ที่มา มติชน
ดูเหมือนว่า เส้นทางการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ จะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบซะแล้ว เพราะนับตั้งแต่ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ปรากฏออกมาว่า พรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนเสียงข้างมาก อุปสรรคนานัปการในการดำเนินนโยบายต่างๆ ก็ยิ่งผุดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
เริ่ม ตั้งแต่นโยบายขึ้นค่าแรงรายวัน 300 บาท ขึ้นเงินเดือนผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี 15,000 บาท ถูกกระแสคัดค้านจากภาคเอกชนอย่างมาก มองว่านโยบายนี้จะเป็นการสร้างภาระด้านต้นทุนให้กับผู้ประกอบการมากเกินไป ขณะที่การลดภาษีนิติบุคคลลงจาก 30% ลงเหลือ 23% ไม่น่าจะช่วยอะไรได้มาก เมื่อเทียบกับภาระที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก
ขณะที่การปรับขึ้นเงินเดือน ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี 15,000 บาท มีแนวโน้มสูงว่าจะใช้วิธีการปรับขึ้นเงินเดือนในส่วนของข้าราชการไปก่อน เพื่อกดดันให้เอกชนปรับขึ้นตาม ก็ถูกมองว่า นอกจากจะไม่ได้รับความร่วมมือจากเอกชนเช่นกัน ในทางกลับกันยังจะยิ่งเป็นการสร้างภาระรายได้ให้กับงบประมาณของภาครัฐมาก เกินไป อาจเกิดผลกระทบกับฐานะทางการคลังของประเทศหรือไม่
โครงการรับ จำนำจะนำมาใช้แทนโครงการประกันรายได้ แม้ในทางปฏิบัติจะยืนยันว่ารัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเป็นหลักแสน ล้านบาท เสี่ยงต่อการทำผิดเงื่อนไของค์การการค้าโลก (WTO) ห้ามรัฐบาลสนับสนุนสินค้าเกษตรในประเทศเกินวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท รวมในทุกสินค้า แต่จะนำระบบสินเชื่อในรูปแบบของบัตรเครดิตชาวนามาใช้แทน โดยใช้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นตัวขับเคลื่อน ทำให้รัฐบาลไม่ต้องควักเงินงบประมาณจำนวนมากเข้าไปรับซื้อข้าวเหมือนในอดีต
แต่ สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ แนวคิดการตั้งราคารับซื้อข้าวที่สูงจนเกินราคาตลาดมากเกินไป อาจส่งผลทำให้กลไกราคาข้าวในท้องตลาดเกิดความเสียหายในระยะยาว ธุรกิจการค้าขายข้าวของภาคเอกชนจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากแบกรับต้นทุนมากเกินไป จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากในวันนี้จะเกิดภาพโรงสีและผู้ส่งออกข้าวเข้าไปแย่งกันรับซื้อข้าวในท้อง ตลาด เพื่อนำมากักตุนไว้ ก่อนที่โครงการรับจำนำจะถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการในช่วงสิ้นปีนี้
ขณะ ที่ข้าวจำนวนมหาศาลที่รัฐบาลจะรับมาดูแลอยู่ในความครอบครอง ก็ดูเหมือนจะยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการวางมาตรการดูแลป้องกันปัญหาการ เวียนเทียน นำข้าวออกไปขาย และนำข้าวเสื่อมคุณภาพมาสวมแทน ทั้งที่เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาสำคัญ มีส่วนทำให้โครงการรับจำนำในอดีตประสบความล้มเหลวไม่เป็นท่ามาแล้ว
ขณะ ที่โครงการลด แลก แจก แถมอื่นๆ ก็ดูเหมือนจะยังไม่มีความชัดเจนมากนัก ไม่ว่าจะเป็นโครงการแจกแท็บเล็ตให้กับเด็ก ป.1 จำนวน 8 แสนเครื่อง เครื่องละ 4-5 พันบาท จนถึงขณะนี้ยังไม่รู้ว่าหน้าตาโครงการจะเป็นอย่างไร จะจัดหาแท็บเล็ตจากแหล่งไหน คุณภาพจะดีหรือไม่ เงินที่จะนำมาใช้ซื้อจะนำมาจากแหล่งไหน และจะมีวิธีการแก้ไขปัญหากรณีเด็ก นำแท็บเล็ตไปใช้ในการเล่นเกม หาคู่ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาทางสังคมอย่างหนักอยู่ในขณะนี้ แทนที่จะนำไปใช้ค้นหาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน
ส่วน โครงการพักหนี้ครัวเรือน 5 แสนบาท และโครงการเพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้านแห่งละล้านบาท ถ้าขาดแผนเรื่องการสนับสนุนอาชีพให้เกษตรกรมีรายได้ ลืมตาอ้าปากได้ สุดท้ายหนี้สินก็ยังเกิดขึ้นเหมือนเดิม
ขณะที่โครงการถมทะเลสร้าง เมืองใหม่ กลุ่มเอ็นจีโอก็เริ่มส่งสัญญาณชัดเจนว่าไม่เอาแล้ว ถ้าจะทำก็ต้องผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์ หากรัฐบาลยังเดินหน้าต่อไป ก็ยังไม่รู้ว่าเตรียมรับมือแล้วหรือไม่ เพราะในขั้นตอนการดำเนินงาน จะมีปัญหาฟ้องร้องดำเนินคดีเหมือนกรณีมาบตาพุดหรือไม่ ความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาร่วมลงทุนด้วย ก็คงมีผลกระทบตามมา
หรือ แม้แต่ปัญหาเรื่องการแสดงความเห็นทางนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ทั้งในส่วนของนางสาวยิ่งลักษณ์ หรือทีมงานเศรษฐกิจ ก็ดูเหมือนจะไม่มีความชัดเจนมากนัก แถมการแสดงความเห็นบางเรื่อง ก็สร้างปัญหาใหญ่ตามมา อาทิ การแก้ปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ ด้วยการแข็งค่าเงินบาท ส่งผลทำให้มีเกิดการเก็งกำไรของนักค้าเงิน เป็นต้น ทางออกสุดท้ายที่ทำได้ในการชี้แจงสังคม จึงมีเพียงแค่คำว่าเป็นความผิดพลาดในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเท่านั้น ก่อนจะปล่อยให้เรื่องเงียบหายไปกับสายลม
การเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยมีชัยชนะ นโยบายการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจถือว่ามีส่วนสำคัญ เพราะประชาชนต้องการให้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ หลังจากที่ผ่านมาต้องเผชิญชะตากรรมค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นจนน่าใจหาย
แต่ หากนโยบายการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่พรรคเพื่อไทยประกาศไว้ในช่วงการเลือกตั้ง หาเสียง ถูกเขียนไว้อย่างสวยหรู แต่ถ้าไม่สามารถทำได้จริง ก็อาจเกิดกระแสตีกลับตามมาอย่างรุนแรงด้วยเช่นกัน
การอธิบายชี้แจง รายละเอียดโครงการต่างๆ ให้ประชาชนได้เห็นภาพชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร และพร้อมเปิดใจรับฟังเสียงคัดค้านจากกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างๆ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง จึงเป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยควรรับฟัง และควรทำ มากกว่าการออกมายืนยันกระต่ายขาเดียว ว่านโยบายต่างๆ ทำได้จริงเพียงอย่างเดียว
นโยบายใดที่เห็นว่าทำไม่ได้จริง หรือทำไปแล้วเกิดผลเสียมากกว่าผลดี ก็ไม่ควรดันทุรังทำ เพราะผลลัพธ์ที่ตามมา จะมีความเสียหายมากกว่า
อาจส่งผลกระทบทำให้กระแส "ยิ่งลักษณ์ ซินโดรม" หมดอายุการใช้งานเร็วกว่าที่ควรจะเป็น
โดย เฉพาะอย่างยิ่งล่าสุดยังเกิดปัจจัยเสี่ยงสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่น่าเป็นห่วงสำหรับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและนางสาวยิ่งลักษณ์ในขณะนี้ก็คือ นางสาวยิ่งลักษณ์ยังไม่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แม้จะมีการประเมินกันภายในพรรคเพื่อไทยแล้วว่า เรื่องนี้จะไม่ใช่อุปสรรคสำคัญที่ทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ไม่สามารถขึ้นดำรง ตำแหน่งนายกฯได้ และเชื่อว่าในวันที่ 19 กรกฎาคม กกต.น่าจะประกาศรับรองผลนางสาวยิ่งลักษณ์อย่างแน่นอน
เนื่องจากข้อหาเรื่อง "ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ" และการที่นายสมชายและนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ พี่เขยและพี่สาว ช่วยกันหาเสียง หากมีความผิดเกิดขึ้น ก็เป็นความผิดในส่วนของพรรค นางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ต้องรับผิดชอบมาก เพราะไม่ได้มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรค
ขณะที่ข้อกล่าวหาเรื่อง หุ้น ที่จะโยงไปสู่การแจ้งบัญชีทรัพย์สิน หากมีความผิดเรื่องก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นศาล ใช้ระยะเวลาหลายปีกว่าคดีจะสิ้นสุด และ กกต.ก็น่าจะประกาศรับรองนางสาวยิ่งลักษณ์เข้ามาบริหารประเทศได้
แต่ ปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่า เพิ่งเริ่มไหว้ครู ระฆังยกแรกยังไม่ทันดัง ปัญหาร้อยแปดก็ประดังประเดเข้ามา เล่นกันจนหืดจับ ว่าที่นายกฯหญิงตั้งรับกันจนมือเป็นระวิงเชียว น่าเป็นห่วงว่าถ้าฟิตไม่ดี จะยืนระยะได้ไม่นาน จะพานยุ่งกันไปใหญ่...
หน้า 17,มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม 2554