ที่มา Thai E-News
เตรียม ให้กำลังใจคุณจีรนุช เปรมชัยพร ในวันที่ 30 เมษายน 2555 พร้อมลุ้นระทึกกับคำพิพากษาคดีฟ้องร้องคุณจีรนุชด้วย พรบ. คอมพิวเตอร์ กรณีที่มีผู้อ่านโพสต์ข้อความเข้าข่ายผิดกฎหมายในเว็บบอร์ดประชาไท
16 กุมภาพันธ์ 2555
ที่มา ประชาไท
(16 ก.พ.55) ที่ศาลอาญา รัชดา มีการสืบพยานจำเลยปากสุดท้าย ในคดีหมายเลขดำที่ 1167/2553 ซึ่งอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ภายใต้มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน ในความผิดตามมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 กรณีที่มีผู้อ่านโพสต์ข้อความเข้าข่ายผิดกฎหมายในเว็บบอร์ดประชาไท โดยวันนี้ มีผู้แทนจากสถานทูตประเทศสหรัฐอเมริกา สวีเดน ฟินแลนด์ แคนาดา สหภาพยุโรปประจำประเทศไทย องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) ฟรีดอมเฮ้าส์ และแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล เข้าร่วมสังเกตการณ์คดี
พิรงรอง รามสูต ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องการกำกับดูแลสื่ออินเทอร์เน็ต เบิกความรับรองเอกสารที่เสนอต่อศาล เป็นรายงานวิจัยซึ่งได้ทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เรื่องการกำกับดูแลเนื้อหาอินเทอร์เน็ตที่เหมาะสมกับคุณลักษณะของเทคโนโลยี และเป็นไปได้ในระดับสากล ซึ่งกล่าวถึงการระบุมาตรการกำกับดูแลเนื้อหาที่ผิดกฎหมายในอินเทอร์เน็ตว่า ควรมีวิธีแจ้งให้ทราบและลบออกอย่างไร รวมถึงงานวิจัยปริญญาโทของนิสิต หัวข้อการกำกับดูแลและแทรกแซงเว็บบอร์ดทางการเมืองหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งมีการใช้เว็บไซต์ประชาไทเป็นกรณีศึกษา ซึ่งพบข้อเท็จจริงว่าหลังรัฐประหาร เว็บมาสเตอร์ 4 แห่งที่ทำการศึกษารวมถึงประชาไทดอทคอมมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือก เนื้อหาที่สำคัญเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณากลั่นกรองข้อมูลที่เป็นเท็จ
จากนั้น ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาคดีในวันที่ 30 เม.ย.55 เวลา 10.00น. บัลลังก์ 910
วาน นี้ (15 ก.พ.) วันฉัตร ผดุงรัตน์ ผู้ก่อตั้งเว็บพันทิปดอทคอม เบิกความในฐานะผู้ให้บริการในกิจการประเภทเดียวกันว่า พันทิปซึ่งให้บริการเว็บบอร์ดนั้นมีระบบตั้งโปรแกรมฟิลเตอร์กรองคำสำคัญ ระบบให้ผู้ใช้แจ้งข้อความไม่เหมาะสม และมีเจ้าหน้าที่ 5-6 คนผลัดกันตรวจสอบตลอด 24 ชม. อย่างไรก็ตาม การกลั่นกรองทุกข้อความเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากปริมาณกระทู้ที่มีจำนวนมาก มีการหลบเลี่ยงโดยใช้สัญลักษณ์หรือการเปรียบเปรย และวิจารณญาณของเจ้าหน้าที่เว็บซึ่งอาจไม่ตรงกับวิจารณญาณของเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนี้ หากมีการกำหนดให้ต้องการกลั่นกรองเนื้อหาก่อนขึ้น จะทำให้อุตสาหกรรมเว็บได้รับผลกระทบ เนื่องจากผู้ให้บริการจะต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการกลั่นกรอง ขณะที่ผู้ใช้อาจหันไปใช้บริการอื่นๆ เช่น เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ ซึ่งให้บริการในต่างประเทศแทนเนื่องจากไม่ได้รับความสะดวก
- - - - - - -
มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
(1) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบาง ส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการ ก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)
มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอม ให้มีการกระทําความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิดตาม มาตรา 14