ที่มา ประชาไท
25 มี.ค.54 เวลาประมาณ 14.30 น.คณะอนุกรรมการชุดที่ 4 ตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ บริเวณบ่อนไก่-สีลม สวนลุมพินี-ซอยรางน้ำ-สามเหลี่ยมดินแดงและการเผาอาคารใน กทม. ภายใต้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เป็นครั้งแรก โดยมีชาวบ้านในชุมชน 30-40 คนเข้าร่วม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงแรกของการแนะนำตัวของคณะอนุกรรมการ ชาวชุมชนบางส่วนได้เริ่มต้นด่าทอรัฐบาล ทหาร รวมถึงต่อว่าและแสดงความไม่ไว้วางใจคณะอนุกรรมการฯ โดยตั้งคำถามถึงความล่าช้าเกือบ 1 ปีกว่าจะมีการเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ ทางอนุกรรมการฯ ได้ชี้แจงเหตุผลว่ามีการเก็บข้อมูลจากทุกฝ่ายมาโดยตลอดแล้วจึงลงพื้นที่เก็บข้อมูล แล้วสุดท้ายจะประมวลข้อมูลที่ได้ส่งคณะกรรมการชุดใหญ่ จากนั้นชาวชุมชนจึงยอมเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเชื่อว่าทหารเป็นผู้ยิงประชาชนจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย
ทั้งนี้ มีการกระจายตัวเก็บข้อมูลกลุ่มย่อยโดยอาสาสมัครนักศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ เอแบค เซนจอห์น ราชภัฏ ราว 20 คน จากนั้นตัวแทนอนุกรรมการฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมนายฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง วัยกว่า 50 ปีอาศัยอยู่ในแฟลตชุมชนบ่อนไก่ ซึ่งถูกยิงหน้าชุมชนบ่อนไก่ขณะรอรถเมล์จะไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟ เมื่อวันที่ 14 พ.ค.53 จนเป็นอัมพาต จากนั้นคณะอนุกรรมการฯ จึงให้ชาวบ้านชี้จุดที่เชื่อว่ามีสไนเปอร์อยู่บนตึกริมถนนพระราม 4
ระหว่างการให้ข้อมูล นายสมพงษ์ บุญธรรม กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตที่บ่อนไก่มีจำนวน 15 คน ไม่ใช่ 9 คนอย่างที่อนุกรรมการฯ เข้าใจ ซึ่งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตนั้นบางส่วนเป็นคนในชุมชนที่ไปซื้อของที่เซเว่นอีเลฟเว่น ไม่ได้ใส่เสื้อแดง เช่น นายบุญมี เริ่มสุข ที่ถูกยิงและรักษาตัวอยู่เกือบ 2 เดือนก่อนเสียชีวิต และการยิงเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.ช่วงบ่าย
ขณะที่นางนารี แสนประเสริฐศรี มารดานายมานะ แสนประเสริฐศรี หน่วยกู้ชีพที่ถูกยิงที่ศีรษะเสียชีวิตขณะเข้าไปช่วยคนเจ็บได้นำรูปศพของลูกชายมาด้วย และเล่าเหตุการณ์ที่ตนเองต้องคอยหลบลูกกระสุนเมื่อออกไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นหน้าชุมชน และเมื่อรู้ข่าวว่าลูกชายถูกยิงเธอออกไปรับศพลูกและไม่สามารถกลับเข้าชุมชนได้เพราะมีการยิงตลอดเวลา ขณะที่ชุมชนก็ถูกตัดน้ำตัดไฟหลายวัน
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการชุดนี้เป็นคณะที่ 4 ในจำนวน 5 ชุดที่ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีต่างๆ ได้แก่ ชุดที่ 1 รับผิดชอบเรื่องภาพรวมความขัดแย้ง สุรปตัวเลขผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ สูญหาย รวมถึงผู้ต้องหาในคดีที่เกิดขึ้น ชุดที่ 2 รับผิดชอบตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเสียชีวิตของ 6 ศพวัดปทุมฯ และเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 รวมถึงการปะทะกันที่สถานีไทยคม ชุดที่3 รับผิดชอบตรวจสอบกรณีการเสียชีวิตของนักข่าวญี่ปุ่น นักข่าวอิตาลี และ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ชุดที่ 5 รับผิดชอบตรวจสอบกรณีการเผาสถานที่ต่างๆ ในต่างจังหวัด นำโดยนายรัษฎา มนูรัษฎา ประธานอนุกรรมการฯ และคณะ ลงพื้นที่ชุมชนบ่อนไก่เพื่อสอบถามและบันทึกข้อเท็จจริงจากประชาชนในชุมนุมที่เห็นเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือนพฤษภาคม