ที่มา ประชาไท
เมื่อเร็วๆ นี้ อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ เล่าให้ผมฟัง (ระหว่างสนทนากันที่โต๊ะอาหารที่บ้านผม) ว่า “สมัยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย มีนักศึกษาที่ถูกแฟนทิ้งแล้วรู้ภายหลังว่าตนเองตั้งครรภ์ มาขอคำปรึกษาว่าการทำแท้งเป็นบาปมากหรือไม่ ถ้าเป็นบาปเป็นกรรมมาก จะมีวิธีแก้บาปกรรมอย่างไร”
“แล้วอาจารย์ตอบอย่างไรครับ?” ผมถาม
อาจารย์ประมวล: “ผมไม่สามารถพูดเรื่องศีลธรรมหรือบาปกรรมอะไรได้เลย ในสถานการณ์แบบนี้ผมไม่อำมหิตพอที่จะนำความเชื่อทางศีลธรรมสำเร็จรูปมาซ้ำเติมความทุกข์ของเด็กได้ ผมเพียงแต่ขอให้เขาเล่าปัญหาทั้งหมดให้ผมฟัง แล้วก็นั่งฟังอย่างใส่ใจ จนผมรู้สึกได้ว่าจิตใจผมซึมซับความทุกข์ของเด็กคนนั้นเสมือนเป็นความทุกข์ของผมด้วย เธอเล่าไปร้องไห้ไป ผมก็ร้องไห้ไปด้วย สุดท้ายผมก็บอกว่าหนูคือผู้ที่แบกรับความทุกข์อันหนักหน่วงนี้และเป็นผู้ที่เข้าใจได้ดีที่สุดว่า ระหว่างความทุกข์จากการทำแท้งกับทุกข์ที่ต้องไม่ทำแท้ง หนูมีพลังเพียงพอจะแบกรับความทุกข์แบบไหนได้มากกว่า”
และในระหว่างบรรยายให้นักศึกษาฟังในห้องประชุม มีนักศึกษาถามว่า “อาจารย์เข้าวัดปฏิบัติธรรมเป็นประจำหรือเปล่า?”
อาจารย์ประมวลตอบว่า “ตั้งแต่ผมลาออกจากราชการและเดินเท้าจากเชียงใหม่ถึงบ้านเกิดที่เกาะสมุยแล้ว ผมไม่เคยเข้าวัดปฏิบัติธรรมที่ไหนอีกเลย ผมคิดว่าการมีชีวิตที่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปแบบการปฏิบัติธรรม แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราเข้าใจความหมายของชีวิตอย่างไรและมีชีวิตอยู่ในแต่ละวันกับงานที่เราทำ กับคนรอบข้าง คนที่เราพานพบ กับความเป็นไปของสังคมของเรา หรือโลกของความเป็นจริงอย่างไร”
คำพูดของอาจารย์ประมวลข้างต้น ผุดขึ้นมาในความทรงจำของผมอีกครั้ง เมื่อผมได้รับหนังสือจากวัดใหญ่แห่งหนึ่งเชิญชวนไปปฏิบัติธรรมเพื่อ “พักกายพักใจ” โดยมีโปรโมชั่นส่วนลดพิเศษ จากเดิมค่าลงทะเบียน 2,500 บาท เหลือเพียง 1,500 บาทเท่านั้น ผมวางหนังสือนั้นลงและมีคำถามตามมาจนอยากระบายความในใจต่อไปนี้ (ขออภัยหากจะทำให้บางท่านอารมณ์เสีย)
ผมพยายามนึกถึงที่อ่านมาในพระไตรปิฎก นึกอย่างไรก็ไม่พบว่า พระพุทธเจ้าเคยชวนพระสงฆ์ หรืออุบาสกอุบาสิกาที่เข้ามาหาพระองค์แล้วบอกว่า พวกเรามานั่งสมาธิกันเถอะ มานั่งเพ่งลูกแก้ว หรือเพ่งอะไรต่อมิอะไรให้จิตนิ่งแล้วจะเห็นภาพนรก สวรรค์ เห็น “นิพพาน” หรือเกิดปัญญาดับทุกข์หรือแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตได้
แต่ข้อมูลที่เห็นมากมายในพระไตรปิฎกคือ พระพุทธองค์มักพิจารณาว่าวันนี้พระองค์จะไปคุยเรื่องอะไรกับใคร หลังจากสนทนาแล้วเกิดผลอย่างไร เช่น พระองค์เดินทางด้วยเท้ากว่า 200 กิโลเมตรเพื่อไปเล่ารายละเอียดการตรัสรู้ของพระองค์ให้ปัญจวัคคีย์ฟัง และหลังจากสนทนาครั้งแรก โกณทัญญะก็บรรลุโสดาบัน และเมื่อสนทนาธรรมครั้งที่สองนักบวชทั้งห้าก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
เรื่องราวในพระไตรปิฎกโดยมากเป็นไปทำนองนี้ คือมีตัวอย่างจำนวนมากที่คนฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรมจบหรือสนทนากันจบลงแล้วบรรลุธรรม แต่พระอรรถกถาจารย์ก็เขียนอธิบายว่า ที่คนเหล่านั้นฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วบรรลุทันที เพราะว่าชาติก่อนเคยบำเพ็ญบารมีเอาไว้มาก
จะเห็นว่าข้อมูลที่ผมกล่าวมามีสองส่วนคือ ส่วนแรกคือข้อเท็จจริงที่ว่ามีการสนทนา การอธิบายให้ฟังแล้วผู้ฟังไตร่ตรองตามจนเข้าใจแจ่มแจ้ง และผลจากความเข้าใจแจ่มแจ้งนั้นทำให้ดับทุกข์ได้ ส่วนที่สองคือข้อมูลที่อธิบายว่าที่คนเหล่านั้นฟังแล้วบรรลุได้ (โดยไม่ต้องไปนั่งสมาธิ) เป็นเพราะผลของ “บุญเก่า” ในชาติปางก่อน ข้อมูลส่วนแรกเป็นคำบรรยาย “ข้อเท็จจริง” ข้อมูลส่วนหลังเป็นคำบรรยาย “ความเชื่อ”
สำหรับผมแล้วสนใจคำบรรยายข้อเท็จจริงมากกว่า เพราะ “ความเชื่อ” อธิบายด้วยเหตุผลไม่ได้ (เช่นอธิบายไม่ได้ว่าเรารู้ได้อย่างไรว่า มีความเชื่อมโยงระหว่างบุญเก่าแต่ชาติปางก่อนกับการฟังคำอธิบายความทุกข์ในชีวิตในชาติปัจจุบันแล้วเข้าใจและดับทุกข์ได้) แต่ “ข้อเท็จจริง” อธิบายด้วยเหตุผลได้ว่า เมื่อเราไม่เข้าใจเรื่องใดหรือปัญหาใด หากพบคำอธิบายหรือมีผู้อธิบายเรื่องนั้นหรือปัญหานั้นอย่างแจ่มแจ้ง ย่อมทำให้เราเข้าใจแจ่มแจ้งได้ (ประสบการณ์จำนวนมากบอกเราได้ในเรื่องนี้)
หรือพูดอีกอย่างว่า การที่เราบอกว่ารู้หรือเข้าใจเรื่องใด ปัญหาใด ก็หมายความว่าเราสามารถอธิบายเรื่องนั้นปัญหานั้น (หรือมีประสบการณ์ตรงต่อสิ่งนั้น) อย่างชัดแจ้ง ฉะนั้น โดยการทำสมาธิให้จิตนิ่งเห็น “ดวงใสสุกสว่าง” ในร่างกาย ประสบการณ์เช่นนี้ย่อมเป็นประสบการณ์ที่ไม่มี “เนื้อหา” ที่ทำให้เราเข้าใจโลกและชีวิตอะไรเลย ไม่ช่วยให้เราเข้าใจความทุกข์ในชีวิตและทุกข์ทางสังคมใดๆ เลย
ถามว่าวิธีปฏิบัติธรรมที่ไม่มี “เนื้อหา” ให้เราเข้าใจชีวิตและสังคมเช่นนี้ จะนำไปสู่การแก้ปัญหาในชีวิต ปัญหาทางสังคม หรือนำไปสู่การเป็นคนดีมีคุณธรรมที่มีความหมายเชิงสร้างสรรค์แก่ตนเองและสังคมได้อย่างไร?
จริงอยู่แม้ว่าในกิจกรรมเข้าค่ายปฏิบัติธรรม จะมีการบรรยายธรรมอยู่ด้วย แต่ในที่สุดแล้วผู้บรรยายก็จะสรุปว่า ต้องปฏิบัติธรรมจึงจะได้ผล ซึ่งการปฏิบัติธรรมที่ปลูกฝังกันก็คือ “การทำสมาธิ” ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติที่ปราศจากเนื้อหา หรือมีรูปแบบเฉพาะที่ไม่เกี่ยวกับการไตร่ตรองปัญหาชีวิตและสังคมอย่างลึกซึ้งจริงจัง (รวมทั้งไม่มีการพูดถึงจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นธรรมหรือน่าอยู่มากขึ้นแต่อย่างใด เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องการเมืองเป็นเรื่องทางโลกที่ตรงข้ามกับเรื่องทางธรรม)
เพราะเข้าใจผิดว่า “การปฏิบัติธรรมคือการปฏิบัติสมาธิ” นี่เอง จึงทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมสายธรรมกายมองว่า ท่านพุทธทาสภิกขุ หรือพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) แม้จะเป็นปราชญ์อ่านมากรู้มากแต่ไม่ได้ปฏิบัติธรรม หรือปฏิบัติน้อย
คำถามคือ ถ้าการปฏิบัติธรรมหมายถึงการปฏิบัติสมาธิ ทำไมพระพุทธองค์จึงเดินหันหลังให้แนวทางดังกล่าว ทั้งที่เคยฝึกสมาธิจากดาบสสองรูปจนได้สมาบัติ 8 แล้วหันมาใช้วิธีใช้ปัญญาไตร่ตรอง (วิปัสสนา) ให้เข้าใจทุกข์และวิธีดับทุกข์ และอ้างอิงวิธีนี้ชวนคนอื่นๆ ให้ใช้ปัญญาของตนเองไตร่ตรองทำความเข้าใจความทุกข์ที่เกิดกับตนเองและดับทุกข์ได้ด้วยตนเอง ซึ่งหมายถึงให้เรากลับไปหาความเป็นมนุษย์ของตนเองมากกว่าที่จะให้สมาทานหรือเดินตามความเชื่อหนึ่งใด
ทว่าปัจจุบันชาวพุทธต่างหันหลังให้วิถีการใช้ปัญญาเรียนรู้ปัญหาที่ซับซ้อนของชีวิตและสังคม ไม่มีวัฒนธรรมแห่งการเปิดใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กักขังตัวเองเองอยู่ในโลกแคบๆ ของสิ่งที่ตนเองยึดถือว่าคือ “การปฏิบัติธรรม” ของสำนักใครสำนักมันที่ปราศจากเนื้อหาที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจโลกและชีวิตตามเป็นจริง
การปฏิบัติธรรมในความหมายดังกล่าว ต่อให้ปฏิบัติแล้วเหาะได้ก็ไม่มีความหมายอะไรต่อการช่วยให้ชีวิตและสังคมดีขึ้น !
ฉะนั้น สำหรับผม หากจะให้เสียเวลาไปกับการนั่งเพ่งลูกแก้วหรือปฏิบัติธรรมตามประเพณีที่ไม่มีเนื้อหาให้เข้าใจความหมาย/คุณค่าของความเป็นมนุษย์ ผมขอใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือดีๆ สนทนากับเพื่อน หรือทำกิจกรรมอะไรก็ได้ที่มีเนื้อหาชวนไตร่ตรองความหมายของการมีชีวิตอยู่
หมายเหตุ : ผมได้แง่คิดในการเขียนบทความนี้จากการอ่าน “วารสารปัญญา” (ฉบับ ก.พ.54) ของ ศ.ดร.สมภาร พรมทา วารสารออนไลน์ที่ให้ดาวโหลดฟรีทั้งบทความวิชาการ เรื่องสั้น นวนิยาย และเล่มหนังสือปรัชญา/พุทธศาสนา ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ผู้สนใจโปรดเข้าไปอ่านได้ที่ http://www.stc.arts.chula.ac.th/WisdomMag/index.html