ที่มา thaifreenews
โดย lovethai
หัวของ“เพื่อไทย”ยังไม่เท่า“นโยบาย” อย่าสับสนและหลงทาง
คอลัมน์ คิดเหนือข่าว
โดย เรืองยศ จันทรคีรี
ปัญหาเรื่อง “หัว” ของพรรคเพื่อไทยกลายเป็นประเด็นที่ถกต่อเนื่องมายาวนาน แม้ถึงขณะนี้คงต้องบอกว่ายังไม่ได้ชัดเจนเต็มที่อะไรนัก? บทบาทของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ นั่นเห็นจะเป็นเพียงโอกาสที่จะได้พิสูจน์ตัวเองเพื่อนำอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล...
ไม่ทราบเหมือนกันว่าถึงบทตอนนั้นนายมิ่งขวัญจะสามารถแสดงบทบาทได้สักขนาดไหน? เพราะในด้านฝีไม้ลายมือหรือประสบการณ์ทั้งขุดลึกข้อมูล แม้จนศักยภาพทางวาทะ กล่าวอย่างตรงไปตรงมาทั้งเกี่ยวกับคุณภาพและเนื้อหาสาระ นายมิ่งขวัญน่าจะตกเป็นรองด้านคุณสมบัติอยู่ไม่น้อยหากจะนำไปเปรียบเทียบกับตัวบุคคลอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หรือมองไปที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี
ตรงนี้จึงเป็นปัญหาอยู่เหมือนกันว่าพรรคเพื่อไทยกำลังเสาะแสวงหาบุคลากรก้าวสู่ตำแหน่งอะไรกันแน่? เพราะคุณสมบัติของผู้นำพรรคกับผู้นำการอภิปรายไม่น่าจะเป็นบทบาทที่ซ้อนกันอยู่ง่ายๆภายในคุณสมบัติของบุคคลคนเดียวกัน โดยผู้นำพรรคนั้นควรจะหมายถึงคนที่สามารถควบคุมและชี้นำ เป็นศูนย์กลางที่จะประสานงานในด้านต่างๆของพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถึงคราวสู้ศึกในสนามเลือกตั้ง สมรภูมิแย่งชิงอำนาจรัฐในช่วงเวลานั้นจะเป็นภารกิจที่หนักหนาสาหัสพอสมควรของหัวหน้าพรรค รวมทั้งภาพของหัวหน้าพรรคยังเป็นตัวสะท้อนเชิงสัญลักษณ์ที่ประชาชนใช้ประเมินหรือเปรียบเทียบกันในระหว่างพรรคการเมืองซึ่งแข่งขันกันอยู่?
ประเด็นที่ใครจะมาเป็นหัวหน้าของพรรคเพื่อไทยเห็นจะต้องกล่าวว่ายังไม่ชัดเจนในเวลานี้ ก็ไม่รู้เหมือนกันสำหรับความไม่ชัดเจนทั้งหมดจะส่งผลไปอย่างไรบ้างต่อพรรคการเมืองพรรคนี้ในอนาคตข้างหน้า? ความกังวลทั้งหมดอาจเป็นเพียง “เรื่องซึ่งคิดมากเกินไปในกลุ่มคนของพรรคเพื่อไทย” ข้อเท็จจริงมีสิทธิที่จะคิดให้เป็นอย่างนั้นก็ได้ สำหรับคนภายนอกที่เคยศรัทธา นิยมชมชอบทั้งพรรคเพื่อไทย หรือถอยย้อนไปถึงผลงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาจนถึงเวลานี้ที่เวลาเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว อะไรต่อมิอะไรหลายอย่างไม่ได้เหมือนเก่า หากมีโอกาสสำรวจหรือสอบถามความคิดเห็นจากกลุ่มเป้าหมายจำพวกแฟนคลับ มีผู้คนจำนวนไม่น้อยซึ่งมีเหตุผลและมุมมองใหม่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทยตัดข้ามเส้นแบ่งอย่างที่เคยคิดและเคยชินเหมือนในอดีต
ขณะนี้เป็นไปได้ที่พวกเขาไม่ได้สนใจโต้เถียงถึงประเด็นคนที่เหมาะสมในการก้าวเข้ามารับตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พวกเขาตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาท จุดยืน ท่าที นโยบายของพรรคการเมืองมากกว่า? ถามว่าพรรคเพื่อไทยจะเอาอะไรต่อไป?
มีบางเสียงถึงกับสะท้อนว่า “ใครก็ได้มาเป็นหัวหน้าพรรค” แต่สิ่งสำคัญนั้นพรรคต้องแสดงให้เห็นชัดเจนกับนโยบายของตัวเอง
อันนี้เป็นข้อเท็จจริงที่พรรคเพื่อไทยควรจะสำรวจตรวจสอบ อัพเดทสถานการณ์ให้สอดคล้องตามความเป็นจริงมากที่สุด ประเด็นเรื่องหัวหน้าพรรคจึงไม่ใช่ปัญหาคอขาดบาดตาย จะเป็นความผิดพลาดทันทีถ้าพรรคเพื่อไทยนึกคิดแต่เพียงจุดขายของหัวหน้าพรรค หรืออิงอาศัยอยู่กับบารมีเก่าที่ผูกยึดอยู่กับเงาความเป็นฮีโร่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เท่านั้น?
พรรคเพื่อไทยต้องยุติการยึดติดอยู่กับความสำเร็จแห่งวันวาน ถ้าหากไม่ให้ความจริงจังกับบทบาทตรงจุดนี้แล้ว ปล่อยให้เรื่องไหลไปตามเกม ผลที่สุดคงไม่ต่างอะไรกับการหลงทางและติดกับดักอยู่เพียงในสนามรบเฉพาะหน้า ซึ่งการตอบโต้ประเด็นในทางการเมืองก็ใช่จะไม่สำคัญ โดยเฉพาะสำหรับประเด็นที่พรรคเพื่อไทยหรือบุคลากรของพรรคถูกกล่าวหาโจมตีมาจากฝ่ายตรงกันข้าม
แต่ในสถานการณ์ยามนี้คงต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะวางน้ำหนักตามลำดับหรือสร้าง “จุดเน้น” อยู่ตรงไหนกันแน่?
ทั้งยังมีความเป็นไปได้ว่าเพียงกรอบการคิดผลักดันด้านนโยบายเท่าที่เป็นอยู่อาจจะไม่พอเสียแล้วสำหรับสมรภูมิของการเลือกตั้งถ้าจะเกิดขึ้นจริง จะเป็นช่วงต้นปี กลางปี หรือจนถึงปลายปีก็ตาม กล่าวเช่นนี้คงไม่ได้หมายถึงว่าพรรคเพื่อไทย “บ้อท่า” หรือไม่ทำอะไรเลยในประเด็นเหล่านี้ มีการพูดถึงนโยบายของพรรคเกี่ยวกับการปรองดองเพื่อนำพาบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปรกติ เรียกร้องให้มีการชดเชยต่อผู้เสียชีวิต ซึ่งสืบเนื่องจากเหตุการณ์นองเลือดที่เกิดขึ้น กระทั่งการประกาศจะเอาตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับบ้านเมืองเพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน ล้างหนี้ให้ประชาชน ล้างหนี้ประเทศ แม้กระทั่งนโยบายด้านสังคมอีกหลายประการที่พูดถึงกันอยู่ หรือนโยบายเกี่ยวกับภูมิภาคที่จะผลักดันการตั้งเมืองให้เป็นแกนหลักหรือศูนย์กลางในแต่ละภูมิภาค โดยอธิบายถึงการสร้างความสมบูรณ์ให้กับตัวเองและเพื่อการลงทุน การจ้างงาน เป็นโครงการสร้างศูนย์แม่เหล็กทางเศรษฐกิจนั่นเอง...
การคิดประเด็นเกี่ยวกับนโยบายบอกสังคมให้ทราบว่าพรรคเพื่อไทยจะทำอะไรข้างหน้าเห็นจะเป็นการดีกว่าแค่หมกมุ่นแย่งชิงเกี่ยงงอนกันอยู่สำหรับตำแหน่งหัวหน้าพรรค...
ประชาชนไทยในเวลานี้สนใจกับนโยบายของพรรคมากกว่าที่จะมองเพียงโฉมหน้าของหัวหน้าพรรค จะเป็นมิ่งขวัญ, เฉลิม, ปลอดประสพ, ชวลิต, ยิ่งลักษณ์ จะเป็นใครก็ได้ไม่สำคัญ ไอ้ที่สำคัญอยู่ตรงเรื่องลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส หรือมีอะไรที่ทำได้และเหนือกว่านโยบายประชานิยมอุตลุดของบางพรรคการเมือง ซึ่งเตรียมไถหว่านกันอย่างจริงจัง...การจะทำอะไรข้างหน้าจึงเป็นเรื่องใหญ่มากกว่าใครจะเป็นใหญ่?
(ที่มา หนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ , 14 มกราคม 2554)