ที่มา ข่าวสด
ทูตญี่ปุ่นพบตร. ทวงคดี"ฮิโรยูกิ"
ส.ส.เพื่อไทยเตรียมตั้งกระทู้สดถามนายกฯ กลางสภา 24 มี.ค.สลายการชุมนุม 11 มี.ค. "สมชาย เพศประเสริฐ" แฉเบิกกระสุนมา 5.9 แสนนัด เป็นประสุนซ้อมแค่หมื่นนัด ที่เหลือกระสุนจริงล้วนๆ และคืนกลับกรมสรรพาวุธกว่า 4 แสนนัด ส่วนที่เหลือกว่าแสนนัดใช้สลายม็อบ มากกว่าใช้ในสงครามบางประเทศเสียอีก ขณะที่กระสุนซุ่มยิงเบิกไป 3 พันนัด คืนแค่ 480 นัด ที่เหลือกว่า 2 พันนัดหายไปไหน ส่วนที่ประชุมครม.ขยายเวลาประกาศพ.ร.บ.ความมั่นคงใน 7 เขตทั่วกรุงต่อไปอีกจนถึง 24 เม.ย. อัครราชทูตญี่ปุ่นบุกสำนักงานตร. ทวงถามความคืบหน้าฆ่านักข่าวญี่ปุ่น ขณะที่ตร.ระบุชี้แจงทุกเรื่องจนเข้าใจ แต่คราวหน้าต้องไปถามดีเอสไอ เพราะส่งสำนวนไปให้หมดแล้ว แดงมหาสารคามนัดชุมนุมใหญ่อีก 27 มี.ค. มีแกนนำขึ้นเวทีคับคั่ง
เยี่ยมแม้ว - เว็บไซต์เสื้อแดงเผยแพร่ภาพพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ระหว่างพักในโรง แรมประเทศแถบยุโรป และต้อนรับคณะนปช. สหภาพยุโรป ที่เดินทางเข้าเยี่ยมให้กำลังใจ เมื่อเร็วๆ นี้
เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 22 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมครม. ถึงการเสนอขยายเวลาประกาศพ.ร.บ. ความมั่นคงภายในราชอาณาจักรว่า การประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงในพื้นที่กทม. ยังต้องขยายเวลาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำงานต่อไปได้ เพราะยังมีการชุมนุมและมีเรื่องวุ่นวายที่ต้องดูแล โดยจะพิจารณาขยายเวลาเป็นช่วงๆ เหตุการณ์ชุมนุมจบเมื่อไหร่ก็เลิกเมื่อนั้น ตนเห็นใจตำรวจที่พยายามทำหน้าที่ให้นุ่มนวล ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา
เมื่อถามว่ามองอย่างไรที่กลุ่มผู้ชุมนุมมาตั้งห้องน้ำด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล นายสุเทพกล่าวว่า ให้สังคมเป็นผู้วินิจฉัยว่า พฤติกรรมของใครเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอย่างไร ตนพูดไปจะกลายเป็นการยั่วยุ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องแก้ไขต่อไป
นายสุเทพกล่าวถึงอัยการสูงสุดไม่ส่งคำร้องถอนประกัน 7 แกนนำ นปช.ว่า เป็นเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมาย ตนเคยเตือนแล้วว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ต้องรอบคอบ และตนไม่เข้าไปแทรกแซงเป็นรายคน ส่วนที่ดีเอสไอจะยื่นขอถอนประกันต่อนั้น นายสุเทพกล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่คงหยุดไม่ได้ ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์ตามหน้าที่ และมั่นใจว่าไม่ใช่การกลั่นแกล้ง
ต่อมาเวลา 13.30 น. นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม. ว่า ครม.เห็นชอบให้ขยายพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในพื้นที่ 7 เขตในกทม. ระหว่างวันที่ 26 มี.ค. - 24 เม.ย.
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในวาระการพิจารณาขยายอายุประกาศพ.ร.บ.มั่นคง ตามที่กอ.รมน.เสนอ โดยในรายงานที่เสนอต่อ ครม.ระบุว่า มีท่าทีการเคลื่อนไหวยังดำเนินต่อไปยืดเยื้อ และมีบางฝ่ายมีความพยายามที่จะสอดแทรกยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ขณะที่ผบ.ตร. รายงานว่า จากการประกาศพ.ร.บ.ความมั่นคงสามารถควบคุมสถานการณ์ ซึ่งเป็นที่น่าพอใจ แต่ยังมีบุคคลที่ 3 อาศัยสถานการณ์ช่วงนี้ก่อความไม่สงบ จึงขอต่ออายุพ.ร.บ. โดยผบ.ตร.แสดงความมั่นใจว่าตำรวจสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และให้คำมั่นว่าในช่วงการเลือกตั้งสถาน การณ์จะอยู่ในภาวะปกติ
วันเดียวกัน เวลา 12.00 น. ที่พรรคเพื่อไทย พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา และประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร และพล.ท.มะ โพธิ์งาม ส.ส. กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย แถลงถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง ที่กองทัพให้กรมสรรพาวุธทหารบก เบิกจ่ายอาวุธ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2553 เป็นต้นมา กระทั่งจบเหตุการณ์สลายการชุมนุมว่า กองทัพเบิกกระสุนปืน 590,000 นัด เพื่อใช้ควบคุมฝูงชน ในจำนวนนี้มีกระสุนซ้อมรบเพียง 10,000 นัดเท่านั้น ที่เหลือเป็นกระสุนที่ทำให้เสียชีวิตทันที โดยหลังจากเหตุการณ์กองทัพได้คืนกระสุนต่อกรมสรรพาวุธทหารบก 4 แสนกว่านัดเท่านั้น เท่ากับกระสุนกว่า 110,000 นัด ถูกใช้ไปในเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นจำนวนที่ มากกว่ากระสุนที่ใช้ในสงครามบางประเทศเสียอีก เรื่องนี้รัฐบาลจะต้องมีคำตอบ โดยตนจะตั้งกระทู้ถามสดนายกฯ ในวันที่ 24 มี.ค.นี้
"ยังมีเรื่องที่คาใจอีกคือ กระสุนซุ่มยิง 3,000 นัด ที่เบิกไปนั้น มีการส่งคืนสู่กรมสรรพาวุธเพียง 480 นัด ถามว่าอีก 2,520 นัดไปไหน เรื่องนี้ผมมีหลักฐานและมีตัวเลขที่ชัดเจน" พ.ต.ท. สมชายกล่าว
ด้านพล.ท.มะกล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นทหารเก่าเคยปฏิบัติการในกองทัพ ขอตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมฝ่ายการเมืองต้องเอาศักดิ์ศรีและเกียรติยศของทหารเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยนำเอากำลังทหารมาใช้ในการสลายการชุมนุม จึงเกรงว่าจะทำลายศักดิ์ศรีของทหารที่เคยสร้างชื่อเสียงกันมา นอกจากนี้ยังมีกรณีการใช้งบประมาณ โดยเฉพาะเบี้ยเลี้ยงของทหารที่ปฏิบัติงานที่ศอฉ.พบว่า สูงกว่าเบี้ยเลี้ยงของทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ที่อื่น ถือเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่ถูกต้อง เกินความจำเป็น และยังได้ข่าวมาว่ามีการตั้งรางวัลให้กับหน่วยทหารบางส่วน จนเป็นเหตุให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น
วันเดียวกัน เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายโนบุอากิ อิโตะ อัครราชทูต ฝ่ายการเมือง สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย เข้าพบ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ที่ปรึกษา (สบ10) ด้านกฎหมายและสอบสวน ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการสอบสวนชันสูตรพลิกศพ กรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มนปช. เพื่อสอบถามความคืบหน้าคดีการเสียชีวิตของฮิโรยูกิ มูราโมโต้ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น ที่ถูกกระสุนปืนยิงเสียชีวิต ที่สี่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2553 โดยใช้เวลาหารือประมาณ 1 ชั่วโมง และไม่อนุญาตให้มีการบันทึกภาพ เสียง หรือสังเกตการณ์ในการเข้าพบครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นการเดินทางมาสอบถามความคืบหน้าของคดีกับตำรวจเป็นครั้งที่ 2
พล.ต.อ.เอกกล่าวว่า การเข้าพบในครั้งนี้เป็นการติดตามผลการดำเนินการ ที่เกี่ยวข้องกับพนักงานสอบสวน ในเรื่องของการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตชาวญี่ปุ่น ซึ่งในส่วนของพนักงานสอบ สวนของตำรวจได้ตรวจสอบและทราบว่า ยังไม่มีพยานหลักฐานที่ยืนยันว่า การตายของนักข่าวญี่ปุ่นเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ และตอนนี้พนักงานสอบสวนก็ได้สรุปและส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดต่อไปแล้ว
เมื่อถามว่า เป็นเพราะประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก จึงมาสอบถามความคืบหน้าของคดีหลายครั้ง พล.ต.อ.เอกกล่าวว่า คงเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ในฐานะตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่น ทางตำรวจก็รู้สึกยินดีที่ได้ชี้แจงถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง และยินดีที่จะทำหน้าที่ประสานงาน แต่การดำเนินการหลังจากนี้คงต้องเป็นความรับผิดชอบของดีเอสไอ
เมื่อถามว่าทางรัฐบาลญี่ปุ่นรู้สึกผิดหวังกับคำตอบของตำรวจหรือไม่ พล.ต.อ.เอกกล่าวว่า ไม่ถึงกับรู้สึกผิดหวัง แต่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ขอบคุณตำรวจ ที่พยายามเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยคลี่คลาย โดยเฉพาะการชันสูตรศพ อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลญี่ปุ่นต้องการสอบถามความคืบหน้าของคดีนี้ ในครั้งหน้าคงต้องไปสอบถามที่ดีเอสไอโดยตรง
เมื่อถามว่าทางอัครราชทูตได้สอบถามถึงกรณีที่นายจุตพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย อ้างว่าสำนวนคดีนี้ได้มีการสรุปและรู้ตัวคนยิงนายฮิโร มูราโมโต้ แล้วหรือไม่ พล.ต.อ.เอกกล่าวว่า การหารือในวันนี้ไม่มีการพูดถึงประเด็นดังกล่าว แต่ได้หารือถึงเรื่องอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการที่เราได้ทำมาโดยตลอด ทั้งนี้ทางรัฐบาลไทยไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศ รวมไปถึงคดีที่ประชาชนคนไทยเสียชีวิตจากเหตุการณ์ในช่วงเดือนพ.ค.2553
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจ.มหาสารคามว่า กลุ่มนปช.กำหนดปราศรัยใหญ่ในวันที่ 27 มี.ค. ที่วัดป่าศุภมิตร อ.เมือง จ.มหาสารคาม และร่วมทอดผ้าป่าเป็นกองทุนคนเสื้อแดงมหาสารคาม โดยการทอดผ้าป่าจะเริ่มในช่วงเช้า ส่วนการเปิดเวทีปราศรัยจะเริ่มเวลา 17.00 น. มีแกนนำที่จะมาขึ้นเวทีปราศรัย อาทิ นางธิดา โตจิราการ นายจตุพร พรหมพันธุ์ น.พ.เหวง โตจิราการ นายขวัญชัย ไพรพนา นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายนิสิต สินธุไพร เป็นต้น พร้อมกับแกนนำคนเสื้อแดงจากทั่วภาคอีสานด้วย
วันเดียวกัน เวลา 13.30 น. ที่ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ นายรัษฏา มนูรัษฏา จัดโครงการรับฟังข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เกี่ยวกับกรณีความรุนแรงบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ซอยรางน้ำ และถ.ราชปรารภ โดยที่ประชุมได้ลำดับเหตุการณ์อย่างละเอียดระบุว่า วันที่ 14 พ.ค. สถานการณ์เริ่มเกิดความวุ่นวาย มีผู้ชุมนุมเข้ายึดพื้นที่บริเวณซอยรางน้ำ ต่อมาวันที่ 15 พ.ค. ผู้ชุมนุมกว่า 20 คน นำยางรถยนต์เข้าปิดขวางการจราจร หน้าปั๊มน้ำมันเชลล์
เวลา 15.40 น. โดยประมาณ เสียงปืนนัดแรกดังขึ้น ทำให้ทุกคนต้องหลบเข้าสู่ที่กำบัง เสียงปืนซึ่งผู้อยู่ในเหตุการณ์หลายคนคาดว่ามีที่มาจากฝ่ายทหารยิงต่อเนื่องกว่า 15 นาที ก่อนจะมีทหารกองย่อยเข้ามาตรวจสอบความเรียบร้อยและช่วยเหลือผู้บาดเจ็บออกไป
พ.ต.ท.ถิรพล วัฒนาวณิชย์วุฒิ เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า จากผลชันสูตรศพของนายชาญณรงค์ พลศรีลา ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปะทะหน้าซอยรางน้ำ มีบาดแผลฉกรรจ์ 2 แห่ง คือ แผลจากกระสุนหัวหุ้มทองแดง เจาะเข้าบริเวณท้องขวาส่วนบน จากทางด้านซ้าย ทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่ออวัยวะภายใน และแผลบริเวณแขนขวาส่วนล่าง จากด้านซ้าย ซึ่งทะลุออกแต่ทำให้กระดูกแขนแตก
ด้านนายพงษ์ไทย วัฒนาวณิชย์วุฒิ ช่างภาพที่อยู่ในเหตุการณ์กล่าวว่า หลังจากมีเสียงปืนดังรัวจากแนวทหาร ตนรีบหาที่กำบังแถวอาคารแห่งหนึ่ง และเห็นว่านายชาญณรงค์ หลบอยู่หลังกองยางรถยนต์ที่กลุ่มผู้ชุมนุมขนมา จากนั้นจึงหลบหนีเข้าไปยังสถานีเติมน้ำมัน แต่ไม่ทราบว่าได้รับบาดเจ็บหรือไม่ เพราะตนอยู่ห่างจากผู้เสียชีวิตพอสมควร
พ.ท.อำนาจ ศุภมงคล พร้อมคณะ จากพล.1รอ. กล่าวว่า กำลังทหารได้รับคำสั่งให้ตรึงกำลังอยู่ใต้ทางรถไฟบีทีเอส แอร์พอร์ตลิงก์ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปชุมนุมเพิ่ม และสกัดการสะสมอาวุธ ซึ่งระหว่างปฏิบัติหน้าที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าปิดล้อมกลุ่มเจ้าหน้าที่จนต้องขอกำลังเสริม และเจ้าหน้าที่หลายรายถูกทำร้ายด้วยอาวุธสงคราม จนเป็นเหตุให้นายทหาร 3 นายบาดเจ็บ อาวุธปืนถูกปล้นสะดม 2 กระบอก และรถยนต์ของราชการเสียหาย 1 คัน
นายเอกชัย ดวงพาวัง ผู้ถูกยิงบาดเจ็บบริเวณซอยรางน้ำ อาชีพพนักงานขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง กล่าวว่า ตนถูกยิงในวันที่ 14 พ.ค. เวลาประมาณ 19.30 น. ซึ่งในวันนั้นยังไม่เห็นทหารเข้ามาในพื้นที่ กระสุนยิงเข้าทางซ้ายและทะลุออก ทำให้บาดเจ็บจนต้องรักษาตัวที่ร.พ.รามาธิบดีกว่า 5 วัน ก่อนจะกลับบ้านได้