WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Saturday, February 18, 2012

สัมภาษณ์คุณชูเชื้อ และ คุณผ่องพรรณ สิงหเสนี ภรรยาและลูกสาวของคุณชิต สิงหเสนี

ที่มา Thai E-News



17 กุมภาพันธ์ 2555
โดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล



คำชี้แจง : บทสัมภาษณ์ คุณชูเชื้อ และ คุณผ่องพรรณ สิงหเสนี (หรือที่ปรากฏในบทสัมภาษณ์ในชื่อเล่นว่า "ยายหนู" และ "หมอด") ภรรยาและลูกสาวของคุณชิต สิงหเสนี นี้ ตีพิมพ์อยู่ใน หนังสืองานศพนางชูเชื้อ (วลี) สิงหเสนี (2549) ผู้สัมภาษณ์คือคุณสมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ (ปรากฏในบทสัมภาษณ์ในชื่อเล่น "อิ๋ง") หรือ "อิ๋ง เค (Ink K)" ผู้เขียนบทและกำกับภาพยนตร์ (คนกราบหมา, พลเมืองจูหลิน) และศิลปินนักวาดภาพ ผู้เป็นญาติกับครอบครัวคุณชิต ในการสัมภาษณ์และในบทสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์จะใช้ชื่อเล่นของทั้งสามท่าน ("ยายหนู", "หมอด", "อิ๋ง") โดยตลอด ผมถ่ายทอดมาตามต้นฉบับ

การสัมภาษณ์ทำขึ้นในปี 2544 หรือราว 5 ปีก่อนการถึงแก่กรรมของคุณชูเชื้อ (22 สิงหาคม 2456 - 2 มกราคม 2549)

ตอนที่ 1 : ถูกจับ

ยายหนู : อิฉันชื่อ ชูเชื้อ สิงหเสนี

หมอด : ดิฉันชื่อ ผ่องพรรณ สิงหเสนี

อิ๋ง : อิ๋งรู้จักกับยายหนูมาตลอดชีวิต ใช่มั้ยคะ

ยายหนู : ตั้งแต่คุณอิ๋งยังไม่เกิดน่ะค่ะ

อิ๋ง : ขอถามกันตรงๆเลยนะคะ คือ อิ๋งบางที คิดว่ายายหนู คุณหมอด และทุกๆคน โดยเฉพาะยายหนู ทนได้ยังไงกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ยายหนู : ก็อยู่นี่น่ะ ก็เพื่อลูกน่ะค่ะ สงสารลูก [น้ำตาซึม] ไม่มีพ่อแล้วก็ลำบากใช่ไหมคะ

อิ๋ง : ก็เลยอยู่มาเพื่อลูก

ยายหนู : ค่ะ

อิ๋ง : วันแรกที่เรื่องเกิดขึ้น ยายหนูจำได้ไหมคะ เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมคะ

ยายหนู : เขาก็มาเอาตัว จับคุณชิตไป ไปไว้ที่กระทรวงกลาโหม ยายหนูก็ไปเยี่ยมเขา เขาก็บอกว่าไม่มีอะไร

อิ๋ง : ใครบอกว่าไม่มีอะไร

ยายหนู : คุณชิตบอกว่าไม่มีอะไร ยายหนูถามว่าเป็นไงมั่ง คุณชิตก็บอกว่า ไม่มีอะไร

อิ๋ง : ไม่ได้เล่าว่าเรื่องอะไร

ยายหนู : ไม่ได้เล่าค่ะ เล่าไม่ได้

อิ๋ง : จับไปกลาโหมหรือคะ ตอนแรก

ยายหนู : ค่ะ ตอนแรก

อิ๋ง : ตอนแรกที่เกิดเรื่องขึ้น

ยายหนู : เรื่องเกิดขึ้นไปแล้วน่ะค่ะ

หมอด : ปีกว่าล่ะมัง หลังจากที่เสด็จสวรรคตน่ะค่ะ อยู่ตั้งปี 2490 ล่ะมังถึงได้ถูกจับ

อิ๋ง : แล้วยังไงถึงได้จู่ๆมาจับ

ยายหนู : เขาบอกว่า อะไรนะ คุณชิตเป็นมหาดเล็กอยู่ห้องบรรทม ต้องรู้เห็น

อิ๋ง : คุณชิตเคยเล่าให้ฟังบ้างไหมคะ ว่าวันนั้นเป็นอย่างไร

ยายหนู : เล่าแต่ว่า ออกมาข้างนอกน่ะค่ะ เจ้าคุณอนุรักษ์ฯ (พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร) ให้ไปทำหีบเหรียญตรา ที่จะเสด็จฯเมืองนอก หีบจะใส่เหรียญตราน่ะค่ะ จะเอาไปเมืองนอกด้วย คุณบุศย์บอกว่ายังไม่บรรทมตื่น ก็คอยอยู่ จนได้ยินเสียงปืน ฟังว่าเสียงมาจากทางไหน จนแน่ใจว่าเสียงมาจากห้องบรรทม ก็วิ่งเข้าไป พอเห็นเลือด ก็วิ่งไปทูลพระราชชนนี

อิ๋ง : คุณชิตบอกหรือเปล่าว่า เห็นใครมาหรือเปล่า

ยายหนู : ไม่เห็นค่ะ เขาบอกว่าถ้าเขาเห็น เขาก็ฆ่ามันตายแล้ว

อิ๋ง : นั่นน่ะสิคะ สำหรับอิ๋ง ที่น่าสะเทือนใจที่สุด ก็ตรงที่ว่า เราก็ทราบ อย่างยายหนู นี่นะคะ หรือถึงอิ๋งไม่เคยเจอคุณชิต ยังเกิดไม่ทัน คนที่จงรักภักดีมากขนาดที่ว่า ถ้าเห็นใครทำร้ายท่าน ก็จะฆ่าตายยังงี้ มาโดนกล่าวหาอย่างนี้ ตอนนั้นคุณชิตรู้สึกยังไง เคยเล่าให้ฟังบ้างไหมคะ

ยายหนู : ไม่เล่าหรอกค่ะ

อิ๋ง : แกไม่พูดเลยหรือคะ

ยายหนู : ไม่พูดหรอกค่ะ

หมอด : ก็มันตั้งนาน ถึงได้มากล่าวหา มีคดีเรื่องขึ้นมาฟ้องร้อง ตอนที่เกิดเรื่องใหม่ๆ ทางการเขาก็คิดว่า เป็นอุบัติเหตุ ก็ไม่มีอะไร มาภายหลัง ถึงได้มามีเรื่องมีราว ไม่ทราบว่าจะเป็น.... มีการกล่าวหากัน และก็หาว่าพ่อมีส่วนสมรู้ร่วมคิดด้วย ถึงได้มาจับพ่อ หลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นปีหนึ่งแล้ว

ยายหนู : แล้วจับไปโรงพักด้วยค่ะ จับยายหนู

อิ๋ง : จับยายหนูด้วยหรือคะ ทำไมล่ะ

ยายหนู : กับ "ใหม่" [หมายถึง ลักษณา สิงหเสนี ลูกคนสุดท้องของคุณชิต กับคุณชูเชื้อ - สมศักดิ์] ใหม่ยังกินนมอยู่

อิ๋ง : โถ ใหม่นี่คนที่เท่าไหร่นะคะ

ยายหนู : คนที่เจ็ดค่ะ

อิ๋ง : แล้วยายหนูไปด้วยหรือคะ

ยายหนู : เปล่าค่ะ เขาจับคุณชิตไปแล้ว แล้วเขามาจับยายหนู กับใหม่ ไปโรงพัก

อิ๋ง : โรงพักไหนคะ

ยายหนู : โรงพักไหน ยายหนูก็จำไม่ได้

อิ๋ง : แล้วเขาทำยังไง

ยายหนู : เขาถามว่า คุณชิตเห็นใครไหม อะไรยังงี้น่ะค่ะ

อิ๋ง : แล้วเห็นไหมคะ

ยายหนู : ก็บอกว่า ไม่เห็น ถ้าเห็นล่ะแกฆ่าตายหมด

อิ๋ง : แล้วยังไง แล้วจับยายหนูขังด้วยหรือคะ

ยายหนู : ไม่ขังหรอกค่ะ จับอยู่ตั้งแต่เช้าจนเย็น ถึงได้ปล่อย

อิ๋ง : ก็ลำบาก.... แล้วลูกคนอื่นตอนนั้นอยู่ไหนคะ

ยายหนู : ก็ลำบาก ฝากคุณย่า

อิ๋ง : ตอนนั้น คุณชิตโดนขังแล้วหรือคะ

ยายหนู : จับขังแล้ว

อิ๋ง : พอจับก็ขังเลยหรือคะ

ยายหนู : ก็ไปไว้ที่กระทรวงกลาโหม ก็ขังอยู่ในห้องน่ะค่ะ แล้วเราก็ไปเยี่ยม

อิ๋ง : ยายหนูรู้เมื่อไหร่คะ ว่าเป็นข้อหาอะไร เรื่องอะไร

ยายหนู : ทราบตอน เมื่อเขามีเรื่องมีราวแล้วน่ะค่ะ เขาจับไปฝากขังศาล

อิ๋ง : ตอนแรก ไม่รู้เลยหรือคะว่า ถูกจับไปทำไม

ยายหนู : ไม่รู้หรอกค่ะ

อิ๋ง : เพราะแกไม่ได้บอก

ยายหนู : ก็เขาไม่ได้บอกนี่คะ

อิ๋ง : คุณชิตไม่บอก หรือว่า....

ยายหนู : คุณชิตไม่รู้เรื่องว่า เขาจะมาจับ.... มีแต่พวกตำรวจแหละค่ะมาหา ที่บอกให้หนีเถิด เดี๋ยวเขาจะมาจับนะ แกบอกว่าหนีทำไม ไม่หนีหรอก

อิ๋ง : มีทหาร กับตำรวจมาบอกให้ไปหรือคะ

ยายหนู : บอกให้หนีไปเถิด เดี๋ยวเขาจะมาจับ "จับอะไร หนีทำไม ฉันไม่หนีหรอก"

อิ๋ง : พอยายหนูทราบว่าเป็นเรื่องอะไรแล้ว ยายหนูเป็นยังไง รู้ว่าเป็นข้อหาอะไร

ยายหนู : ก็ใจไม่ดี ก็ถามเขาว่า เขาไปจับปืนเปินอะไรหรือเปล่า เขาบอก เขาไม่ได้จับนี่ จะต้องไปกลัวอะไร มันตกอยู่แล้วเขาก็กลัวพระชนนีจะคว้า เขาก็เลยเอาผ้า [ห่อ] เอาไปใส่ในลิ้นชักไว้

อิ๋ง : แล้วคุณหมอดล่ะคะ คุณหมอดคนโตนี่ ใช่ไหมคะ

หมอด : คนที่สองค่ะ

อิ๋ง : ตอนนั้นอายุเท่าไหร่

หมอด : ตอนนั้น สักเจ็ด แปดขวบ.... หรือกว่า จำไม่ได้แล้ว [น่าจะอายุมากกว่า 7-8 ขวบหลายปี เพราะเรียนเตรียมอุดมแล้ว - สมศักดิ์]

ยายหนู : เข้าจุฬาฯ หรือยัง

หมอด : ยัง ตอนพ่อตายอยู่โรงเรียนเตรียมฯ

..............

ตอนที่ 2 : วันประหารชีวิต และความลำบากหลังจากนั้น


[ภาพถ่ายคุณชูเชื้อ และคุณผ่องพรรณ สิงหเสนี ในวันประหารชีวิตคุณชิต ในหนังสือพิมพ์สมัยนั้น]


ยายหนู : อยู่ในคุก ก็ต้องเอาข้าวไปส่งทุกวันน่ะค่ะ

อิ๋ง : เอาข้าวไปส่งทุกวัน แล้ววันสุดท้ายล่ะคะ ยังไง

ยายหนู : ตอนวันสุดท้าย ก็เตรียมเอาข้าวไปส่ง เขาก็วิ่งมาบอกว่า คุณชิตถูกประหารแล้ว [เสียงสั่น น้ำตาซึม]

อิ๋ง : ไม่รู้อะไรมาก่อนเลย

ยายหนู : ไม่รู้

หมอด : วันที่ประหารน่ะค่ะ คือก่อนหน้านั้น วันหนึ่ง คือ [หมอดูหรือพระ] ก็บอกว่า พ่อ ... เอ่อ ... ชะตาไม่ดีจะไปต่ออายุ แม่เค้าไปที่บ้านหัวลำโพง แล้วก็จะไปหาพระทำพิธีต่ออายุให้ แล้วเราก็เตรียมจะไปส่งข้าว ทางนี้แต่เช้ามืด แม่ออกจากบ้านไปแล้ว คุณฉลวย [ภรรยาคุณเฉลียว ปทุมรส] อยู่บ้านใกล้ๆกัน ก็ให้คนมาบอกว่า ... พ่อตายแล้ว เขายิงพ่อตายแล้ว ให้บอกแม่ว่าให้ไปรับ [น้ำตาซึม]

อิ๋ง : ไม่บอกมาก่อนเลย

หมอด : ไม่บอกให้รู้มาก่อนเลย

อิ๋ง : แอบทำเลย

ยายหนู : คิดว่า คุณชิตก็ไม่รู้ตัว

อิ๋ง : ก็... ไม่ได้สั่งเสียกันเลย

ยายหนู : ไม่ [น้ำตาซึม]

หมอด : คือ ก็รู้หลังคำพิพากษาแล้ว ก็ตั้งนาน แล้วก็ถวายฎีกา เราก็มีความหวังว่าอย่างน้อยก็คงให้ว่า ตลอดชีวิต หรืออะไรอย่างนี้ ก็ยังมีความหวังอยู่ว่า คงไม่เป็นไร

อิ๋ง : ยายหนูเป็นคนไปรับศพหรือคะ

ยายหนู : ค่ะ เอานอนมาในโลง เอามาวางไว้ที่วัด

อิ๋ง : พอยายหนูไปถึง ก็เป็นโลงตั้งอยู่แล้ว

ยายหนู : ค่อ ก็หามออกมาค่ะ หามคุณเฉลียวออกมาก่อน แล้วคุณชิตตามมา

อิ๋ง : หามออกมาได้ยังไงคะ ขอโทษ

ยายหนู : เขาใส่โลง ก็นอนมาอยู่ในโลง

อิ๋ง : แล้วเขาทำยังไงคะ เขาเสียใจบ้างหรือเปล่า คนที่เราไปเจอวันนั้น เขาทำท่าสงสารเห็นใจกับเราไหม หรือทำท่ายังไงไหมคะ

ยายหนู : ไม่ได้สังเกตหรอกค่ะ กำลังใจไม่ดี ใจเสียมาก

อิ๋ง : ตอนนั้นยายหนูอายุเท่าไหร่แล้วค่ะ

ยายหนู : 35 แล้ว หรือกว่านิดหน่อย

อิ๋ง : ตอนนั้นยายหนูไปคนเดียวหรือคะ ไปรับศพ

ยายหนู : ไปกับใครล่ะลูก ... [หันไปถามหมอด] ไปคนเดียวค่ะ ก็ลูกไปเรียนหนังสือหมด

หมอด : พระครูถิรฯ ไปด้วยหรือเปล่า

ยายหนู : เปล่าหรอก ไม่รู้ [พระครูถิรฯไม่รู้] ตอนรับมาแล้ว เขาก็พาคุณเฉลียวไปวัดสระเกศ แล้วเขาก็ถามว่า "นี่จะเอาไปไหน" แล้วใครก็ไม่รู้ก็บอกว่าให้เอาไป วัดสามปลื้ม ก็เอามา แล้วก็คุณยายน่ะค่ะ คุณหญิงท่านก็เอาสำลีอุดรูปืน และที่เลือดซึมๆ

อิ๋ง : คุณยายไหนคะ คุณยายบนตึก

ยายหนู : คุณยายเนื่อง [คุณหญิงเนื่องบุรีนวราษฐ์] ค่ะ

อิ๋ง : อ๋อ คุณยายเนื่อง คุณทวดอิ๋ง

ยายหนู : ท่านช่วยแต่งเนื้อแต่งตัวให้

อิ๋ง : เป็นคนแต่งตัวให้หรือคะ

ยายหนู : ค่ะ ตอนนั้นสตางค์อิฉันก็ไม่มี

อิ๋ง : คุณทวดทำศพให้

ยายหนู : ค่ะ ท่านให้คนไปซื้อโลงเลย ตอนนั้นราคาห้าร้อยบาท โลงไม้สักนะคะ แล้วท่านก็แต่งตัวให้

อิ๋ง : แต่งตัวชุดยังไงคะ

ยายหนู : แต่งกางเกงขาว ใส่เสื้อราชปะแตน

อิ๋ง : ชุดที่นุ่งทำงานใช่ไหมคะ

ยายหนู : ใช่

อิ๋ง : ชุดมหาดเล็ก

ยายหนู : ค่ะ ชุดมหาดเล็ก แต่ไม่มีบ่า ไม่มีอะไร

อิ๋ง : เพราะเขาไม่ให้ใส่หรือคะ

ยายหนู : ไมรู้ว่าเขาไม่ให้ใส่ หรือเราไม่ให้เขา

อิ๋ง : แล้วบอกลูกๆ วันนั้นยังไงคะ กลับมาจากโรงเรียนก่อนหรือยังไงคะ

ยายหนู : ก็บางคนรู้ ก็วิ่งตามกันมาที่วัด

อิ๋ง : รู้กันได้ยังไง

หมอด : ตอนนั้นคุณหมอด อยู่โรงเรียนเตรียมฯ ก็เป็นช่วงที่หยุดดูหนังสือสอบพอดี ก็ตอนเช้าที่บ้านคุณฉลวย ให้คนมาบอก ก็ร้องไห้วิ่งออกไป เจอท่านชายที่หน้าบนตึกนี้

อิ๋ง : ใครนะคะ

หมอด : ท่านชาย ท่านตาน่ะค่ะ

อิ๋ง : ท่านชิ้น น่ะหรือคะ [หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน์]

หมอด : ค่ะ ท่านชายก็บอกว่า ไม่เป็นไร ไม่ต้องกลัว เดี๋ยวจะช่วยจะดูแล ให้รีบไปหาแม่ ก็รีบไปที่บ้านหัวลำโพง ไปบอกแม่


[นักโทษและผู้คุมกำลังเคลื่อนย้ายศพผู้ถูกประหารชีวิตคดีสวรรคต ออกจากเรือนจำ]


อิ๋ง : หลังจากนั้น ถึงได้ย้ายมาอยู่ที่นี่ ใช่ไหมคะ

หมอด : ตอนนั้นอยู่ที่นี่แล้ว

ยายหนู : อยู่ตั้งแต่ก่อนตายน่ะค่ะ ก็คุณชิ้น [ชิ้นพร สิงหเสนี] เขาบอกยายหนูให้ออกจากบ้านไปภายในเจ็ดวัน

หมอด : ตอนนั้น อยู่ที่บ้านวัดสามปลื้มน่ะค่ะ อยู่กับท่านบนตึก [คุณสำรวล สิงหเสนี] พอท่านบนตึกสิ้น ตึกที่อยู่ก็ตกเป็นของคุณชิ้นพรน่ะค่ะ แล้วเขาก็จะขายล่ะมังคะ

อิ๋ง : เขาก็เลยบอกให้ออก ภายในเจ็ดวัน

ยายหนู : เขาเรียกยายหนูไปบอก เขาก็นั่งกันสองคนผัวเมีย เขาก็บอกว่า อาวลี [ชื่อเดิมก่อนเปลี่ยนเป็นชูเชื้อ] ออกจากบ้าน ภายในเจ็ดวันได้ไหม ยายหนูก็ไม่รู้จะทำยังไง ร้องไห้โฮ สตางค์ก็ไม่มี เขาก็บอกว่า เอาคนของเขา ขนของก็ได้ ยายหนูก็ไม่รู้จะทำยังไง ก็ไปบอกพี่เลื่อน [พ.ต.อ.เลื่อน กฤษณามระ พี่ชาย] น่ะค่ะ เอ้า! เดี๋ยวพี่จะหารถให้ รถกุดัง อิฉันก็เริ่มขนของออกทีละน้อย จนหมดเลย [เช็ดน้ำตา]

[คุณชิต คุณชูเชื้อ และลูกๆ อาศัยอยู่ในบ้านวัดสามปลื้มของ "เจ้าคุณพ่อ" ของคุณชิต แต่ด้วยความที่คุณชิตเป็นลูกที่เกิดจากภรรยารอง จึงอาศัยอยู่ที่ชั้นล่างของตัวตึก ขณะที่พี่สาวต่างมารดาของคุณชิตที่เกิดจากภรรยาหลวงและครอบครัวอาศัยอยู่ ชั้นบน เรียกกันว่า "ท่านบนตึก" เมื่อ "ทานบนตึก" ถึงแก่กรรม ลูกที่รับมรดกต่อ บอกให้คุณชูเชื้อและลูกๆย้ายออกไปจากบ้าน - สมศักดิ์]

อิ๋ง : มาอยู่ที่นี่ [บ้านคุณหญิงเนื่องบุรีนวราษฐ์ ที่ถนนสุขุมวิท ซึ่งขณะนี้ตกทอดมาเป็นของ ม.ร.ว.สายสิงห์ ศิริบุตร หลานยายของท่าน]

ยายหนู : ค่ะ คุณหญิงท่าน ก็ไปบอกคุณหญิงท่านก่อน

หมอด : คุณหญิงเนื่องฯ ท่านก็บอกว่าให้มาอยู่ที่นี่

ยายหนู : คุณหญิงท่าน

หมอด : เพราะฉะนั้น ตอนพ่อตาย เราก็มาอยู่ที่นี่แล้ว

อิ๋ง : อ๋อ! ค่ะ แล้วบ้านหัวลำโพงนี่อะไรคะ

หมอด : บ้านคุณป้าใหญ่ค่ะ คุณหญิงเจือฯ [คุณหญิงเจือนครราชเสนี]

อิ๋ง : แต่ตอนนั้นยังไม่ได้เผาใช่ไหมคะ สวดเท่านั้นใช่ไหมคะ

ยายหนู : ยังไม่ได้เผาน่ะค่ะ

หมอด : เราเก็บไว้ก่อน ด้วยมีความหวังว่า สักวันหนึ่งคดีจะกระจ่าง ว่าพ่อไม่มีความผิด เราก็อยากจะรอจนถึงวันที่พ่อเป็นผู้บริสุทธิ์ [เสียงสั่น] แต่ว่าตอนหลังนี้ใครๆ เขาก็เผากันหมดแล้ว เราก็เลยคิดว่าน่าจะจัดการให้พ่อ ให้เสร็จไป ก็เพิ่งเผาไปเมื่อปี พ.ศ. 2521

อิ๋ง : ตอนที่เผา เผาที่ไหนคะ

ยายหนู : เผาที่วัดสามปลื้ม

อิ๋ง : วัดสิงหเสนีน่ะนะคะ อิ๋งอ่านในหนังสืองานศพน่ะนะคะ คุณหมอดเป็นคนเขียนให้ใช่ไหมคะ ว่าหลังจากนั้นตระกูลเราก็กลายเป็นชั่วร้ายไปเลย เล่าให้ฟังที่โรงเรียนเจอยังไงมั่ง

หมอด : เคยมี เขาก็ว่า ที่โรงเรียนเตรียมฯ น่ะนะคะ เขาก็ว่า ไม่ใช่คุณหมอดได้ยินเองนะคะ [แต่มีการพูดกันว่า] ไม่คิดว่าตระกูลสิงหเสนี ยังมีหน้ามาเหยียบพื้นแผ่นดินนี้ได้อีก คิดว่าจะถูกเด็ดหัวไปเจ็ดชั่วโคตรแล้ว

อิ๋ง : แล้วคุณมดด้วย [หมายถึง พวงศรี สิงหเสนี ลูกคนที่สาม ของคุณชิตกับคุณชูเชื้อ - สมศักดิ์]

หมอด : มดน่ะค่ะ โดนเพื่อนเขาดูถูกเหยียดหยาม แต่คุณหมอดโชคดี ได้เพื่อนดี เขาเข้าใจ และเขาก็ช่วยเหลือดี

อิ๋ง : คุณมดโดนที่ไหนคะ

หมอด : ที่โรงเรียนน่ะค่ะ

อิ๋ง : แล้วเขาทำยังไง เมื่อโดนด่าอย่างนั้น

หมอด : เขาก็ร้องไห้

...........................

โปรดติดตามบทสัมภาษณ์ ตอนที่ 3 : จงรักภักดี