ที่มา ประชาไท
Mon, 2012-08-20 02:23
19 ส.ค.55 เวลา 14.00 น. บริเวณหน้าศาลอาญา รัชดาภิเษก
กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลซึ่งจัดกิจกรรมหน้าศาลอาญาทุกอาทิตย์
ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “นักโทษการเมืองกับสิทธิมนุษยชน” โดยมี
นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ
อนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาเป็นวิทยากร
นายแพทย์นิรันดร์กล่าวว่าคำที่ตรงกว่าคำว่านักโทษการเมือง
คือนักโทษที่มีความคิดเห็นที่ต่าง
การมีความคิดเห็นที่แตกต่างในระบอบประชาธิปไตยถือว่าเป็นเรื่องดี
และสะท้อนความเป็นประชาธิปไตย ถ้ากำหนดให้คิดเหมือนกันนั่นคือระบอบเผด็จการ
ปัญหาการมีคนคิดเห็นต่างแล้วต้องเข้าไปอยู่ในคุก
โดยใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือนั้น
ยืนยันว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น
ในอดีต คนที่เห็นต่างทางการเมืองหรือเห็นต่างในเรื่องนโยบายสาธารณะ
ก็มักถูกกล่าวโทษด้วยกฎหมายอาญา เช่น
ถูกตราหน้าว่าเป็นคอมมิวนิสต์ในสมัยสงครามเย็น หรือนักศึกษาในสมัย 6 ตุลา
2519 ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ กรณี 4 รัฐมนตรีจากภาคอีสานสมัยทศวรรษ
2490 ที่ถูกมองว่าจะแบ่งแยกดินแดน รางวัลที่ได้รับคือถูกฆ่าตาย
รวมทั้งพี่น้องภาคใต้ เช่น กรณีหะยีสุหลง
ก็มีความเห็นต่างทางนโยบายให้สามจังหวัดภาคใต้มีอิสระในการจัดการนโยบายตน
เอง ก็ถูกกล่าวหาว่าแบ่งแยกดินแดน
และรางวัลที่ได้รับคือถูกฆ่าตายเช่นเดียวกัน
ดังนั้น
ต้องทำความเข้าใจว่าการต่อสู้ในเรื่องความเห็นต่างทางการเมืองมีมาตลอด
และใน 4-5
ปีนี้ก็มีกรณีหลายอย่างที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิคนที่มีความเห็นต่าง
อันทำให้เกิดนักโทษการเมือง เช่น การใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112,
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, กฎหมายความมั่นคง, กฎหมายการชุมนุมต่างๆ
แม้แต่กรณีชาวบ้านชุมนุมเรียกร้องประเด็นทรัพยากร
อย่างกรณีเขื่อนปากมูนหรือเขื่อนราษีไศลที่ถูกจับ ก็คือข้อหาก่อการร้าย
ฉะนั้นเวลาที่จะจัดการกับคนที่เห็นต่างหรือขัดต่ออำนาจ
มักจะถูกหาเหตุจากในเรื่องกฎหมาย
ถ้าเป็นเรื่องทรัพยากรก็จะเอากฎหมายสิ่งแวดล้อมมาใช้ เช่น
ชาวบ้านที่อยู่ในป่าก็โดนข้อหาทำให้โลกร้อน หรือที่หนองแซง
ซึ่งคัดค้านโรงไฟฟ้า ก็ถูกตำรวจใช้กฎหมายสลายการชุมนุม
ส่วนกรณีมาตรา 112 ปัญหาของกฎหมายนี้คือการบังคับใช้ และคนที่ใช้อำนาจ
เช่น ตำรวจ อัยการ และตุลาการ จุดอ่อนสำคัญของกฎหมายคือใครไปแจ้งความก็ได้
ทำให้เกิดปัญหาว่าคนที่กล่าวหานำสถาบันมาใช้ทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม
คู่ต่อสู้ทางการเมือง หรือคนที่คิดเห็นต่างทางการเมือง
ประเด็นที่สำคัญของการแก้ปัญหาจากมาตรา 112
คือการสร้างความชัดเจนให้เกิดความสมดุลระหว่างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
กับการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์
สังคมต้องแยกให้ออกว่าตรงไหนคือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
แบบไหนคือการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย
รวมทั้งความสับสนระหว่างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กับพื้นที่สาธารณะ
ต้องแยกให้ออก ถ้าแยกไม่ออกจะเป็นช่องทำให้คนนำสถาบันมาทำลายล้างกัน
และจะทำให้สถาบันเสื่อมเสียเสียเอง นอกจากนั้น 112 ยังถูกใช้พ้องไปกับ
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งใช้ในการปิดเว็บไซต์หลายหมื่นเว็บ
มีส่วนที่กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก
ตั้งแต่ช่วงก่อนหน้านี้ทางคณะกรรมการสิทธิฯ
ได้มีการตั้งคณะทำงานศึกษาเรื่องการบังคับใช้มาตรา 112 โดยมีนายจอน
อึ้งภากรณ์เป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งรายงานการศึกษาปัญหาเรื่องนี้ใกล้แล้วเสร็จ
จึงจะได้มีการแถลงถึงข้อสรุปดังกล่าวต่อไป
นายแพทย์นิรันดร์ยังกล่าวถึงการใช้กฎหมายความมั่นคง เช่น
พ.ร.บ.ความมั่นคง หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ทั้งในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้และในการชุมนุทางการเมือง
ว่าล้วนเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุดและทำให้ยิ่งแก้ไม่ได้
เพราะนำไปสู่การใช้อำนาจละเมิดสิทธิต่างๆ
ทำให้มีการใช้แนวทางการทหารมานำการเมือง ทั้งที่ปัญหาต่างๆ
ล้วนเป็นปัญหาทางการเมือง ตนมีความเห็นไปถึงนายกฯ
ว่าไม่ควรประกาศใช้ไม่ว่ารัฐบาลไหนทั้งสิ้น
และต้องเน้นการคุ้มครองสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ
การชุมนุมทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ามีการละเมิดสิทธิการ
ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก รวมถึงการฆ่ากันตาย 90 กว่าศพ
ส่วนในหลายกรณีที่ถูกจำคุกไปแล้ว
ก็ต้องเน้นที่สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น
การถูกพิจารณาเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าศาลจะตัดสิน
การให้สิทธิการประกันตัว สิทธิการดูแลสุขภาพ กระบวนการพิจารณาที่รวดเร็ว
ซึ่งสิทธิเหล่านี้รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ทั้งสิ้น
แต่ในความเป็นจริงมันก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
นายแพทย์นิรันดร์ย้ำว่าปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่คนต้องการ
สิทธิ ต้องเป็นฝ่ายต่อสู้เรียกร้อง ถ้าไม่ต่อสู้ ก็ไม่มีใครอยู่ๆ มามอบให้
ไม่มีรัฐบาลไหนมอบให้ บางเรื่องที่ยากก็อาจต้องใช้เวลานาน
และยังต้องทำให้หน่วยงานรัฐยอมรับว่าอำนาจเป็นของประชาชน ไม่ใช่ของคุณ
ถ้าหากอ้างกฎหมาย แล้วบอกว่าคุณใหญ่กว่า ก็มีลักษณะของนักเลง
นายแพทย์นิรันดร์เสนอว่าสิทธิ 3
ประการที่สำคัญและต้องต่อสู้เรียกร้องต่อไป คือ หนึ่ง
สิทธิในการรับรู้ความจริง
เพราะสังคมไทยมักไม่ยอมรับความจริงและความจริงไม่ถูกทำให้ปรากฏ สอง
สิทธิในการที่จะเอาคนผิดมาลงโทษ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการอาฆาตแค้น
แต่ประเด็นคือไม่ต้องการให้มีการทำผิดซ้ำอีก
ส่วนจะให้อภัยกันหรือนิรโทษกรรมนั้นเดี๋ยวค่อยว่ากันอีกที
แต่ต้องคุยกันให้ได้ก่อนว่าใครผิด และสาม
สิทธิที่จะได้รับการชดเชยและเยียวยา
นายแพทย์นิรันดร์มองว่ากระบวนการต่อสู้ของประชาชนในขณะนี้
ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องการแบ่งฝ่าย
แต่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและความถูกต้องด้วย
และต้องยอมรับว่ากระบวนการยุติธรรมได้ทำลายสิทธิและความเป็นธรรมในสังคม
โดยตนก็ไม่รู้เหมือนว่าถ้ากระบวนการยุติธรรมไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้ได้
บ้านเมืองจะเกิดอะไรขึ้น
ในช่วงท้าย
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้สอบถามนายแพทย์นิรันดร์ว่าคิดอย่างไรเรื่องการปฏิบัติ
กับนักโทษที่อยู่ระหว่างการต่อสู้คดีเหมือนกับนักโทษในคดีที่สิ้นสุดแล้ว
นายแพทย์นิรันดร์กล่าวว่าเป็นเรื่องที่มีมาตลอด คุกถูกทำให้เป็นที่ขังคนจน
ตัวอย่างในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ปัญหาเรื่องการประกันตัว การมีทนายดูแล
จะหนักกว่านี้อีก หลายคนไม่กล้ามาร้องเรียน รวมทั้งยังมีการซ้อมทรมานต่างๆ
ซึ่งเราคงจะหวังให้คนภายในแก้ไม่ได้
แต่ประชาชนคงต้องเป็นฝ่ายต่อสู้เรียกร้องเอง
นอกจากนั้นยังมีคำถามจากผู้ฟังอีกว่ารู้สึกอย่างไรที่ต้องทำงานภายใต้
การแบ่งขั้วทางการเมือง และทำงานอย่างไรภายใต้แรงกดดัน
นายแพทย์นิรันดร์กล่าวว่าไม่ค่อยลำบากใจ ก่อนเป็นคณะกรรมการสิทธิฯ
ตนก็เคยเป็น ส.ว.มาก่อน ก็ถูกหาว่าเป็นเสื้อเหลือง
บางทีก็ถูกเสื้อเหลืองหาว่าเข้าข้างเสื้อแดง
แต่ยืนยันว่าส่วนตัวทำงานโดยหลักการมาตลอด ไม่ได้ยึดในสีเสื้อหรือตัวบุคคล
แต่ก็ต้องยอมรับว่าบางอย่างก็ทำได้ บางอย่างทำได้ช้า
หรือบางอย่างก็ทำไม่ได้ แต่ในภาพรวมเห็นว่าการเมืองภาคประชาชนมันโตขึ้น
มีคนใหม่ๆ เกิดขึ้น อย่างกลุ่มปฏิญญาหน้าศาลนี้เป็นต้น
และตอนนี้สังคมไทยอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน
สิ่งที่ต้องระวังคือความขัดแย้งและแตกต่างกลายเป็นการฆ่ากันและละเมิดสิทธิ
ต่อกัน ส่วนการวิจารณ์คณะกรรมการสิทธิฯ ก็เป็นเรื่องที่รับฟังได้
นายแพทย์นิรันดร์ได้กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า
ประเด็นนักโทษการเมืองเกิดขึ้นจากผลพวงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนและระบอบ
ประชาธิปไตย โดยเฉพาะสิทธิมนุษยชนเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาค
ที่ถูกละเมิดมาก และคนละเมิดก็คือคนที่มีอำนาจทางการเมือง
เมื่อมีปรากฏการณ์เกิดขึ้น มีคนต้องการการเปลี่ยนแปลง
คนมีอำนาจเห็นว่าคุณต่างก็ต้องโดนจับ
แต่หลักสิทธิมนุษยชนของสังคมไทยในช่วงนี้กำลังถูกท้าทาย
และกำลังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของการต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนในทุกด้าน
ทั้งสิทธิชุมชน สิทธิความเป็นคน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ซึ่งกำลังตื่นขึ้นทั่วประเทศ