ที่มา ประชาไท
Sun, 2012-08-19 18:13
ราวห้าโมงเย็นเศษๆ หลังจากแท็กซี่หลายคันตอบปฏิเสธ
ผมตัดสินใจโบกมือเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้าง
สังเกตเสื้อคนขับยังเปียกชุ่มเพราะฝนเพิ่งซาเม็ด
ในชั่วโมงที่รถติดวินาศสันตะโรเช่นนั้น เขาพาผมซอกแซกไปตามช่องแคบต่างๆ
บ้าง วิ่งขึ้นฟุตบาตบ้าง ท่าทางเขาเป็นคนอีสานที่ทิ้งบ้านเกิดมาเหมือนผม
แต่อาจโชคดีน้อยกว่าผม เขาจึงสู้ชีวิตด้วย “ทักษะ” ล้วนๆ
เป็นผมในสภาพจราจรแบบนี้คงขับมอเตอร์ไปไม่ถึงร้อยเมตรแน่
นึกตำหนิตัวเองว่าจากธรรมศาสตร์ถึงอนุสาวรีขัยฯ ไปต่อราคา 80 บาทได้ไง
พอถึงที่หมายให้แบงก์ร้อยไป บอก “ไม่ต้องทอนครับ”
ในใจนึกขอบคุณเพื่อนยากที่อุตส่าห์ลัดเลาะมาส่งทันเวลารถตู้หัวหินออกพอดี
เกริ่นนำแบบนี้ผมเพียงต้องการจะบอกว่า
ที่จะพูดถึงนักวิชาการด้านปรัชญาต่อไปนี้
ผมไม่ได้พูดในความหมายว่าเขาเป็นบุคคลพิเศษ เป็นคนที่เราต้องคาดหวัง
หรือคาดคั้นให้เขารับผิดชอบต่อสังคมอย่างเป็นพิเศษมากกว่าคนประเภทอื่นๆ
แต่ผมกำลังพูดถึงในความหมายรวมๆ ว่า
นักวิชาการด้านปรัชญาก็เหมือนคนในอาชีพอื่นๆ
ที่ใช้ทักษะของตนเองให้เกิดประโยชน์แก่คนอื่นๆ และสังคมได้
เช่นเดียวกับคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนดูดส้วม คนกวาดถนน สื่อ
นักวิชาการด้านอื่นๆ เป็นต้น
หากจะมีอะไรพิเศษอยู่บ้างสำหรับนักวิชาการด้านปรัชญาก็คือความชำนาญ
เฉพาะด้านบางอย่าง เช่นเดียวกับที่นักวิชาการด้านอื่นๆ ก็มีในด้านของเขา
และความชำนาญเฉพาะของนักวิชาการด้านปรัชญาก็คือทักษะการกำหนดประเด็นปัญหา
การโต้แย้งถกเถียง
หรือชักไซ้ไล่เรียงเหตุผลอย่างถึงที่สุดเพื่อทำความกระจ่างในประเด็นปัญหา
ต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาในเชิงหลักการ อุดมการณ์ คุณค่าใดๆ
ที่จำเป็นต้องอภิปรายเพื่อให้เห็นความมีเหตุผลรองรับอย่างรอบด้านและสมเหตุ
สมผล
มีคำถามกันมานานว่า
“ทำไมปรัชญาในบ้านเราจึงไม่ค่อยเชื่อมโยงกับสังคม?”
ปัญหานี้คนในวงการเดียวกันก็ตั้งคำถาม
นักศึกษาที่เรียนปรัชญาก็ตั้งคำถามว่า
นี่เรากำลังเรียนไอ้ที่ไม่ค่อยจะรู้เรื่องพวกนี้ไปเพื่ออะไรกัน
หรือคนนอกอาจไม่รู้เลยว่าปรัชญามันคืออะไร มีประโยชน์อะไรแก่สังคม
คนในวงการปรัชญาเขาทำอะไรกันอยู่ เป็นต้น อันที่จริงถ้าจะให้ความเป็นธรรม
เราก็อาจตั้งคำถามทำนองเดียวกันนี้กับนักรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์
นักวิชาการด้านอื่นๆ ได้เช่นกัน
แต่ที่ตั้งคำถามนี้กับนักวิชาการด้านปรัชญา
ก็เพราะในเมื่อเราต่างโปรกันในแวดวงของตนเองว่า
พวกตนเองกำลังศึกษาวิชาที่พัฒนาทักษะการคิดเชิงหลักการ
หรือการคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์ที่ดีที่สุด “การนิ่งเงียบ”
ของคนในวงการปรัชญาต่อปัญหาความขัดแย้งกว่า 6 ปีที่ผ่านมา
ทั้งที่มีปัญหาเชิงหลักการ เชิงอุดมการณ์ คุณค่า ความเป็นประชาธิปไตยสากล
ประชาธิปไตยที่เหมาะกับวัฒนธรรมไทย
หรือประเด็นปัญหาโครงสร้างสถาบันกษัตริย์กับการถูกอ้างอิงในทางการเมือง
เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นประเด็น “ปัญหาทางปรัชญา”
ที่ท้าทายให้ถกเถียงด้วยเหตุผลอย่างถึงที่สุดนั้น นับเป็น “ความนิ่งเงียบ”
ที่น่าประหลาดใจอย่างเหลือเชื่อ
อย่างไรก็ตาม บังเอิญผมได้พบการอ้างอิงของอาจารย์สมภาร พรมทา ในการแลกเปลี่ยนท้ายบทความ ว่าด้วยบักโฮมผีบ้า “เหยื่อ” ของความขัดแย้งทางการเมือง (คลิกเพื่ออ่าน) ในประชาไทที่พาดพิงงานของอาจารย์มารค ตามไท ซึ่งต้องถือว่าเป็นมุมมองของนักวิชาการด้านปรัชญาที่น่าสนใจ ดังนี้
ข้อเสนอของท่านอาจารย์ (สมศักดิ์
เจียมธีรสกุล-ผู้เขียน)
เรื่องการจัดวางตำแหน่งของสถาบันกษัตริย์โดยรวมผมสนับสนุน แต่ในรายละเอียด
ผมมีเรื่องจะเรียนปรึกษาว่า ท่านอาจารย์มีธงล่วงหน้าแล้วว่า
เมื่อมีการจัดวางอย่างที่ว่าแล้ว สถาบันกษัตริย์จะเล็กลง
ไม่มีอิทธิฤทธิ์อะไรที่คนบางพวกจะใช้อ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่ตน
ปัญหามันอยู่ตรงนี้ครับ
ผมมองว่าสถาบันกษัตริย์อย่างที่เป็นอยู่นี้มีประโยชน์บางด้านที่ท่านอาจารย์
อาจจะมองไม่เห็น และผมอยากชวนท่านอาจารย์มองเรื่องนี้ก่อน สำหรับผม
หากมองเรื่องนี้แล้วบอกไม่มีน้ำหนักก็ไม่เป็นไร แต่หลายคนคิดว่ามีน้ำหนัก
ผมขอยกตัวอย่างเลยก็แล้วกัน อาจารย์ผมที่ภาคปรัชญา จุฬา คือท่านอาจารย์มารค
ตามไท
ท่านเขียนบทความวิจัยที่แสดงว่าประชาธิปไตยแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
นั้นมีข้อดีอย่างไร
ซึ่งข้อดีนี้ท่านว่าไม่พบในประชาธิปไตยแบบอื่นเช่นที่อเมริกาหรือแม้แต่
อังกฤษ ข้อดีที่ว่านั้นคือ
สถาบันกษัตริย์ได้กลายเป็นสื่อกลางที่ทำให้คนไทยที่ไม่รู้จักกันเกื้อกูลกัน
โดยผ่านทางพระเจ้าอยู่หัว ท่านอาจารย์คงเคยเห็นโครงการประเภท
"รักในหลวงห่วงลูกหลานต่อต้านยาเสพติด" สมมติว่าโครงการนี้เราทำเต็มที่
แม้ชื่อจะบอกเพื่อในหลวง แต่ในหลวงท่านก็ไม่ได้อะไรดอกครับ
พวกเราด้วยกันนี่แหละได้ ผมเห็นด้วยกับท่านอาจารย์มารค
เมื่อเห็นด้วยก็เลยอยากให้ท่านอาจารย์ช่วยทบทวนความคิดหน่อยได้ไหมครับว่า
หากทำให้สถาบันเล็กลง อย่างเจ้าต่างประเทศ เราจะได้ประโยชน์อะไร
นอกจากเห็นซากความรุ่งเรืองที่เวลานี้ไม่มีประโยชน์แล้ว
ผมสนใจประเด็นที่อาจารย์สมภารพูดถึง จึงไปอ่าน มารค
ตามไท.การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข.ใน สันติสุข
โสภณสิริ (บรรณาธิการ). “วิถีสังคมไท:
สรรนิพนธ์ทางวิชาการเนื่องในวาระหนึ่งศตวรรษ ปรีดี พนมยงค์ ชุดที่ 2
ความคิดทางการเมืองการปกครอง” (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2544), หน้า
40-42. ใจความสำคัญตามที่อาจารย์สมภารอ้างถึงคือ
แง่ดีของระบบดังกล่าวไม่ใช่การเป็นศูนย์รวมของ
ประชาชน การสร้างความสามัคคี เพราะบทบาทเหล่านี้การปกครองระบอบอื่นๆ
ก็มีได้ แง่ดีของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของไทย
ต้องเป็น “คุณค่าเฉพาะ” ที่เรามีไม่เหมือนใคร ได้แก่
การที่องค์พระมหากษัตริย์สามารถเป็นจุดส่งต่อความห่วงใยจากพลเมืองคนหนึ่งไป
สู่พลเมืองอีกคน ถึงแม้ว่าจะไม่รู้จักกัน
การที่พลเมืองรักองค์พระมหากษัตริย์
และการที่พระมหากษัตริย์ห่วงใยพลเมืองทุกคนในลักษณะที่ทำให้พลเมืองทราบ
อย่างชัดเจน
คุณค่าพิเศษของระบอบนี้สามารถนำไปสู่สังคมที่คนในทุกส่วนของสังคมมองส่วน
อื่นเป็นพวกเดียวกัน และต้องการให้มีชีวิตที่สงบสุขเช่นเดียวกันหมด
คำขวัญที่ตรงกับประเด็นนี้คือ “รักในหลวง ร่วมกันห่วงใยเพื่อนร่วมชาติ”
แต่คุณค่าพิเศษดังกล่าวนี้ของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็น
ประมุขอยู่ในรูปของศักยภาพที่จะทำให้เกิดสภาพที่พึงปรารถนาที่ว่านั้น
ซึ่งการที่ศักยภาพจะกลายเป็นสภาวะจริงย่อมขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสำคัญ คือ
พระมหากษัตริย์ต้องทรงประพฤติธรรม เช่น ทศพิธราชธรรม สังคหวัตถุ
จักรวรรดิวัตร
จะเห็นว่า “ข้อดี” หรือ “คุณค่าพิเศษ” ที่อาจารย์มารคพูดถึง
เป็นการพูดถึงในสองความหมายคือ (1) เป็นคุณค่าพิเศษที่อยู่ในรูปของศักยภาพ
(potentiality) หรือสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ หมายความว่าไม่ใช่ยืนยัน
“ข้อเท็จจริง” และ (2) ศักยภาพนั้นจะแสดงตัวออกมาเป็นสภาวะจริง
(actuality) ย่อมขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสำคัญ
คือพระมหากษัตริย์ต้องทรงประพฤติธรรม เช่น ทศพิธราชธรรม สังคหวัตถุ
จักรวรรดิวัตร
ปัญหาคือเวลาเราจะรู้ว่าบุคคลที่มีบทบาทสาธารณะมีจริยธรรมหรือ
จรรยาบรรณในวิชาชีพนั้นๆ หรือไม่ เช่น นักการเมืองมีจริยธรรมหรือไม่
เรารู้ได้เพราะวิจารณ์ตรวจสอบได้ แต่กับสถาบันกษัตริย์เราทำเช่นนั้นไม่ได้
ดูเหมือนอาจารย์มารคก็มองเห็นปัญหาบางประการอยู่ ดังที่เขาเขียนว่า
แม้ระบอบนี้อาจมีปัญหาเรื่อง
“ความเป็นอิสระทางศีลธรรม”
แต่ก็แก้ได้โดยที่พระมหากษัตริย์ทรงให้โอกาสพลเมืองไตร่ตรองตัดสินเรื่อง
ต่างๆ เชิงบรรทัดฐานซึ่งเกี่ยวกับวิธีอยู่ร่วมกันในสังคมโดยไม่ครอบงำ
ในเรื่องเฉพาะแต่ละเรื่อง แต่ให้แต่ละคนคิดในกรอบใหญ่ของศาสนา
หรือระบบจริยธรรมของตน
แต่ข้อเสนอนี้ก็ยังขึ้นอยู่กับ “พระมหากษัตริย์ทรงให้โอกาส”
เหมือนเงื่อนไขเรื่องทศพิธราชธรรม สังคหวัตถุ จักรวรรดิวัตร
ก็เป็นเงื่อนไขที่ขึ้นอยู่กับสถาบันกษัตริย์ในฐานะตัวบุคคล
เพราะเงื่อนไขนี้จะเป็นเงื่อนไขเชิงสถาบันได้
ก็ต่อเมื่อมีการวางระบบให้วิจารณ์ตรวจสอบได้
เหมือนกับที่วิจารณ์ตรวจสอบจรรยาบรรณของบุคคลที่มีบทบาทสาธารณะอื่นๆ
ได้เท่านั้น
ในที่สุดก็หนีไม่พ้นประเด็นปัญหาทางหลักการที่อาจารย์สมศักดิ์
เจียมธีรสกุล พยายามชี้ให้เห็น (อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
เพราะชี้แล้วชี้อีกๆๆๆ) ทั้งที่ปัญหานี้เป็นปัญหาทางหลักการตรงไปตรงมาง่ายๆ
หรือ Common sense
ที่สุดจนน่าแปลกใจว่าการถกเถียงทางปรัชญามองข้ามปัญหาเช่นนี้ไปได้อย่างไร
(หรือละเลยที่จะถกเถียงปัญหานี้อย่างตรงไปตรงมาและเป็นสาธารณะได้อย่างไร)
เพราะหากแก้ปัญหานี้ไม่ได้ข้อเสนอเชิงคุณค่าใดๆ
เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ล้วนแต่ไร้ความหมาย หรือไม่ make sense ทั้งนั้นเลย
ข้อเสนอของอาจารย์สมศักดิ์ (ผมสรุปโดยเนื้อหา) ก็คือ
เมื่อเรายืนยันว่าสถาบันกษัตริย์มีคุณประโยชน์ต่อบ้านเมืองอย่างนั้นอย่าง
นี้ (เช่น ในหลวงทรงงานหนัก และฯลฯ)
ข้อยืนยันของเราจะมีความหมายก็ต่อเมื่อมีระบบกฎหมายที่ให้เสรีภาพในการเสนอ
ข้อมูลด้านตรงข้ามได้ หรือวิจารณ์ตรวจสอบได้ พูดสั้นๆ คือต้อง Apply
หลักการวิจารณ์ตรวจสอบนักการเมืองและบุคคลสาธารณะอื่นๆ
กับการวิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ได้ในมาตรฐานเดียวกันนั่นเอง
ไม่เช่นนั้นเวลาเราพูดว่า “...องค์พระมหากษัตริย์สามารถเป็นจุดส่งต่อความห่วงใยจากพลเมืองคนหนึ่งไปสู่พลเมืองอีกคน ถึงแม้ว่าจะไม่รู้จักกัน...” หรือว่า “...สถาบัน
กษัตริย์ได้กลายเป็นสื่อกลางที่ทำให้คนไทยที่ไม่รู้จักกันเกื้อกูลกันโดย
ผ่านทางพระเจ้าอยู่หัว ท่านอาจารย์คงเคยเห็นโครงการประเภท
"รักในหลวงห่วงลูกหลานต่อต้านยาเสพติด" สมมติว่าโครงการนี้เราทำเต็มที่
แม้ชื่อจะบอกเพื่อในหลวง แต่ในหลวงท่านก็ไม่ได้อะไรดอกครับ
พวกเราด้วยกันนี่แหละได้...” หากไม่ให้ประชาชนมีเสรีภาพเสนอข้อมูลด้าน
ตรงข้ามมาเปรียบเทียบกัน (เช่น ถ้าคนพูดข้อมูลด้านที่เป็นความแตกแยก
ความรุนแรงนองเลือดครั้งต่างๆ
ที่ผ่านมาเพื่อนำมาโต้แย้งแล้วพวกเขาต้องติดคุก เป็นต้น)
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าที่พูดมานี้คือความจริง หรือว่ามีเหตุผล
มีน้ำหนักควรแก่การยอมรับ
ยิ่งความเห็นของอาจารย์สมภารที่ว่า “...ผมเห็นด้วยกับท่านอาจารย์
มารค
เมื่อเห็นด้วยก็เลยอยากให้ท่านอาจารย์ช่วยทบทวนความคิดหน่อยได้ไหมครับว่า
หากทำให้สถาบันเล็กลง อย่างเจ้าต่างประเทศ เราจะได้ประโยชน์อะไร
นอกจากเห็นซากความรุ่งเรืองที่เวลานี้ไม่มีประโยชน์แล้ว...”
ก็ยิ่งดูเหมือนว่าอาจารย์สมภาร (หรือคนจำนวนมากที่คิดเหมือนอาจารย์สมภาร)
มีข้อสรุปกับตัวเองอยู่ก่อนแล้วว่า
สถาบันกษัตริย์ตามที่เป็นมาและเป็นอยู่นี้มีประโยชน์ต่อสังคมไทยมากกว่า
สถาบันกษัตริย์ในต่างประเทศอยู่แล้ว
หรือถ้าหากทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นเหมือนอังกฤษ ญี่ปุ่น เป็นต้น
สังคมไทยจะไม่ได้รับประโยชน์ที่ควรจะได้ดีกว่าตามที่เป็นอยู่นี้
ข้อสรุปทำนองนี้จึงยังติดคำถามเดิมนั่นแหละว่า “รู้ได้อย่างไร?”
ฉะนั้น การใช้ทักษะทางปรัชญา หรือการอ้างเหตุผลใดๆ
เพื่อยืนยันคุณค่า ประโยชน์ของสถาบันกษัตริย์ ถ้าหากไม่ใช่การอ้างเหตุผล
หรือยืนยันไปพร้อมๆ กับการยืนยันให้ประชาชนมีเสรีภาพวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ
การอ้างเหตุผลหรือการยืนยันนั้นๆ ย่อมไร้ความหมาย
คือไม่มีข้อพิสูจน์หรือเหตุผลสนับสนุนเพียงพอว่าเหตุผลหรือข้อยืนยันนั้นๆ
เป็นความจริงหรือมีความน่าเชื่อถือ
ปล. ผมกราบขอ
อภัยอาจารย์สมภารอย่างสูง
ที่ผมนำเรื่องแลกเปลี่ยนกันในบทความก่อนมาพูดต่อข้างเดียว แต่ผมมุ่งไปที่
“ความคิด” ไม่ได้มุ่งที่ “ตัวตน” อาจารย์สมภารเองก็บอกทำนองว่า
คนเรานั้นไม่ว่าใครก็คิดถูกคิดผิดได้ และคิดใหม่ได้
ที่ผมนำมาเขียนต่อนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าตนเองคิดถูก
หรือความคิดที่ตนเห็นด้วยถูกที่สุดแล้ว
เพียงแต่อยากชวนให้ท่านผู้อ่านช่วยกันคิดต่อ
หรือซักไซ้ไล่เรียงเหตุผลกันหลายๆ แง่ให้ตลอด เพราะปัญหายากๆ ของสังคมเรา
คงต้องช่วยกันคิดกันอีกยาว