ที่มา ประชาไท
เวลาผมได้ยินใครก็ตามพูดว่า มี “พุทธศาสนาบริสุทธิ์” คือ หลักการของพุทธศาสนาที่ไม่เกี่ยวกับคน ไม่เกี่ยวกับสังคม เช่น กฎธรรมชาติ หรือกฎไตรลักษณ์เป็นต้น ที่ยังไม่ได้ถูกปรับใช้กับชีวิตคน หรือสังคม
คำพูดเช่นนี้ชวนให้ถามได้ว่า กฎธรรมชาติเช่นนั้นจะถือว่าเป็นพุทธศาสนาได้อย่างไร เพราะกฎธรรมชาติมีอยู่ก่อนที่พุทธะจะอุบัติขึ้น เมื่อพุทธะอุบัติขึ้นโดยการนำความจริงตามกฎธรรมชาตินั้นมาปรับใช้ดับทุกข์ หรือเกิดการตรัสรู้แล้ว พุทธศาสนาจึงเกิดขึ้นมิใช่หรือ และพุทธศาสนาก็มีพัฒนาการมาในรูปของการถูกปรับใช้กับชีวิตและสังคมในยุคสมัย ต่างๆ มิใช่หรือ
ฉะนั้น พุทธศาสนาบริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวกับชีวิตคนและสังคม หรือพุทธศาสนาที่ไม่ได้อยู่ในบริบททางสังคม และวัฒนธรรมหนึ่งๆ จึงไม่มีอยู่จริง เมื่อพุทธศาสนาถูกปรับใช้ภายใต้บริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน พุทธศาสนาในแต่ละสังคมจึงมี “หน้าตา” ต่างกัน กล่าวคือ แม้สาระสำคัญอาจเชื่อถือเหมือนกัน แต่มีจุดเน้นและรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันไปตามบริบท
เช่น แม้แต่ในสังคมไทยเอง ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พุทธศาสนาก็เน้นมิติทางสังคมที่ส่งเสริมอำนาจของกษัตริย์ ขณะที่ในยุดประชาธิปไตย พุทธศาสนาก็ถูกนำมาอธิบายในเชิงสนับสนุนอำนาจของราษฎร ดังเราจะเห็นได้ตั้งแต่ประกาศคณะราษฎร์ ฉบับที่ 1 ในการปฏิวัติ 2475 เลยทีเดียว ซึ่งว่ากันว่าร่างโดย ปรีดี พนมยงค์ มันสมองของคณะราษฎร์ ความตอนหนึ่งว่า
...ราษฎร จะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำ ไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพ พ้นจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า “ศรีอาริยะ” นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า [1]
คำว่า “ศรีอาริยะ” ซึ่งเป็นจินตนาการสังคมในอุดมคติของพุทธศาสนา ถูกนำมาอ้างอิงในเชิงสนับสนุนภาวะสังคมที่พึงประสงค์ในระบอบประชาธิปไตย ที่ราษฎรมีงานทำ มีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพ พ้นจากความเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสของพวกเจ้า นอกจากนี้ปรีดียังเขียนว่า
แม้ในการทำบุญ ก็ปรารถนาจะประสบศาสนาพระศรีอาริย์ แม้การสาบานในโรงศาลก็ดี ในการพิธีใดๆ ก็ดี ก็อ้างกันแต่ว่า เมื่อซื่อสัตย์ หรือให้การไปตามความเป็นจริงแล้ว ก็ให้ประสบพบศาสนาพระศรีอาริย์ [2]
จะเห็นว่าปรีดีอ้างถึง “ศาสนาพระศรีอาริย์” ไ ม่ใช่หมายถึงโลกพระศรีอาริย์ในอนาคต แต่เป็นโลกพระศรีอาริย์ที่สามารถสร้างขึ้นได้ในปัจจุบัน ด้วยการสร้างระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์และระบบเศรษฐกิจที่เป็นประชาธิปไตย และมีความเป็นธรรม
นอกจากปรีดีจะอ้างคติความเชื่อเรื่องโลกพระศรีอาริย์มาสนับสนุนสังคมที่ มีสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าวแล้ว ยังอ้างอิงหลักธรรมทางพุทธศาสนาเพื่อสนับสนุนการสร้างสันติภาพในสังคมด้วย เช่น ที่เขาเขียนว่า
ความ พยายามที่จะหาทางบรรลุถึงซึ่งสันติภาพ บางครั้งข้าพเจ้าได้ยกพุทธภาษิตที่ข้าพเจ้าเคยบันทึกไว้ในหนังสือเรื่องพระ เจ้าช้างเผือก ที่ข้าพเจ้าเป็นผู้แต่ง ซึ่งตีพิมพ์ใน พ.ศ.2483 ดังนี้ นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ อันหมายถึงสุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี [3]
จะเห็นว่า แม้แต่พุทธภาษิตดังกล่าวที่พุทธะใช้แทนลักษณะของ “นิพพาน” แต่ปรีดีก็ตีความประยุกต์ให้ครอบคุลมถึงสันติภาพทางสังคมด้วย นอกจากนี้ในหนังสือเรื่อง “ความเป็นอนิจจังของสังคม” ยิ่งเห็นได้ชัดว่า ปรีดีประยุกต์หลักอนิจจังในคำสอนพุทธศาสนา (ซึ่งพระสงฆ์มักพูดถึงอนิจจังในความหมายของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นหลัก) เข้ากับแนวคิดทางวิทยาสตร์สังคมอธิบายประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของสังคม การเมืองได้อย่างมีพลัง
ยิ่งกว่านั้น ปรีดียังอ้างอิงหลักคำสอนของพุทธศาสนา เช่น หลักกอกุศลมูล-กุศลมูล หลักกาลามสูตรและหลักคำสอนอื่นๆ ของพุทธศาสนาเพื่อเป็นหลักคิดในการเผชิญกับสงครามการโฆษณาชวนเชื่อที่ปรากฏ ทั้งในบทความและบทปาฐกถาหลายชิ้นในยุคสงครามเย็น และช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 เป็นต้น
และเมื่อย้อนกลับไปสมัยที่ปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็เห็นได้ชัดว่าเขาให้ความสำคัญกับการตีความพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย ดังที่เขานิมนต์พระภิกษุที่มีความคิดก้าวหน้าในเวลานั้นมาสนทนาธรรม เช่นที่ ส.ศิวรักษ์ ตั้งข้อสังเกตว่า
เมื่อท่าน (นายปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ท่านได้อาราธนาภิกขุพุทธทาสไปสนทนาธรรมกันที่ทำเนียบท่าช้างถึง 4 วัน เกือบจะติดๆ กัน วันละประมาณสามชั่วโมง เพื่อหาสาระทางพุทธศาสนามาใช้เป็นแกนในการประยุกต์ประชาธิปไตยของไทยให้เป็น ไปในแนวทางของธรรมจักร...[4]
หากมอง จากบริบททางประวัติศาสตร์ ก็แสดงให้เห็นว่า ปรีดีตระหนักถึงอิทธิพลของพุทธศาสนาที่สนับสนุนระอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มา อย่างยาวนาน ฉะนั้น เมื่อเปลี่ยนสังคมเป็นระบอบประชาธิปไตย จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดและอุดมการณ์ทางพุทธศาสนาที่เคยถูกใช้สนับสนุน สมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสนับสนุนประชาธิปไตยด้วย แม้แต่ระบบการปกครองคณะสงฆ์เองก็ต้องจัดให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยดัง พ.ร.บ.การปกครองคณะสงฆ์ 2484 เป็นต้น
ที่น่าสังเกตคือ วิถีชีวิตส่วนตัวกับวิถีชีวิตเพื่อส่วนรวมของปรีดีดูเหมือนจะเป็นอันหนึ่ง อันเดียวกันแทบจะแยกไม่ออก ฉะนั้น ความเชื่อทางศาสนาที่คนทั่วๆ ไปมักใช้ในมิติส่วนตัวและใช้ในรูปแบบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น “การทำบุญ” ปรีดีกลับนำมาให้ความหมายที่ไปด้วยกันได้อย่างกลมกลืนทั้งในทางส่วนตัวและ ทางสังคม เช่น ที่เขาเขียนจดหมายถึงภรรยาช่วงหลังปฏิวัติ 2475 ระหว่างการเก็บตัวหารือเรื่องตั้งรัฐบาล ตอนหนึ่งว่า
...เพราะ ก่อนลงมือ (ปฏิวัติ 2475-ผู้เขียน) ได้เคยถามแล้วว่า ถ้าฉันบวชสัก 4 เดือน เธอจะว่าอย่างไร เธอก็ตอบเต็มใจ การที่ทำทั้งนี้ยิ่งกว่าการบวช เราได้กุศล ผลบุญที่ทำให้ชาติย่อมได้สืบต่อไปจนบุตร์หลาน ภรรยาก็มีส่วนร่วมอยู่ด้วย...[5]
ฉะนั้น ในขณะที่ชาวพุทธทั่วไปมักคิดถึง “ความดีเชิงปัจเจก” เช่น ความดีที่เกิดจากการทำบุญทำทาน รักษาศีลภาวนาเพื่อไปสวรรค์ นิพพานเป็นการส่วนตัว แต่ปรีดีกลับให้ความสำคัญมากกับ “ความดีเชิงสังคม” ดังบทความชื่อ “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยของวีรชน 14 ตุลาคม” เขากล่าวสดุดีผู้ที่ยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างแม้กระทั่งชีวิตขิงตนเองเพื่อ แลกกลับประชาธิปไตย และประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ที่ต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ จึงเป็นการสมควรที่คนรุ่นหลังจะพึงระลึกถึง “คุณความดี” ความกล้าหาญที่วีรชนเหล่านั้นได้เสียสละเพื่อปกป้องประชาธิปไตย[6]
นี่คือ “คุณค่าทางภูมิปัญญา” อีกด้านหนึ่งของปรีดีที่ให้แก่สังคมไทย นอกเหนือจากที่เขาเป็นมันสมองสร้างความเปลี่ยนแปลงการปกครองที่วางรากฐาน ประชาธิปไตยแก่สังคมไทยแล้ว เขายังสร้างความเปลี่ยนแปลงทางภูมิปัญญาพุทธศาสนาจากที่เคยถูกตีความสนับ สนุนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาตีความสนับสนุนประชาธิปไตย
โดย เฉพาะเขาทำให้มิติทางสังคมและมิติปัจเจกของพุทธศาสนางอกงามไปด้วยกัน ในวิถีชีวิตที่ต้องทำความเข้าใจสัจธรรมของชีวิตและโลกเพื่อดำรงความเข้มแข็ง ความสงบของจิตใจ เมื่อเผชิญภัยการเมือง และในการทุ่มเทเสียเสียสละเพื่อประชาธิปไตย และราษฎรไทย ตราบชั่วชีวิต
อ้างอิง
[1] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ 2475: การปฏิวัติสยาม.กรุงเทพฯ: ประพันธ์ศาสน์.2535.
[2] ต.ม.ธ.ก.รุ่น 2 “สมุดปกเหลือง เค้าโครงเศรษฐกิจ” ใน ฉบับรำลึกท่านผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ กรุงเทพฯ: อักษรไทย,2527 หน้า 41.
[3] ปรีดี พนมยงค์. ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปี ที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน. หน้า 12.
[4] ส. ศิวรักษ์.พุทธศาสนาในเมืองไทยที่เต็มไปด้วยขวากหนาม.กรุงเทพฯ: ศึกษิตสยาม, 2550 หน้า 220.
[5] วาณี สายประดิษฐ์ (บรรณาธิการ).ใจคนึง ตำนาน 100 ชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์.กรุงเทพฯ: กองทุนท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2555 หน้า 19.
[6] อ้างใน พระฌานิพิทย์ อินทจารี.พุทธศาสนากับปรีดี พนมยงค์.กรุงเทพฯ: ฐานบุ๊คส์, 2552 หน้า 95.