ที่มา มติชน
โดย สรกล อดุลยานนท์
มีคนบอกว่าสถานการณ์การเมืองที่ไม่ปกติในวันนี้ คือ "อาฟเตอร์ช็อค" ทางการเมืองจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
การรัฐประหาร เปรียบเสมือน "แผ่นดินไหว" ทางการเมือง
"แผ่นดินไหว" นั้นคือ การเคลื่อนตัวของเปลือกโลกแบบ "ผิดปกติ"
ทุกครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ มักจะตามมาด้วย "อาฟเตอร์ช็อค" อีกหลายครั้ง
ที่ญี่ปุ่น แผ่นดินไหว 9 ริคเตอร์ 1 ครั้ง
แต่ตามมาด้วย "อาฟเตอร์ช็อค" อีกหลายสิบครั้ง
บางครั้งก็หนักหนาระดับแผ่นดินไหวที่พม่า 7 ริคเตอร์ เมื่อวันก่อน
ในพจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เรียก "อาฟเตอร์ช็อค" ว่า "แผ่นดินไหวตาม"
คือ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขึ้นมา หินต่างๆ รอบๆ ศูนย์กลางไหวสะเทือนใต้ผิวโลกจะพยายามปรับตัวให้คืนสภาพสมดุล
จึงเกิดแผ่นดินไหวตามมาเป็นระยะก่อนจะหยุดไหวสนิท
"การเมือง" ก็เช่นกัน
เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แบบ "ผิดปกติ" ย่อมส่งผลสะเทือนแบบ "อาฟเตอร์ช็อค" ตามมาเป็นระยะ
การรัฐประหารที่ผ่านมาก็คือ เหตุการณ์ "แผ่นดินไหว" ทางการเมืองเพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ "ผิดปกติ"
จากนั้น "อาฟเตอร์ช็อค" ก็ตามมาเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรค การก่อตัวของ "คนเสื้อแดง" ความรุนแรงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หรือความเสื่อมของกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ
ทั้งหมดล้วนมี "ที่มา" จากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทั้งสิ้น
ขนาด "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายกรัฐมนตรีประกาศแล้วว่าจะยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่
แทนที่ทุกคนจะพุ่งเป้าความสนใจไปที่การเลือกตั้ง
กลับมีคนบางกลุ่มปลุกกระแส "ไม่มีเลือกตั้ง" และ "รัฐบาลแห่งชาติ" ขึ้นมา
ไม่มีใครกล้า "ฟันธง" บอกว่าเรื่องนี้ "เป็นไปไม่ได้"
แม้แต่ "อภิสิทธิ์" หรือ "สุเทพ" เองก็ตาม
ปากก็บอกว่าไม่จริง เป็นไปไม่ได้
แต่ในใจคงหวั่นไหวเหมือนกัน
ถามว่าทำไมจึงหวั่นไหว
คำตอบง่ายๆ ก็คือ เพราะเหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2549
ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง กกต.ลาออก-นายกฯมาตรา 7-ตุลาการภิวัฒน์ หรือการรัฐประหาร
ทุกเรื่องล้วนแต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วทั้งสิ้น
"ตัวละคร" ก็ยังเป็นคนกลุ่มเดิม
ความกลัว "ทักษิณ ชินวัตร" ก็ยังคงอยู่
อย่าลืมว่าการรัฐประหาร 2549 เกิดขึ้นก็เพราะความกลัวว่าพรรคไทยรักไทยจะชนะการเลือกตั้ง
มีคนบอกว่าสิ่งที่เลวร้ายที่สุดของ "แผ่นดินไหว" นั้นไม่ใช่ความเสียหายทางวัตถุหรือชีวิตคน
แต่เป็นเรื่อง "จิตใจ"
"อาฟเตอร์ช็อค" ทางจิตใจนั้นหนักหนายิ่งกว่าทางวัตถุมากนัก
คนที่เจอเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่จะไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์
จะเกิดความหวาดระแวงตลอดเวลา
เช่นเดียวกับเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 ที่ทำให้คนไทยเกิดความหวาดระแวง
ไม่เชื่อมั่นว่าประเทศจะเปลี่ยนแปลงตามครรลองประชาธิปไตย
อย่าแปลกใจที่จะไม่มีใครเชื่อคำพูดของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ว่าจะไม่ปฏิวัติ
ไม่มีใครเชื่อ "อภิสิทธิ์" ว่าจะมีการเลือกตั้ง
ไม่มีใครเชื่อว่า "ตุลาการภิวัฒน์" จะไม่เข้ามายุ่งการเมือง ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม เราต้องนึกเสมอว่า "ประวัติศาสตร์" เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้ว
เราแก้ไขอะไรไม่ได้
แต่ "ปัจจุบัน" และ "อนาคต"
เราจัดการได้ !!!