ที่มา ข่าวสด
รายงานพิเศษ
วันที่ 22 มี.ค. สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา "การชุมนุมสาธารณะตามระบอบประชาธิปไตย" เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบ และการจัดการเกี่ยวกับการชุมนุมที่เหมาะสมตามระบอบประชาธิปไตย และรับฟังมุมมองเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ โดยมีนักวิชาการ นักกฎหมาย และตัวแทนองค์กรเอกชน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
1.ปกรณ์ นิลประพันธ์
2.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
3.ชาย ศรีวิกรม์
4.พล.ต.ต.ประวุฒิ ถาวรศิริ
1.ปกรณ์ นิลประพันธ์
กรรมการร่างกฎหมาย ประจำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
การจัดทำร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ยากมาก เพราะการชุมนุมในที่สาธารณะในบ้านเราได้รับการคุ้มครองมากว่า 60 ปี และไม่เคยมีกฎหมายรองรับ
การชุมนุมเป็นปรากฏการณ์ของสังคม แต่ละคนอาจมีความอดทนไม่เท่ากันจึงเสี่ยงที่จะเกิดความไม่สงบได้ตลอดเวลา สิ่งที่ยอมรับกัน ในระดับสากลคือ การชุมนุมมีขอบเขตของมันเอง ไม่ใช่สิทธิอย่างที่อ้างกันว่ากระทบคนอื่นบ้างก็ไม่เป็นไร
ใน ICCPR (Internationnal Covenant on Civil and Political) ระบุไว้ว่า การชุมนุมจะถูกจำกัดได้ก็ต่อเมื่อเป็นไปเพื่อความมั่นคงของรัฐ หรือความปลอดภัยของสาธารณะ เพื่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชน เพื่อป้องกันสาธารณสุข และเพื่อปกป้องสิทธิของบุคคลอื่น
แต่รัฐธรรมนูญไทยไม่มีการคุ้มครองสาธารณะมีแต่การคุ้มครองความสะดวกของประชาชนในการใช้พื้นที่สาธารณะ
หลักในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ คือการควบคุมและป้องกันความเสี่ยง เราไม่ได้เอาสีไหนมาเป็นตัวตั้งในการออกกฎหมายและกฎหมายนี้เราเอาไปใช้กับทุกกลุ่มชุมนุม
ถามว่าจะมีไปทำไม ในเมื่อพ.รก.ฉุกเฉินยังควบคุมไม่ได้ คำตอบคือ เราต้องการให้คนรู้หน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีการสอนเรื่องนี้เลย แม้แต่ในระดับมหาวิทยาลัย
กฎหมายนี้หลักคือกำหนดหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุม ผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่รัฐ ที่พูดถึงกันมากว่าทำไมจะชุมนุมแล้วต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อน ก็เพื่อจะได้อำนวยความสะดวกให้ ทั้งแก่ผู้ชุมนุมและผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ที่สำคัญคือ ไม่ได้บอกว่าเจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้อำนาจสั่งไม่ให้มีการชุมนุมได้ และเหตุที่ให้เป็นหน้าที่ของศาลแพ่ง ศาลจังหวัด แทนที่จะเป็นศาลปกครอง เพราะศาลปกครองมีอยู่แค่ในบางจังหวัด ขณะที่ศาลแพ่ง ศาลจังหวัดมีอยู่ทุกจังหวัดอยู่แล้ว
2.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
กรรมการสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย
ประเทศที่เป็นเสรีประชาธิปไตยรับรองเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนไว้หมด แต่ต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธเท่านั้น
ในประเทศไทยขณะนี้เราไม่มีกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการชุมนุม มีแต่พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่อาจหนักไปเลย ดังนั้น บ่อยครั้งการชุมนุมที่เป็นไปอย่างสงบ ก็มีการใช้เครื่องมือที่รุนแรง เช่น ใช้เครื่องขยายเสียงความถี่สูง ใช้แก๊สน้ำตา
ทั่วโลกมีประเทศที่จัดการกับการชุมนุมอยู่ 2 แบบ คือ ประเทศที่ไม่มีกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมเลย เช่น สหรัฐอเมริกา และประเทศที่มีกฎหมายว่าด้วยการชุมนุม ซึ่งก็แบ่งย่อยเป็น 2 ประเภท
คือ ต้องขออนุญาตก่อนจึงจะชุมนุมได้ เช่น จีน และชุมนุมได้เพียงแต่แจ้งให้ทราบก่อนเท่านั้น เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ประเทศกลุ่มนี้เห็นว่าการชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ถ้าปล่อยให้คนใดคนหนึ่งอนุญาตหรือไม่อนุญาต คนนั้นก็จะใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย
ร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่ออกมาขณะนี้ ระบุหากเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหน้าที่มีสิทธิห้ามไม่ให้มีการชุมนุม ถ้าผู้ชุมนุมไม่เห็นด้วยก็สามารถฟ้องร้องต่อศาลได้ หากศาลพิพากษาเช่นไรก็ต้องจบแค่นั้น
ถือเป็นแนวคิดที่ดีแต่มีข้อสังเกตว่าเหตุใดจึงให้เรื่องนี้อยู่ในอำนาจของศาลแพ่ง หรือศาลจังหวัด ทั้งๆ ที่โดยทั่วไปการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐ ควรเป็นอำนาจของศาลปกครองอย่างที่ทำกันอยู่ในทุกประเทศ
นอกจากนี้ ที่ระบุว่าผู้มาชุมนุมต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบล่วงหน้าก่อน 72 ช.ม. ก็ถือว่าเป็นระยะเวลาที่มากเกินไป และไม่มีเหตุผลรองรับ เพราะประเทศอื่นๆ ที่ใช้กฎหมายลักษณะเดียวกันนี้ ให้บอกล่วงหน้าแค่ 48 ช.ม. เท่านั้น
ส่วนที่ระบุว่าหากผู้ชุมนุมไม่เลิกการชุมนุมตามคำสั่งศาลตามระยะเวลาที่กำหนด ให้ผู้ควบคุมสถานการณ์ดำเนินการเลิกการชุมนุมนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ไม่ระบุว่า "ดำเนินการเลิกการชุมนุม" หมายความว่าอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร สุดท้ายอาจเป็นแค่คำที่ฟังดูสุภาพเรียบร้อย ที่หมายถึง การสลายการชุมนุม
โดยสรุปแล้วเนื้อหาของพ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังขาดประเด็นเกี่ยวกับการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ และในเมื่อกฎหมายเดิมที่มีอยู่ไม่สามารถบังคับใช้ได้ ก็เป็นคำถามว่า แล้วกฎหมายใหม่นี้จะใช้ได้หรือไม่
พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จะไม่มีประโยชน์ที่จะไปควบคุมผู้ชุมนุมถ้าเรายังมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย
และตราบใดที่เรายังไม่เคารพ มาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า บุคคลย่อมใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้ เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น ต่อให้กฎหมายที่ออกมาจะวิเศษแค่ไหนก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร
3.ชาย ศรีวิกรม์
ผู้แทนเครือข่ายประชาธิปไตยไม่ละเมิด
บทเรียนจากการชุมนุมที่ผ่านมามีคน 4 กลุ่ม ที่ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการชุมนุม คือ 1.ผู้ชุมนุม ต้องเข้าใจว่าการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม สังคมยอมรับได้ แต่ถ้าสร้างความเดือดร้อนสังคมก็เริ่มไม่เห็นด้วย และรู้สึกว่าตัวเองกลายเป็นตัวประกัน ดังนั้น ผู้ชุมนุมต้องเรียนรู้ว่า การชุมนุมแบบไหนที่สังคมรับได้และไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ส่วนรวม
2. เจ้าหน้าที่รัฐ ต้องเข้าใจความเดือดร้อนของชุมชนและต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ความเดือดร้อนนั้นสมดุลกับเสรีภาพของผู้ชุมนุม
3. ประชาชนที่ไม่มีส่วนร่วมในการชุมนุม ต้องแสดงออกว่าอะไรเป็นสิ่งที่รับได้หรือไม่ได้ และต้องกล้าที่จะแสดงจุดยืนเพราะเราไม่มีเจตนาร้ายกับใคร
4. นักการเมือง ต้องดูว่าจะขับเคลื่อนสังคมอย่างไรจึงจะเกิดสมดุล ไม่ใช่มุ่งแต่นโยบายประชานิยมอย่างเดียว
โจทย์ที่ยากที่สุดของพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ คือ ทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายมาคุยกัน ขณะนี้เอ็นจีโอบางคนคัดค้านโดยอ้างว่าเป็นการจำกัดสิทธิ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้พิจารณารายละเอียด เจ้าหน้าที่รัฐก็กลัวที่จะต้องรับผิดชอบ
ส่วนตัวเห็นว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะมีกติกาใช้ร่วมกันในการชุมนุมตามที่สาธารณะซึ่งกระทบกับคนหมู่มาก
4.พล.ต.ต.ประวุฒิ ถาวรศิริ
โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
โดยโครงสร้างของตำรวจไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ดูแลการชุมนุมขนาดใหญ่ ทำให้มีข้อจำกัดในการทำงาน คือ
1. เราไม่ได้มีเจ้าหน้าที่จำนวนมากที่จะดูแลได้อย่างทั่วถึง ที่ผ่านมา เมื่อมีการชุมนุมในกทม. ต้องระดมตำรวจจากต่างจังหวัด ทำให้พื้นที่เดิมของเขาขาดการดูแล มีคดีเกิดขึ้นสูงมาก
และยังเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ผ่านการฝึกเรื่องการดูแลการชุมนุม ไม่มีอาวุธป้องกันตัว กระบอง โล่ หรือเสื้อเกราะกันกระสุน ประกอบกับความเป็นอยู่ที่ยากลำบากจึงมีแรงกดดันในการทำงานสูงมาก
2.เรื่องกฎหมาย ตำรวจไม่มีกฎหมายเพียงพอในการควบคุม บางครั้งข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมไม่อยู่ในขอบเขตของระบอบประชาธิปไตย หลายครั้งจึงเจรจากันไม่รู้เรื่อง เราไม่เคยปัดความรับผิดชอบแต่ที่ผ่านมาโดนข้อหาตำรวจเกียร์ว่าง จริงๆ แล้วไม่ใช่ แต่ไม่รู้ว่าตัวเองจะต้องทำอย่างไร
ทำอะไรไม่ถูกเลยจริงๆ เพราะการชุมนุมที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนต้องดูว่าถึงขั้นเป็นเหตุให้ต้องใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง หรือประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่ ถ้ายังไม่ถึงขั้นนั้น ตำรวจก็เข้าไปทำอะไรไม่ได้
ถ้ามีกฎหมายรองรับตรงนี้ ตำรวจพร้อมจะทำทุกอย่างตามขั้นตอน ขณะนี้การปฏิบัติไม่มีปัญหาแต่เราไม่มีกฎหมายรองรับ ถ้ามีกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมเจ้าหน้าที่จะแยกแยะถูกผิดได้ง่ายขึ้น
เราไม่ได้บอกว่าผู้ที่จะมาชุมนุมต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ก่อน แค่ให้บอกว่าจะมาเมื่อไหร่ มากันกี่คน จะได้จัดเตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกให้ และดูแลไม่ให้สังคมรอบข้างได้รับความเดือดร้อน
กฎหมายนี้เป็นความต้องการของตำรวจที่จะแยกแยะคนผิด คนถูก และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะกฎหมายเก่าๆ มีแต่เบาไปและหนักไป จึงใช้อะไรกับการชุมนุมที่อยู่ในระดับกลางๆ ไม่ได้