ที่มา มติชน นาย สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้มีการขยายตัวของสถาบันอุดมศึกษาโดยก่อตั้งขึ้นมาใหม่จำนวนมาก ทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ขณะที่จำนวนอาจารย์และนักวิชาการระดับศาสตราจารย์ (ศ.) และรองศาสตราจารย์ (รศ.) ที่สอนในสาขาต่างๆ ยังคงมีจำนวนเท่าเดิม ไม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาจารย์ระดับปริญญาเอกที่กำลังขาดแคลนอย่างหนัก ดังนั้น มหาวิทยาลัยเกิดใหม่จึงต้องใช้ผู้ที่จบปริญญาโทมาสอนแทน "แต่ ขณะนี้เราต้องการให้สถาบันอุดมศึกษาเน้นเรื่องการทำวิจัยเพื่อพัฒนา ประเทศ ซึ่งผู้ที่จบปริญญาโทยังไม่มีความชำนาญเพียงพอ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนั้น ในอีก 10 ปีข้างหน้า ต้องเร่งผลิตอาจารย์ระดับปริญญาเอกให้ได้ถึง 15,000 คน ถึงจะเพียงพอกับความต้องการ โดยเฉพาะในสายมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ที่แม้จะให้ทุนนักศึกษาปริญญาโท เพื่อเรียนต่อปริญญาเอก ก็ยังหาคนมาเรียนยาก เพราะคนเก่งๆ ที่จะเรียนต่อในระดับปริญญาเอกทางด้านนี้มีน้อย" นายสุเมธกล่าว ขณะ ที่นายประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ในการประเมินคุณภาพภายในของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กำหนดตัวชี้วัดเรื่องจำนวนคณาจารย์ที่ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ระดับอาจารย์ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.), รศ. และ ศ. โดยตามเป้าหมายหากสถาบันอุดมศึกษาจะมีคุณภาพควรมีจำนวนอาจารย์ไม่เกิน 30% และมีอาจารย์ที่มีตำแหน่งทางวิชาการระดับ ผศ., รศ., และ ศ.ไม่น้อยกว่า 70% ประธาน ทปอ.กล่าวว่า ข้อมูลจำนวนอาจารย์ของทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2554 พบว่า ปัจจุบันมีอาจารย์ทั้งหมด 50,798 คน แบ่งเป็นอาจารย์ 33,503 คน, ผศ. จำนวน 11,174 คน, ผศ.พิเศษ จำนวน 25 คน, รศ. จำนวน 5,570 คน, รศ.พิเศษ จำนวน 30 คน, ศ. จำนวน 439 คน, ศ.(ระดับ 11) จำนวน 50 คน และ ศ.พิเศษ จำนวน 9 คน ซึ่งหากดูเฉพาะมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติทั้ง 9 แห่ง ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ กลับพบว่ามีอาจารย์ปกติมากกว่าอาจารย์ที่ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีอาจารย์ 37.71% ของอาจารย์ทั้งมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) 47% มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) 43.55% มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) 48.36% มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) 58.66% มทส. 49.15% มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) 46% มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) 56.11% และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) 40.73% ขณะที่จำนวนอาจารย์ที่ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ มีดังนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ที่ 3.54% ของอาจารย์ทั้งมหาวิทยาลัย มธ. 1.83% มม. 4.34% มจธ. 1.5% มก. 1.25% มทส. 3.06% มช. 0.22% มอ. 0.65% และ มข. 0.13% จากจำนวนตัวเลขจะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ดำรง ตำแหน่งทางวิชาการในบ้านเรา ยังถือว่าขาดแคลนอีกจำนวนมาก เมื่อเทียบกับความต้องการสร้างงานวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการสร้างงานวิจัยเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการนั้น มีปัจจัยหลายอย่างเช่น ต้องเป็นงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ ขณะที่งานวิจัยสายสังคมส่วนใหญ่ยังเป็นเรื่องที่ตีพิมพ์ได้เฉพาะในประเทศไทย ส่วนงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต้องอาศัยเครื่องมือในการวิจัยที่พร้อมเพียงพอ โดยจากการจัดอันดับของสถาบันเพื่อพัฒนาการจัดการ หรือไอเอ็มดี (International Institute for Management Development:IMD) พบว่า ประเทศไทยยังอ่อนเรื่องเครื่องมือพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการได้ยากขึ้น อีก ทั้งที่ผ่านมา ยังมีข้อกังวลในเรื่องการลอกผลงานทางวิชาการเพื่อเข้าสู่ตำแหน่ง โดยเฉพาะในระดับศาสตราจารย์ ซึ่งเรื่องนี้อยากให้ไปตรวจสอบเพราะถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญ" นายประสาทกล่าว ขณะที่ในส่วนของมหาวิทยาลัยเกิดใหม่ เช่น กลุ่ม มรภ.และกลุ่ม มทร. คงต้องใช้เวลาโดยมหาวิทยาลัยเก่าแก่ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มธ. เป็นต้น ต้องเป็นแหล่งช่วยผลิตอาจารย์ที่มีคุณภาพให้กับมหาวิทยาลัยเกิดใหม่