ที่มา ประชาไท
“วันที่ 7 ผมถูกจับโดยทหารพรานเพื่อสอบสวน แล้วให้เข้าไปในถัง จากนั้นก็ตี ไม่ให้ผมออกไป ผมหายใจไม่ออก พอผมจะออกมา เขาก็เตะไม่ให้ออกมา จนผมไม่สบาย ห่างอีกประมาณ 2 ชั่วโมง ทหารก็ให้เข้าไปแช่ในถังที่มีน้ำแข็งอยู่ เขากดหัว ผมพยายามดิ้น เพราะหายใจไม่ออก จากนั้นเขาก็ต่อยที่หน้าจนแตก”
จันทรา (นามสมมติ) อายุ 17 ปี ผู้ได้รับผลกระทบจาก พรก.ฉุกเฉิน ในจังหวัดชายแดนใต้
จันทรา เป็นหนึ่งในเยาวชนจำนวน 36 คน ที่มีโอกาสกลับออกมาบอกเล่าเรื่องราวระหว่างถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายความมั่น คง เขาถูกจับกุมภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งประกาศใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มายาวนานกว่า 7 ปี ร่วมกับพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 หรือกฎอัยการศึก
ผลจากจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษทั้ง 2 ฉบับ ทำให้มีผู้ถูกจับกุมและถูกซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำนวนมาก และหนึ่งในจำนวนนั้นได้แก่ เด็กและเยาวชนดังเช่นกรณีของจันทรา
“ชุดก่อนนั้นเมาอยู่แล้วมาถามผม พ่อกูใครฆ่า ผมบอกไปว่าไม่รู้ เขาก็เอาเทียนมาหยดใส่ตัวผม เอามีดมาขู่ที่คอผม ผมก็บอกไปว่าไม่รู้ มีทั้งถีบ ให้แก้ผ้า ตอนนั้นผมทนไม่ไหว ร้องไห้”
จันทรา เป็นหนึ่งในเด็กและเยาวชน ที่เครือข่ายสื่อคนรุ่นใหม่ชายแดนใต้ นำมาถ่ายทอดเป็นสารคดีวิดีโอ “จันทรา(เหยื่อกฎหมายพิเศษ)” ยังมีเด็กและเยาวชนจำนวน 36 คน ที่บอกเล่าเรื่องราวและประสบการณ์การจับกุม คุมขัง และถูกทำร้ายร่างกาย ผ่านการให้สัมภาษณ์ไว้ในงานวิจัยชื่อ “รอยแผลบนดวงจันทร์” ของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ก่อนจะคัดเลือกบางกรณีมาจัดทำเป็นหนังสือที่มีชื่อเดียวกัน