ที่มา ประชาไท
บก.ลายจุด ชวนคิดฤาความกลัวในสังคมตอนนี้มีพื้นฐานจากความรัก? ปราบ นศ.นักกิจกรรม ชี้หลังมติผู้บริหาร มธ.ห้ามใช้พื้นที่ ส่งผล นศ.ตั้งคำถามมากขึ้น มองแนวโน้มขบวนการนักศึกษาเริ่มโต วาด รวี ชี้ยังมีคำถามที่ต้องตอบ ถ้ายังจะปกครองแบบประชาธิปไตย
(12 ก.พ.55) ที่ห้องประชุม 14 ตุลา อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มีการเสวนาในหัวข้อ 112 กับสิทธิพลเมืองไทย ดำเนินรายการโดยวรพจน์ พันธุ์พงศ์
สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด กล่าวว่า กระแสใหญ่ๆ ขณะนี้คนกำลังกลัวการปฏิวัติ คำถามอีกด้านคือคนที่จะทำรัฐประหารกลัวอะไร เราอยู่ในภาวะที่ต่างก็หวาดกลัว ซึ่งความกลัวจะพัฒนาไปสู่ความเกลียดและความเกลียดจะพัฒนาต่อเป็นความโกรธ คำถามคือแล้วความรักอยู่ตรงไหนของความจริงเหล่านี้ เป็นไปได้ไหมที่ในนามของความเกลียด มีพื้นฐานจากความรัก ทำไมจึงมีการอ้างความรักในการเกลียดคนอื่น
เขาเสนอว่า หากเรากลับไปพูดเรื่องความรักในบริบทที่กว้างกว่าที่คนเหล่านั้นคิดได้ เช่น ทำไมในนามของความรัก จึงกระทำหรือแสดงออกอย่างร้ายกาจได้ขนาดนั้น นี่อาจเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ความแตกต่างในสังคมไม่พัฒนาสู่ความ เกลียดชังได้
สำหรับกระแสต่อต้านนิติราษฎร์นั้น เขารู้สึกแปลกใจ เพราะสิ่งที่นิติราษฎร์เสนอไม่ใช่ข้อเสนออย่างที่อ้างกันว่าจะล้มล้างสถาบัน เลย กฎหมายยังอยู่ ฟ้องได้ และต้องติดคุก มีทุกอย่างครบ น่าแปลกใจที่การแก้กฎหมายถูกกล่าวหาว่าเป็นการล้มสถาบัน พอๆ กับตอนที่เขาใส่เสื้อสีแดง แล้วถูกถามว่าต้องการล้มสถาบันหรือ ซึ่งก็ตอบไม่ถูกว่าเกี่ยวโยงกันอย่างไร
เขากล่าวว่า การแก้ไขมาตรา 112 เป็นเรื่องมนุษยธรรม ต้องทำความเข้าใจ ทำให้เห็นว่าเราเรียกร้องสิทธิเพียงให้ลดโทษให้สมเหตุสมผล พร้อมยกตัวอย่างถึงการกลั่นแกล้งกันด้วยมาตรา 112 เช่น กรณีสนธิ ลิ้มทองกุล ถูกฟ้องจากการเปิดเทปเสียงของ ดา ตอร์ปิโด ว่า ในระดับสามัญสำนึก สนธิไม่ควรถูกฟ้อง เพราะขาดเจตนาที่จะหมิ่นสถาบัน หรืออีกคดีคือกรณีตำรวจหญิงคนหนึ่งแปลเนื้อหาในนิตยสารของต่างประเทศที่ กล่าวถึงสถาบัน เพื่อนำเสนอว่าไม่ให้นำเข้ามาในประเทศ แต่ปรากฏว่าคนแปลกลับติดคุก ซึ่งนี่เป็นเรื่องไม่มีเหตุผล พร้อมชี้ว่า กฎหมายนี้ไม่พิจารณาเจตนา ดูเพียงการกระทำเท่านั้น โดยเปรียบเทียบว่า หมอที่ผ่าตัดเพื่อรักษาคนไข้ ก็คงติดคุกเพราะถือว่าเอามีดแทงเข้าไปที่ร่างกายคนไข้ ดังนั้นแล้วกฎหมายแบบนี้จะอยู่ไม่ได้ ไม่สมเหตุสมผล
ผู้ดำเนินรายการถามถึงสถานการณ์หลังการปราบเมื่อ พ.ค. 53 กับกระแสที่ห้ามไม่ให้เคลื่อนไหวแก้ไขมาตรา 112 ว่าหนักเบาต่างกันอย่างไร สมบัติตอบว่า มีบรรยากาศที่เหมือนกันคือ อารมณ์ทั้งกลัวทั้งโกรธ หลังการปราบหนึ่งเดือน เขาต้องไปเชียงใหม่ ไม่สามารถอยู่ที่เดิมได้ บ้านก็ถูกค้น ไม่กล้าเดินทางโดยเครื่องบินเพราะกลัวถูกจับ แต่เมื่อความกลัวถึงจุดหนึ่ง เขาเกิดคำถามกับตัวเองว่าจะมีชีวิตอยู่ภายใต้ความกลัวได้อย่างไร ที่สุดก็ตัดสินใจว่าไม่สามารถมีชีวิตอย่างปกติได้ภายใต้ความกลัว เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงต้องหาพื้นที่ยืนในที่แจ้งและเป็นที่ของเราโดยบริบูรณ์ โดยที่ไม่ไปเหยียบหัวใคร และยืนยันสิทธิตรงนั้น พร้อมยกตัวอย่างช่วงที่เขากลับไปที่ราชประสงค์และถูกบอกว่าไม่ควร แต่เมื่อไปอีก ที่สุดก็ได้ยืนในที่ดังกล่าว
สมบัติเสนอว่า ในการต่อสู้ครั้งนี้ ให้ทำป่วน ทำให้งง แต่อย่าแหย่จนอีกฝั่งโกรธ พร้อมเสนอข้อเสนอซึ่งเขาบอกว่าอาจไม่ถูกใจกลุ่ม ครก.112 หลายคนว่า ในทางสาธารณะ วันนี้เราไม่ต้องพูดเรื่อง 112 แล้ว ไปพูดเรื่องอื่นแทน อาจฟังดูเหมือนถอย แต่เขามองว่าบอลได้ถูกเขี่ยออกไปแล้ว แม้ ครก. หรือนิติราษฎร์จะไม่เคลื่อนไหว แต่มันได้กลายเป็นประเด็นไปแล้ว แม้หยุดพูดแต่สถานการณ์เรื่องนี้ก็ไม่หยุดแล้ว ซึ่งนี่จะป่วนให้อีกฝั่งงง
สอง การพูดถึงประเด็นเรื่องรัฐประหาร เป็นความชอบธรรมที่ประชาชนจะพูดได้ เพราะอีกฝั่งนั้นมีแผล และแนวร่วมจำนวนมากไม่เอารัฐประหาร ไม่ว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือสลิ่มก็ตาม
นอกจากนี้ สมบัติเสนอวิธีการต่อสู้ในภาวะความกลัวขณะนี้ว่า ให้ถ่ายรูปตัวเอง โดยเอานิ้วชี้ที่ตาและแลบลิ้น แล้วไปโพสต์ในอินเทอร์เน็ต เพื่อเตือนสติสังคมว่า เรากำลังสร้างสังคมแห่งความหวาดกลัว โดยให้ช่วยกันสร้างสรรค์ เช่น ถ่ายในบริบทที่เจ๋งๆ อย่างที่หน้ากองทัพบก
ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ ตัวแทนกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงมติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อเร็วๆ นี้ที่ห้ามใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเคลื่อนไหวเรื่องกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า ทำให้นักศึกษาซึ่งเป็นภาพสะท้อนของคนในสังคมที่ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางใน เมือง ไม่สนใจการเมือง หันมาตั้งคำถามกับความเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมอตโต้ว่าด้วยเสรีภาพที่ เป็นจุดขายของมหาวิทยาลัยมากขึ้น จนเกิดการถกเถียงและการเคลื่อนไหว ซึ่งนอกจากกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยแล้ว ก็ยังมีองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เริ่มออกมาเคลื่อนไหวอีก ครั้ง
นอกจากนี้ จากกระแสเรื่องมาตรา 112 หากได้ดูรายการคมชัดลึกทางเนชั่นชาแนล หลายวันก่อนที่มีตัวแทนนักศึกษามาแสดงความเห็น ก็จะเห็นตัวละครใหม่ๆ ที่กล้าพูดถึงมาตรา 112 รวมถึงกล้าวิจารณ์สถาบันมากขึ้น ทั้งนี้ เขามองว่าการเติบโตของขบวนการนักศึกษาอาจต้องใช้เวลา เพราะต้องต่อสู้กับกระแสในมหาวิทยาลัยด้วย แต่ก็มองว่ามีอัตราเติบโตที่ค่อนข้างดี
สำหรับการเคลื่อนไหวในก้าวต่อๆ ไปของ ครก.112 นั้น ปราบเสนอว่า ต่อไปอาจต้องดึงความเป็นมนุษย์ออกมามากกว่านี้ พร้อมชี้ว่า ก่อนที่ไท หรือปณิธาน พฤกษาเกษมสุข สมาชิกของกลุ่มฯ จะประท้วงอดอาหาร 112 ชั่วโมงเพื่อเรียกร้องให้พ่อของเขา (สมยศ) ได้ประกันตัวนั้น ทางกลุ่มฯ ก็ถูกข้อกล่าวหาไม่ต่างนิติราษฎร์ แต่หลังจากที่ไทประกาศอดอาหาร กระแสในมหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนทันที โดยถูกต่อว่าในอินเทอร์เน็ตน้อยลง ซึ่งเขามองว่าเป็นเพราะการสื่อสารถึงความเป็นมนุษย์ ความเป็นพ่อ-ลูก นั้นมีพลัง และทำให้คนเห็นปัญหาของมาตรานี้มากขึ้น
ด้าน วาด รวี คณะนักเขียนแสงสำนึก กล่าวถึงสิทธิเสรีภาพโดยเริ่มจากมิติทางประวัติศาสตร์ว่า เกิดจากการเรียกร้องสิทธิทางการเมืองของคนกลุ่มใหม่ หรือฐานันดรที่สาม ในฝรั่งเศส ใน ศต.ที่ 18 จากเดิมที่ฐานันดรที่หนึ่งและสองคือกษัตริย์กับขุนนางและพระมองว่าสิทธิทาง การเมืองเป็นเรื่องของพวกตัวเองเท่านั้น แม้จะใช้เวลา 10 ปีและล้มเหลว แต่สิ่งที่สำเร็จคือสำนึกใหม่ที่ว่าคนเท่ากัน เกิดมาพร้อมสิทธิเสรีภาพอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่มีใครศักดิ์สิทธิ์ มีอำนาจพิสดาร หรือมีคุณความดีพิเศษเหนือใครอื่น
ด้านประเทศไทย สำนึกที่เรียกว่าการปกครองสมัยใหม่ที่ไม่เชื่อในสิทธิธรรมแบบเก่าหรือระบอบ การปกครองที่ใช้อำนาจเหนือมนุษย์อื่นๆ เกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 สะท้อนจากประกาศของคณะราษฎรฉบับที่ 1 โดยเฉพาะประโยคว่า "ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง" และ "เหล่านี้เป็นผลของรัฐบาลกษัตริย์ที่เหนือกฎหมาย"
มิติด้านเนื้อหาของสิทธิเสรีภาพ วาด รวี อ้างถึงตอนต้นของคำประกาศอิสรภาพของอเมริกาที่ระบุว่า "เราถือว่านี่คือความจริงที่เป็นหลักฐานในตัวเองว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่า เทียมกันและมีสิทธิแต่กำเนิดอันไม่อาจพรากจาก" หมายถึงสิทธิเสรีภาพคือส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ หากไม่มีสิทธิเสรีภาพ ความเป็นมนุษย์จะขาดพร่องไปทันที นี่คือสำนึกของมนุษย์สมัยใหม่ เป็นหลักสากลที่บรรจุอยู่ในกฎบัตรสหประชาชาติ อยู่ในกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยไปลงนามไว้จำนวนมาก สิทธิเสรีภาพนี้มีความเป็นสากล ซึ่งหมายความว่าไม่ขึ้นต่อจารีต ประเพณี วัฒนธรรม ดังนั้นจะอ้างว่าประเทศนี้มีลักษณะเฉพาะ ทำให้ไม่มีสิทธิเสรีภาพเหมือนประเทศอื่นไม่ได้
ด้วยหลักนี้ ทำให้คำว่าพลเมืองหรือประชาชนในรัฐสมัยใหม่แตกต่างจากคำว่าราษฎรในรัฐสมัย เก่า เพราะเป็นประชาชนที่ประกอบด้วยสิทธิเสรีภาพ และสิทธิเสรีภาพเป็นที่มาของอำนาจอธิปไตยหรืออำนาจปกครองประเทศ ซึ่งไทยก็อยู่ในหลักการเดียวกันนี้ ตามที่ระบุในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ
ความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิเสรีภาพกับอำนาจปกครอง อำนาจสาธารณะ อำนาจทางการเมือง เป็นเหมือนกับสายใยที่ไม่อาจสะบั้นขาด เหมือนเราเอาด้ายโยงไปยัง ส.ส. ส.ส.โยงไปที่นายกฯ โยงไปยังข้าราชการต่างๆ ทั้งหมดนี้เมื่อสาวด้ายดู ที่สุดต้องกลับมาที่ประชาชนได้ ถ้าเมื่อใดที่ด้ายที่โยงมาสู่ประชาชนขาด อำนาจนั้นจะไม่ชอบธรรมทันที
วาด รวีกล่าวว่า ปัจจุบันสำนึกเรื่องสิทธิเสรีภาพและอำนาจอธิปไตยของสังคมไทยยังมีความไม่ เข้าใจ สำนึกจำนวนมากของฝ่ายที่คัดค้านการแก้ไข 112 ที่ว่า สิทธิเสรีภาพต้องมีขอบเขต ไม่ละเมิดสิทธิกษัตริย์ นี่สะท้อนความเข้าใจผิดๆ ถูกๆ ซ้อนกันเรื่องสิทธิเสรีภาพ เบื้องต้นคือแยกไม่ออกว่า รากฐานของสิทธิเสรีภาพเสมอภาค ซึ่งเป็นบ่อเกิดของสิทธิอื่น เป็นคนละอันกับสิทธิตามกฎหมายพื้นฐานที่มีแต่กำเนิด สิทธิที่มีขอบเขตคือสิทธิตามกฎหมายที่สามารถพรากจากได้ เช่น การยึดใบขับขี่ที่รัฐออกให้ เมื่อเราทำผิดกฎ แต่สิทธิเสรีภาพ เราไม่ได้รับมอบจากใคร ดังนั้น สิทธิตามกฎหมายจะมาละเมิดสิทธิพื้นฐานนี้ไม่ได้
ทั้งนี้ วาด รวีมองว่า ปัญหาเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพที่เกิดขึ้นมาตลอดในสังคมไทย ไม่ใช่เพราะมีการไม่ยอมรับสิทธิเสรีภาพ เพราะระบอบเผด็จการปกครองโดยทหาร หรือการปกครองโดยกษัตริย์แบบเก่า แต่เพราะหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีลักษณะของการใช้อำนาจ 2 ระนาบคู่กัน หนึ่ง อำนาจในระนาบเปลือกผิว คือ อำนาจในที่แจ้ง ใช้อย่างเป็นทางการ เช่น การเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญสนธิสัญญา กฎหมาย สอง การใช้อำนาจอย่างไม่เป็นทางการ อยู่ในรูปของประเพณีการปกครอง จารีต ขนบ ไม่อยู่ในกฎหมาย อำนาจนี้เองขัดหลักประชาธิปไตยตรวจสอบไม่ได้ แต่แทรกแซง บงการและมีอำนาจเหนือการใช้อำนาจในระนาบหนึ่งได้ตลอด
เขาระบุว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นที่พันธมิตรฯ ชอบพูดถึง หากมองให้สุด บ่อเกิดของปัญหาแบบนี้คือปัญหาที่อำนาจอธิปไตยที่มาจากสิทธิเสรีภาพของ ประชาชนไม่ใช่อำนาจที่แท้จริงในสังคม ไม่สามารถให้คุณให้โทษคนที่อยู่ในโครงข่ายในระบบได้อย่างแท้จริง แต่มีอำนาจในระนาบที่สอง แทรกแซงอยู่ตลอด
วาด รวีกล่าวว่า หากดูจากวิกฤตการเมืองช่วงที่ผ่านมา แล้วตั้งคำถามกับการใช้อำนาจที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับสิทธิเสรีภาพของ ประชาชนตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมาว่า อำนาจอะไรที่ค้ำจุน คมช. พล.อ.เปรม พล.อ.สุรยุทธ์ หรือค้ำจุน สนช. ให้ออกกฎหมายได้ ทั้งที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถ้าเราสังเกตดูการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นทางการ ในวัฒนธรรมอำนาจ ในจารีตประเพณีการใช้อำนาจ ประเพณีการปกครองของไทย ไล่ไปตั้งแต่หน่วยเล็กที่สุด ตั้งแต่ข้าราชการชั้นผู้น้อย นักการเมือง ศาล จนถึงองคมนตรี จะพบว่านี่คือการใช้อำนาจแบบเดียวกับระบบทาสในสมัยก่อน มีกำกับว่าเด็กใคร เส้นใคร ใช้เส้นตีตราอำนาจ และหากไล่ไปจนชั้นบนสุดจะพบว่ามันคือการใช้อำนาจในลักษณะที่แวดล้อมและแอบ อิงกับสถาบันกษัตริย์ มีสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์กลางในการแอบอิงและอ้างใช้และแวดล้อมอยู่
ด้านปัญหาของกฎหมายอาญา มาตรา 112 แบ่งเป็น หนึ่ง กลุ่มที่เป็นผลกระทบทางการเมือง และสอง กลุ่มที่เป็นผลกระทบทางสิทธิเสรีภาพ
หนึ่ง กลุ่มที่เป็นผลกระทบทางการเมือง อ้างจากหนังสือ A Life's Work ซึ่งดูแลโดยอานันท์ ปันยารชุน และสุเมธ ตันติเวชกุล ที่ยอมรับว่าปัญหาสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา ไม่ว่าบทบาทองคมนตรี ชนชั้นนำอื่น หรือ ที่สำนักพระราชวังออกหนังสือว่า คมช.เป็นรัฎฐาธิปัตย์ ไม่ต้องโปรดเกล้าก็ได้ สิ่งเหล่านี้ สะท้อนกลับไปยังประเด็นบทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ทั้งสิ้น ปัญหาคือมีอำนาจสาธารณะ มีประเพณีการปกครองที่ไม่ถูกตรวจสอบ ตรวจสอบไม่ได้อยู่ในระบบการเมือง ถ้าเราจะก้าวต่อไปข้างหน้า ถ้าเราจะปกครอง้วยระบอบประชาธิปไตย เราหลีกเลี่ยงปัญหานี้ไม่ได้ไม่ว่าเราจะเป็นเหลืองหรือแดง มาตรา 112 เป็นจระเข้ขวางคลองในการแก้ปัญหานี้
วาด รวี กล่าวว่า คดีหมิ่นที่เกิดขึ้นตลอดช่วงวิกฤตการเมือง จากข้อเท็จจริง ถามว่าเป็นสิ่งที่อยู่ดีๆ ทุกคนก็ลุกขึ้นหมิ่นหรือ อยู่ดีๆ คนก็ลุกขึ้นมาเขียนฝาผนังหรือ เป็นสิ่งที่รู้อยู่แก่ใจ แต่เราไม่เผชิญปัญหา ไม่แก้ปัญหาอย่างตรงไปตรงมา
"คำถามมากมายต้องการคำตอบ ต้องการการแลกเปลี่ยนด้วยเหตุผล ไม่ใช่ว่าจะล้มเจ้า แต่เราต้องการคำตอบของคำถามที่เกี่ยวกับระบอบการปกครองว่าจะเอาอย่างไรกัน แน่" วาด รวี กล่าวและว่า ตัวอย่างคำถามมากมาย ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดคำถาม มากมาย ตัวอย่างประเพณีการปกครองที่ไม่เป็นทางการที่เราควรจะถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน ได้ในระบอบประชาธิปไตย เช่น การที่มีพระราชดำรัสในทางสาธารณะจะส่งผลทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่กล่าวอ้างพระราชสำนักจริงเท็จแค่ไหน คำถามเกี่ยวกับเรื่องสองมาตรฐาน เรื่องทางการเมืองที่เกี่ยวพันไปถึงสถาบันกษัตริย์ควรจะต้องถูกพูดถึงแลก เปลี่ยนอย่างโปร่งใส แม้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างคณะรัฐประหารกับสถาบันกษัตริย์ เช่น เมื่อรัฐประหารแล้วไปเข้าเฝ้าทุกครั้งเหมาะสม สมควรแค่ไหน เราไม่เคยพูดถึงได้อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา นี่คือผลกระทบทางการเมืองที่จำเป็นต้องได้รับคำตอบถ้าจะก้าวไปข้างหน้า เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข ไม่ว่าอยากปรองดองหรือไม่ปัญหานี้ก็จะยังอยู่หากไม่แก้ไข ไม่ใช่เรื่องล้มเจ้าไม่ล้มเจ้า แต่เป็นเรื่องของคนไม่อยากแก้ปัญหา เอาการล้มเจ้าเข้ามาอ้าง
สอง ผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ ทั้งตามหลักสากล กฎหมายในประเทศ รัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่ลงนามไว้ในต่างประเทศ หนึ่ง กระบวนการบังคับใช้ การประกันตัว ปิดลับการพิจารณาคดี การไม่สันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อนในคดีอาญา สอง อัตราโทษ - 3-15 ปี กับการกระทำผิดโดยวาจา-ตัวหนังสือ สาม ใครก็ฟ้องได้ ไม่มีเหตุยกเว้นความผิด และยกเว้นโทษ เหมือนกฎหมายที่บังคับใช้กับบุคคลทั่วไป ทำให้วิจารณ์และพูดถึงไม่ได้เลย ที่ว่าวิจารณ์ได้นั้นไม่จริง โดยมีแนวทางคำพิพากษาแล้วว่าไม่จริง
ทั้งหมดเป็นปัญหาที่ผิดทั้งต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศที่ลงนาม ไว้ และผิดหลักสากล ละเมิดสิทธิเสรีภาพที่เป็นบ่อเกิดของสิทธิตามกฎหมายทั้งปวง และถ้าไม่แก้ไข และปล่อยต่อไปเรื่อยๆ อำนาจอธิปไตยจะชนกัน เป็นสิ่งที่ใครก็บังคับควบคุมไม่ได้ ไม่มีผู้นำม็อบคนไหนจะบังคับได้ นี่เป็นความเคลื่อนไหวที่ใหญ่มากๆ เป็นแรงโน้มถ่วงทางประวัติศาสตร์ จะชนกันถ้าไม่แก้ ไม่ใช่อยากให้เกิดการปะทะกัน แต่เราต้องการแก้เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ควรจะเกิด ให้เปลี่ยนผ่านอย่างสมูท นี่เป็นเหตุผลของ ครก.112