ที่มา Thai E-News
18 สิงหาคม 2555
โดน สุวิทย์ ธีรศาศวัต ภาควิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดี คณะมนุษยศาสตร์
ที่มา Montri Punyafu
ทำไมเจ้าอนุวงศ์ จึงต้องปราชัย "ประวัติศาสตร์ ระหว่างไทย และลาว ที่หลายคนไม่เคยทราบมาก่อน"
บทนำ
สงครามเจ้าอนุวงศ์ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2369-71 ต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 (2367-94) เป็นประวัติศาสตร์ตอนที่สำคัญมากทั้งในประวัติ ศาสตร์ไทยและในประวัติศาสตร์ลาว ในประวัติศาสตร์ไทยบันทึกว่าสงครามครั้งนี้เป็นสงครามของพวกกบฏ หัวหน้ากบฏคือเจ้าอนุวงศ์เป็นคนไม่ดี
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎา บดินทร์ ทรงเลื่อนตำแหน่งเจ้าอนุวงศ์ที่ทูลขอให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงแต่งตั้งเจ้าราชบุตร (โย่) ของเจ้าอนุวงศ์ขึ้นเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ เพราะเชื่อในความจงรักภักดีในเจ้าอนุวงศ์ซึ่งเคยช่วยไทยรบกับพม่ามาหลาย ครั้ง แต่เมื่อเจ้าอนุวงศ์ทรงเป็นกบฏในต้นรัชกาลที่ 3 พระองค์จึงทรงแค้นพระทัยมากทรงสั่งให้ทำลายเวียงจันทน์มิให้เป็นเมืองอีกต่อ ไป
ในประวัติศาสตร์ลาวถือว่า สงครามเจ้าอนุวงศ์เป็นสงครามที่ควรยกย่อง เพราะเป็นสงครามปลดแอกลาวให้พ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของไทย ผลของสงครามใหญ่หลวงนักโดยเฉพาะการกวาดต้อนประชากรจากเวียงจันทน์และลาวฝั่ง ซ้ายแม่น้ำโขงเอามาตั้งถิ่นฐานในภาคกลางและภาคอีสาน จนเป็นเหตุให้ประชากรลาวเหลือน้อยมาจนทุกวันนี้ (ปัจจุบันประเทศลาวมีประชากร 5.7 ล้านคน ภาคอีสาน 21.7 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2546) แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นที่จะเสนอในบทความนี้ ประเด็นที่จะนำเสนอคือ วิเคราะห์สาเหตุของความพ่ายแพ้ของเจ้าอนุวงศ์เพื่อให้หายสงสัยว่ากองทัพเจ้า อนุวงศ์แพ้เพราะอะไร เพราะฝ่ายไทยมีอาวุธดีกว่าหรือเพราะฝ่ายไทยมีกำลังมากกว่า หรือเพราะฝ่ายลาวประเมินกำลังพันธมิตรและศัตรูผิด หรือเพราะหลายๆ ปัจจัย โดยจะกล่าวถึงสาเหตุของสงครามและสงครามโดยสังเขปเสียก่อน
* บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยประวัติศาสตร์อีสาน 2322-2488 ขอขอบคุณศูนย์วิจัยพหุลักษณ์ลุ่มน้ำโขงที่ให้ทุนโครงการวิจัยนี้
........................................
สาเหตุของสงครามโดยสังเขป
หลักฐานที่เป็นทางการที่สุดของฝ่ายไทยคือประชุมจดหมายเหตุเรื่องปราบกบฏ เวียงจันทน์ ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเรียบเรียงไว้ สรุปได้ดังนี้
1. ไทยปกครองลาวและภาคอีสานทั้งหมดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2322 ปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ไทยปกครองลาวเป็น 3 ส่วน คือ แคว้นหลวงพระบาง แคว้นเวียงจันทน์ และแคว้นจำปาศักดิ์ แต่ละแคว้นไม่ขึ้นแก่กัน แต่ขึ้นกับกรุงเทพฯ
ช่วงปลายรัชกาลที่ 2 เกิดกบฏสาเกียดโง้งในปี พ.ศ. 2362 เป็นกบฏของชาวข่าในพื้นที่ภาคใต้ของลาว กองทัพของเวียงจันทน์โดยการนำของเจ้าราชบุตรโย่ (ราชบุตรองค์ที่ 3 ของเจ้าอนุวงศ์) ปราบกบฏข่าลงได้ เจ้าอนุวงศ์ทรงเสนอให้รัชกาลที่ 2 ทรงตั้งเจ้าราชบุตรโย่ให้เป็นเจ้าครองแคว้นจำปาศักดิ์ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของไทยส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยเพราะเกรงว่าจะทำให้เจ้า อนุวงศ์ทรงมีอำนาจมากเกินไป แต่รัชกาลที่ 2 ทรงเชื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ว่า ถ้าลาวเข้มแข็งจะช่วยป้องกันมิให้ญวนขยายอำนาจเข้ามา
การที่รัชกาลที่ 2 ทรงตั้งเจ้าราชบุตรโย่เป็นเจ้าครองแคว้นจำปาศักดิ์ส่งผลให้เจ้าอนุวงศ์มี อำนาจเพิ่มขึ้นมาก "เพราะสามารถจะบังคับบัญชาว่ากล่าวบ้านเมืองทางชายพระราชทานอาณาเขตได้ ตั้งแต่ด้านเหนือลงมาตลอดด้านตะวันออกจนต่อแดนกรุงกัมพูชา เจ้าอนุวงศ์ก็มีใจกำเริบขึ้น"
2. เจ้าอนุวงศ์ทูลขอแบ่งพวกครัวชาวเวียงจันทน์ที่กวาดต้อนมาสมัยกรุงธนบุรีกลับ เวียงจันทน์ รัชกาลที่ 3 ทรงปฏิเสธ เพราะหากทรงยอมก็จะมีคนกลุ่มอื่นที่ไทยกวาดต้อนมา "พากันกำเริบ" เอาอย่างบ้าง เมื่อไม่พระราชทานตามประสงค์เจ้าอนุวงศ์รู้สึกอัปยศกลับขึ้นไปเวียงจันทน์ก็ ตั้งต้นคิดกบฏ
3. เจ้าอนุวงศ์ทรงเห็นว่าการที่ญวนขยายอำนาจเข้ามาในเขมรตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ไทยก็ยอมเพราะไทยเกรงจะเกิดศึกกระหนาบทั้งพม่าและญวน เจ้าอนุวงศ์ทรงเอาใจออกห่างจากไทยไปฝักใฝ่ญวน หากเวียงจันทน์แยกตัวจากไทยก็คงได้ญวนเป็นที่พึ่งไทยก็อาจไม่กล้าทำศึกหลาย ด้าน
4. มีข่าวลือถึงเวียงจันทน์ในปี พ.ศ. 2369 ว่าไทยวิวาทกับอังกฤษ อังกฤษจะยกทัพเรือมาตีกรุงเทพฯ จึงเป็นโอกาสเหมาะที่เวียงจันทน์จะออกหน้าก่อการกบฏ
เพื่อความเป็นธรรมต่อเจ้าอนุวงศ์จึงนำเหตุผลฝ่ายลาวมาเปรียบเทียบกับหลักฐาน ฝ่ายไทย นักประวัติ ศาสตร์ลาวที่เด่นที่สุดเป็นที่ยอมรับของลาวในสมัยสังคมนิยมก็คือ ดร. มยุรี และ ดร. เผยพัน เหง้าสีวัทน์ ได้วิเคราะห์สาเหตุของสงครามเจ้าอนุวงศ์ไว้ดังนี้
1. เพราะนโยบายของ "บางกอก" ที่พยายามทำให้ "ลาว" กลายเป็น "สยาม" ทำให้ลาวกลายเป็นแขวงหนึ่งของสยาม โดย ดร. มยุรี-ดร. เผยพันตี ความจากสักเลกในภาคอีสานในต้นรัชกาลที่ 3 ว่าเป็นความพยายามที่จะกลืนชาติลาว
2. ไทยกดขี่ลาวมากโดยดอกเตอร์ทั้งสองได้ยกกรณีไทยใช้ให้คนลาวไปตัดต้นตาลที่ สุพรรณบุรี แล้วขนไปสมุทรปราการ กับเกณฑ์ชาวลาวไปตัดไม้ไผ่ 5,000 ลำ เพื่อเอาไปปิดขวางปากน้ำเพื่อป้องกันการโจมตีของอังกฤษ
3. เจ้าอนุวงศ์ถูกขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายไทยหลายคนพูดจาทำกิริยาดูหมิ่นดูถูกเจ้า ราชวงศ์ โอรสองค์รองของเจ้าอนุวงศ์ และเป็นผู้ควบคุมคนลาวไปตัดต้นตาลที่สุพรรณบุรีขนไปปากน้ำไม่พอใจเรื่องที่ คนไทยดูหมิ่น และกดขี่คนลาวดังกล่าวมาก ถึงกับไปทูลเจ้าอนุวงศ์ว่า "ข้าพเจ้าไม่ขอเป็นขี้ข้าพวกไทยแล้ว"
4. ประเด็นเศรษฐกิจ ไทยพยายามปิดล้อมในการส่งสินค้าออกไปทางเขมรซึ่งขุนนางไทยผูกขาดการค้าอยู่ การขูดรีดส่วยจากลาวก็เป็นสาเหตุของการทำสงครามครั้งนี้ด้วย
........................................
สงครามเจ้าอนุวงศ์โดยสังเขป
สงครามในยุค 180 ปีก่อนของไทยต่างจากสงครามในสมัยปัจจุบันที่เราเห็นในข่าวโทรทัศน์เป็นอย่าง มาก กล่าวคือ ในยุคนั้นสงครามมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การเก็บทรัพย์จับเชลยกลับมาไว้ที่ เมืองหลวงของตน ส่วนการยึดครองพื้นที่เป็นเป้าหมายรอง หากมีกำลังมากก็ยึดครองพื้นที่ของศัตรูด้วย หากมีกำลังไม่มากพอก็ตั้งเจ้าพื้นเมืองปกครองในฐานะประเทศราช ซึ่งวิธีหลังนี้ไทยใช้กับล้านนา ล้านช้าง เขมร และหัวเมืองมลายู
สำหรับเจ้าอนุวงศ์เป้าหมายในการทำสงครามคือการปลดแอกจากการเป็นเมืองขึ้นของ ไทย สำหรับวิธีการปลดแอกที่เจ้าอนุวงศ์ทรงวางแผนเอาไว้คือ ระดมพลจากเมืองที่เวียงจันทน์บังคับบัญชามาไว้ที่เวียงจันทน์กับจำปาศักดิ์ เพื่อฝึกทหารให้พร้อมรบยิ่งขึ้น แล้วส่งขุนนางพร้อมทหารส่วนหนึ่งออกไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่างๆ ในภาคอีสานให้เข้าร่วมกับฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ ส่วนการเข้าตีกรุงเทพฯ ถ้าตีได้ก็ตี ถ้าดูท่าทีกรุงเทพฯ มีการป้องกันที่เข้มแข็งก็ไม่ตี แต่จะกวาดต้อนประชากรตามหัวเมืองรายทางที่กองทัพลาวผ่านกลับเอามาไว้ที่ เวียงจันทน์และจำปาศักดิ์
นอกจากนี้เจ้าอนุวงศ์ยังได้ส่งทูตไปชักชวนเกลี้ยกล่อมให้ญวน หลวงพระบาง หัวเมืองล้านนามีน่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ เข้ามาช่วยพระองค์ด้วย เพราะลำพังเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์ กำลังน้อยกว่าฝ่ายไทยมาก ทูตที่ส่งไปญวนไปก่อนการระดมพลที่เวียงจันทน์ของเจ้าอนุวงศ์ แต่แคว้นและหัวเมืองอีก 6 แห่งที่กล่าวข้างบนส่งไปหลังจากมีการระดมพล หมายความว่าเจ้าอนุวงศ์ทรงตัดสินพระทัยทำสงครามก่อนที่จะรู้ผลว่าอาณาจักร ญวน แคว้นและหัวเมืองอีก 6 แห่ง จะเข้าร่วมสงครามกับพระองค์หรือไม่ อันนี้เป็นการตัดสินพระทัยที่รีบร้อนเกินไป เพราะปรากฏภายหลังจากสงครามดำเนินไปแล้วว่าอาณาจักรญวนกับแคว้นและหัวเมือง อีก 6 แห่ง มิได้เข้าช่วยในสงครามครั้งนี้ แต่ถึงตอนนั้นก็สายไปเสียแล้ว
สำหรับเมืองในอีสานที่เจ้าอนุวงศ์ทรงส่งขุนนางและทหารไปเกลี้ยกล่อม ปรากฏว่าผลของการเกลี้ยกล่อมมีระดับที่แตกต่างกัน กล่าวคือ มี 2 เมืองที่เข้าร่วมอย่างเต็มที่คือ นครพนมกับจัตุรัส อีก 9 เมืองที่เข้าร่วมไม่เต็มที่เท่า 2 เมืองแรก คือ ขุขันธ์ สระบุรี หล่มสัก ชนบท ยโสธร สุรินทร์ ปักธงชัย ขอนแก่น สกลนคร และเมืองที่เจ้าเมืองไม่เข้าร่วมและถูกทหารฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ ฆ่าตายคือ เจ้าเมืองเขมราฐ กาฬสินธุ์ ภูเวียง ภูเขียว ชัยภูมิ หล่มสัก และขุขันธ์ สำหรับ ขุขันธ ตอนแรกให้ความร่วมมือดีมาก แต่ภายหลังเจ้านครจำปาศักดิ์ (เจ้าราชบุตรโย่) เกิดไม่ไว้ใจจึงฆ่าเสีย
สำหรับการสงครามกล่าวโดยย่อก็คือ กองทัพฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ตอนแรก (ช่วง 6 เดือนจากเดือนตุลา คม พ.ศ. 2369-มีนาคม พ.ศ. 2369) (นับอย่างปัจจุบัน พ.ศ. 2370) มีกำลังประมาณ 17,660 – 35,000 คน ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ. 2370 มีกำลังประมาณ 40,000 – 50,000 คน
กองทัพลาวยกเข้ามา 2 สายหลัก
สายแรกยกจากเวียงจันทน์เข้ามาทาง 2 ทาง คือ หนองบัวลำภู กับสกลนคร จากหนองบัวลำภูตรงมายึดเมืองโคราช ส่วนทางสกลนคร ยกมาทางกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ตามลำดับ
สายที่สองยกมาจากจำปาศักดิ์ เข้ามาทางอุบลราชธานี แล้วแยกเป็นสองทาง ทางหนึ่งยกไปทางสุวรรณภูมิ อีกทางยกไปทางศรีสะเกษ ขุขันธ สังขะ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ประโคนชัย นางรอง การปะทะกันระหว่างกองกำลังของฝ่ายกู้ชาติเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์ กับเมืองรายทางมีน้อยมาก ส่วนหนึ่งเพราะเห็นด้วยกับการกระทำของฝ่ายกู้ชาติ แต่เจ้าเมืองกรมการเมืองส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยเพราะเป็นกบฏ และเกรงจะต้องเผชิญกับการตีโต้ของฝ่ายไทย แต่เจ้าเมืองไม่มีกำลังจะต่อต้านกองกำลังของฝ่ายกู้ชาติจึงต้องทำเป็นเออออ เห็นด้วยกับฝ่ายกู้ชาติ
กองทัพฝ่ายเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์ กวาดต้อนประชากรจากพื้นที่เขตโคราช-ลุ่มน้ำชีตอนต้น 11 เมือง พื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลางถึงตอน ปลาย 7 เมือง พื้นที่ตอนใต้ 9 เมือง พื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก 8 เมือง รวม 35 เมือง เมืองที่ใกล้กรุงเทพฯ ที่สุดคือเมืองสระบุรี เมืองศูนย์กลางการปกครองหลักของฝ่ายกรุงเทพฯ ในภาคอีสานและลาวคือเมืองโคราชก็ยึดอยู่ 37 วัน ก็ถูกกวาดต้อนประชากรราว 18,000 คน หากรวมประชากรทั้ง 35 เมืองที่ถูกกองทัพฝ่ายเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์ กวาด ต้อนไปรวมประมาณ 54,320 - 95216 คน
การกบฏของเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์ครั้งนี้ "ประกาศการกู้ชาติ" ในต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2369 ระดมพลและฝึกทหารราว 3 เดือน ระหว่างกลางเดือนตุลาคม-กลาง เดือนมกราคม พ.ศ. 2369 (นับอย่างปัจจุบัน พ.ศ. 2370) แล้วจึงเคลื่อนกำลัง มายึดเมืองโคราชในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2369(2370) รัฐบาลที่กรุงเทพฯ จึงทราบข่าวกบฏ หลังจากที่ฝ่ายกบฏได้ดำเนินการไปแล้วเกือบ 5 เดือน วันที่รัฐบาลทราบข่าวกบฏยกกำลังมาถึงเมืองสระบุรี ซึ่งห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 110 กิโลเมตร และใช้เวลาเดินทัพเพียง 3-4 วัน แสดงให้เห็นว่าการข่าวของไทยล้าหลังมาก แต่โชคดีของฝ่ายไทยที่กองทัพฝ่ายกบฏมิได้บุกกรุงเทพฯ แต่ตัดสินใจยกทัพกลับพร้อมกับเก็บทรัพย์จับเชลยกลับเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์
กบฏครั้งนี้ใหญ่หลวงมากในสายตาของรัฐบาลไทยเห็นได้จากการออกคำสั่งเกณฑ์ กำลังจากหัวเมืองทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ขึ้นไปจนถึงหลวงพระบาง แม้กระทั่งภาคใต้เกณฑ์ไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช แต่อย่างไรก็ตามกำลังหลักที่รัฐบาลไทยได้ใช้ในการรบจริงๆ เป็นกำลังจากภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง (พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ กำแพงเพชร สุโขทัย พิชัย ตาก เชียงทองเดิน)
กองทัพไทยเดินทัพเข้าสู่ภาคอีสาน 5 ทาง คือ เข้าอีสานใต้ทางประโคนชัย บุรีรัมย์ ตีค่ายมูลเค็งที่พิมาย สุวรรณภูมิ ยโสธร อุบล ราชธานี จำปาศักดิ์ จากจำปาศักดิ์ตีขึ้นไปตามแม่น้ำโขงผ่านเขมราฐ มุกดาหาร นครพนม สกลนคร ทัพนี้มีบทบาทเด่นที่สุด แม่ทัพคือ พระยาราชสุภาวดีหรือเจ้าพระยาบดินทร์เดชาในเวลาต่อมา ทัพที่ 2 ยกเข้ามาทางปากช่องโคราช มุ่งเข้าตีหนองบัวลำภู ทัพที่ 3 ผ่านสระบุรี ด่านขุนทด แล้วไปทางเดียวกับทัพที่ 2 ทัพที่ 4 ผ่านสระบุรี เข้าตีเพชรบูรณ์ หล่มสัก ทัพที่ 5 จากพิษณุโลก เข้าตีหล่มสัก แล้วแบ่งส่วนหนึ่งยกขึ้นไปทางด่านซ้าย เมืองเลย มีเป้าหมายที่เวียงจันทน์ อีกส่วนหนึ่งจากหล่มสัก เข้าตีเมืองหนองบัวลำภู
กองกำลังหลักของฝ่ายเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์ มี 5 แห่ง ตั้งรับอยู่ที่ค่ายมูลเค็ง ยโสธร หล่มสัก หนอง บัวลำภู และเวียงจันทน์ การรบที่ดุเดือดที่สุดคือการรบ ที่หนองบัวลำภูซึ่งฝ่ายลาวต่อต้านอย่างเหนียวแน่นในการรบวันที่ 3-4 พฤษภาคม และ 10-12 พฤษภาคม พ.ศ. 2370 ในที่สุดฝ่ายไทยก็ตีแตกทุกแห่ง
เจ้าอนุวงศ์เมื่อทรงทราบว่าหนองบัวลำภูแตกก็เสด็จหนีไปเมืองญวน กองทัพไทยยึดเมืองเวียงจันทน์ในวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2370 หลังจากรัฐบาลไทยทราบข่าวกบฏประมาณ 3 เดือน กับ 1 สัปดาห์ นับว่ากองทัพไทยมีประสิทธิภาพสูงทีเดียว แต่การกบฏมิได้ยุติเพียงนั้น เพราะภายหลังจากฝ่ายไทยเก็บทรัพย์ จับเชลยกลับมาแล้ว เจ้าอนุวงศ์ซึ่งเสด็จลี้ภัยการเมืองอยู่ในเมืองญวน 1 ปี 78 วัน ก็เสด็จกลับเข้าเมืองเวียงจันทน์อีก พร้อมกับคณะทูตญวนซึ่งเดินทางเข้ามาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้เจ้าอนุวงศ์ ใน วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2371
หลังจากมาถึงเวียงจันทน์ได้ไม่ถึง 2 วัน ทหารลาวก็ฆ่าฟันทหารไทย 300 คน ที่รักษาการณ์ในเวียงจันทน์ตายเกือบหมด เจ้าพระยาราชสุภาวดีได้รวบรวมกำลังทหารแถวเมืองเสลภูมิยโสธรยกกลับมาตีโต้ กองกำลังของฝ่ายลาวซึ่งนำโดยราชวงศ์ที่บ้านบกหวาน ใต้เมืองหนองคายลงมาเล็กน้อย สู้กันจนแม่ทัพทั้งสองบาดเจ็บ แต่ในสุดกองทัพลาวก็แตก
ทัพไทยเข้ายึดเวียงจันทน์ได้เป็นครั้งที่สองในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2371 ส่วนเจ้าอนุวงศ์เสด็จหนีไปเมืองญวนเหมือนครั้งก่อน แต่ไปไม่รอดเจ้าน้อยเมืองพวนได้แจ้งที่ซ่อนของเจ้าอนุวงศ์ให้ฝ่ายไทยทราบ ฝ่ายไทยจึงจับเจ้าอนุวงศ์และเชื้อพระวงศ์ส่งกรุงเทพฯ พร้อมทำลายเมืองเวียงจันทน์เสียราบ
เจ้าอนุวงศ์และเชื้อพระวงศ์ ถูกขังประจานที่ท้องสนามหลวง 7-8 วัน ก็ป่วยเป็นโรคลงโลหิตพิราลัยเมื่อชันษาได้ 61 ปี ครองราชย์จาก พ.ศ. 2347-70 รวม 23 ปี เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของเวียงจันทน์
........................................
วิเคราะห์สาเหตุความพ่ายแพ้ ของเจ้าอนุวงศ์
หลักฐานที่ใช้วิเคราะห์หาสาเหตุความพ่ายแพ้ของเจ้าอนุวงศ์ มาจากหลักฐานชั้นต้น คือจดหมาย เหตุรัชกาลที่ 3 ซึ่งบันทึกในขณะเกิดเหตุโดยเฉพาะรายงานของแม่ทัพนายกองขุนนาง บันทึกคำให้ การของเชลยที่ไทยจับมาหลายคน ตลอดจนนิราศทัพเวียงจันทน์ ซึ่งหม่อมเจ้าทับทรงนิพนธ์ พระองค์ทรงเป็นทหารของกรมหมื่นเสนีย์บริรักษ์ซึ่งเป็นแม่ทัพหน้าในการรบที่ หนองบัวลำภู ทรงเห็นเหตุการณ์รบอันดุเดือดด้วย ( นิราศทัพเวียงจันทน์นี้ สำนักพิมพ์มติชนได้ตีพิมพ์เผยแพร่ใน พ.ศ. 2544 เป็นเอกสารชั้นต้นที่สำคัญมาก สำหรับการศึกษาสงครามเจ้าอนุวงศ์) สาเหตุของความพ่ายแพ้ของเจ้าอนุวงศ์ตรงตามตำราของซุนวู และเหมาเจ๋อตุงที่กล่าวไว้ว่า "รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง" แต่เจ้าอนุวงศ์ทรงรู้เฉพาะกำลังฝ่ายตน แต่ทรงไม่รู้กำลังฝ่ายศัตรูคือฝ่ายไทย ประเมินผิดในฝ่ายที่พระองค์ทรงคิดว่าเป็นพันธมิตรของพระ องค์ คือญวน หลวงพระบาง เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่าน ดังจะวิเคราะห์เป็นข้อๆ ดังนี้
1. เจ้าอนุวงศ์ทรงประเมินกำลังฝ่ายไทยผิดคิดว่าแม่ทัพนายกองรุ่นใหม่ๆ ที่เก่งๆ คงจะมีน้อยกว่าแม่ทัพนายกองรุ่นเก่าสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งเป็นการประเมินที่ผิด สงครามเจ้าอนุวงศ์ทำให้เห็นแม่ทัพไทยที่เก่งกาจกล้าหาญหลายคน อาทิ กรมหมื่นนเรศโยธี แม่ทัพหน้าบริเวณลุ่มน้ำชีตอนต้น เจ้าพระยาราชสุภาวดี แม่ทัพไทยด้านอีสานกลาง อีสานตะวันออก และพระยาเพชรพิไชย แม่ทัพหน้าลุ่มน้ำป่าสัก
2. เจ้าอนุวงศ์ทรงประเมิน "พันธมิตร" ของพระองค์ผิดพลาดไปหมดทรงคิดว่า "ลาวพุงดำ" อันประกอบไปด้วย เชียง ใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่านจะเข้าช่วยพระองค์ พระองค์ทรงส่งทูตไปชักชวนลาวพุงดำเหล่านี้ ซึ่งเป็นลาวด้วยกัน ไทยปกครองแบบประเทศราชตั้งแต่ พ.ศ. 2317 ก่อนไทยปกครองล้านช้าง 5 ปี บางเมือง เช่น น่านมีความสนิทสนมกับเจ้าราชบุตรเหง้าของเจ้าอนุวงศ์มากขนาดดื่มน้ำสาบาน เป็นเพื่อนแท้กันมาแล้ว
สำหรับหลวงพระบางเจ้าอนุวงศ์ก็ส่งทูตไปเกลี้ยกล่อมมาเป็นพวก ถึงแม้จะเคยขัดแย้งกันมาก่อนหน้านั้นหลายครั้งกับเวียงจันทน์ แต่เจ้าอนุวงศ์ทรงมองหลวงพระบางในแง่บวกคิดว่า คราวนี้เป็นศึกระหว่างลาวกับไทย อย่างไรเสียหลวงพระบางกับเวียงจันทน์ก็เป็นลาวด้วยกัน อย่างไรเสียน่าจะช่วยลาวมากกว่าไปช่วยไทย เจ้าอนุวงศ์ทรงสนิทสนมกับปลัดจันทา ปลัดน้อยยศ 2 คนนี้เป็นปลัดกองเมืองสระบุรี เป็นลาวพุงดำ ปลัด 2 คนนี้ไปเกลี้ยกล่อมหัวเมืองล้านนาทั้งหมดามาช่วยเวียงจันทน์หลายครั้ง ส่วนเมืองน่านก็มีหนังสือไปบอกให้เมืองแพร่ ลำปาง เชียงใหม่ยกทัพมาช่วยเวียงจันทน์ตีกรุงเทพฯ โดยในหนังสือนั้นบอกว่าให้ยกทัพมาช่วยรัชกาลที่ 3 ซึ่งถูกกรมพระราชวังบวรฯ แย่งชิงอำนาจ แต่ล้านนาก็มิได้ตกหลุมพรางง่ายๆ เพราะการเป็นกบฏต่อไทยเป็นเรื่องใหญ่มาก ไทยมีประเทศราชมาก ไทยจะเกณฑ์หัวเมืองประเทศราชที่เหลือมาปราบกบฏเหมือนที่กำลังทำต่อ เวียงจันทน์ ประเทศราชใดไม่มาช่วยตามคำสั่งของรัฐบาลไทยก็ถือเป็นกบฏไปด้วย ดังนั้นทางที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับประเทศราชก็คือ อยู่ฝ่ายไทย แต่ก็อยู่ฝ่ายไทยอย่างฉลาดคือยกทัพไปเวียงจันทน์แต่ไปอย่างช้าที่สุด เมื่อไปถึงไทยก็ยึดเวียงจันทน์เรียบร้อยแล้ว ส่วนหลวงพระบางก็เข้ากับฝ่ายไทยเหมือนล้านนา กล่าวโดยสรุปพันธมิตรที่เจ้าอนุวงศ์ทรงคาดหวังว่าจะอยู่ฝ่ายพระองค์เมื่อตอน เริ่มต้นของสงคราม แต่ต่อเมื่อเคลื่อนทัพไปไกลแล้วก็ทรงพบว่าหลวงพระบางและ 5 หัวเมืองล้านนาไม่มีทีท่าชัดเจนว่าจะอยู่ฝ่ายพระองค์ พระองค์จึงทรงขอร้องให้หัวเมืองล้านนาทั้งห้าวางตัวเป็นกลาง พระองค์ก็ทรงพอพระทัยแล้ว แต่พระองค์ก็ต้องทรงผิดหวังเพราะหัวเมืองทั้ง 6 แห่งที่กล่าวข้างต้นเข้ากับฝ่ายไทยทั้งหมด
สำหรับญวน
เป็นอาณาจักรที่เจ้าอนุวงศ์ทรงคาดหวังมากว่าจะเป็นพันธมิตรของพระองค์ ทรงส่งทูตไปเจรจาหลายครั้ง ขอร้องให้ญวนโจมตีไทยทางปากน้ำเจ้าพระยา ยังมิทันได้คำตอบจากญวน พระองค์ก็ทรงตัดสินพระทัยทำสงครามไปแล้ว องค์ต๋ากุนแม่ทัพใหญ่ของญวนในญวนใต้เห็นด้วยที่จะทำสงครามกับไทย แต่จักรพรรดิมินหม่างทรงรู้ว่าราชวงศ์จักรีมีพระคุณต่อจักรพรรดิยาลองในการ ทำสงครามกอบกู้ราชวงศ์ เหวียนขึ้นมาได้ การมาช่วยลาวโจมตีไทยก็เหมือนคนอกตัญ ญู ประกอบกับขณะนั้นเกิดอหิวาต์ระบาดในเมืองญวนคนตายเป็นจำนวนมาก จากเหตุผลดังกล่าวญวนจึงวางเฉยต่อการชักชวนของเจ้าอนุวงศ์ดังกล่าว
ตอนที่เจ้าอนุวงศ์ทรงบอกให้หัวเมืองล้านนาทั้งห้าวางตัวเป็นกลางนั้น พระองค์ยังทรงหวังว่าจะได้กำลังจากญวนมาช่วยเพราะพบหลักฐานในเอกสารชั้นต้น เป็นหนังสือที่แจ้งให้หัวเมืองล้านนาตอนหนึ่งว่า "เรากับเมืองญวนเท่านั้นก็สำเร็จโดยง่าย" นี่คือการประเมินที่ผิดพลาดอย่างสำคัญของเจ้าอนุวงศ์
สำหรับอังกฤษ
เจ้าอนุวงศ์ทรงประเมินท่าทีผิดพลาดก่อนประเมินรัฐและหัวเมืองอื่น เป็นความผิดพลาดที่สำคัญกว่าความผิดพลาดอื่นด้วย เพราะปัจจัย ที่ทำให้เจ้าอนุวงศ์ทรงตัดสินพระทัยว่าถึงเวลาแล้ว ที่เวียงจันทน์จะต้องประกาศเอกราชจากไทยก็คืออังกฤษนั่นเอง กล่าวคือ ในช่วงที่พระองค์ประทับอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอังกฤษไม่ดีนัก อังกฤษส่งทูตคือกัปตันเฮนรี่ เบอร์นี่ มาเจรจาเพื่อทำสัญญาทางไมตรีและการค้ากับไทย ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2368 เจรจาอยู่ 3 เดือนก็ยังไม่ยุติ
เจ้าอนุวงศ์ก็เสด็จกลับเวียงจันทน์ และต่อมาก็มีข่าวลือไปถึงเจ้าอนุวงศ์ที่เวียงจันทน์ว่าไทยมีเรื่องกับอังกฤษ ดังปรากฏในจดหมายเหตุ ร.3 จ.ศ. 1187 เลขที่ 5/ข ว่า "เรา [เจ้าอนุวงศ์] ได้ยินข่าวทัพเรืออังกฤษก็มารบกวนปากน้ำ...น่าที่เราจะยกกองทัพใหญ่ไปตี กรุงเทพฯ ก็เห็นได้โดยง่ายเพราะเราจะเป็นทัพกระหนาบ ทัพอังกฤษเป็นทัพหน้าอยู่ปากน้ำ ไทยก็จะพว้าพวังทั้งข้างหน้าข้างหลัง คงจะเสียทีเราเป็นมั่นคงไม่สงสัย"
ข้อมูลเรื่องอังกฤษจะรบกับไทยนี้จึงเป็นข้อมูลที่สำคัญยิ่ง ต่อชะตาของเวียงจันทน์ เป็นเรื่องที่โชคร้ายมากที่เจ้าอนุวงศ์ทรงเชื่อข้อมูลนี้จึงทรงตัดสินพระทัย "กู้ชาติ" ทั้งๆ ที่กำลังทหารของพระองค์ยังไม่มากพอจะต่อกรกับไทยตามลำพัง ในแผนการสงครามกู้ชาติของพระองค์จึงมีอังกฤษเป็นพันธมิตร (ที่ไม่ได้เซ็นสัญญา) ที่รบกับไทยทางด้านปากน้ำเจ้าพระยา ส่วนฝ่ายเวียงจันทน์ตีไทยทางด้านเหนือและอาจจะมีญวนช่วยตีทางด้านปากน้ำอีก ทัพ หากเป็นไปตามแผนที่จินตนาการไว้นี้ไทยจะต้องแย่แน่ๆ ฝ่ายเวียงจันทน์เองก็รบง่ายขึ้น ไม่ต้องใช้กำลังมากมายก็อาจเอาชนะไทยได้ ในจินตนา การของพระองค์ยังทรงดึงล้านนาและหลวงพระบางให้ช่วยตีไทยทางเหนืออีกด้วย
แต่จินตนาการสงครามของพระองค์ต้องล้มเหลวเพราะเมื่อเวลาทำสงครามจริง พันธมิตรในจินตนาการของพระองค์กลับไม่ได้เกิดขึ้นจริง อังกฤษก็เซ็นสัญญาเบอร์นี่กับไทย ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2369 (4 เดือนหลังจากพระองค์เสด็จออกจากกรุงเทพฯ) ญวนก็ไม่ได้ยกทัพมา หลวงพระบางและล้านนาไทยทั้งห้าก็ไม่ได้มาช่วยพระองค์ จึงมีแต่กำลังของเวียง จันทน์-จำปาศักดิ์เท่านั้นก็ต้องรบกับไทยตามลำพัง
เรื่องอังกฤษรบกับไทย
แม้ในเวลาต่อมาเจ้าอนุวงศ์คงจะทรงทราบว่าไม่จริง แต่นักประวัติศาสตร์ไม่ทราบว่าพระองค์ทรงทราบความจริงตอนไหน อาจจะเป็นตอนที่มาถึงโคราชแล้วก็ได้ ตอนที่กองทัพเวียง จันทน์มาถึงโคราชที่แรก แจ้งกับกรมการเมืองโคราชว่ายกทัพมาช่วยกรุงเทพฯ รบกับอังกฤษและขอเบิกข้าวจากฉางหลวงเมืองโคราช โดยอ้างว่าจะเอาไปเป็นเสบียง กรมการเมืองโคราชก็ไม่เคยทราบเรื่องไทยรบกับอังกฤษ
ปกติเรื่องสำคัญขนาดนี้สมุห์นายกจะต้องรีบแจ้งเจ้าเมืองคราชให้ทราบอยู่แล้ว เพื่อเกณฑ์กองทัพเสบียง แต่นี่ไม่มีหนังสือแจ้งจึงดูจะไม่ค่อย เชื่อคำกล่าวอ้างของฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ แต่ด้วยกองทัพที่ยกมามากมาย กรมการเมืองจึงต้องยอมเปิดฉางข้าวให้กองทัพฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ กองทัพของเจ้าอนุวงศ์ตั้งมั่นอยู่ที่โคราชถึง 37 วันจึงถอนกลับเวียงจันทน์ ที่ตั้งอยู่นานคงรอตรวจสอบข้อมูลเรื่องกองทัพญวนและอังกฤษ เรื่องกองทัพเรืออังกฤษไม่เพียงแต่ทำให้เจ้าอนุวงศ์ทรงตัดสินพระทัยประกาศ เอกราช แต่ทำให้ฝ่ายไทยเองก็สับสนพลอยระแวงว่าอังกฤษจะทำมิดีมิร้ายกับไทยหรือไม่
กล่าวคือ ในระหว่างที่ไทยเคลื่อนทัพจาก ภาคกลางสู่ภาคอีสานแล้ว เจ้าเมืองนครศรี ธรรมราชมีใบบอกถึงกรุงเทพฯ ว่า กองเรืออังกฤษ 5 ลำมาจอดที่ปีนัง ไม่ทราบว่าจะมุ่งไปทางใด เขาจึงไม่อาจนำทัพมาช่วยกรุงเทพฯ ด้วยตนเอง แต่ให้พระยาพัทลุงบุตรชายคนโตนำทัพ 5,000 คน มาช่วยกรุงเทพฯ รบกับเวียงจันทน์
ข่าวร้ายนี้ทำให้รัชกาลที่ 3 ทรงเรียกกองทัพที่ส่งมารบในอีสานกลับ 3 กองทัพ (คือ กองทัพเจ้าพระยาพระคลัง กองทัพกรมหมื่นพิพิธภูเบนทรกองทัพกรมหมื่นสุรินทรรักษ์) แต่ม้าเร็วมาแจ้งทันเพียง 2 กองทัพที่อยู่หลังสุด 2 กองทัพนี้จึงกลับมารักษากรุงเทพฯ
ที่ยกเรื่องอังกฤษมายืดยาวก็เพื่อจะบอกว่าการที่เจ้าอนุวงศ์ทรงเชื่อว่า อังกฤษคงจะมีเรื่องกับไทยแน่ เป็นข่าวที่มีมูล ไม่ใช่เป็นจินตนาการที่ไร้เหตุผล แต่โชคร้ายสำหรับเจ้าอนุวงศ์ตรงข่าวนี้ไม่จริง หากไทยรบกับอังกฤษจริง เวียงจันทน์ก็คงกู้ชาติสำเร็จไปแล้วในสงครามครั้งนั้น
3. การกวาดต้อนประชากรอีสานเป็นจำนวนมากหากดูผิวเผินจะเป็นผลดีต่อฝ่ายเจ้า อนุวงศ์ในเรื่องของการเพิ่มพลเมืองเพิ่มกำลังทหาร แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกแล้วเป็นการสร้างปัญหาแก่ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ไม่น้อย กล่าวคือต้องแบ่งกำลังทหารส่วนหนึ่งมาควบคุมผู้อพยพไม่ให้ก่อความวุ่นวาย หรือโจมตีฝ่ายลาวแบบที่เกิดที่ทุ่งสำริดซึ่งทำให้จำนวนทหารจะใช้รบจริงลดลง ความทุกข์ยากของผู้อพยพจากการเดินทาง การขาดแคลนอาหาร การเจ็บป่วย และการต้องสูญเสียทรัพย์สมบัติเนื่องจากไม่อาจขนย้ายไปได้ ทำให้ผู้อพยพไม่พอใจจนเกิดการต่อต้านจากผู้อพยพหลายที่ เช่น ชาวบ้านด่านลำจาก อุบลราชธานี ศรีสะเกษ เป็นต้น ซึ่งการต่อต้านของ 2 กรณีหลังทำให้เจ้านครจำปาศักดิ์พ่ายแพ้อย่างรวดเร็ว ในตอนท้ายของสงคราม
4. เจ้าเมืองอีสานหลายเมืองไม่ยอมให้ความร่วมมือกับฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ บางเมืองก็ต่อต้านจนถูกประหาร เจ้าเมืองที่ถูกฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ประหารมีเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ เขมราฐ ชัยภูมิ ภูเวียง ภูเขียว หล่มสัก และขุขันธ์ เมืองหลังนี้เคยให้ความร่วมมือดีมาก แต่ตอนหลังเกิดระแวงจึงถูกประหาร การประหารชีวิตเจ้าเมืองเป็นเรื่องใหญ่มากเพราะเจ้าเมืองทุกแห่งมีญาติ พี่น้องบ่าวไพร่มาก และญาติพี่น้องส่วนมากก็เป็นผู้บริหารเมืองนั้นๆ ด้วย จึงเท่ากับเจ้าอนุวงศ์ทรงสร้างศัตรูขึ้นมากมาย
5. อาวุธของฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ที่มีประสิทธิภาพ เช่น ปืนคาบศิลามีน้อยตัวอย่างเช่นการรบที่ค่ายหนองบัวลำภู ค่ายนี้เป็นปราการป้องกันเวียงจันทน์ที่สำคัญมาก เป็นค่ายที่มีความกว้าง 640 เมตร และยาวถึง 1,200 เมตร รวมความยาวของกำแพงค่าย 3,680 เมตร แต่มีทหารรักษาค่ายเพียง 2,300 คน และมีปืนคาบศิลาเพียง 190 กระบอก และไม่มีปืนใหญ่เลย ทหารจำนวนหนึ่งไม่มีหอก ดาบ ปืน แต่ใช้กระบองและไม้ไผ่เสี้ยมปลายแหลมเป็นอาวุธ ที่ทหารเหล่านี้ไม่ได้รับแจกอาวุธดีๆ เพราะไม่มีอาวุธจะแจก หรือเพราะทหารเหล่านี้เป็นทหารเกณฑ์จากเมืองอื่นๆ ที่ไม่ค่อยแน่ใจในความจงภักดีนักก็ได้ (ทหารเวียงจันทน์และจัตุรัสเท่านั้นที่มีหอก ดาบ หรือปืนได้) หรือเป็นทั้งไม่ค่อยมีอาวุธจะแจกและไม่ค่อยไว้วางใจก็เลยไม่ได้รับอาวุธดีๆ
6. ความประมาทของฝ่ายเวียงจันทน์ในกรณีอพยพชาวโคราชทำให้เกิดการลุกฮือของชาว โคราชที่ทุ่งสำริด โจมตีทหารที่คุมมาตายเกือบหมด และทหารที่ส่งมาปราบก็ถูกโจมตีแตกกลับไปถึง 2 ครั้ง มีทหารฝ่ายเวียงจันทน์ตายในการสู้รบประมาณ 1,200-3,000 คน เป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของฝ่ายเวียง จันทน์ น่าจะส่งผลให้ความมั่นใจในตัวเองและขวัญของฝ่ายนี้ลดลงเพราะชาวโคราชกลุ่ม นี้เกือบทั้งหมดเป็นชาวบ้านไม่ใช่ทหารก็ยังรบแพ้ ถ้ารบกับกองทหาร ไทยที่อาวุธเพียบพร้อมจะขนาดไหน การรบครั้งนั้นเป็นผลให้คุณหญิงโม ผู้นำการรบคนหนึ่งได้รับการยกย่องเป็นท้าวสุรนารี วีรสตรีของไทย อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้ว นอกจากนี้น่าจะมีผลให้จำนวนสัดส่วนของทหารที่ควบคุมผู้อพยพสูงขึ้นในเวลาต่อ มา เพราะ จำนวนทหารที่ควบคุมขบวนผู้อพยพ 18,000 คน มีเพียง 200 คน หรืออัตราส่วนทหาร 1 คน ต่อผู้อพยพ 90 คน ซึ่งน้อยเกินไปจนเกิดความพ่ายแพ้ที่ทุ่งสำริด ซึ่งฝ่ายเวียงจันทน์ต้องจำไปนานแสนนาน
กล่าวโดยสรุปความปราชัยของเจ้าอนุวงศ์
เกิดจากการประเมินกำลังพันธมิตรผิดพลาดเป็นอย่างมาก
เพราะลำพังกำลังทหารฝ่ายเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์
ก็มิอาจสู้กำลังทหารฝ่ายไทยอยู่แล้ว เจ้าอนุวงศ์ทรงฝากความหวังไว้กับอังกฤษ
ซึ่งมิได้เป็นพันธมิตรโดยตรงของพระองค์ แต่เป็นพันธมิตรทางอ้อม
หากอังกฤษโจมตีปากน้ำเจ้าพระยา ไทยจะต้องแบ่งกำลังส่วนใหญ่เอาไว้ต้านอังกฤษ
นอกจากนี้เจ้าอนุวงศ์ยังทรงฝากความหวังไว้กับญวนว่าจะเข้าโจมตีทางปากน้ำ
เช่นกัน แต่ทั้งอังกฤษและญวนมิได้โจมตีไทยดังที่คาดไว้ ทำ
ให้ไทยทุ่มกำลังส่วนใหญ่มาทางอีสาน
เจ้าอนุวงศ์ยังทรงฝากความหวังไว้กับหลวงพระบางและหัวเมืองล้านนาทั้งห้า
หวังว่าจะช่วยพระองค์ตีไทยทางด้านเหนือ แต่ความเป็นจริงตรงกันข้าม
หัวเมืองทั้งหกยกทัพมุ่งไปที่เวียงจันทน์
การถูกเจ้าเมืองอีสานหลายเมืองต่อต้าน จนต้องประหารชีวิตเจ้าเมืองถึง 6
เมือง ล้วนแต่มีผลในทางลบอย่างยิ่งต่อเจ้าอนุวงศ์