีเสรีมากกว่าสื่อกระแสหลักที่ขาดความกล้า
แต่การตรวจสอบก็ทำมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551
โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)
ได้สกัดกั้นเว็บไซต์มากกว่า 8,300 เว็บ
โดยอ้างว่าผิดกฎหมายหมิ่นเบื้องสูง
สำนักงานตำรวจแห่งชาติปิดเว็บเพจมากกว่า 32,000 หน้า ด้วยข้อหาต่างๆกันเมื่อปี 2550
แม้แต่ยูทูบยังโดนปิดกั้นเป็นเวลานานหลายเดือนหากเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ถูกใจผู้มีอำนาจ

The Economist ยังกล่าวถึงขบวนการ “ไล่ล่าแม่มด” บนโลกไซเบอร์ว่า
เบื้องหลังคือการเมืองที่เป็น กลุ่มต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ
จนกระทั่งเกิดการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งเหมือนการปล้นอำนาจ
โดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มีกองทัพ ตุลาการ และชนชั้นสูงอยู่เบื้องหลัง
โดยใช้กลุ่มเสื้อเหลืองออกหน้าการขับไล่
โดยอ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณและพวกพยายามทำลายสถาบันเบื้องสูง
จนในที่สุดนายอภิสิทธิ์ก็ได้เป็นรัฐบาล พร้อมตั้งคำถามว่า
เรื่องนี้เป็นการเมืองหรืออาชญากรรม

“ทักษิณ” ใช้โลกไซเบอร์สู้

อย่างไรก็ตาม หลังจากต้องพ่ายแพ้ด้วยโลกไซเบอร์
จากการส่งต่อข่าวอย่างเป็นระบบจากกลุ่มต่อต้าน
โดยไม่สนว่าข่าวนั้นจะจริงหรือเท็จอย่างไร พ.ต.ท.ทักษิณ
ก็พลิกกลับมาใช้โลกไซเบอร์เป็นจุดแข็งมาโดยตลอดในการต่อสู้
เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตนเองเช่นกันนับตั้งแต่ต้องออกไปอยู่นอกประเทศ
ซึ่งต้องยอมรับว่าการวิดีโอลิ้งค์หรือโฟนอินหรือทวิตข้อความของ พ.ต.ท.ทักษิณ
เข้ามายังคนเสื้อแดงหรือในเหตุการณ์สำคัญๆหลายครั้งนั้นมีผลต่อสังคมไทยไม่น้อย

ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาและโจมตีของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์หรือกลุ่ม
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ต.ท.ทักษิณก็จะใช้โลกไซเบอร์คอยตอบโต้
ทำให้ยังอยู่ในกระแสข่าวทั้งในประเทศไทยและการเมืองโลก

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็วางยุทธศาสตร์ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งใหม่
ผ่านโลกไซเบอร์มานานแล้ว รวมทั้งเว็บไซต์ของนายอภิสิทธิ์และนายกรณ์
ที่ถือเป็นฐานเสียงสำคัญที่สร้างภาพและคะแนนนิยมของนายอภิสิทธิ์และนายกรณ์
ให้กับคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ไม่เคยรู้ข่าวจากแหล่งอื่น
เพราะรับข่าวสารจากโลกไซเบอร์อย่างเดียวเท่านั้น

โลกไซเบอร์กับประชาธิปไตย

นายยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการเสวนาเปิดตัวหนังสือ
“สื่อออนไลน์ BORN TO BE DEMOCRACY” ว่าแม้ไม่แน่ ใจว่า
สื่อออนไลน์จะเป็นประชาธิปไตยโดยตัวเอง
แต่ก็น่าจะเป็นเครื่องมือนำไปสู่ประชาธิปไตยมากกว่า
หรือเรียกว่า born to become democracy

นอกจากนี้ยังมีคำถามเกี่ยวกับสื่อออนไลน์ ซึ่งผู้คนมักมองเห็นพลังและแง่บวก
ในการสร้าง “พื้นที่สาธารณะ” อย่างไร้พรมแดน ถึงที่สุด
ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับโลกออฟไลน์
พรมแดนทางออนไลน์ที่ยังมีเรื่องของภาษาหรือกฎกติกาในเว็บต่างๆ
ที่คนจะมีส่วนร่วมกำหนดกฎเกณฑ์ในสังคมออนไลน์ได้อย่างไร
และไม่ให้รัฐก้าวล่วงมาได้มากน้อยแค่ไหน

สื่อออนไลน์หรือโลกไซเบอร์จึงต้องมีความเท่าเทียม เป็นของกระฎุมพีที่ขยายพื้นที่
เพื่อสื่อสารทาง การเมือง ช่วยให้คนฉุกคิด เข้าใจถึงการสื่อสารอื่นๆในโลกความจริง
ซึ่งต้องสร้างสังคมประชาธิปไตยในโลกออฟไลน์ให้เป็นจริงขึ้นมา
เพื่อจะได้ประชาธิปไตยในโลกออนไลน์ เพราะพื้นที่ออนไลน์กับออฟไลน์มันเกี่ยวกัน
อย่างรัฐก้าวล่วงเข้ามาในพื้นที่ออนไลน์ก็ทำให้คนอึดอัด

ขณะที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ บ.ก.ลายจุด แกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง กล่าวถึง
ระยะแรกเริ่มของพฤติกรรมคนที่แสดงออกมาทางอินเทอร์เน็ตว่า
เหมือนคนที่ออกมาจากคุก จนวันนี้คนก็ยังพูดเรื่องนี้
อินเทอร์เน็ตหรือโลกไซเบอร์จึงให้สิทธิคนอื่นๆในการด่าคนในที่สาธารณะได้
นอกเหนือจากนักข่าว นักเขียน ซึ่งสื่อหนังสือพิมพ์อายุสั้นแค่วันเดียว
รายสัปดาห์ก็ 1 สัปดาห์ แต่อินเทอร์เน็ตอยู่นานได้

ดังนั้น วันนี้โลกไซเบอร์จึงเหมือนโลกของประชาธิปไตย
ซึ่งปัญหาและเรื่องราวมากมายนั้นสื่อออฟไลน์เสนอไม่ได้หรือไม่กล้านำเสนอ
อย่างกรณีวิกิลีกส์ที่สื่อกระแสหลักของไทยจำใจเซ็นเซอร์ตัวเอง
แต่คนไทยกลับสามารถรับรู้ชนิด “คำต่อคำ” ผ่านทางโลกไซเบอร์หรืออินเทอร์เน็ตได้

โลกไซเบอร์จึงทำให้คนจำนวนมากได้ “ตาสว่าง”
รู้ว่าอะไรจริง อะไรเท็จ ใครทำดี ใครทำชั่ว ใครเป็นฆาตกร ใครเป็นผู้บริสุทธิ์?

แม้ในสภาจะเต็มไปด้วยน้ำลายที่มีแต่การโกหกตอแหล
แต่ก็ไม่อาจปกปิด “ความจริง” ในโลกไซเบอร์ได้ว่า
ใครคือฆาตกรสังหารโหด 91 ศพและไอ้โม่งตัวจริงที่เผาบ้านเผาเมือง

“กรรมออนไลน์” บนโลกไซเบอร์ จึงรวดเร็วทันใจกว่า “กรรมติดจรวด”

ใครก่อกรรมอะไรไว้...ได้เวลาชดใช้กรรมในชาตินี้...ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 303 วันที่ 19-25 มีนาคม พ.ศ. 2554
หน้า 16-17 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน


http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10084