ที่มา ประชาไท
ชลิตา บัณฑุวงศ์
กลุ่มจับตาประชาสังคมไทย (Thai Social Movement Watch –TSMW)
‘ประชาสังคมไทย’ ซึ่งในที่นี้หมายรวมถึงเอ็นจีโอด้วย อาจจะไม่ใช่กลุ่มที่ออกมาจิกหัวก่นด่าข่มขู่ประณามคณะนิติราษฎร์และผู้สนับ สนุนข้อเสนอการขอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าเป็นพวกเนรคุณแผ่นดิน คิดล้มเจ้า และขับไล่กลุ่มคนเหล่านี้ให้ออกไปจากประเทศไทย รวมทั้งแม้ประชาสังคมไทยอาจจะยังมีความละอายมากพอที่จะไม่เสนอว่าการทางออก เดียวของประเทศไทยคือการรัฐประหารเหมือนอย่างที่กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์เสนอ แต่ประชาสังคมไทยและเอ็นจีโอก็แสดงให้เห็นถึงท่าทีที่การเพิกเฉย เย็นชา ปิดหูปิดตา และดูถูกดูแคลนอย่างยิ่งต่อความพยายามเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายมาตรานี้
ตลอดช่วงระยะเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา รุ่นพี่เอ็นจีโอที่ฉันนับถือ ผู้ซึ่งมีผลงานโดดเด่นในด้านทรัพยากรชีวภาพ เกษตรกรรม อาหาร สิทธิเกษตรกรและชุมชน มักตำหนิฉันและเพื่อนอยู่เสมอในทำนองที่ว่า “ทำไมพวกคุณจึงพูดถึงแต่เรื่องมาตรา 112 กันมากมายนัก ทำไมถึงไม่พูดถึงการผูกขาดขูดรีดเกษตรกรโดยนายทุนหรือบรรษัทข้ามชาติบ้าง ทำไมถึงไม่พูดถึงปัญหาที่ดิน การปฏิรูปที่ดิน หรือการปฎิรูปเพื่อโครงสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจบ้าง ถ้าพวกคุณพูดบ้างมันก็จะช่วยแก้ปัญหาได้” ขณะที่บ่อยครั้งตามหน้าเฟสบุ๊คของ เอ็นจีโอรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ก็จะเห็นข้อความประเภทที่ว่า “ปัญหาสาธารณะอื่นๆ ของประชาชนยังมีอีกตั้งหลายเรื่อง ทำไมพวกนี้จึงไม่ออกมาเรียกร้องกันบ้าง”
เช่นเดียวกับที่นักข่าวหญิงแห่ง TPBS ผู้เป็นขวัญใจของประชาสังคมและเอ็นจีโอไทยเนื่องจากได้อุทิศตัวทำข่าวส่ง เสริม ‘สิทธิชุมชน’ มาอย่างต่อเนื่อง ได้ปรารภในเฟสบุ๊คของเธอท่ามสถานการณ์ร้อนแรงเรื่องมาตรา 112 ว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในกรุงเทพฯ ได้ช่วงชิงพื้นที่ข่าวของชาวบ้านและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาไป เสียสิ้น ฉันพยายามคิดแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา พยายามเข้าใจว่าเสียงเหล่านี้คงเกิดจากความน้อยเนื้อต่ำใจที่ประเด็นการทำ งานที่ทุ่มเท เสียสละ ยิ่งใหญ่ และแสนจะมีคุณูปการยิ่งต่อ ‘ชาวบ้านและชุมชน’ ของพวกตนกลับไม่เป็นที่สนใจของสังคม เอาเสียเลย
แต่หากอ่านระหว่างบรรทัด ประกอบกับที่ได้เห็นการอวยกันไปมาในช่องคอมเม้นต์ที่ดูถูกดูแคลนผู้สนับสนุน การขอแก้ไขมาตรา 112 กันเป็นที่สนุกสนานในทำนองว่า การเคลื่อนไหวเรื่องนี้ทำให้ “ดังได้เร็ว” บ้าง “ได้เงินเยอะ” บ้าง อันต่างไปจากการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติของพวกตนที่ ไม่มีทั้งชื่อไม่มีทั้งเงิน ฉันก็อดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่าเสี ยงเหล่านี้ก็คือความพยายามหนึ่งในการลดความชอบธรรมของการเรียกร้องให้แก้ไข มาตรา 112 อีกทั้งยังเป็นวิธีการที่ดูดีเสียด้วยเนื่องจากมี ‘ชาวบ้านและชุมชน’ เป็นข้ออ้าง
การที่วาทกรรม “ยังมีเรื่องอื่นที่สำคัญ (ต่อชาวบ้านและชุมชน) มากกว่าเรื่องการแก้มาตรา 112” แพร่หลายในหมู่ประชาสังคมและเอ็นจีโอไทยเป็นสิ่งที่น่าผิดหวังยิ่ง เพราะไม่เพียงแต่เป็นการหาเหตุผลแบบน้ำขุ่นๆ ที่จะไม่เอาตัวเองเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของ ปัญหาของสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย ตลอดจนการละเลยต่อชะตากรรมของผู้ต้องหาในคดีนี้จำนวนหลายร้อยคนที่ไม่ได้รับ สิทธิการประกันตัวและต้องรับโทษรุนแรงอย่างไม่สมเหตุผลเท่านั้น แต่ยังเป็นการชี้ให้เห็นว่าประชาสังคมและเอ็นจีโอไทย ซึ่งได้รับยกย่องในหมู่กันเองว่าเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของสังคม (Change Agents) บ้าง เป็นพี่เลี้ยงของชาวบ้านบ้าง ยังมิได้มีความตระหนักแต่อย่างใดเลยถึงความเป็นปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขณะเดียวกันพวกเขาก็มองไม่เห็นว่าหลักการและแนวคิดในการขอแก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายมาตรานี้ที่ว่า “ทุกคนย่อมมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีเสรีภาพ มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ...และในสังคมประชาธิปไตยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพที่จะขาด เสียไม่ได้” นั้นจะเป็นหลักการที่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาในประเด็นต่างๆ ที่ชาวบ้านและชุมชนที่พวกเขาทำงานด้วยกำลังเผชิญอยู่อย่างไร
นอกจากนั้นการแสดงความเห็นแบบไม่เป็นทางการของพวกเขาก็ยังสะท้อนถึงความ กระพร่องกระแพร่งของการรับข้อมูลข่าวสารทั่วๆ ไป เพราะส่วนใหญ่ยังคงสับสนอยู่มากระหว่างคณะนิติราษฎร์ คณะรณรงค์แก้ไข ม.112 (ครก.112) พรรคเพื่อไทย นปช. หรือคนเสื้อแดงกลุ่มต่างๆ ฯลฯ ขณะที่หากจะมีการเชื่อมโยงมาตรา 112 เข้ากับประเด็นปัญหาอื่นๆ ก็มักจะออกทะเลเห็นดวงแก้วไปในแนว ‘ทฤษฎีสมคบคิด’ ที่ว่ากันว่าสหรัฐอเมริกาสนับสนุนการปฏิรูปมาตรา 112 ก็เพราะหวังผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันในอ่าวไทย ตามทฤษฎีนี้การแก้ไขมาตรา 112 จะเอื้อประโยชน์ต่อการสร้างอำนาจผูกขาดของเครือข่าย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อันจะนำมาสู่การจับมือและประสานประโยชน์กันของทุนนิยมผูกขาดระดับชาติและ ระดับโลก ทั้งนี้ มีผู้วิจารณ์ทฤษฎีสมคบคิดไว้ในที่อื่นกันมากแล้วว่า" ทฤษฎีสมนี้คือการลดทอนความซับซ้อนของการเปลี่ยนแปลงและปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ให้เหลือเพียงความเลวของนักการเมืองและความขัดแย้งหรือการประสานผลประโยชน์ ของชนชั้นนำไม่กี่คนเท่านั้น "
น่าสนใจว่า ทฤษฎีสมคบคิดนี้แพร่หลายในหมู่เอ็นจีโอและนักเคลื่อนไหวตามชายฝั่งทะเลภาค ใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการดำเนินการอย่างคึกคักของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ สัญชาติอเมริกัน อาทิเช่น บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันมุ่งเดินหน้าแผนพัฒนาเพื่อรองรับการขยาย ตัวของภาคอุตสาหกรรมต่อมาจากทางชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ผนวกกับความเข้มข้นที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนอาจถึงขั้นที่เรียกได้ว่าภาคใต้ได้กลายเป็นป้อมปราการที่สำคัญยิ่งของ อุดมการณ์กษัตริย์นิยมในประเทศไทยไปเสียแล้ว ส่งผลทำให้แม้แต่การเอ่ยถึงมาตรา 112 คงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยแวดวงนักพัฒนาภาคใต้และในพื้นที่ภาคใต้โดยทั่วไป
จากท่าทีของประชาสังคมไทยและเอ็นจีโอดังกล่าวข้างต้น ฉันไม่ได้หวังอะไรเลยกับพวกชนชั้นนำ (elites) หรือผู้กุมอำนาจและงบประมาณของประชาสังคมไทย ซึ่งเป็นผู้มีสถานะทางสังคม ศีลธรรม และคุณธรรมสูงส่ง ฉันได้เคยเขียนไว้ในที่อื่นแล้วว่า" ชน ชั้นนำเหล่านี้มีบทบาทอย่างสำคัญในการทำให้ประชาสังคมไทยมีสถานะเป็นกลไกที่ รองรับการปรับตัวของเพื่อธำรงอำนาจต่อไปของสถาบันทางอำนาจและการเมืองแบบ จารีต"
อย่างไรก็ดี ฉันยังคงแอบมีความคาดหวังกับคนทำงานหรือเอ็นจีโอระดับกลางๆ หรือรุ่นใหม่ๆ ที่แม้พวกเขาจะต้องเป็นลูกไล่หรือเบี้ยล่างในฐานะองค์กรผู้รับทุน ซึ่งชนชั้นนำประชาสังคมไทยได้มีอำนาจเหนือพวกเขาอย่างมากในการกำหนด อุดมการณ์และทิศทางการทำงาน ฉันคาดหวังว่าคนรุ่นใหม่และคนรุ่นกลางเหล่านี้ จะมีศักยภาพแห่งตน (agency) หรืออีกนัยหนึ่งมีความสามารถที่จะตัดสินใจและกระทำการอย่างเป็นอิสระบ้างภาย ใต้โครงสร้างที่กดบังคับ รวมทั้งมีการต่อต้านขัดขืนในชีวิตประจำวันบ้างภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ในการทำงานที่มีอยู่ ฉันคิดว่าความใส่ใจในการแสวงหาข้อมูลและความรู้และการ ใช้วิจารณญาณอย่างระมัดระวัง จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อต้านขัดขืนนี้
สำหรับกรณีมาตรา 112 ฉันไม่ได้คาดหวังว่าพวกเขาจะต้องมาลงชื่อสนับสนุนการขอเสนอแก้ไข ฉันเคารพเสรีภาพในการตัดสินใจของแต่ละคน เพียงแต่อยากจะขอร้องให้การตัดสินใจนั้นอยู่บนฐานของการศึกษาข้อมูลมา แล้วอย่างรอบคอบและไตร่ตรองอย่างดีแล้วว่ามาตรา 112 นี้แท้จริงนั้นสัมพันธ์กับประเด็นอื่นๆ ที่พวกเขากำลังผลักดันอยู่อย่างไร ที่สำคัญคือขอให้เป็นการตัดสินใจที่ให้ความสำคัญกับหลักการขั้นพื้น ฐานที่สุดในการอยู่ร่วมกัน นั่นคือ ความเท่าเทียมกันของมนุษย์ทุกคนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มากกว่าที่จะแสดงแต่ท่าทีที่เพิกเฉย เย็นชา ปิดหูปิดตา และดูถูกดูแคลนกลุ่มผู้ขอแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งก็ไม่แคล้วที่จะเป็นการให้ท้ายหรือเห็นดีเห็นงามไปกับการข่มขู่คุกคาม ต่างๆ ที่ฝ่ายขวากำลังกระทำอยู่กับคนกลุ่มนี้
หมายเหตุ: จากบทความเดิมชื่อ ท่าทีประชาสังคมไทยต่อการเสนอขอแก้ไขมาตรา 112
คอลัมน์ คิดอย่างคน หนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน ปีที่ 2 ฉบับที่ 73