WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Monday, February 13, 2012

ความขัดแย้งในตัวเองของอุดมการณ์สถาบันกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ และ ม.112

ที่มา ประชาไท

สุรพศ ทวีศักดิ์ ปรับปรุงจากประเด็นที่นำเสนอในการเสวนาเรื่อง “สถาบันกษัตริย์กับสังคม ประชาธิปไตย” ในงาน "จิบน้ำชาสังสรรค์สนทนาเพื่อหารายได้สนับสนุนการแก้ไข มาตรา 112 ตามข้อเสนอนิติราษฎร์"

การพูดถึงอุดมการณ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในมิติทางประวัติศาสตร์ว่า อุดมการณ์นี้ถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร มีพัฒนาการมาอย่างไร น่าจะมีคนพูดถึงกันมากแล้ว แต่การวิเคราะห์ให้เห็นปัญหาความขัดแย้งภายในตัวอุดมการณ์ดังกล่าว อาจจะยังมีคนพูดถึงไม่มากนัก ฉะนั้น ผมจึงอยากจะวิเคราะห์ปัญหานี้ โดยจะพูดใน 3 ประเด็น คือ

1. กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 8 มาตรา 9 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งในตัวเองของอุดมการณ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อย่าง ไร

2. ความล้มเหลวในการใช้มาตรา 8 และมาตรา 112 ปกป้องอุดมการณ์สถาบันกษัตริย์ และ

3. ผมขอเสนอว่า เราต้องไปให้สุดอุดมการณ์ประชาธิปไตยและอุดมการณ์ที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตย

ประเด็นแรก รัฐธรรมนูญมาตรา 9 ระบุว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก” ที่จริงมาตรานี้ละเมิดเสรีภาพในการนับถือศาสนาของพระมหากษัตริย์ แต่การบัญญัติเช่นนี้น่าจะอิงมิติทางประวัติศาสตร์สังคมไทยที่เชื่อกันว่า สถาบันกษัตริย์กับพุทธศาสนาดำรงอยู่อย่างค้ำจุนซึ่งกันและกันมาโดยตลอด เมื่อบัญญัติไว้เช่นนี้ ก็แสดงให้เห็นว่าอุดมการณ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ตามมาตรา 9 ก็คือ “อุดมการณ์ธรรมราชา” และดังปฐมบรมราชโองการตอนขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” โดย “ธรรม” ที่ว่านี้ก็เป็นที่รับรู้กันว่า คือ “ทศพิธราชธรรม”

ตามคำสอนของพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม (early Buddhism) ทศพิธราชธรรมไม่ใช่ธรรมะที่รับรองสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์ และตามอุดมการณ์ธรรมราชากษัตริย์เป็น “สมมติราช” ไม่ใช่ “สมมติเทพ” ทศพิธราชธรรมจึงหมายถึงคุณธรรมอันเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่ต้องรับผิดชอบ ต่อราษฎร

แต่เมื่อเราย้อนไปดูรัฐธรรมนูญมาตรา 8 ที่ระบุว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะล่วง ละเมิดมิได้...” จะเห็นว่า ตามมาตรา 8 ดูเหมือนว่าสถานะของกษัตริย์เป็น “สมมติเทพ” และมาตรา 112 ก็คือเครื่องมือปกป้องสถานะ “สมมติเทพ” ตามมาตรา 8 นั่นเอง

ฉะนั้น สถานะของสถาบันกษัตริย์ตามมาตรา 8 มาตรา 9 และมาตรา 112 จึงเป็นทั้ง “สมมติเทพ” และ “ธรรมราชา” ในเวลาเดียวกัน แต่ความเป็นสมมติเทพกับความเป็นธรรมราชาตามทัศนะพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมนั้น ขัดแย้งกันในทาง “เนื้อหา” และทาง “ตรรกะ” อย่างสิ้นเชิง จึงกลายเป็นว่า เราใช้อุดมการณ์ธรรมราชาภายใต้อุดมการณ์ “สมมติเทพ” อีกทีหนึ่ง ทศพิธราชธรรมจึงถูกใช้เป็น “วาทกรรม” (discourse) สนับสนุนสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ของสมมติเทพ ซึ่งเท่ากับว่า concept ของทศพิธราชธรรมถูกทำให้มีความหมายเบี่ยงเบนไป

เปรียบเทียบให้เห็นภาพพจน์ง่ายๆ ก็คือ concept ของประชาธิปไตยภายใต้อุดมการณ์สมมติเทพถูกทำให้มีความหมายเบี่ยงเบนไป ฉันใด concept ของทศพิธราชธรรมภายใต้อุดมการณ์สมมติเทพก็ถูกทำให้มีความหมายเบี่ยงเบนไป ฉันนั้น

ประเด็นที่สอง สังคมไทยโดยรวมอาจเชื่อว่า มาตรา 8 และมาตรา 112 ปกป้องอุดมการณ์สมมติเทพและอุดมการณ์ธรรมราชาได้อย่างมีประสิทธิภาพในความ หมายว่า ทำให้สถานะของสถาบันกษัตริย์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพสักการะ เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ เป็นต้น

แต่หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ระยะใกล้ เช่น 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 53 จะเห็นว่า อุดมการณ์สมมติเทพมักจะ “ถูกนำมาใช้อ้าง” ในเชิงเป็นปฏิปักษ์ต่อความก้าวหน้าของประชาธิปไตย หรือถูกนำมาอ้างเพื่อปราบปรามนักศึกษา และประชาชนที่เรียกร้องเสรีภาพ และความเสมอภาคตลอดมา ฉะนั้น อุดมการณ์สมมติเทพจึงถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนอุดมการณ์ธรรมราชาที่มีมาตรา 8 และมาตรา 112 ปกป้องนั้น ก็มีปัญหาย้อนแย้งในตัวเองว่า หากมีกฎหมายห้ามวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ เราจะพิสูจน์ความเป็นจริงของทศพิธราชธรรมได้อย่างไร

เพราะตามหลักพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมนั้น ธรรมะทุกประเภทในพุทธศาสนา จะต้องสามารถนำมาตรวจสอบความเป็นจริงได้ด้วย “หลักกาลามสูตร” ทั้งสิ้น อย่างเช่น หลักอริยสัจสี่ ไตรลักษณ์ ปฏิจจสมุปบาท เราสามารถนำมาตรวจสอบความเป็นจริงได้ตามหลักกาลามสูตรทั้งสิ้น

หลักกาลามสูตรนั้นพุทธะสอนว่า อย่าเชื่อเพราะอย่างนั้นอย่างนี้ 10 อย่าง สาระสำคัญก็คือว่า “เราจะยอมรับอะไรว่ามันจริง ก็ต่อเมื่อเราพิสูจน์ได้ว่ามันจริง” การ พิสูจน์ความเป็นจริงของหลักธรรมในพุทธศาสนาก็จะเป็นไปตามหลักการนี้ทั้งหมด เลย จึงเป็นไปไม่ได้ที่พุทธศาสนาจะยกเว้นเฉพาะหลัก “ทศพิธราชธรรม” เพียงอย่างเดียวว่า ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ความเป็นจริงตามหลักกาลามสูตร

แต่ภายใต้ มาตรา 8 และมาตรา 112 เรากลับพิสูจน์ความเป็นจริงของทศพิธราชธรรมไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ทศพิธราชธรรมข้อที่ 7 ที่ว่า “อักโกธะ” คือ ความไม่โกรธ หมายความว่า พระราชาจะไม่ตัดสินใจด้วยอารมณ์โกรธ หรือลงโทษราษฎรด้วยความโกรธ ในกรณีแบบนี้ถ้าเป็นนักการเมืองเราสามารถจะรู้ได้ หรือพิสูจน์ได้ว่า เขาตัดสินใจด้วยความโกรธหรือไม่ ลงโทษประชาชนด้วยความโกรธหรือไม่ เพราะเราสามารถวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบเขาได้ คือเราสามารถทำสิ่งที่จะทำให้เขาโกรธได้ เราจึงจะรู้ได้ว่าเขาโกรธหรือไม่ แต่กับสถาบันกษัตริย์ภายใต้มาตรา 8 และมาตรา 112 เราทำ หรือพิสูจน์เช่นเดียวกันนี้ไม่ได้

ในทศพิธราชธรรมยังมีหลัก “อวิหิงสา” ความไม่เบียดเบียน แต่การใช้มาตรา 112 ในปัจจุบัน ที่ใครๆ ก็ไปแจ้งความเอาผิดได้ มักถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายกันทางการเมืองได้ หรือใช้ทำลายเสรีภาพของคนที่เห็นต่างทางการเมืองได้

หลักทศพิธราชธรรมอีกข้อ ที่สำคัญมากคือ “อวิโรธนะ” หมายถึง “มีความยุติธรรม” แต่ความยุติธรรมตามหลักคิดของพุทธศาสนานั้น การลงโทษต้องสมควรแก่เหตุ ต้องเคารพความเป็นมนุษย์ และมีการุณยธรรม แต่ทว่ากรณี “อากง” ถูกตัดสินจำคุก 20 ปี ด้วยความผิดจากการส่ง SMS เพียง 4 ข้อความ อธิบายไม่ได้ว่า เป็นการลงโทษที่ควรแก่เหตุอย่างไร เคารพความเป็นคนอย่างไร มีความยุติธรรม และการุณยธรรมอย่างไร

ฉะนั้น ที่เราเชื่อกันว่า มาตรา 112 ปกป้องอุดมการณ์ธรรมราชา แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับเป็นกฎหมายที่ถูกใช้อย่างขัดแย้งกับหลักทศพิธราชธรรม เพราะทศพิธราชธรรมเป็นเรื่องของความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความยุติธรรม การเคารพความเป็นคน และการุณยธรรม แต่มาตรา 112 กลับ “ถูกใช้” เป็นเครื่องมือสร้างความโกรธ ความเกลียดชัง การเบียดเบียน ล่าแม่มด กำหนดโทษที่อยุติธรรม ทำลายความเป็นมนุษย์ และไร้ซึ่งการุณยธรรม

สรุปว่า ในที่สุดแล้ว มาตรา 8 และมาตรา 112 ก็ไม่สามารถปกป้องอุดมการณ์สมมติเทพที่ขัดแย้งกับความเป็นประชาธิปไตยได้ จริง เพราะไม่มีทางที่ฝ่ายกษัตริย์นิยมจะปกป้องอุดมการณ์ดังกล่าวนี้ด้วยการกระทำ แบบ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 53 ได้ตลอดไป

และที่แย่กว่านั้นคือ มาตรา 8 และมาตรา 112 ได้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญของการอ้างอิงสถาบันทำรัฐประหาร การอ้างอิงสถาบันในการต่อสู้ทางการเมือง การทำร้ายกันและกันของคนในชาติ ซึ่งเป็นการทำลายหลักการของทศพิธราชธรรมอย่างถึงราก

บางคนบอกว่า “กฎหมายเป็นเพียงตัวอักษรในกระดาษหากไม่ไปละเมิดก็ไม่มีความผิด” นี่แสดงว่าเขาไม่เข้าใจบริบทของกฎหมายมาตรา 112 ว่าเป็น “มรดกของคณะรัฐประหาร” ที่ตราขึ้นหลังการอ้างอิง “อุดมการณ์กษัตริย์นิยม” สังหารหมู่นักศึกษาที่เรียกร้องประชาธิปไตยช่วง 6 ตุลา และไม่ดูบริบทของอัตราเพิ่มอย่างผิดปกติของคดีหมิ่นฯ ในปัจจุบันว่า มีที่มาจากการอ้างอิงสถาบันต่อสู้ทางการเมือง และทำรัฐประหาร 19 กันยา 49 อย่างมีนัยสำคัญอย่างไร

อันที่จริง นอกจาก มาตรา 8 และมาตรา 112 จะไม่ประสบผลสำเร็จในการปกป้องอุดมการณ์สมมติเทพและอุดมการณ์ธรรมราชาดัง กล่าวแล้ว ยังทำให้เกิดปัญหาย้อนแย้งในสังคมพุทธเอง

กล่าวคือ ตามหลักอริยสัจอันเป็นแก่นของพุทธศาสนา มีสาระสำคัญว่าจะแก้ทุกข์หรือปัญหาต่างๆ ได้ จะต้องรู้ความจริงของทุกข์และความจริงของสาเหตุให้เกิดทุกข์หรือปัญหานั้นๆ อย่างถ่องแท้ แต่ภายใต้มาตรา 8 และมาตรา 112 สังคมไทยไม่สามารถพูดถึงความจริงของปัญหาและสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา เหตุการณ์ 6 ตุลา และพฤษภา 53 ได้อย่างถึงที่สุด

จึงเท่ากับว่า ภายใต้มาตรา 8 และมาตรา 112 สังคมเราที่อ้างว่าเป็นสังคมพุทธก็เป็นสังคมพุทธที่ไม่สามารถ “ปรับใช้” (apply) หลักการอันเป็นแก่นคำสอนของพุทธะเพื่อแก้ปัญหาสังคมการเมืองได้เลย เมื่อพุทธะสอนสัจจะ และถือว่าการเข้าถึงสัจจะก่อให้เกิดปัญญาที่นำไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ ได้ แต่สังคมพุทธกลับ “ถูกบล็อก” ไม่ให้พูดถึง หรืออภิปรายถกเถียงถึงสัจจะของปัญหาและสาเหตุที่แท้จริง แล้วจะเป็นสังคมแห่งปัญญาและแก้ปัญหาจริงๆ ได้อย่างไร

ประเด็นสุดท้าย เราต้องไปให้สุดอุดมการณ์ประชาธิปไตย และอุดมการณ์ที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่สอดคล้องกับความเป็น ประชาธิปไตย อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่เราต้องไปให้สุดก็คือ “อุดมการณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ตามเจตนารมณ์ 2475”

ถ้าเรายึดอุดมการณ์นี้เป็นหลักในการปกครอง เราก็ต้องตีความมาตรา 8 ตามที่ อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เคยเสนอว่า ตามมาตรา 8 ที่ระบุว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะล่วง ละเมิดมิได้...” ต้องตีความว่า สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง พ้นไปจากการเมืองอย่างแท้จริงเท่านั้น จะตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ถ้าตีความต่างไปจากนี้ก็หมายความว่า มาตรา 8 ยึดอุดมการณ์สมมติเทพตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เราก็เป็นประชาธิปไตยภายใต้สมบูรณาญาสิทธิราชย์เท่านั้น ไม่สามารถเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง หรือไปให้สุดอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้

ในส่วนของอุดมการณ์ที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์โดยเฉพาะซึ่งเชื่อมโยงกับ มิติทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของไทย เราจำเป็นต้องยืนยัน “อุดมการณ์ธรรมราชา” (ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 9) ที่กษัตริย์เป็น “สมมติราช” ไม่ใช่ “สมมติเทพ” เนื่องจากสมมติเทพเป็นสถานะของกษัตริย์ในระบอบราชาธิปไตย หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งขัดแย้งกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย แต่ “สมมติราช” ไปกันได้กับอุดมการณ์ประชาธิปไตย

แต่ต้องไม่ใช่ “สมมติราช” ตาม concept ของ “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” ที่ถือว่ากษัตริย์ถูกเลือกโดยชุมชนการเมืองให้มีสถานะสูงส่งเหนือกว่า ประชาชนทั่วไป คือประชาชนทั้งหมดในประเทศเสมอภาคกัน แต่กษัตริย์อยู่เหนือคนทั่วไป ทว่าตามอุดมการณ์ “สมมติราช” ในคำสอนของพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมหรือในอัคคัญสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม 11) นั้น กษัตริย์คือคนธรรมดา เพียงแต่ถูกสมมติให้มีหน้าที่เป็นผู้ปกครองเท่านั้น และ “ทศพิธราชธรรม” ก็คือ คุณธรรมของการเป็นผู้ปกครองที่ดี ไม่ใช่คุณธรรมที่ส่งเสริมสถานะของผู้ปกครองให้เป็น “สมมติเทพ” เหนือคนธรรมดาแต่อย่างใด คำว่า “สมมติเทพ”เป็นวาทกรรมทางการเมืองในระบอบราชาธิปไตยที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อ สมัยอยุธยานี่เอง

และโดยหลักทศพิธราชธรรมนั้น ก็ไม่มีข้อไหนที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ นอกจาจะไม่ห้ามแล้ว หากดู “เนื้อหา” ของทศพิธราชธรรมที่เน้นความโปร่งในเสียสละ ไม่โกรธ ไม่เบียดเบียน มีความยุติธรรม เคารพความเป็นมนุษย์ และมีการุณยธรรม ยิ่งเป็นเนื้อหาที่เรียกร้องการตรวจสอบอยู่ในตัวเอง และยิ่งมองความเชื่อมโยงกับระบบคำสอนของพุทธศาสนาทั้งระบบที่ต้องพิสูจน์ ความจริงได้ด้วยหลักกาลามสูตที่ว่า “เราจะยอมรับว่าอะไรจริง ก็ต่อเมื่อเราพิสูจน์ได้ว่ามันจริง” ก็ยิ่งชัดเจนว่าหลักทศพิธราชธรรมที่สนับสนุน “สมมติราช” ที่ไปกันได้กับระบอบประชาธิปไตย

ฉะนั้น เมื่อเราไปให้สุดอุดมการณ์ธรรมราชาที่กษัตริย์เป็น “สมมติราช” ไม่ใช่ “สมมติเทพ” เราก็สามารถไปให้สุดอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้ หรือพูดกลับกันว่า ถ้าไปให้สุดอุดมการณ์ประชาธิปไตยก็จะสามารถไปให้สุดอุดมการณ์ธรรมราชาที่ กษัตริย์เป็น “สมมติราช” ได้ ภายใต้บริบทสังคมการเมืองสมัยใหม่

แน่นอนว่า ข้อเสนอนิติราษฎร์เรื่องแก้ไขมาตรา 112 คือ “ก้าวแรก” ที่จะนำสังคมเราไปให้สุดทั้งอุดมการณ์ประชาธิปไตยและอุดมการณ์ธรรมราชาที่ กษัตริย์ไม่ใช่เทพ แต่เป็นมนุษย์ที่มีความเป็นคนเสมอภาคกับประชาชนทั่วไป เป็นเรื่องที่ผู้รักประชาธิปไตยและความยุติธรรมจะต้องร่วมกันสนับสนุนให้ เป็นจริงต่อไปทั้ชธรรมภายใต้ระบบสังคมการเมืองไทยปัจจุบันารถซึ่งเป็นเรื่อง ที่ผู้รักประชาธิปไตยและความยุติธรรมจะต้องร่วมกันสนับสนุนให้เป็นจริงต่อ ไป

ฉะนั้น ถึงที่สุดแล้ว การคัดค้านการแก้ไข หรือยกเลิกมาตรา 112 ก็ไม่มี “เหตุผลเชิงอุดมการณ์ที่สอดคล้องกัน” รองรับ คือเหตุผลที่อ้างอิงอุดมการณ์ธรรมราชาที่สอดคล้องกับเหตุผลที่อ้างอิง อุดมการณ์ประชาธิปไตย ยกเว้นว่าจะอ้างอิงอุดมการณ์สมมติเทพตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เท่านั้น แต่นั่นก็เป็นอุดมการณ์ที่ขัดแย้งกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย และจะก่อปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ไม่วันสิ้นสุด!



[*]

ปรับปรุงจากประเด็นที่นำเสนอในการเสวนาเรื่อง “สถาบันกษัตริย์กับสังคมประชาธิปไตย” ในงาน "จิบน้ำชาสังสรรค์สนทนาเพื่อหารายได้สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 ตามข้อเสนอนิติราษฎร์" จัดโดยกลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ