ที่มา มติชน
พ.ท.เอกรัตน์ ช้างแก้ว รองผู้บัญชาการ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์
นายนิก นอสติทซ์ (Nick Nostitz) นักข่าวอิสระชาวเยอรมัน
ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ในการประชุมครั้งที่ 8 วันที่ 22 มีนาคม 2554 นายรัษฎา มนูรัษฎา ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมโครงการรับฟังข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบจากทุกฝ่าย (Hearing) ได้นำกรณีความรุนแรงสามเหลี่ยมดินแดง ซอยรางน้ำ ราชปรารภ ระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2553 ขึ้นมาพิจารณา โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตัวแทนกองทัพภาคที่ 1 กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ช่างภาพที่อยู่ในเหตุการณ์ ผู้เสียหายและหน่วยกู้ชีพ เข้าให้ข้อมูล
นายพงษ์ไทย วัฒนาวณิชย์ ช่างภาพหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ชี้แจงถึงเหตุการณ์ในวันที่ 15 พ.ค. 2553 ว่า ตนได้ออกปฏิบัติหน้าที่ในตอนเที่ยง พร้อมกับนายไชยวัฒน์ พุ่มพวง (ช่างภาพเดอะเนชั่นที่ถูกยิงที่ขา) ออกตระเวนถ่ายภาพบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง จนกระทั่งเวลาประมาณ 15.00 น. ผู้ชุมนุมมีการรวมตัวกันประมาณ 20 คน โดยมีการนำยางรถยนต์มาวางเป็นแนวบังเกอร์ขวางตามถนน แต่เนื่องจากไม่มีแกนนำในการสั่งการ ส่งผลให้ผู้ชุมนุมต้องย้ายยางรถยนต์ไป 2-3 จุด ซึ่งจุดสุดท้ายตั้งอยู่บนถนนหน้าปั๊มน้ำมันเชลล์ จนกระทั่งเวลา 16.00 น. เสียงปืนนัดแรกก็ดังขึ้น ทุกคนเริ่มชะงัก หลังจากนั้นมีเสียงปืนดังเป็นชุดๆ ทำให้ทุกคนวิ่งหาที่หลบ บางคนวิ่งเข้าไปที่ปั๊มน้ำมันเชลล์ บางคนอยู่ที่บังเกอร์ยางรถยนต์ ซึ่งจำเป็นต้องอยู่นิ่ง เพราะหากมีการเคลื่อนไหวเสียงปืนก็จะดังขึ้นทันที ในส่วนของตนหลบอยู่บริเวณกำแพงข้างถนน จนกระทั่งทราบว่า นายไชยวัฒน์ ถูกยิง จึงพยามติดต่อประสานงานให้นำรถพยาบาลเข้ามาช่วยเหลือ
นายพงษ์ไทย กล่าวต่อว่า เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 20 นาที ก็ไม่มีใครเข้ามาช่วย จนกระทั่งเห็นทหารชุดหนึ่งเข้ามาในพื้นที่จึงเอากล้องวางลงพื้นและเขี่ยออกไปแนวกำแพงที่บังอยู่พร้อมกับตะโกนว่า เป็นสื่อมวลชน หลังจากนั้นมีเสียงนักข่าวหลายคนส่งเสียงมา ซึ่งทหารสั่งให้หมอบลง จากนั้นทหารได้ช่วยเหลือคนเจ็บเบื้องต้น ส่วนช่างภาพคนอื่นถูกไล่ไปอยู่ที่ตั้งศูนย์บัญชาการของทหาร ระหว่างนั้นมีการวิทยุบอกส่วนหน้าว่า “นักข่าววิ่งไปอย่ายิง” ซึ่งก็ได้รับการดูแลให้น้ำให้อาหาร หลังจากนั้นตนได้ไปดูแลเพื่อนที่ถูกยิงที่โรงพยาบาลพญาไท 1 ต่อ จากประสบการณ์การทำงานข่าวมานาน 10-20 ปีทราบดีว่า แนวกระสุนมาจากทิศทางใด ส่วนผู้ชุมนุมนั้นไม่มีอาวุธร้ายแรงขึ้นมาต่อสู้เจ้าหน้าที่รัฐแต่อย่างใด
นายนิก นอสติทซ์ (Nick Nostitz) นักข่าวอิสระชาวเยอรมัน ชี้แจงถึงเหตุการณ์วันที่ 15 พ.ค. 2553 ว่า ช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. ยังไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรง บนถนนราชปรารภ มีทหารตั้งแนวรั้วลวดหนาม ทางผู้ชุมนุมได้มีการนำเอารถน้ำ รวมทั้งยางรถยนต์เข้ามาในพื้นที่ และบางคนถือหนังสติ๊ก ในที่นี้รวมถึงนายชาญณรงค์ พลศรีลา ผู้ชุมนุมเสื้อแดง ซึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้ ได้บอกกับตนว่า ตัวเขาเองมีแต่หนังสติ๊กเท่านั้น หลังจากนั้นไม่นานมีเสียงปืนดังขึ้นจำนวนมาก แล้วนายชาญณรงค์ถูกยิงที่แขน ตนบอกให้วิ่งหลบเข้าห้องน้ำในปั๊มน้ำมันเชลล์ และระหว่างที่วิ่งไปก็ถูกยิงที่ขา ในช่วงนั้นมีผู้ชุมนุมวิ่งไปที่ห้องน้ำหลายคน ตนเองพยายามออกจากปั๊มน้ำมันโดยการปีนออกมายืนอยู่หลังกำแพง ในช่วงที่ทหารเข้ามาเคลียร์พื้นที่ ได้ยิงเสียงทหารเรียกให้ผู้ชุมนุมออกมา โดยผู้ชุมนุมบอกว่ายอมแล้วๆ จากนั้นตนจึงตัดสินใจออกจากที่กำบัง โดยได้บอกว่าตนเป็นสื่อมวลชน เพื่อป้องกันทหารเข้าใจผิด แล้วได้ร้องขอให้ทหารช่วยนายชาญณรงค์ออกจากที่นอนอยู่ในห้องน้ำ แล้วทหารก็ดึงนายชาญณรงค์โดยดึงแขนที่ถูกยิงขึ้นมา พร้อมกับบอกว่า “ควรตายที่นี่มากกว่าไปตายที่โรงพยาบาล” จากนั้นนายชาญณรงค์ก็แน่นิ่งไป รวมเวลาที่นายชาญณรงค์ติดอยู่ในปั๊มน้ำมันประมาณ 4 ชั่วโมงและเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ ในตอนท้าย นักข่าวอิสระชาวเยอรมัน ยืนยันว่า เสียงปืนดังมาจากซอยรางน้ำ ซึ่งเป็นแนวของทหารอย่างเดียว ไม่มีมาจากสามเหลี่ยมดินแดงที่ผู้ชุมนุมอยู่เลย
ด้านนายเอกชัย ดวงพาวัง ผู้เสียหายในเหตุการณ์ มีอาชีพขับมอเตอร์ไซด์รับจ้างอยู่บริเวณซอยโรงพยาบาลเดชา ให้การว่า วันที่ 14 พ.ค. 2553 เวลาประมาณ 19.30 น. ซึ่งตนกำลังจะกลับบ้านที่คลองตัน แต่ทหารบอกว่าผ่านไม่ได้ จึงย้อนไปกลับรถแถวซอยรางน้ำ และได้แวะซื้อของที่ร้านค้า ขณะนั้นมีเสียงปืนดังขึ้น ตนอยู่บริเวณปั๊มเอสโซ่ ในบริเวณนั้นมีแต่รอยเลือดจึงได้นั่งหลบใต้ต้นไม้ แต่ขาโผล่ออกมาจึงถูกยิงที่ขาขวา หน้าแข้ง และบริเวณใต้รักแร้ ตอนนั้นใส่เสื้อวินสีส้ม ชาวบ้านบริเวณนั้นตะโกนถามว่า ไหวไหม จึงคลานไปหาชาวบ้านที่ห่างออกไปประมาณ 20 เมตร จากนั้นชาวบ้านได้เอาเปลพลาสติกพาขึ้นรถไปโรงพยาบาลรามาธิบดี แพทย์บอกว่าถูกกระสุนปืนลูกโดด พักรักษาตัวนาน 5 วัน จึงไปพักฟื้นที่บ้านคลองตันต่อ ซึ่งต่อมาได้รับการเยียวจากระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นเงิน 60,000 บาท และเงินพระราชทาน 5,000 บาท
ขณะที่นายบรรฑูรย์ กันจันทึก ผู้เสียหายอีกคน ซึ่งมีอาชีพขับมอเตอร์ไซด์รับจ้างบริเวณประชาสงเคราะห์ 11 มานาน 10 ปี กล่าวว่า ในวันที่ 14 พ.ค. 2553 เวลาประมาณ 17.30 น. ได้ไปส่งผู้โดยสารที่วัดประทาน สามเหลี่ยมดินแดงแล้ว จะไปรับผู้โดยสารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอีก เพราะวันนั้นสามารถทำรายได้ได้จำนวนมาก เนื่องจากรถติดและมีเคอร์ฟิวส์ แต่ก็ถูกยิงที่ขา จากนั้นได้พยายามขับรถไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก ขณะนี้ยังมีกระสุนฝังอยู่ที่ขา
ส่วนนายพลวัฒน์ สุขเจริญ เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยจากป่อเต๊กตึ๊ง ได้ให้ข้อมูลว่า ตนเข้าไปทำหน้าที่รับผิดชอบปฏิบัติการบริเวณดังกล่าว โดยทางศูนย์นเรนทรจะเป็นผู้สั่งการดำเนินการ โดยเฉพาะวันที่ 15 พ.ค. 2553 ได้รับทราบว่ามีผู้บาดเจ็บ แต่หมอสั่งห้ามเข้าพื้นที่ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง
มาทางที่พ.ท.เอกรัตน์ ช้างแก้ว รองผู้บัญชาการ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ชี้แจงภารกิจในพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดง ประตูน้ำ ถนนราชปรารภ ซอยรางน้ำ ว่าได้ตั้งจุดตรวจแข็งแรงขึ้นมาเพื่อป้องกันการซุกซ่อนอาวุธเข้าไปในพื้นที่การชุมนุม และคัดแยกผู้ชุมนุมไม่ให้เข้าพื้นที่ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยภารกิจเริ่มตั้งแต่วันที่ 8-13 พ.ค. 2553 ซึ่งในวันที่ 12 พ.ค. 2553 มีเหตุการณ์ยิง M-79 ใส่แอร์พอร์ตลิ้งค์ และวันที่ 15 พ.ค. 2553 ผู้ชุมนุมได้ขโมยกระสอบทรายบังเกอร์ของทหารไป และตอนบ่ายมีการชุมนุมกันมากขึ้นที่ประตูน้ำ สะพานจตุรทิศ จึงได้ขอกำลังสนับสนุนเพิ่มคลี่คลายสถานการณ์ และได้ส่งรถน้ำมา แต่ระหว่างทางถูกผู้ชุมนุมยึดรถน้ำสีเขียวไป รถทหารถูกเผาไป 1 คัน และได้ยึดปืนจากทหารไป 2 กระบอก ต่อมาได้คืนมา 1 กระบอกจากผู้ชุมนุมราชประสงค์ และมีนายทหารได้รับบาดเจ็บ 3 นาย จากนั้นจึงได้วางกำลัง 2 จุดหลังปั๊มเอสโซ่สองข้างถนน พอตกตอนค่ำลงจะมีเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะ เป็นเสียงปืนเล็กยาว ยิงเข้ามาในฐานบัญชาการ และมีเสียงระเบิด M-79 เข้ามาตอนเช้า และมีนายทหารคนหนึ่งถูกยิงที่ขาด้วย RPG บริเวณโรงแรมอินทรา แต่ลูกปืนไม่ทำงาน
รองผู้บัญชาการ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ กล่าวต่อว่า ในช่วงปฏิบัติการณ์มีแหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในตอนเที่ยงคืนของวันที่ 14 พ.ค. 2553 มีรถตู้เช่าวิ่งฝ่าด่านแนวเครื่องกีดขวาง บริเวณโรงแรมอินทรา ทางเจ้าหน้าที่ทหารได้ทำการเตือน แต่รถตู้ไม่ยอมหยุด ทหารจึงได้ปฏิบัติการใช้กำลัง ด้วยการยิงที่ล้อ แต่ทางรถตู้ก็ไม่หยุด จนกระทั่งมีการใช้กระสุนจริง M 16 ยิงยับยั้ง จนคนขับรถได้รับบาดเจ็บ ซึ่งต่อมานายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ ให้การว่าไม่ทราบว่ามีการตั้งด่านของทหาร จากเหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้ามีเสียงปืนดังตลอดเวลา
พ.ท.เอกรัตน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ภารกิจในการป้องกันกลุ่มผู้ชุมนุมแล้ว ยังได้ช่วยเหลือคุ้มครองประชาชน นักการทูต แพทย์ พยาบาล ออกจากพื้นที่อย่างปลอดภัย และในวันที่ 22 พ.ค. 2553 ได้เข้าไปตรวจค้นอาคารสูงโดยรอบ เพราะที่ผ่านมาทหารต้องใช้ความระมัดระวังในการข้ามถนน ต้องใช้การวิ่งซิกแซก จากการตรวจค้นยึดของกลางเป็นสิ่งของคล้ายระเบิดเพลิง และปลอกกระสุนที่โรงแรมใกล้เคียง ในวันที่ 23 พ.ค. 2553 หลังจากเหตุการณ์กลับมาสู่ภาวะปกติ เจ้าหน้าที่ได้เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่และขนเครื่องกีดขวางออกทั้งหมด ซึ่งหลักในการทำงานที่ผ่านมา คือใช้เมตตาธรรมและนิติธรรม
ส่วนพ.อ.ธรรมนูญ วิถี ตัวแทนจากกองทัพภาคที่ 1 ชี้แจงเพิ่มเติมว่าได้รับการแจ้งจาก นปช. ว่ามีคนแต่งกายคล้ายทหารอยู่ในตึก จึงขออนุญาตศอฉ. ตรวจค้น พบว่า ที่ชั้น 17 หรือ 18 ของอาคารชีวาทัย พบระเบิดแสวงเครื่อง ระเบิดปิงปอง ส่วนโรงแรมเซ็นจูรี่ พบปลอกกระสุนปืน
ทางด้าน พ.ต.ท.ถิรพล พิณเมืองงาม ตัวแทนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษแจ้งว่า ระหว่างวันที่ 14-19 พ.ค. 2553 ที่ถนนราชปรารภมีผู้เสียชีวิต 20 ศพ แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษส่งคืนให้ สน.พญาไท 3 คดี เพื่อสอบสวนเพิ่มเติม
ส่วนคดีของนายกำปั้น บาซูที่ถูกยิงในอาคารชั้น 27 ในวันที่ 15 พ.ค. 2553 นั้น ช่างภาพเดอะเนชั่น ที่เข้าไปดูศพญาตินายกำปั้นที่ถูกยิงบริเวณระเบียง ชี้แจงว่าแนวกระสุนเป็นแนวราบ ซึ่งน่าจะเป็นการยิงจากที่สูง เนื่องจากกระสุนทะลุคอ
อย่างไรก็ตาม ตอนท้ายของการประชุม ผู้มาชี้แจงต่างบอกว่าไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมีแต่การสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน