ที่มา Thai E-News
ช่วงที่หนึ่ง: กระบวนการยุติธรรมไทย กรณีคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
สิทธิการพบทนายของผู้ต้องหาคือสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญของคนไทยทุกคน กรณี ตำรวจจับชายขายซีดี และแจ้งข้อกล่าวหาว่าเป็นซีดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ตำรวจไม่อนุญาตให้ทนายหรือญาติเข้าพบ
ความคืบหน้ากรณีนายเอกชัย ที่ถูกดำเนินคดีมีซีดีที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเช่นกัน ศาลได้ให้ประกันตัว โดยพ่อของนายเอกชัยได้นำโฉนดที่ดินซึ่งเป็นสมบัติเพียงชิ้นเดียวมาพร้อมอาม่าที่ต้องนั่งรถเข็นมาประกันตัวลูกชาย สร้างความหวาดหวั่นต่อความรุนแรงของการถูกกล่าวหาในคดีประเภทนี้อย่างมาก ขณะที่ศาลยุโรปกลับตัดสินพลิกคำตัดสินของศาลเสปนที่พิพากษาให้นักการเมืองบาสก์มีความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกษัติรย์เสปน
เชิญชวนเข้าร่วมการเสวนาของกลุ่มคณาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งรวมตัวกันในนาม “นิติราษฎร์ (นิติศาสตร์เพื่อราษฎร)” ที่จะมาพูดคุยเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่โดยหลักๆ อยู่ในมาตรา 112 ในวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม 2554 เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ห้อง LT 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ช่วงที่สอง: บทบาทของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
กรณีนายธาริต เพ็งดิษ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจะไปฟ้องต่อศาลเอาผิดนายจตุพร พรหมพันธุ์ ที่ได้นำเอกสารราชการการสอบสวนคดีการสลายการชุมนุมเสื้อแดงเมื่อเมษายนและพฤษภาคม 2554 โดยกล่าวหาว่านายจตุพรได้นำความลับของราชการมาเปิดเผย ถือเป็นการดำเนินการผิดบทบาทของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งมีหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนเท่านั้น
กรณีดังกล่าวทำให้เห็นว่าการสืบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงดังกล่าวนั้นยังคงไม่คืบหน้า การดำเนินการของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อกรณีนี้ถูกขัดขวาง ส่วนการทำงานของกลุ่มอื่นๆ ก็มีอุปสรรค เช่น คอป. ซึ่งไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายทหาร ที่ปฏิเสธไม่ให้ข้อมูลเพราะมีสื่อมวลชนร่วมอยู่ในการประชุมด้วย ด้านกรรมาธิการทหาร ของสภาผู้แทนราษฎร ได้รับรายงานว่ามีการใช้กระสุนปืนจริงกว่าแสนนัดและกระสุนสไนเปอร์ มากกว่าสองพันนัดในการสลายการชุมนุม ข้อเท็จจริงทั้งหมดยังคงไม่ถูกเปิดเผยโดยรัฐ แม้จะมีหน้าที่โดยตรง