WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Wednesday, March 23, 2011

ภัควดี ไม่มีนามสกุล: ศาสนาไม่เกี่ยวกับการทำให้คนเป็นคนดี

ที่มา ประชาไท

ความเชื่อที่ฝังหัวในสังคมไทยว่า ศาสนาเป็นสิ่งที่ดีเพราะทำให้คนเป็นคนดี ทำให้เกิดหลักปฏิบัติและนโยบายแปลก ๆ ไร้สาระขึ้นมามากมาย แม้จะไม่ประกาศออกมาตรง ๆ แต่รัฐไทยก็กลายเป็นรัฐศาสนาแบบแอบแฝงหรือโดยพฤตินัยมากขึ้นทุกที ๆ การบังคับสอนศาสนาในโรงเรียน การบังคับให้เยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย การห้ามขายสุราในวันพระ การเทศน์ทางวิทยุและโทรทัศน์หรือผ่านหอกระจายเสียงในหมู่บ้าน แม้กระทั่งความพยายามที่จะผลักดันให้ระบุว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติหรือระบุศาสนาลงในบัตรประชาชน ฯลฯ ทั้งหมดนี้คืออาการเข้าใกล้ความคลั่งศาสนาเข้าไปทุกที ๆ ผู้เขียนจะไม่แปลกใจเลยหากในอนาคตเกิดสงครามศาสนาขึ้นมาในสังคมไทย

ทั้งหลายทั้งมวลนี้ล้วนกระทำลงไปด้วยข้ออ้างเจตนาดี ด้วยความเชื่อว่าความเสื่อมทรามทางศีลธรรมของประชาชน โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่น (ผู้เขียนไม่เคยเข้าใจว่าทำไมต้องพุ่งเป้าไปที่วัยรุ่นอยู่เรื่อย) จะได้รับการแก้ไขหากมีศาสนามากล่อมเกลาจิตใจ คนไทยถูกฝังหัวมาตั้งแต่เกิดว่า ศาสนาดีหมดทุกศาสนาเพราะทำให้คนเป็นคนดี หลักจริยธรรมแบบพื้น ๆ ตามสามัญสำนึกของมนุษย์อย่างศีลห้าในพุทธศาสนา ถูกยกย่องจนเลิศเลอราวกับไม่มีมนุษย์คนไหนคิดออกก่อนเจ้าชายสิทธัตถะ หรือไม่มีมนุษย์ชาติไหนคิดได้นอกจากชาวเนปาล/อินเดียเมื่อสองพันกว่าปีก่อน

คนไทยจำนวนมากคิดว่า คนไม่มีศาสนามีแนวโน้มจะเป็นคนชั่วหรือนิยมวัตถุมากกว่าคนมีศาสนา ผู้เขียนเคยอ่านบทความในนิตยสารฉบับหนึ่ง ซึ่งสัมภาษณ์ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้ประเทศเกาหลีใต้ (จำไม่ได้ว่าชนะการแข่งขันมาหรือถูกอุปโลกน์มาอย่างไร) แฟนพันธุ์แท้ผู้นี้กล่าวว่า คนเกาหลีใต้มักมีแนวโน้มบริโภคนิยมและนิยมวัตถุเพราะไม่มีศาสนา แต่ข้อกล่าวอ้างของเขาพิสูจน์ในเชิงประจักษ์ไม่ได้เลย เพราะประเทศที่มีศาสนาและค่อนไปข้างคลั่งศาสนา อาทิเช่น ประเทศไทย สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ ฯลฯ ก็ขึ้นชื่อลือชาในด้านการช้อปปิ้งและบ้าคลั่งการบริโภค น่าจะหนักข้อยิ่งกว่าประเทศที่ไม่มีศาสนาอย่างญี่ปุ่นหรือเนเธอร์แลนด์ด้วยซ้ำไป ประเทศไทยนั้นพิเศษยิ่งกว่าประเทศอื่น ตรงที่ศาสนาพุทธในประเทศไทยเองก็มีลักษณะพาณิชย์นิยมอย่างสามานย์ พระสงฆ์ มัคนายก อุบาสกอุบาสิกา พุทธมามกะทั้งหลายล้วนคลั่งไคล้ในวัตถุอย่างชนิดหาที่เปรียบมิได้ในโลก

ผู้เขียนอยากเสนอทัศนะประการหนึ่ง กล่าวคือ โดยเนื้อแท้แล้ว ศาสนาไม่ได้มีหน้าที่ทำให้คนเป็นคนดี คำว่า “คนดี” ในที่นี้คงต้องตีความกันวุ่นวายพอสมควร แต่ผู้เขียนนิยาม “คนดี” ง่าย ๆ ว่า คนที่สามารถดำเนินชีวิตอย่างปรกติในสังคมโดยไม่ฝ่าฝืนระเบียบสังคมนั้นจนถึงขั้นก่อความวุ่นวายหรือสร้างความเดือดร้อนแก่คนอื่น การฝ่าฝืนระเบียบสังคม เช่น การฆ่า การลักขโมย การฉ้อโกง การเอาเปรียบอย่างเกินขอบเขต การข่มขืน ฯลฯ อาจกล่าวได้ว่า ศีลห้าในศาสนาพุทธเป็นระเบียบสังคมอย่างหนึ่ง แต่เป็นระเบียบที่ค่อนข้างตื้นเขินผิวเผิน อาทิเช่น ศีลห้าไม่ได้แตะต้องเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมและไม่ได้พูดถึงความเสมอภาคของมนุษย์ เป็นต้น ในระเบียบสังคมของชุมชนยุคบุพกาลหลาย ๆ แห่งยังมีความแยบยลและครอบคลุมมากกว่าศีลห้าด้วยซ้ำไป

มีแต่คนโง่เขลาหรือจงใจปิดหูปิดตาเท่านั้นที่จะเชื่อว่า ก่อนมีศาสนาเกิดขึ้นในโลก มนุษย์ไม่สามารถอยู่ร่วมกันเป็นสังคมอย่างปรกติสุข ต้องรอจนศาสนาเกิดขึ้นก่อนจึงจะมีความสันติสุขเกิดขึ้น ถ้าหากเพียงแค่ศีลห้ายังคิดไม่ได้ มนุษยชาติที่ก่อเกิดดำรงอยู่มานานหลายพันหลายหมื่นปีคงฆ่ากันตายจนเจ้าชายสิทธัตถะไม่ได้เกิด การศึกษาด้านประวัติศาสตร์อารยธรรมโลกและด้านมานุษยวิทยาสังคมวิทยาบอกให้เรารู้ว่า มนุษย์อยู่กันเป็นสังคมปรกติสุขมากบ้างน้อยบ้างมาโดยตลอด จะมีศาสนาหรือไม่มี จะนับถือผีฟ้าตาเถนหรือเทพเจ้าก็ตามที แต่สังคมมนุษย์ดำรงอยู่ก่อนจะเกิดศาสนา และการที่สังคมมนุษย์จะดำรงอยู่ได้ คนส่วนใหญ่ที่ประกอบกันขึ้นเป็นสังคมก็ต้องเป็น “คนดี” กันในระดับหนึ่ง ไม่อย่างนั้นสังคมก็ต้องพังทลายกันไปตั้งแต่ยุคนีแอนเดอร์ธัลแล้ว

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม นี่เป็นการพูดให้ฟังดูเพราะ พูดตรง ๆ อีกอย่างหนึ่งก็คือ มนุษย์เป็นสัตว์รวมฝูง ไม่ต่างจากสุนัขหรือแกะ นับตั้งแต่มีมนุษย์เกิดขึ้น มนุษย์ก็ดำเนินชีวิตในชุมชน (ผู้เขียนใช้คำนี้โดยไม่มีความหมายแบบพวกลัทธิชุมชนนิยมใด ๆ ทั้งสิ้น) มโนทัศน์ที่วาดภาพปัจเจกมนุษย์ยุคโบราณดำเนินชีวิตโดดเดี่ยวในป่าเขาลำเนาไพรก็เป็นนิยายอีกเรื่องหนึ่งที่หาความจริงใด ๆ ไม่ได้ มนุษย์ต้องอยู่ในชุมชนในฐานะสัตว์รวมฝูง และชุมชนใด ๆ จะดำรงอยู่ได้ก็ต้องมีกติกา พฤติกรรมมนุษย์จึงถูกกำกับด้วยชุมชนหรือสังคมที่เขาอาศัย นอกเหนือจากคนส่วนน้อยที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนเนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ มนุษย์ปรกติส่วนใหญ่มักยอมรับกติกาและประพฤติปฏิบัติตามกติกา กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ มนุษย์ส่วนใหญ่เป็น “คนดี” เพราะมันเป็นพื้นฐานของสัญชาตญาณสัตว์รวมฝูง

ดังนั้น ความเป็น “คนดี” ของมนุษย์จึงขึ้นอยู่กับการมีกติกาของชุมชนหรือสังคมกำกับเอาไว้ การเป็นคนดีไม่เกี่ยวกับศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น หากเข้าใจข้อนี้แล้ว เราก็สามารถเข้าใจเหตุการณ์มากมายในประวัติศาสตร์ “ความชั่ว” ครั้งมโหฬารในประวัติศาสตร์มนุษย์มักเกิดจากการขาดการกำกับดูแลของสังคม ในศตวรรษที่ 15 เมื่อชาวสเปนค้นพบ “โลกใหม่” ที่ทวีปอเมริกา ชาวสเปนในยุคนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นคนคลั่งไคล้เข้าขั้นงมงายในศาสนาคริสต์ แต่เหตุใดคนเหล่านี้จึงสามารถฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวพื้นเมืองอย่างเหี้ยมโหดผิดมนุษย์พร้อมกับทำไม้กางเขนไปด้วย? นักประวัติศาสตร์บางคนอธิบายว่า เพราะนักแสวงโชคที่เดินเรือไปกับโคลัมบัสหรือปิซาร์โรเป็นพวกโจรสลัดเดนมนุษย์ ถ้าเช่นนั้น คนเหล่านี้ถือได้ว่าเป็น “คนนอก” อยู่แล้วในสังคมชุมชนของตน เมื่อเดินทางไปถึงทวีปอเมริกา พวกเขาจึงยิ่งไม่มีกติกาอะไรมากำกับดูแลพฤติกรรมของตน ดังนั้นต่อให้มีศาสนาในใจ รักพระเจ้าอย่างสุดซึ้งและห้อยไม้กางเขน แต่ก็ไม่มีอะไรมาสกัดกั้นไม่ให้พวกเขาโยนเด็กทารกให้สุนัขกิน

ตัวอย่างข้างต้นอาจถูกแย้งว่า เพราะนักแสวงโชคพวกนี้ไร้การศึกษาป่าเถื่อนอยู่แล้ว เราลองดูอีกตัวอย่างหนึ่ง ในสมัยที่อินโดนีเซียตกเป็นอาณานิคมของดัทช์ ชาวดัทช์ที่เข้ามาปกครองอาณานิคมหมู่เกาะอินดีสตะวันออกนี้ก็มีพฤติกรรมโหดร้ายทารุณไม่แพ้นักแสวงโชคของโคลัมบัส แต่ต่างกันที่ชาวดัทช์เหล่านี้มีการศึกษา มีหน้ามีตามีสถานะสูงในสังคมของตนที่ยุโรป และเวลาอยู่ในยุโรปก็ถือเป็น “คนดี” ของสังคม แต่เหตุใดเมื่อพวกเขามาปกครองอาณานิคมในเอเชีย พฤติกรรมของพวกเขาจึงเปลี่ยนไปชนิดหน้ามือเป็นหลังเท้า? ทั้งนี้ก็เพราะเมื่อเข้ามาอยู่ในดินแดนอาณานิคม พวกเขาดำรงสถานะ “คนนอก” และ “เหนือกว่า” พร้อมกันไป กติกาของชุมชนชวาหรือหมู่เกาะโมลุกกะย่อมไม่สามารถเอื้อมเข้าไปกำกับดูแลพฤติกรรมของชาวดัทช์เหล่านี้ได้ เมื่อหลุดพ้นจากกติกาและการกำกับดูแลของสังคม มนุษย์ที่เคยเป็น “คนดี” ในสังคมอื่นก็กลับกลายเป็นคนใจดำอำมหิตทันที

ความชั่วอย่างมโหฬารมักเกิดขึ้นในกลุ่มคนที่อยู่ในสถานะที่ไม่ถูกกำกับดูแลหรือตรวจสอบ เช่น ผู้นำเผด็จการ ผู้นำฟาสซิสต์หรือนาซี แม้แต่ผู้นำประเทศปฏิวัติสังคมนิยมอย่างจีนหรือรัสเซีย กษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ขึ้นชื่อไม่น้อยในเรื่องของความโหดเหี้ยม ความวิปริตและสำส่อนทางเพศ การมีเพศสัมพันธ์ในพี่น้อง ความฟุ้งเฟ้อในวังขณะที่ประชาชนอดอยาก ลองนึกถึงจักรพรรดิจีน จักรพรรดิโรมัน จักรพรรดิฝรั่งเศส ความชั่วที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องสันดานหรือสายเลือด แต่เป็นเพราะมนุษย์เหล่านี้อยู่พ้นจากการกำกับดูแลและกติกาของสังคม พวกเขาจึงทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องกริ่งเกรงต่อการถูกประณามหรือลงโทษ ส่วนราชวงศ์กษัตริย์ในยุคสมัยใหม่ที่อยู่ภายใต้การตรวจสอบจากประชาชนและสื่อ วิพากษ์วิจารณ์หรือกระทั่งติเตียนได้ กษัตริย์และราชนิกูลก็ต้องปรับตัวและมีพฤติกรรมตามหลักจริยธรรมพื้นฐานของสังคม ลดความฟุ้งเฟ้อลง หรือกระทั่งพยายามทำตัวให้มีประโยชน์ต่อสังคม ตัวอย่างก็มีเช่น พระราชินีของเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น

ในเมื่อการมีศาสนาไม่เกี่ยวกับการเป็นคนดี ศาสนาจึงแก้ปัญหาสังคมไม่ได้ และไม่ควรนำศาสนามาแก้ปัญหาสังคมด้วย ทั้งนี้เพราะบทบัญญัติทางศาสนามักมีลักษณะบังคับไม่เปิดกว้าง เช่น ศีลข้อห้าในเรื่องการงดเว้นสุราและของมึนเมา แต่สุราเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในสังคมมนุษย์ยาวนาน ทั้งยังไม่ปรากฏว่าสุราก่อให้เกิดสงครามสุรา แต่ศาสนาก่อให้เกิดสงครามศาสนาได้ การบังคับแบบศาสนาไม่ใช่เรื่องผิด แต่มันควรใช้กับผู้มีศรัทธาในศาสนาเท่านั้น หากนำบทบัญญัติทางศาสนามาบังคับสังคม มันจะทำลายหรือจำกัดเสรีภาพทั้งทางความคิดและการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในหลายแง่มุมเลยทีเดียว อีกทั้งก็ไม่มีหลักประกันด้วยว่าจะทำให้คนในสังคมเป็นคนดี ศาสนาไม่แก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ เพราะการสอนให้รักพระเจ้าหรือรู้จักพอไม่ช่วยแก้ปัญหาท้องหิว หลายครั้งศาสนามักขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากการผลิตของประชาชนด้วยซ้ำ ในภาคเหนือ เช่น ในจังหวัดเชียงใหม่นั้น วัดเป็นตัวดูดซับมูลค่าส่วนเกินของประชาชน ทั้งในรูปของการสร้างวัด พิธีกรรม งานศพ งานบุญ ฯลฯ ยังไม่มีการวิเคราะห์ว่าความยากจนของชาวบ้านในจังหวัดเชียงใหม่เป็นผลมาจากวัดมากน้อยแค่ไหน

ถ้าเช่นนั้น ศาสนาดำรงอยู่ในสถานะอะไร? ในทัศนะของผู้เขียน ศาสนามีไว้เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของปัจเจกบุคคลที่ต้องการเครื่องยึดเหนี่ยวเท่านั้นเอง สำหรับคนที่มีความทุกข์เพราะไม่พอใจบางสิ่งบางอย่างในชีวิต มีความกลัว เช่น กลัวความไม่แน่นอน กลัวความตาย เป็นต้น หรือสำหรับคนที่ไม่มีปัญหาอะไรในชีวิต แค่อยากมีศาสนาเฉย ๆ ศาสนาเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลล้วน ๆ จึงไม่ควรนำศาสนามาอยู่ในโรงเรียน ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมาย รัฐกับศาสนาควรแยกจากกันอย่างเด็ดขาด ไม่ควรยัดเยียดศาสนาให้ประชาชนอย่างที่รัฐไทยทำอยู่ทุกวันนี้ ยิ่งการพยายามนำศาสนามาแก้ปัญหาสังคมอย่างที่กระทำกันอยู่ นับเป็นเรื่องโง่เขลาและเปล่าประโยชน์โดยแท้ นอกจากแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว ลงท้ายก็ยิ่งเปิดโปงให้เห็นความเปล่าประโยชน์ของศาสนา ดังที่มีรายงานว่าทุกวันนี้ในประเทศไทยมีคนบวชเป็นภิกษุสามเณรน้อยลงทุกที ๆ นี่มิใช่ความผิดของประชาชนไทย แต่เป็นความพลาดของบุคคลในวงการศาสนาของประเทศไทยเองต่างหากที่ไม่รู้จักสถานะที่ถูกต้องของศาสนา

การลากศาสนามาเกี่ยวข้องกับกติกาสังคมจะยิ่งทำลายศาสนาลง หากคนในวงการศาสนาต้องการให้ศาสนาดำรงอยู่อย่างมั่นคง พวกเขาควรตระหนักว่า ศาสนาเป็นแค่เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นแค่เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของปัจเจกบุคคลเท่านั้น ไม่มีอะไรมากกว่านั้น