ที่มา ประชาไท
ผมเคยเขียนบทความเรื่องสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวคือสิทธิมนุษยชน เมื่อปีที่แล้ว ไม่คิดว่าจะต้องมาเขียนซ้ำในเรื่องเดียวกันอีก เพราะได้รับความเศร้าใจต่อการที่ “ลูก”ของผู้ต้องขัง ต้องตากหน้าอดอาหารประท้วงศาลที่ไม่ยอมให้ประกัน พ่อของเขา ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึงการณีน้อง ไท หรือ ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข ซึ่งขณะนี้อดอาหารคัดค้านระบบยุติธรรมของไทย ที่ไม่ยินยอมให้ประกันตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งถูกการเมืองพ่นพิษให้ต้องเป็นจำเลย ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อันเป็นที่ทราบโดยทั่วไป
สิทธิในการได้รับการประกันตัวนั้นเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้ต้อง หาที่ต้องได้รับในฐานะเป็นหลักประกันความก้าวหน้าของกระบวนการยุติธรรม และเป็นสากล หมายถึงว่าการได้รับการประกันตัวเป็นสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาทุกคน ทุกคดี ทุกข้อกล่าวหา
การไม่ให้ประกันตัวในกรณีของคดีดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ หรือกรณีคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงอื่นๆนั้น เหตุผลที่ศาลมักไม่ให้ประกันตัว มักให้เหตุผลว่า เช่น ตามพฤติการณ์แห่งคดีและลักษณะการกระทำนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย สู่สถาบันกษัติริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ หรือว่าพนักงานสอบสวนได้คัดค้าน จึงเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรให้ปล่อยตัวชั่วคราว เป็นต้น
คำถามคือว่า การมิให้ประกันตัวตามหลักสิทธิมนุษยชนนั้นสามารถกระทำได้เพียงใด และข้อคำนึงถึงการใช้ดุลพินิจ ในการไม่อนุญาตให้ประกันตัวนั้น เป็นไปตามหลักความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย (Due Process of Law) หรือไม่
หลักสิทธิมนุษยชน ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการได้รับการประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราว คือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วย สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ซึ่งมีหลักการว่า สิทธิประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี จะต้องเป็นหลักที่ได้รับความคุ้มครอง การมิให้ประกันตัวถือเป็นข้อยกเว้นหรือจะกระทำได้ต่อเมื่อไม่มีวิธีการที่ เบากว่านี้
โดยปกติบุคคลผู้ถูกตั้งข้อหาคดีอาญามีสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่ว คราวระหว่างการพิจารณาคดี โดยการวางหลักประกันหรือมีบุคคลค้ำประกัน การปฏิเสธคำขอประกันตัวควรจะเป็นข้อยกเว้น อย่างเช่น มีความเป็นไปได้ว่าบุคคลนั้นจะหลบหนีและไม่มาปรากฏตัวในศาลในช่วงการพิจารณา คดี หรือบุคคลนั้นอาจจะทำลายหลักฐาน หรือบุคคลนั้นอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้อื่น การปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างการพิจารณา ถือว่าเป็นการละเมิดข้อ 9(3) ของ ICCPR ซึ่งกำหนดว่า “ การควบคุม คุมขังบุคคลระหว่างการพิจารณาคดี ไม่ควรเป็นกฎที่ใช้ทั่วไป”
การคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีนานเกินระยะเวลาที่สามารถยกเหตุผลอันเหมาะ สมมากล่าวอ้างได้ เป็นการกระทำโดยไม่มีกฎเกณฑ์และละเมิดข้อ 9(1) ของ ICCPR ที่ว่า “ บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้ บุคคลจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนมิได้”
สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีภายในเวลาที่เหมาะสมนั้นมาจากหลักการที่ ว่า การรอนเสรีภาพ จักต้องไม่นานเกินกว่าระยะเวลาที่จำเป็นสำหรับสถานการณ์เฉพาะนั้นๆ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเน้นว่า ในกรณีที่ศาลปฏิเสธการประกันตัว บุคคลผู้ถูกกล่าวหาจักต้องได้รับการพิจารณาคดีโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
กระนั้นก็ตาม สำหรับในประเทศไทยโดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง เช่นคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 (หรือคดีทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือคดีของคนเสื้อแดง) สิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในการ ได้รับการประกันตัวได้ถูกละเมิดอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงกรณีนายสมยศ นี้ด้วย เพราะการไม่ให้ประกันตัวย่อมทำให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณาคดี และเป็นการละเมิดสิทธิในการได้รับโอกาสในการต่อสู้คดีที่เป็นธรรม เพราะนายสมยศ ไม่อาจออกมาหาพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองได้ทัดเทียมกับ ฝ่ายอัยการโจทก์ ประกอบกับการเป็นอยู่ในเรื่อนจำที่มีสภาพแออัด และไม่ถูกสุขลักษณะ ย่อมทำให้สิทธิในร่างกายของนายสมยศได้รับความกระทบกระเทือนด้วย
นี่ยังไม่รวมถึงระยะเวลาในการต่อสู้คดีที่ต้องเนิ่นนานออกไป เพราะการอุทธรณ์ที่กินเวลายาวนานเป็นปี เป็นเรื่องไม่ปกติที่เกี่ยวโยงกับการไม่ได้รับการประกันตัวสำหรับผู้ ถูกกล่าวหาที่จะต้องถูกคุมขัง เป็นเวลาหลายปีนับแต่ถูกจับกุม จนถึงการดำเนินคดีสิ้นสุด และถือเป็นการละเมิดสิทธิบุคคลในการได้รับการพิจารณาคดี ภายในเวลาที่สมเหตุผลภายใต้ข้อ14(3)(c) ของ ICCPR และสิทธิที่ต้องได้รับการปล่อยตัวตามข้อ 9(3) ของกติกาฯ
ปํญหาต่อมาก็คือ การใช้ดุลพินิจของศาลในการไม่ให้ประกันตัวนั้น เป็นไปตามหลักความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมายหรือไม่
หลักความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย ถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรมในเรื่องระบบการพิจารณาคดีที่ว่ากระบวนการ ใช้อำนาจรัฐทุกรูปแบบต้องมีการคุ้มครองให้กระบวนวิธีพิจารณาทางอาญา ทำด้วยความเป็นธรรม ไม่มีอคติ ไม่เลือกปฏิบัติ พอสมเหตุสมผลด้วย ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล และทนายความต้องคำนึงถึง และปฏิบัติตามหลักการนี้โดยเคร่งครัด
ตัวอย่างในคดีตามมาตรา 112 หากจะดำเนินการตามหลักความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมายในการไต่สวนคำร้องขอ ประกันตัวจะต้องเริ่มต้นว่า คดีนี้ผู้ต้องหามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มี ศาลต้องจัดหาทนายความให้ เพราะเป็นคดีที่มีโทษจำคุกกมากกว่า 10 ปี (ซึ่งนับว่าเป็นโทษที่หนักเกินสมควร) เหตุผลที่ทนายความได้เขียนเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ประกันตัว เป็นไปตามหลักการสากลดังกล่าวข้างต้นและรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลได้อนุญาตหรือได้มีการไต่สวนพยานหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหลักการที่ ว่านั้นหรือไม่ ศาลได้ไต่สวนถึงเหตุที่ว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานอย่างไร ซึ่งในประเด็นการจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานนี้ ต้องให้พนักงานสอบสวนหรือศาลมีภาระในการพิสูจน์ว่า หากปล่อยตัวไปแล้วผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิง หรือไปทำลายพยานหลักฐานอย่างไร จนทำให้ศาลพอใจ และฝ่ายผู้ต้องหาหรือจำเลย ต้องสามารถคัดค้านหลักฐานของพนักงานสอบสวนได้ด้วย ซึ่งในทางปฏิบัติ ข้ออ้างของพนักงานสอบสวนต่อศาล มักเป็นการอ้างลอยๆ โดยขาดพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือ และศาลอาจไม่ได้ทำการไต่สวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงตามที่มีการกล่าวอ้างด้วย ในวงการกฎหมายคำว่า “ภาระการพิสูจน์” นั้นหมายความว่า ผู้ใดยกข้อกล่าวอ้างอย่างไร ผู้นั้นต้องนำสืบให้ได้ความจริงตามที่กล่าวอ้างนั้น เช่น อ้างว่าหากปล่อยตัวไปแล้วผู้ถูกปล่อยตัวนี้ เป็นผู้มีอิทธิพลจะไปข่มขู่พยานหรือออกไปยักย้ายถ่ายเทเอกสารสำคัญที่จะใช้ เป็นหลักฐานในการลงโทษจำเลยหรือผู้ต้องหานั้นได้ เป็นต้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักความชอบด้วยกระบวนการ ทางกฎหมาย หากไม่มีการดำเนินการเช่นนี้ ย่อมทำให้กระบวนพิจารณาคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฝ่ายผู้ต้องหาหรือจำเลย ต้องยกเหตุผลนี้ขึ้นมาต่อสู้ เพื่อให้มีการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีใหม่
การที่ศาลยุติธรรมเคารพ หลักการสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรมในเรื่องสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหาหรือจำเลย และ ความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย ย่อมจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริสุทธิ์อีกเป็นจำนวนมากในคดีที่เกี่ยวข้องกับ ความมั่นคง โดยเฉพาะในคดีการเมือง ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
หากศาลไทยจะได้ชื่อว่า เป็นศาลที่ดำเนินการสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลและหลักนิติธรรมที่นานา ประเทศให้การรับรองแล้ว จะมีความสง่างามและเป็นแบบอย่างของสังคมโลก อันจะนำเกียรติและชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติและประชาชน ส่งผลให้สังคมมีความสงบ ร่มเย็นได้ต่อไป เราปรารถนาสิ่งนั้นร่วมกันมิใช่หรือ