WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Thursday, March 24, 2011

การโต้กลับของทุนอเมริกัน (1) : สมรภูมิวิสคอนซิน

ที่มา ประชาไท

หนึ่งวันหลังจากกฎหมาย 2011 Wisconsin Act 10 ผ่านสภาของรัฐวิสคอนซิน ในวันที่ 11 มีนาคม 2554

ประชาชนนับแสนคนเข้าร่วมการเดินขบวนบนถนนครั้งใหญ่ (massive rally) ไปยังที่ทำการของเมืองแมดิสัน (Madison) เมืองหลวงของวิสคอนซิน เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวร่วมกับบรรดา "คนงาน" ซึ่งปักหลักชุมนุมคัดค้านกฎหมายฉบับนี้มาเป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์แล้ว

การเดินขบวนใหญ่ครั้งนี้ถือเป็นการชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในเมือง ที่มีประวัติศาสตร์การต่อสู้ของขบวนการแรงงานมาอย่างยาวนานที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐ เพราะวิสคอนซิน คือ รัฐแรกที่ให้สวัสดิการการว่างงาน เงินชดเชยการบาดเจ็บจากการทำงาน และก็เป็นแห่งแรกที่ยอมรับสิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงานของพนักงานของรัฐ

แมดิสัน วิสคอนซิน จึงกลายเป็นสมรภูมิที่สำคัญและเป็นที่จับตามองของนักสหภาพและนักกิจกรรมแรงงานทั่วประเทศ หลังจากที่ "ฝ่ายขวา" ได้เริ่มเปิดฉากการต่อสู้รอบใหม่ภายหลังการเลือกตั้งกลางสมัย (midterm) ที่ครั้งนี้มีสหภาพแรงงานพนักงานของรัฐเป็นเป้าหมายสำคัญ

ตรงข้ามกับความเข้าใจทั่วไปที่ว่าประเทศต้นแบบ "เสรีนิยมใหม่" อย่างสหรัฐอเมริกานั้น แรงงานสัมพันธ์ไม่ได้เป็นประเด็นทางการเมืองในระดับชาติ รวมทั้งสหภาพแรงงานไม่มีบทบาทสำคัญในการเจรจาต่อรองกับทุนและรัฐ ความจริงแล้ว สหภาพแรงงานพนักงานของรัฐถือเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในปัจจุบัน เนื่องจาก สัดส่วนของแรงงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานนั้นมีสูงถึงร้อยละ 36% ของกำลังแรงงานทั้งหมด นอกจากนี้ ลักษณะการผูกขาดของบริการสาธารณะทำให้สหภาพแรงงานพนักงานของรัฐมีอำนาจต่อรองที่สูง การผละงานแต่ละครั้งทำให้เกิดผลสะเทือนในวงกว้างในแง่ของการทำให้กิจกรรมในชีวิตประจำวันหยุดชะงัก

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนของสมาชิกสหภาพแรงงานในภาคเอกชนนั้นลดลงจากร้อยละ 33 ของกำลังแรงงานเป็นร้อยละ 15 ขณะที่สัดส่วนในภาครัฐกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น ขณะที่คนงานในภาคเอกชนมีมากกว่าคนงานในภาครัฐถึงกว่าห้าเท่า จำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานในภาครัฐของสหรัฐ กลับมีจำนวนถึง 7.6 ล้านคน เมื่อเทียบกับ 7.1 ล้านในภาคเอกชน

นี่คือ แนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศอุตสาหกรรมทั่วโลก ในญี่ปุ่นและเยอรมนี ช่องว่างระหว่างจำนวนสมาชิกของสหภาพแรงงานในสองภาคนี้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญและก็ถ่างขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่จำนวนมาก ไม่เพียงแต่สหรัฐ และญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากหนี้สาธารณะเกินตัว เราจึงได้เห็นการเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลกับสหภาพแรงงานพนักงานของรัฐอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ที่ฝรั่งเศสและกรีซ

ในสหรัฐ "การปฏิรูป" ที่พุ่งเป้าไปที่สหภาพแรงงานภาครัฐรอบนี้ ก็ถูกนำไปโยงกับปัญหาการขาดดุลงบประมาณ และถูกอธิบายว่าเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามลดขนาดของรัฐ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จำนวนมากตั้งข้อสังเกตว่า "การโต้กลับของฝ่ายทุน" โดยการนำของวุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกันในฝั่งมิดเวสต์นั้น ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องงบประมาณมากไปกว่าความพยายามจะทำลายสหภาพแรงงานพนักงานของรัฐ ที่เปรียบเสมือน "ก้างชิ้นใหญ่" ที่ขวางคอฝ่ายทุนซึ่งต้องการให้ตลาดแรงงานมีความ "ยืดหยุ่น" อย่างเต็มที่ เมื่อการจ้างงานในภาคเอกชนถูกทำให้ "ยืดหยุ่น" และ "แข่งขันได้" ไปราบคาบแล้ว แต่แรงงานในภาครัฐยังคงได้รับการปกป้องสิทธิและสวัสดิการในระดับที่ดีและมีแต่จะเพิ่มอิทธิพลทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น เราต้องไม่ลืมว่าแรงงานในสหภาพเหล่านี้มีบทบาทอย่างสำคัญ ที่ช่วยส่งให้นายโอบามาขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบันได้ สถิติที่น่าสนใจอีกอัน ก็คือ ตัวแทนอาชีพครูนั้นมีจำนวนมากถึงร้อยละ 10 ของผู้เข้าร่วมประชุมประจำปีของพรรคเดโมแครตในปี 2008 ทีเดียว

พอล ครุกแมน (Paul Krugman) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2008 ได้วิจารณ์ว่าการใช้วิกฤติหนี้สาธารณะเป็นข้ออ้างในการออกกฎหมายเพื่อปฏิรูปโครงสร้าง ซึ่งมีวาระซ่อนเร้นเพื่อทำลายกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองที่เป็นอุปสรรคขัดขวางของฝ่ายทุนบรรษัท (Corporation) ตามที่นายสก็อตต์ วอล์คเกอร์ (Scott Walker) ผู้ว่าการรัฐวิสคอนซินและวุฒิสมาชิกจากรีพับลิกันกำลังทำนั้น สอดคล้องกับสิ่งที่นักเขียนนาโอมิ ไคลน์ (Naomi Klein) ใช้เรียกสิ่งที่สหรัฐเคยทำกับอิรักในปี 2003 หรือ "ลัทธิช็อก (Shock Doctrine)"

ทั้งครุกแมนและไคลน์ออกมาแสดงความเห็นว่าการต่อสู้ที่วิสคอนซินสะท้อนความพยายามของฝ่ายทุนในการผลักดันโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายทุนมากขึ้น โดยใช้เรื่องวิกฤติการคลังเป็นเพียงข้ออ้าง ครุกแมนยังชี้ว่ากฎหมายที่เสนอโดยนายวอล์คเกอร์มีผลเกินกว่าการยกเลิกสิทธิในการเจรจาต่อรองแบบรวมกลุ่ม (collective bargaining rights) ของสหภาพแรงงาน หากพิจารณาเนื้อหาของกฎหมายนี้อย่างถี่ถ้วนแล้ว จะพบว่ากฎหมายฉบับนี้ยังเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารตัดสินใจตัดหรือลดสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลของคนงานโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติ รวมถึงให้อำนาจการตัดสินใจแปรรูปบริการสาธารณะ เช่น โรงไฟฟ้ากับผู้ว่าการรัฐ โดยไม่ต้องปรึกษาหารือกับสหภาพแรงงานก่อน

ในช่วงที่มีการลงมติผ่านกฎหมายฉบับนี้ในวิสคอนซิน ผู้แทนจากพรรคเดโมแครต 14 คน ทำการประท้วงโดยเดินทางออกจากวิสคอนซินไปพักในรัฐข้างเคียง คือ อิลลินอยส์ เพื่อให้การลงมติในกฎหมายดังกล่าวไม่สามารถดำเนินไปได้ตามข้อกำหนดในเรื่ององค์ประชุม อย่างไรก็ตาม นายวอล์คเกอร์ก็แก้ลำโดยการแยกส่วนที่เป็นงบประมาณออกไป และผ่านกฎหมายส่วนที่เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิของพนักงานของรัฐ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งการลงคะแนนเสียง ซึ่งก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำความเชื่อของฝ่ายแรงงานและผู้สนับสนุนว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความพยายามทำลายขบวนการแรงงาน และการเปิดฉากโต้กลับรอบใหม่ของฝ่ายทุนในสหรัฐ

ขณะที่กำลังเขียนบทความชิ้นนี้ กฎหมายลักษณะเดียวกันกำลังเกิดขึ้นในหลายรัฐ เช่น โอไฮโอและอินเดียนา ขณะที่ผู้ว่าการวอล์คเกอร์เองก็ได้รับการสรรเสริญจากกลุ่มทุนว่าเป็น "ฮีโร่" คนใหม่ของสหรัฐในอีกฝั่งหนึ่ง ผู้คนจากหลากหลายอาชีพ ตั้งแต่เกษตรกร ครู นักศึกษาไปจนถึงผู้กำกับและดาราภาพยนตร์ก็เข้าชุมนุมร่วมกับคนงานในวิสคอนซิน รวมทั้งการชุมนุมในแบบเดียวกันก็กำลังเกิดขึ้นตามเมืองต่างๆ ทั่ววิสคอนซินจนทำให้สมรภูมิวิสคอนซินได้ถูกยกระดับขึ้นเป็นที่จับตามองของทั่วโลก เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าการต่อสู้ระหว่างทุนและขบวนการแรงงานรอบนี้จะดำเนินต่อไปอย่างไร

.......
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์มุมมองบ้านสามย่าน, กรุงเทพธุรกิจ, 24 มีนาคม 2554