ที่มา Voice TV
ใบตองแห้ง
VoiceTV Member
Bio
คอลัมนิสต์อิสระ
ดร.เหลิมจะขอมติ ครม.ไม่แก้ไข ม.112! นอกจากแสดงความขลาดเขลาแล้ว ยังเป็นการโชว์ออฟแบบเบาปัญญาของพ่อไอ้ปื๊ดผู้คุยนักคุยหนาว่าจบปริญญาเอกนิติศาสตร์
มติ ครม.เกี่ยวอะไรกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมายครับ มติ ครม.คือระเบียบ คำสั่ง ในทางบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ใช่ว่า ครม.จะออกมติแสดงความเห็นในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับตัวเอง ไปเสียทุกเรื่อง ในกรณีของร่างกฎหมาย ครม.มีอำนาจให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ ร่างกฎหมายที่เสนอขึ้นมาจากกระทรวงทบวงกรม แต่กรณีที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย รัฐธรรมนูญกำหนดให้ยื่นต่อประธานรัฐสภา ไม่ต้องผ่าน ครม.เสียหน่อย ฉะนั้น มันจึงไม่ใช่เรื่องของ ครม.แต่ควรเป็นมติพรรคเพื่อไทย หรือมติวิปรัฐบาลเสียมากกว่า
ออกมติ ครม.ไปก็สองไพเบี้ย เหมือน ดร.เหลิมพาโต้ง หนุ่ม ชาย ไปเล่นว่าวสนามหลวง คือได้แค่ “โชว์พาว” ให้ชาวบ้านฮือฮา แต่ไม่มีผลใดๆ ทั้งทางกฎหมายและทางปฏิบัติ
อันที่จริงผมเชื่อว่า ดร.เหลิมก็รู้ ว่าทำไปก็เท่านั้น แต่ต้องการโชว์ความ “จงรักภักดี” และสลัดให้พ้นจากข้อกล่าวหาเป็นพวกเดียวกับนิติราษฎร์ แต่ทำไมต้องโอเวอร์แอคท์กันเหลือเกิน จนมวลชนหมั่นไส้ และจะกลายเป็นผลเสียต่อพรรคเพื่อไทยเอง
ตั้งแต่เริ่มต้นรณรงค์ เรา-ผู้สนับสนุนนิติราษฎร์ ต่างก็รู้ดีว่าพรรคเพื่อไทยไม่สนับสนุน และไม่ควรสนับสนุนด้วยซ้ำ เพราะนี่เป็นเรื่องของประชาชน ที่จะเข้าชื่อกันตามความสมัครใจและตามความสะดวก ไม่ได้ต้องการ “คะแนนจัดตั้ง” 10-15 ล้านเสียง แบบ ส.ส.ซีรอกซ์แบบฟอร์มแจกจ่ายในพื้นที่
ที่พูดนี่ไม่ใช่ว่า “คะแนนจัดตั้ง” มาจากการซื้อหรือกะเกณฑ์ชาวบ้านผู้ไร้เดียงสานะครับ แต่หมายความว่าถ้ามีการอำนวยความสะดวก ประชาชนก็จะเข้าถึงการใช้สิทธิมากขึ้น ข้อจำกัดของการล่าชื่อแก้ 112 คือเราไม่สามารถกระจายเอกสารและคำแนะนำวิธีการเข้าชื่อ ไปอย่างทั่วถึง แบบว่าหมู่บ้านเสื้อแดงหนองอีแหนบ จะต้องดาวน์โหลดกันเองจากเว็บไซต์ ต้องกรอกแบบฟอร์มให้ถูกต้อง พร้อมรับรองสำเนาบัตร สำเนาทะเบียนบ้าน แล้วส่งตู้ปณ. ถ้าสามารถตั้งโต๊ะกลางตลาด ข้างร้านถ่ายเอกสาร ทุกตำบล ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด จะสะดวกกว่ากันเยอะเลย
แต่ไม่เป็นไร เดี๋ยวชื่อออกมาเยอะเกินไป พวกอุลตราจารีตนิยมจะลมสว้านตีขึ้น จุกอกตายทั้งประเทศ จนไม่เหลือพลังต้าน “พรรคการเมืองนายทุน” ฮิฮิ
ผมคุยกับคนรู้จักในพรรคเพื่อไทย ปีกก้าวหน้าที่ชื่นชมนิติราษฎร์ด้วยซ้ำ เขาบอกว่าพรรคไม่สามารถสนับสนุนการแก้ไข 112 เพราะพรรคต้องยึดการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่ง พรรครับมือสองเรื่องพร้อมกันไม่ไหว และเกรงว่ากระแสต้าน 112 จะลุกลามไปถึงแก้รัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน ในส่วนของรัฐบาล ก็ต้องมุ่งไปที่การแก้ปัญหาน้ำท่วมซึ่งส่งผลกระทบความเชื่อมั่นต่อประเทศ ถ้าปีนี้น้ำท่วมอีก ได้ฉิบหายกันหมด
ผมฟังแล้วก็รับได้ โอเค ไม่มีปัญหาอะไร ต่างคนต่างไป แต่บอกให้ระวังท่าที อย่าเว่อร์
ที่ไหนได้ ผบ.ทบ.ไล่นิติราษฎร์ออกนอกประเทศ เหลิมก็เอามั่ง ไล่ชอมสกี้กลับประเทศตัวเอง ส.ส.ลูกหาบก็ออกมาด่ากราด นิติราษฎร์รับแผนใครมา ฯลฯ โห อย่างนี้ก็สมควรหรอก ที่มวลชนด่าจนหน้าเฟซบุคแทบลุกเป็นไฟ
เอาไว้ลับหลังอย่ามาเคลียร์กับมวลชน ว่าจำเป็นต้องแสดงบทบาทอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะมันฟังไม่ขึ้น
พรรคเพื่อไทยสามารถแสดงท่าทีดีกว่านี้ได้ แสดงท่าทีมั่นคง มีเหตุผล ยึดหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เช่นมีมติพรรคว่าไม่แก้ 112 แต่จะทบทวนเรื่องการบังคับใช้ ส่วนการที่นิติราษฎร์และ ครก.ล่าชื่อ ก็เป็นสิทธิ แต่รัฐบาลไม่เกี่ยวข้อง พรรคเพื่อไทยไม่เกี่ยวข้อง เรื่องมาถึงสภาเมื่อไหร่ จบ เพราะทุกพรรคไม่เอาอยู่แล้ว
พูดแค่นี้ คนมีเหตุมีผลก็เข้าใจ จะไปเดือดร้อนอะไรนักหนากับพวกสื่อขวาคลั่ง สลิ่ม และพรรคแมลงสาบ คนพวกนั้นเขาไม่ฟังเหตุผลอยู่แล้ว ขนาดเชิญพลเอกเปรมมางานทำเนียบ ยังพาดหัวข่าว “จับป๋าเป็นตัวประกัน” คุณคิดว่ายังพูดภาษาคนรู้เรื่องอยู่หรือ ปล่อยเขาไปเหอะ ไอ้ข้อกล่าวหาที่ว่าพรรคเพื่อไทยอยู่เบื้องหลังนิติราษฎร์ คนที่เชื่อก็พวกเดิมๆ ซึ่งอมอะไรไปพูดเขาก็ไม่เชื่อคุณ เพราะเขาอมสนธิ ลิ้ม อยู่เต็มปาก แก้ 112 เขาก็ค้านอยู่แล้ว แก้รัฐธรรมนูญ เขาก็ค้านอยู่แล้ว แก้น้ำท่วม เขายังค้านเลย อยากให้น้ำท่วมประเทศฉิบหายจะได้ไล่รัฐบาล
แต่ก็คนพวกนี้แหละที่เชื่อ ผบ.ทบ.ว่าอย่าเลือกพรรคล้มสถาบัน แล้วเป็นไง-แพ้!จะไปสนใจอะไรกับพวกแพ้แล้วพาล ทำไมมัวแต่แคร์พวกนี้จนโดนมวลชนตัวเองด่า
ข้อกล่าวหาพรรคเพื่อไทยหนุนให้แก้ 112 ก็ยืดอกรับสิครับ ว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของ ส.ส.บางคน ไม่ใช่มติพรรค ไม่ต้องมาพลิกลิ้น พรรคแมลงสาบจ้องจับผิดแบบเหวี่ยงแห ควานหาอะไรไม่ได้ ก็ไปเอารูป อ.สมศักดิ์ เจียมฯ ไปม็อบเสื้อแดงเจอกับจตุพร มาอ้างความเกี่ยวพัน โห อ.สมศักดิ์ไม่ได้อยู่ในนิติราษฎร์ซักหน่อย แม่-มั่ว แค่ไปเจอกันในม็อบ ซึ่งใครๆ ก็ไปได้ (แต่นิติราษฎร์ไม่เคยไป แมลงสาบเลยจนปัญญา) พรรคเพื่อไทยไม่มีสมองไม่มีข้อมูล ไม่รู้จักวิธีตอบโต้ ทำไมไม่เอาที่ อ.สมศักดิ์เขียนด่าพรรคเพื่อไทย เขียนด่าแกนนำ นปช.มาแสดงมั่ง แล้วก็หาภาพที่แกนนำ ปชป.ไปร่วมม็อบเสื้อเหลืองหรือค้นข้อมูลที่รัฐบาล ปชป.แต่งตั้งนักวิชาการเหลืองนักวิชาการสยามประชาภิวัฒน์เป็นบอร์ดเป็น กรรมการรับงานวิจัยนั่นนี่ มาโต้กลับ
เป็นรัฐบาลซะเปล่า ไม่รู้จักขุดคุ้ยข้อมูล สอนให้เอาไหม ไปค้นข้อมูลให้หมดเลยว่าในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา ในรัฐบาล คมช.ในรัฐบาล ปชป. หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระตุลาการภิวัฒน์ แต่งตั้งนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับขบวนการไล่ทักษิณ เป็นบอร์ดเป็นที่ปรึกษารัฐวิสาหกิจกี่ราย จ้างทำวิจัยกี่ราย จ้างเสรี วงศ์มณฑา ทำประชาสัมพันธ์ไหม ตรวจสอบหน่อย แล้วให้โฆษณาสื่อแบบเลือกข้าง กี่มากน้อย หาตัวเลขมา
เวลาคนพวกนี้ออกมาโวยวายต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะได้แฉกลับว่านี่ไง “ผังล้มประชาธิปไตย” พวกมีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่ใช่ต่อต้านด้วยความบริสุทธิ์ใจจริงๆ หรอก
กวางป่ากับเถาองุ่น
การที่พรรคเพื่อไทยปฏิเสธนิติราษฎร์อย่างไม่มีเยื่อใย ภาพวงนอกดูเหมือนนิติราษฎร์ถูกลอยแพ แต่ความจริงพรรคเพื่อไทยกำลังลอยแพตัวเอง
นิติราษฎร์อาจมีผู้สนับสนุนไม่มากนัก ถ้าเทียบกับมวลชนเสื้อแดงและประชาชนที่เลือกพรรคเพื่อไทย 15 ล้านเสียง แต่นิติราษฎร์และนักคิดนักเขียน นักวิชาการประชาธิปไตย ที่ส่วนใหญ่สนับสนุนให้แก้ 112 คือ “พลังแห่งเหตุผล” ที่ยืนซดกับรัฐประหารตุลาการภิวัฒน์ สร้างความชอบธรรมให้การเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของ นปช.จนกระทั่งชัยชนะของพรรคเพื่อไทย
อ.วรเจตน์ อ.ชาญวิทย์ อ.เกษียร ฯลฯ เคยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยรักไทย แต่ปฏิเสธรัฐประหาร ตั้งแต่ตอนที่พันธมิตรและพรรคแมลงสาบเรียกหา ม.7 วรเจตน์วิพากษ์คำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทย “ประกาศคณะรัฐประหารในรูปคำวินิจฉัย” เป็นหัวหอกรณรงค์ไม่รับรัฐธรรมนูญ 2550 วิพากษ์คำสั่งศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญในคดีปราสาทพระวิหาร กระทั่งแสดงความเห็นค้านคำพิพากษาคดีที่ดินรัชดาและคดียึดทรัพย์ อย่างมีหลักมีเกณฑ์
ถามว่าถ้าเป็น ดร.เหลิม, นพดล ปัทมะ หรือต่อให้พงษ์เทพ เทพกาญจนา ออกมาพูด จะมีน้ำหนักเท่าวรเจตน์ไหม จาตุรนต์พูดมีน้ำหนักเท่าเกษียรไหม เพราะทุกคนเคยอยู่ในรัฐบาลทักษิณ ที่เป็นอำนาจนิยมสมควรถูกขับไล่ แต่ฝ่ายตรงข้ามดันไปทำรัฐประหาร ความชอบธรรมจึงหวนกลับ
ผู้ที่คัดค้านรัฐประหารและตุลาการภิวัฒน์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ จึงกลายเป็นที่พึ่งของทักษิณ ทั้งที่ไม่ได้อะไรแม้แต่บาทเดียว ขณะที่พวกต่อท่อน้ำเลี้ยง กลับไม่สามารถพึ่งได้ ตลกไหมครับ
นิติราษฎร์และนักประชาธิปไตยจึงกลายเป็นเถาองุ่นให้กวางป่า แต่ถ้าเห็นว่า ไม่กลัวภัยนายพรานแล้ว จะมากินเถาองุ่น ก็งี่เง่าสิ้นดี
นี่พูดให้สุดโต่งเข้าไว้ เพราะพรรคเพื่อไทยยังไม่คิดถึงขั้นนั้น แต่พรรคเพื่อไทยมีปัญหาในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างตัวเอง รัฐบาล นปช.และขบวนประชาธิปไตย
ในแง่หนึ่งมวลชนก็ต้องเข้าใจรัฐบาลว่า จำเป็นต้องทำงานแก้ไขปัญหาของประเทศ เช่น แก้น่ำท่วม ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องร่วมมือกับ “อำมาตย์” ฉะนั้นจำเป็นต้องลดความเป็นปรปักษ์ระหว่างตัวบุคคล แต่ข้อสำคัญคือต้องยึดมั่นในหลักการ ต่อสู้ในเรื่อง “ระบอบ” ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อสิทธิเสรีภาพ
แน่นอนรัฐบาลจำเป็นต้องกำหนดจังหวะก้าว ผมเข้าใจดีว่าจะให้รัฐบาลมาแก้ 112 ก่อน ก็คงไม่ได้ แต่รัฐบาลก็ควรปล่อยให้เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ใช่สกัดขัดขวางเสียเอง อย่างเช่นที่ ครก.112 เล่าให้ผมฟังว่า มีมวลชนในภาคอีสานจัดงานเชิญ ครก.ไปพูด ส.ส.พรรคเพื่อไทยกลับมาโวยวายไม่ให้ขึ้นเวที
รัฐบาลยังไม่จำเป็นต้องยืนกระต่ายขาเดียว ไม่แก้ ไม่แตะ เพราะสามารถยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ เอ้า ดูอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ยังเล่นเกมเหมือนหนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวสองหัว ในขณะที่โฆษกพรรค ลูกพรรค ให้ร้ายป้ายสีโจมตีนิติราษฎร์ อภิสิทธิ์กลับบอกว่า 112 มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ ถ้ารัฐบาลฉลาดกว่านี้หน่อย ก็ต้องฉวยคำพูดเชิญอภิสิทธิ์มาหารือ ว่าจะให้แก้เรื่องการบังคับใช้อย่างไร หรือไปสอบถามความเห็นอานันท์ ปันยารชุน ว่าจะแก้วิกฤตเรื่อง 112 อย่างไร
ในภาพรวม พรรคเพื่อไทยควรจะเข้าใจขั้นตอนทางยุทธศาสตร์ว่า เมื่อคุณชนะเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศ คุณอยู่ในขั้นรุก แม้ไม่อาจเผด็จศึก แต่ฝ่ายตรงข้ามก็ไม่สามารถตีโต้กลับมาได้ ถ้าไม่ใช่เพราะมีจุดอ่อนช่องโหว่จริงๆ
สถานการณ์ในขณะนี้ พรรคประชาธิปัตย์มีแต่โดดเดี่ยวตัวเอง พลังมวลชนฝ่ายอุดมการณ์ราชาชาตินิยม พันธมิตร เสื้อหลากสี ก็มีแต่สุดขั้วสุดโต่งจนหันไปหาลูกแก้วศักดิ์สิทธิ์เป็นที่พึ่ง ส่วนการรัฐประหารหรือ ไม่มีใครกล้าทำหรอก เว้นแต่เกิดสถานการณ์บางอย่างที่ต้องพูดกันหลังไมค์ แต่ถ้ามองเฉพาะสถานการณ์การเมือง ให้ร้อนแรงแต่ไหนก็ไม่เกิดรัฐประหาร ต่อให้ศาลโลกพิพากษาให้เขมรชนะคดีปราสาทพระวิหารอีกรอบ (เป็นประเด็นที่พรรคเพื่อไทยกลัวว่ากระแสต้านจะจุดติด)
รัฐประหาร พ.ศ.นี้ไม่มีใครเอาแล้วครับ อย่าอ้างว่าใครๆ ก็พูดอย่างนี้เมื่อปี 49 เพราะ 6 ปีที่ผ่านมามันยิ่งพิสูจน์ว่ารัฐประหารทำให้พินาศฉิบหาย ถ้าเกิดขึ้นคราวนี้ ต่างชาติถอนทุนหมดแน่ หรือต่อให้ทุนไทย ถ้าขายทรัพย์สมบัติหนีไปประเทศอื่นได้ ก็ต้องหนี รัฐประหาร 49 ยังมีกลุ่มทุนสนับสนุน เพราะถูกทักษิณทุบหม้อข้าว และรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ถ้าเกิดอีกครั้งนี้ ไม่มีกลุ่มไหนเอาด้วย ใครล่ะอยากทำมาค้าขายในประเทศที่จะเกิดสงครามกลางเมือง
อย่าลืมว่า “อำมาตย์” ก็เป็นกลุ่มทุนใหญ่เช่นกัน ทหารเดี๋ยวนี้ก็ไม่โง่ เล่นหุ้นหรือมีนอมินีเล่นหุ้นกันทั้งนั้น ใครจะทำรัฐประหารต้องคิดหนัก เว้นเสียแต่เกิด “สถานการณ์ที่ต้องพูดกันหลังไมค์” เท่านั้นละครับ ที่พวกเขาอาจมองว่าโลกของพวกเขาแตกสลายลงแล้ว ต้องทำทุกอย่างเพื่อปกป้องโลกใบเก่าเอาไว้
แนวร่วมที่ต้องแตกต่าง
พรรคเพื่อไทยกับขบวนของนิติราษฎร์และนักประชาธิปไตย จำเป็นต้องแยกกันเดินไปบนเส้นทางร่วมกัน
ในแง่หนึ่ง รัฐบาลพรรคเพื่อไทยประกอบด้วยนักการเมืองที่แสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ ซึ่งนักประชาธิปไตยต้องตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ แต่ในอีกแง่หนึ่ง รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมาจากการเลือกตั้ง ถูกจ้องโค่นเพื่อนำประเทศกลับไปสู่อำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน
รัฐบาลพรรคเพื่อไทยซึ่งอันที่จริงก็ไม่ใช่ผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย นัก จึงยังต้องพึ่ง “เถาองุ่น” ในการต่อสู้กับฝ่ายอำมาตย์ แมลงสาบ และกลุ่มพลังคลั่งเจ้า ขณะที่ฝ่ายนักประชาธิปไตยก็ต้องใช้โอกาสนี้ขยายความคิดความรู้สู่มวลชน ยกระดับมวลชนเสื้อแดงให้ “ก้าวพ้นทักษิณ”
เอ้า ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พรก.ขัดรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจะต้องพึ่งใครวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษา
แต่ไม่แน่เหมือนกัน ตอนนี้นิติราษฎร์อาจรู้สึกว่าถูกถล่มจนช้ำ พวกเมริงไม่ปกป้องแล้วยังซ้ำเติม งดเว้นวิพากษ์วิจารณ์เสียดีกว่า (แต่ถ้านิติราษฎร์วิจารณ์ ก็ต้องยอมรับนะครับว่า นิติราษฎร์อาจจะไม่ได้บอกว่ารัฐบาลเป็นฝ่ายถูกก็ได้)
ที่ต้องมองให้ยาวไกลกว่านั้นคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลกำลังจะเสนอให้มี สสร.จากการเลือกตั้ง และมีนักวิชาการที่ส่งชื่อมาจากสภามหาวิทยาลัยต่างๆ แล้วให้รัฐสภาเลือก
เป็นที่แน่นอนว่า นิติราษฎร์จะไม่เข้าไปเป็น สสร.แต่นิติราษฎร์จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับอุดมคติ ทยอยนำเสนอต่อสังคม ดังที่เปิดกรอบเนื้อหามาบ้างแล้วว่าจะต้องปฏิรูปสถาบัน ปฏิรูปศาล ปฏิรูปกองทัพ
เชื่อขนมกินได้ว่า พรรคเพื่อไทย (ซึ่งจะมี สสร.เสียงข้างมากแน่นอน) ไม่กล้าเอาตามอย่างนิติราษฎร์ ด้านที่หนึ่ง พรรคเพื่อไทยไม่กล้าปฏิรูปโครงสร้างขนาดนั้น ด้านที่สอง พรรคเพื่อไทยต้องการแก้ไขเพียงเพื่อให้นักการเมืองจากการเลือกตั้งมีอำนาจ เต็มไม่ถูกเตะสกัดตัดขาจากตุลาการภิวัฒน์ (ซึ่งในแง่ประชาธิปไตยถือว่าก้าวหน้ากว่า 2550 แต่ยังไม่ใช่ประชาธิปไตยสมบูรณ์)
การยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองส่วนจะเดินคู่ขนานกัน แน่นอน ย่อมทำให้มวลชนที่ตื่นตัวเห็นว่า ฉบับของนิติราษฎร์ก้าวหน้ากว่าฉบับของ สสร.เพื่อไทยอาจจะลักลั่นพิกลหัวมงกุฎท้ายมังกือ เป็นกระแสกระหนาบอยู่กับฝ่ายต่อต้านที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ถ้าพรรคเพื่อไทยเข้าใจ ก็ต้องให้เสรีภาพนิติราษฎร์ที่จะยกระดับความคิดมวลชน เพื่อการต่อสู้กับอำมาตยาธิปไตยในระยะยาว โดยชี้แจงมวลชนของตนว่า ภายใต้ข้อจำกัดเราทำได้เท่านี้ก่อน แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยฟาดงวงฟาดงา โอเวอร์แอคท์อีก ก็จะทำให้มวลชนที่ตื่นตัวหมั่นไส้ เบื่อหน่าย พาลจะไม่ลงประชามติให้
ในฐานะผู้สนับสนุนนิติราษฎร์ ผมก็คงเชียร์รัฐธรรมนูญของนิติราษฎร์สุดลิ่ม แต่เวลาลงประชามติ ให้ร่างรัฐธรรมนูญ สสร.แย่ยังไง ก็ต้องรับไว้ก่อน เพราะ “รัฐธรรมนูญโจร” 2550 แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แก้ยังไงก็ไม่สามารถทำให้เลวร้ายลงไปกว่าเดิมได้ แก้ยังไงก็เป็นประชาธิปไตยกว่าเดิมอยู่ดี
ใบตองแห้ง
10 ก.พ.55
.....................