ที่มา ประชาไท
ที่มา : สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย
http://www.idsthailand.org/
ที่มา : สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย
http://www.idsthailand.org/
อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยระบุ 3 ปีรัฐประหาร ถือเป็นความเลวร้ายที่สุด ทำลายระบอบประชาธิปไตย เพื่อจัดการ "ทักษิณ" เพียงคนเดียว ทำลายกระบวนการยุติธรรมย่อยยับ ต้นเหตุให้ความขัดแย้งบานปลาย ชี้ชัดอำมาตย์อยู่เบื้องหลังรัฐประหารและยังบงการอยู่ สุดท้ายได้รัฐบาลอภิสิทธิ์ที่บริหารประเทศไม่ได้
หมายเหตุ: นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวในงานสัมมนา "3 ปี...หลังปฏิวัติ 19 กันยา ประชาชนเสียอะไร" ที่จัดโดยพรรคเพื่อไทยร่วมกับมูลนิธิ 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ที่ โรงแรมโรงแรมรามาการ์เด้นส์ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2552 |
000
จาตุรนต์ ฉายแสง
อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย
“ในบรรดาความเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นได้กับการปกครองระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือการรัฐประหาร เพราะฉะนั้นประเทศจะมีปัญหาอะไร เลวร้ายขนาดไหน จะเลวร้ายแค่ไหนก็ตาม ไม่สามารถใช้มาเป็นข้ออ้างในการรัฐประหารได้ เพราะว่าเมื่อรัฐประหารแล้วจะยิ่งเลวร้ายกว่านั้นเข้าไปอีกเสมอ...”
000
ท่านหัวหน้าพรรค ท่านนายกฯ ท่านสมาชิกผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่าน วันนี้แนวความคิดผู้จัดคือ เชิญ 3 พรรคมาพูด พรรคที่ถูกยุบไปแล้ว 2 พรรค พรรคปัจจุบันพรรคหนึ่ง ผมมาพูดในฐานะเคยเป็นรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ธรรมดาถ้าช่วงที่พรรคไทยรักไทยไปพูดปราศรัยที่ไหน ผมปราศรัยแล้วส่วนมากผมจะปราศรัยก่อนนายกฯทักษิณ พอปราศรัยเสร็จก็ส่งไมโครโฟนต่อ วันนี้ส่งไมโครโฟนไม่ได้ เพราะท่านไม่อยู่
ที่เขาตั้งหัวข้อบอกว่า ปฏิวัติ 3 ปีประชาชนเสียอะไร ก็เห็นมีที่เขามักจะตั้งหัวข้อกัน เห็นตามหนังสือพิมพ์เขาไปตั้งว่า รัฐประหาร 3 ปีประชาชนได้อะไร และคำตอบก็เหมือนกันคือ ไม่ได้อะไรสักอย่าง มีแต่เสีย เพราะฉะนั้นการตั้งหัวข้อว่า “ประชาชนเสียอะไร” ถูกต้องแล้ว
การรัฐประหาร
ในบรรดาความเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นได้กับการปกครองระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือการรัฐประหาร เพราะฉะนั้นประเทศจะมีปัญหาอะไร เลวร้ายขนาดไหน จะเลวร้ายแค่ไหนก็ตาม ไม่สามารถใช้มาเป็นข้ออ้างในการรัฐประหารได้ เพราะว่าเมื่อรัฐประหารแล้วจะยิ่งเลวร้ายกว่านั้นเข้าไปอีกเสมอ ผมพูดอย่างนี้มานานมากแล้ว ความจริงก็เป็นสิบๆ ปีแล้ว หลัง 19 กันยาฯ ผมก็แสดงความเห็นว่าไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่ต้น ระหว่างรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยอยู่ก็ได้พูดยืนยันมาอย่างนี้ตลอด เมื่อก่อนนี้ครบ 1 เดือนผมก็วิจารณ์มาครั้งหนึ่ง จนกระทั่งมาครบ 1 ปีเราก็วิจารณ์ วิเคราะห์ว่า รัฐประหารแล้วประชาชนเสียอะไรบ้าง ต่อมาก็ห่างหน่อยครบ 2 ปี วันนี้มาครบ 3 ปี ให้มาวิจารณ์อีก จะเปรียบเทียบกับอะไรดีนะว่า ดี ไม่ดียังไง ทางคณะผู้จัดก็ขอให้ผมเปรียบเทียบกับสมัยก่อนบ้าง แต่ว่าผมคงไม่พาท่านย้อนไปไกลว่า ก่อนรัฐประหารบ้านเมืองเป็นยังไง
เพียงแต่ว่าในการจะเปรียบเทียบให้นึกถึงสภาพการเมือง การบริหารประเทศก่อน 19 กันยายน 2549 สักหน่อย ว่า เรามีพรรคการเมืองที่มาทำนโยบายร่วมกับประชาชน เสนอกับประชาชน หาเสียงกับประชาชน และประชาชนเลือกมาด้วยคะแนนเสียงเกือบจะครึ่งหนึ่งของสภา เสร็จแล้วพรรคการเมืองนั้นคือพรรคไทยรักไทยได้นำนโยบายที่เสนอไว้กับประชาชนทั้งหมด ทุกเรื่องติดตามถนนหนทาง ตามสี่แยก ออกวิทยุ โทรทัศน์ ทุกเรื่องไปประกาศเป็นนโยบาย ในที่ประชุมรัฐสภา และทำตามนั้นทุกเรื่อง เป็นปรากฏการณ์ใหม่สุดครั้งแรกในการเมืองไทยเท่าที่เคยมีมา
ผลที่ตามมาก็คือ เมื่อปี 2548 พรรคไทยรักไทยได้รับเลือกกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ส.ส. 377 เสียง มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และหลังจากนั้นเมื่อ 4 ปีแรก เป็น 4 ปีที่ซ่อมเศรษฐกิจ 4 ปีต่อมาก็ตั้งใจเป็น 4 ปีสร้าง รัฐบาลไทยรักไทย ทำนโยบายต่างๆ ตามที่นายกฯสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้พูดไปแล้ว และได้จนกระทั้งประเทศซึ่งเป็นหนี้ต่างประเทศมาก สามารถชำระหนี้ไอเอ็มเอฟได้ก่อนกำหนด และทำให้ประเทศไทยพ้นจากสถานะการเป็นลูกหนี้ และกลายเป็นเจ้าหนี้ประเทศอื่น เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี
พรรคไทยรักไทยเข้ามาบริหารประเทศในขณะที่งบประมาณแผ่นดินเป็นงบประมาณขาดดุล ซึ่งขาดดุลอยู่มากพอสมควร บริหารไปๆก็ก้าวเข้าสู่การเป็นรัฐบาลที่ใช้งบประมาณสมดุลติดต่อกันประมาณ 3 ปี งบประมาณปีพ.ศ. 2549 เป็นปีก่อนที่พรรคไทยรักไทยจะถูกยึดอำนาจไปนั้น รัฐบาลไทยบริหารประเทศโดยงบประมาณสมดุลนะครับ ที่มาวิจารณ์กันว่าไปล้างผลาญอะไรต่างๆ ไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น นี่เป็นบรรยากาศทางการเมืองก่อนรัฐประหาร เมื่อ 19 กันยายน 2549 ประเทศไทยอยู่ในช่วงที่มีการแข่งขันนโยบายของพรรคการเมือง มีรัฐบาลที่เข้มแข็งทำงานได้ มีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพสูง มีนายกรัฐมนตรีที่เข้มแข็งและสามารถบริหารประเทศ และเป็นนายกรัฐมนตรีที่ก้าวขึ้นไปเคียงบ่าเคียงไหล่ผู้นำประเทศต่างๆทั่วโลก บางครั้งในการประชุมซัมมิค บางครั้งนายกฯทักษิณพบกับนายกรัฐมนตรีที่เป็นอภิมหาอำนาจ วันเดียวพบแบบตัวต่อตัว 4 คนติดต่อกัน ไม่เคยมีใครทำแบบนี้
นี่คือก่อนการรัฐประหาร เสร็จแล้วเกิดการรัฐประหารแล้วเป็นอย่างไร ก็อย่างที่เรียนท่านทั้งหลายแล้วนะครับว่า ผมพูดมาตั้งแต่พูดทุกเดือน พูดครบ 1 ปีก็พูดที ครบ 2 ปีก็พูดที มาพูดครบ 3 ปีความจริงก็คือ มันก็เป็นเรื่องคล้ายๆเดิมคือ โดยมาพูดก็จะเอา ทั้ง 4 ข้อของข้ออ้างของคณะรัฐประหารมาพูด มาสำรวจว่าเป็นยังไง ปีนี้ใน 4 ข้อนี้ก็ยังต้องพูดอยู่ และ 4 ข้อนี้ก็มาถึงบางอ้อว่า เราก็ไปตรวจอยู่มันก็ล้มเหลวทุกปี 4 ข้อที่บอกว่าจะแก้ๆ เดี๋ยวต้องสำรวจต่อ มาถึงบางอ้อว่า ทำไมถึงล้มเหลว ก็มีคำเฉลยมาจากพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก ประธาน คมช. เมื่อ 2 วันก่อนนี้ท่านบอกว่า ตอนที่ยึดอำนาจไม่ได้นึกถึง 4 ข้อเลย นึกถึงแต่จะจัดการนายกฯทักษิณอย่างเดียว 4 ข้อนี้มาคิดทีหลัง ก็อย่างนี้ใน 4 ข้อไม่เกิดขึ้นเลย เพราะว่ามันไม่ได้คิดมาตั้งแต่ต้น มันผิดมาตั้งแต่คิดจะจัดการกับคนๆเดียว และการพูดอย่างนี้ของพล.อ.สนธิ หลายคนก็บอกว่า ท่านพูดแล้วแสดงว่า ท่านไม่ได้เกี่ยวข้อง ไม่ได้รู้อะไรเท่าไร ที่ว่าไม่รู้อะไรเท่าไร ทีแรกก็คงจะจริง แต่ว่าตอนที่บอกว่าไม่เกี่ยวข้อง ไม่ต้องรับผิดชอบ ผมยังคิดว่า จะไม่ได้นะครับ
หลังจากนั้นแผนบันได 4 ขั้น ที่ท่านทำกับใครต่อใคร ยุบพรรคการเมือง วางแผนเป็นขั้นเป็นตอน เอาคมช.เข้าไปจัดการกับรัฐธรรมนูญ ไปจัดการกับทุกสิ่งทุกอย่างจนกระทั่งมาถึงปัจจุบันนี้ ท่านประสบความสำเร็จไปแล้ว คือการทำให้นายอภิสิทธิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่รับผิดชอบได้ยังไง ต้องรับผิดชอบ ที่บอกว่าไม่รู้แต่ต้นเป็นการแสดงให้เราเห็นว่า อ๋อที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไร ก็เพราะว่าปฏิวัติรัฐประหารกันแบบไม่มีมันสมอง ไม่ได้คิดอะไร คำอธิบายของพล.อ.สนธิตลอดมาก็คือบอกว่า “ผมทำตามหน้าที่” หน้าที่อะไรผมถามหน่อย หน้าที่อะไร ทหาร ผู้บัญชาการทหารบกก็ต้องมีหน้าที่ปกป้องประเทศซิ ป้องกันประเทศ มีหน้าที่อะไรมาล้มรัฐบาล
เพราะฉะนั้นที่บอกว่า ทำตามหน้าที่ต้องถามต่อว่า หน้าที่ที่ใครมอบหมาย หน้าที่นี้ใครมอบหมาย เดี๋ยวจะต้องพูดกันต่อว่า 3 ปีมานี้ 2 ปีที่แล้วพูดไปแบบหนึ่ง ผมพูดมาเรื่อยๆ 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นอะไรอีกเยอะ ที่บอกว่า ทำตามหน้าที่ แล้วหน้าที่อะไร ใครสั่ง เดี๋ยวต้องพูดกัน ประเมินกันต่อ
แต่ว่าที่อยากประเมินเสียก่อน เอาตาม 4 ข้อเขาละ และหลังจากนั้นต้องมีบางประเด็นที่มันเห็นชัดเจนมากกว่าความล้มเหลวของทั้ง 4 ข้อนี้ แต่เอา 4 ข้อก่อน ขอเริ่มต้นที่ไม่รู้เขาไปจัดลำดับไว้ที่ข้อที่เท่าไร แต่มันเป็นข้อที่พูดสั้นๆ บังเอิญอ้างแล้วมีผลต่อความรู้สึกคนสูงที่สุด มีผลทำให้คนจำนวนไม่น้อยเอาดอกไม้ไปให้ ไปเสียบไว้ที่รถถัง ไปให้ทหารที่ถือปืนเอ็ม 16 ก็คือ ข้ออ้างที่บอกว่า รัฐบาลทักษิณมีการกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
อันนี้พูดสั้นๆ ได้เลย เกิดอะไรขึ้นผ่านมา 3 ปี กับที่บอกว่า รัฐบาลทักษิณมีการกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการแจ้งความร้องทุกข์ กล่าวหาพ.ต.ท.ทักษิณ รัฐมนตรีบางคน ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ข้อหาทั้งหมดทุกเรื่อง อัยการสั่งไม่ฟ้องไปหมดแล้ว มีแต่กรณีที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวหารัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลทักษิณ ว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สู้ความกัน ศาลพิพากษาจำคุกนายสนธิ ลิ้มทองกุล ฐานหมิ่นประมาท เพราะรัฐมนตรีเหล่านั้นไม่มีการกระทำที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพแต่อย่างใดทั้งสิ้น
ส่วนที่มีการกล่าวหาว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีการไปแจ้งความดำเนินคดี อัยการเตรียมการไปถึงขั้นสั่งฟ้องแล้ว คมช.สั่งให้ยุติการฟ้อง คือสั่งให้อัยการไม่ฟ้องด้วยข้ออ้างว่า เพื่อเห็นแก่ความสมานฉันท์ของคนในชาติ โดยสรุปก็คือ ข้ออ้างที่หนึ่งนี้ ไม่มีมูลใดๆ ทั้งสิ้น ผมถามว่า 3 ปีที่คุณไปอ้าง จนคนเห็นดีเห็นชอบกับการยึดอำนาจ เพราะบอกว่า ก็เพราะรัฐบาลทักษิณหมิ่นสถาบันเอาไว้ได้อย่างไร 3 ปีนี้พิสูจน์ชัดเจนหมดแล้วว่าไม่มีมูลความจริงใดๆ ทั้งสิ้น ถามว่า คมช.ทั้งหลายจะรับผิดชอบยังไง ไม่มีใครรับผิดชอบ แล้วก็แล้วกันไป เหมือนการยึดอำนาจหลายครั้งหลายหนเป็นอย่างนี้ทั้งนั้นละครับ ไปศึกษาดูได้ อ้างเสร็จ ยึดอำนาจเสร็จ เรื่องก็หายไป แล้วก็เจ๊ากันไป ไม่มีอะไรเกิดขึ้นตั้งแต่ผมเป็นเด็กๆ 6 ตุลาฯก็เป็นแบบนี้ รสช.ก็แบบนี้ มารัฐประหารยึดอำนาจจากท่านทักษิณ ไทยรักไทยก็แบบเดียวกัน
เรื่องที่ 2 คือ เรื่องการแทรกแซงองค์กรอิสระ
ที่บอกว่าองค์กรอิสระถูกแทรกแซงมากเหลือเกินในสมัยรัฐบาลทักษิณ ผมถามนิดเดียวว่า ทำไมเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ได้ ถ้ารัฐบาลทักษิณสามารถแทรกแซงองค์กรอิสระ และศาลได้ ทำไมศาลปกครองจึงวินิจฉัยว่า พระราชกฤษฎีกา กฟผ.ที่ออกโดยคณะรัฐมนตรีทักษิณจึงเป็นโมฆะ ถ้าแทรกแซงศาลได้ ถ้าแทรกแซงศาลได้ทำไมศาลปกครองจึงระงับการเลือกตั้งที่มีขึ้นก่อนที่จะมีการยึดอำนาจ ก่อนที่จะถูกตัดสินว่าโมฆะโดยศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าแทรกแซงศาลปกครองได้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ได้ ถ้าแทรกแซงองค์กรอิสระได้ ทำไมกกต.จึงเสนอเรื่องให้ยุบพรรคไทยรักไทยได้ ก่อนที่จะมีการรัฐประหารด้วย และอัยการก็สั่งฟ้องตามนั้น ถ้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมได้ ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ เอาละการแทรกแซงมีขึ้นบ้างในการเมืองที่ชุลมุนกันไปชุลมุนกันมา แต่บอกว่า แทรกแซงเบ็ดเสร็จไปหมดเห็นได้ชัด แล้วเกิดอะไรขึ้นใน 3 ปีนี้ในองค์กรอิสระ และกระบวนการยุติธรรม
เริ่มองค์กรอิสระก่อน คุณกล่าวอ้างกล่าวหาว่าแทรกแซงศาลรัฐธรรมนูญได้ คมช.ยึดอำนาจเสร็จ คมช.ก็ตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งขึ้นมาเฉยๆเป็นกรรมการ ไม่เป็นศาลด้วย ตั้งมาไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษา แต่มาทำหน้าที่มาเป็นกรรมการตุลาการคนหนึ่ง กกต. ป.ป.ช. สตง. เกิดขึ้นในสมัย คมช.ทั้งนั้น เกิดขึ้นในสมัยที่ คมช.มีอำนาจเต็มที่ รับรององค์กรเหล่านี้ มีรัฐธรรมนูญ2550 แล้ว องค์กรเหล่านี้ กรรมการในองค์กรเหล่านี้ยังทำหน้าที่ต่อไปเหมือนเดิม และจะต่อไปอีกประมาณ 5-7 ปี คมช.เป็นผู้เป็นกลางทางการเมืองหรือไม่ ก็ชัดเจนว่า คมช.เป็นผู้ฝักใฝ่ทางการเมือง แผนบันได 4 ขั้นก็บอกแล้วว่า เอาพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล แล้วคุณตั้งองค์กรเหล่านี้ องค์กรเหล่านี้ก็ยังทำหน้าที่อยู่จนทุกวันนี้
สังคมไทยบอกว่า รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งไปแทรกแซงองค์กรอิสระ สุดท้ายยึดอำนาจแล้วมันไม่ใช่แค่แทรกแซงเท่านั้น กลายเป็นองค์กรเหล่านี้ถูกตั้งขึ้นเอง โดยคณะผู้ยึดอำนาจที่ฝักใฝ่การเมือง เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความหมาย การรัฐประหาร 3 ปีมานี้ได้ทำลายความหมายขององค์กรอิสระไปอย่างยับเยินไปแล้ว ไม่มีองค์กรอิสระในประเทศไทย
000
“ปัญหาใหญ่มันอยู่ที่ว่า ระบบการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นของประเทศล้มสลายไปแล้ว เพราะคุณใช้องค์กรที่มาจาก คมช.ตั้งไว้ไม่เป็นกลางมาตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น คนที่ยึดอำนาจด้วยกัน คนที่รวมกันได้อำนาจมาจนถึงวันนี้จะเกรงกลัวการตรวจสอบเหล่านี้ได้อย่างไร ในเมื่อเป็นพวกเดียวกัน โอกาสที่จะคอรัปชั่นเกิดขึ้นมากมายแน่นอน ไม่มีทางปฏิเสธได้ ไม่มีทางป้องกันได้…”
000
เรื่องทุจริตคอรัปชั่น
ซึ่งพูดกันมาก พูดมากเลยเกิน จนกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ว่า โอ้โฮ รัฐบาลไทยรักไทยทุจริตมากมายมหาศาล แล้วก็บอกว่า รับรองหากยึดอำนาจได้ติดคุกกันเต็มไปหมด รับรองได้ว่าติดคุกกันเป็นสิบๆ ปี เป็นร้อยๆ ปี มีเป็นสิบๆคดี เป็นสิบๆเรื่อง เดี๋ยวเดียวก็ติด บอกว่าเดี๋ยวเดียวก็จะติดคุกกันหมด หลังจากยึดอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549 ผ่านไปปีที่หนึ่ง ไม่มี ผ่านไปปีที่สอง ไม่มี ผ่านไปปีที่สาม เสร็จไปหนึ่งคดี และหนึ่งที่คดีที่ว่านี้เป็นคดีที่ตัดสินว่า ทักษิณทำผิดกฎหมายที่ไปเซ็นหนังสือยินยอมให้ภรรยาทำสัญญานิติกรรมกับกองทุนฟื้นฟูธนาคารแห่งประเทศไทย โดยสัญญานั้นเป็นสัญญาที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีการทุจริต ฝ่ายซื้อไม่ผิด ฝ่ายขายไม่ผิด แต่คนเซ็นสัญญายินยอม ผิดกฎหมาย มีเรื่องเดียวเท่านั้น
ปัญหาที่ผมมาพูดไม่มีทาง ที่ใครจะพิสูจน์ได้ ผมเองก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า รัฐบาลไทยรักไทยทุจริตหรือไม่ มากหรือน้อย แต่ปัญหาใหญ่ก็คือ ประเทศนี้ทั้งประเทศไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้อีกแล้ว อย่างที่ทำกันอยู่มา 3 ปีนี้ ไม่มีใครที่จะสามารถพิสูจน์ได้แล้วว่า รัฐบาลทักษิณมีกระทำการทุจริตหรือไม่ เพราะอะไรถึงพูดอย่างนั้น เพราะว่ากระบวนการที่ใช้ไปตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นมันผิด มันผิดตรงที่ได้ตั้งคณะกรรมการคตส.ขึ้นมาสอบสวน มาตรวจสอบสอบสวน คณะกรรมการชุดนี้ไม่ตรวจสอบเรื่องอื่น นอกจากเรื่องที่เกิดขึ้นในรัฐบาลทักษิณ อันนี้ก็ผิดในการตั้งองค์กรขึ้นมาทำเฉพาะเรื่องคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าใครที่เป็นอริโดยตรงกับคนในรัฐบาลทักษิณ ใครที่ประกาศป่าวๆว่าจะเอาทักษิณติดคุกให้ได้ ประกาศดังๆมากๆ คมช.เชิญมาเป็นกรรมการ คตส.เลย ทำอย่างนี้ไม่ได้
ความจริงผมก็มีเรื่องที่ คตส.สอบ แต่ที่ผมพูดต่อไปนี้ก็เป็นความจริงทั้งนั้น รับรองว่าพูดแล้วทำให้คนเห็นความผิดของ คตส.ก็ไปเอาผิด คตส.ไม่ได้ เพราะ คตส.มีภูมิคุ้มกันอยู่โดยรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 309 แต่ผมพูดก็เอาผิดหมิ่นประมาทผมไม่ได้เหมือนกัน เพราะว่าผมพูดแต่ความจริง คตส. สอบสวนทั้งหมด ไม่ได้คำนึงถึงกฎหมายพิจารณาความอาญา ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายพิจารณาความอาญา ไม่ได้คุ้มครองสิทธิผู้ถูกกล่าวหา ผู้ต้องหา เชิญคนไปสอบถามว่า มาในฐานะอะไร บอกว่ามาในฐานะพยาน โอ๊ค เอม อะไรทั้งหลาย อีกหลายคนที่เชิญไปสอบเป็นหลายๆ ชั่วโมงไปในฐานะพยาน เมื่อไปในฐานะพยานก็ต้องมีทนาย แต่เอาใครเข้าไปเป็นเพื่อนก็ไม่ได้ ทนายก็ไม่มี แต่พูดไปแล้ว ผมถามเขาว่า สอบแล้วผมจะกลายเป็นผู้ต้องหาได้ไหม เขาบอกว่าได้ หากได้แล้วทำไมไม่ให้มีทนายกันเลย เขาบอกว่าไม่รู้ แต่ว่าก็สอบแบบนี้แหละ
บังเอิญเราก็ตอบไป โดยคิดว่าก็คงไม่เป็นไร เพราะว่าไม่มีอะไรผิด แต่ว่าการสอบแบบนี้มันผิดหลัก สอบภายใต้ความกดดัน สอบไปคาดคั้นไป ล่อหลอกไป เสร็จแล้วเอาบันทึกไปกล่าวหาหมด เอาไปฟ้อง อัยการไม่เห็นด้วย โต้แย้ง คตส.ไม่ได้ความเห็นจากอัยการแล้วก็ไปให้ทนายฟ้องเอง ป.ป.ช.มาทำคล้ายกันอีก ที่ผิดพลาดมากในการสอบสวนของ ป.ป.ช.และ คตส.ในการสอบสวนคดีทุจริตคอรัปชั่น คือเขาไม่ได้เปิดโอกาสให้ฝ่ายผู้ต้องหาหรือจำเลย ได้แสดงความคิดเห็นได้ต่อสู้ป้องกันตัวอย่างเต็มที่ รวมทั้งได้ปิดกั้นไม่เปิดโอกาสให้มีการนำพยานหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายผู้ต้องหา หรือจำเลยมาแสดงต่อคณะกรรมการที่ตรวจสอบ และจึงทำให้ข้อมูลและหลักฐานเหล่านั้นไม่ถึงศาล อันนี้เป็นอย่างนั้นจริงๆ ในขั้นตอนสอบคดีอัยการถามว่า ทำไมไม่เอาผู้เชี่ยวชาญมาสอบหวยบนดินว่าเป็นสลากกินแบ่งหรือกินรวบ เขาก็ไม่เอามาสอบ เขาถามว่าคุณว่าทุจริต ทำไมคุณไม่เอาสำนวน สตง.เข้ามาดู ว่า สตง.ตรวจสอบว่าทุจริตหรือไม่ อย่างไร คตส.ก็ไม่เอาส่ง ไมเอาส่งเพราะว่าผู้อำนวยการ สตง.มายืนยันกับผมว่า เรื่องนี้ สตง.ตรวจสอบหมดแล้ว ไม่พบการทุจริตใดๆ ทั้งสิ้น
พอมา ป.ป.ช.สอบ ท่านสมชาย พล.อ.ชวลิต ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล สอบไปแล้วผู้ต้องหาที่ถูกตรวจสอบ ขอยื่นหลักฐาน ขอยื่นคำชี้แจง ป.ป.ช. ไม่รับ ถึงเวลาตามกฎหมายต้องรับ นัดประชุม สมมุตินัดประชุมวันอังคาร เขาจะไปยืนวันจันทร์ อันนี้เปลี่ยนมาประชุมวันจันทร์ สรุปไปแล้วไม่ต้องฟังคำชี้แจงผู้ที่ถูกตรวจสอบ อันนี้ไม่ใช่แค่ผิดที่ไม่ทำในสิ่งที่ควรจะทำ ถึงขั้นผิดกฎหมายด้วยป.ป.ช.คนที่เกี่ยวข้องเขาเตรียมที่จะฟ้องร้องเอาเรื่องเอาราว ป.ป.ช.อยู่ เพราะไม่เปิดโอกาสให้เขาชี้แจงตามกฎหมาย ซึ่งเขามีสิทธิตามกฎหมายที่จะชี้แจง ที่ทั้ง คตส.และป.ป.ช.ผิดมาก ผมว่าที่สำคัญที่สุดก็คือ การผิดประเพณีปฎิบัติ ธรรมเนียมปฏิบัติในการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นของข้าราชการ ที่เขาสอบกัน ทั้ง คตส.และ ป.ป.ช.สอบข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ ล้วนเป็นข้าราชการ ผมเป็นประธาน อคพ.กระทรวงมา 2 – 3 กระทรวง เพราะเป็นรัฐมนตรี เวลาสอบข้าราชการก็จะสอบแบบโจรไปปล้น หรือโจรไปฆ่าคนไม่ได้ หมายความว่ายังไง โจรไปฆ่าคน หมายความว่า ผู้ต้องหาสารภาพว่าไปฆ่า เกิดมี นาย ก. นาย ข.เดินมาบอกพนักงานสอบสวนว่า คนนี้ไม่ได้ฆ่า ผมเห็นคนฆ่าเป็นอีกคนหนึ่ง ยังต้องสอบ ยังต้องรับฟังข้อเท็จจริง สอบข้าราชการถ้ามีคนมาบอกว่า ที่เขาไปทำ เป็นการทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ เขาไม่ได้ทำความเสียหายเลย ต้องรีบรับฟัง เพราะว่าสอบเสร็จแล้ว จะต้องให้ความดีความชอบแก่ผู้ถูกสอบ เพราะเขาเป็นข้าราชการมีหน้าที่ไปทำประโยชน์เพื่อบ้านเมือง อันนี้สอบยิ่งกว่าสอบผู้ต้องหาคดีฆ่าคนตาย คือไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายที่ถูกตรวจสอบได้ชี้แจง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น
เพราะฉะนั้นถามว่า ตอนนี้คอรัปชั่นมากกว่าอดีตไหม บอกไม่ถูก รู้แต่ว่าก็เห็นมีมาเรื่อย ปลากระป๋องเน่า ขายข้าวขาดทุน มาถึงเอาเรื่องสองเรื่องมาโยงกันเลยคราวนี้รัฐบาลปัจจุบัน เรื่องที่หนึ่งคือเรื่องหมิ่นเหม่ เรื่องที่สองคือเรื่องคอรัปชั่น ก็คือโครงการชุมชนพอเพียง ชื่อดีๆทำเสียยับเยินหมด อันนี้เรื่องการทุจริตคอรัปชั่น ปัญหาใหญ่ยังไม่ได้อยู่ที่ว่า วันนี้คอรัปชั่นมากหรือน้อยแล้วหรือยัง ปัญหาใหญ่มันอยู่ที่ว่า ระบบการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นของประเทศล้มสลายไปแล้ว เพราะคุณใช้องค์กรที่มาจาก คมช.ตั้งไว้ไม่เป็นกลางมาตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น คนที่ยึดอำนาจด้วยกัน คนที่รวมกันได้อำนาจมาจนถึงวันนี้จะเกรงกลัวการตรวจสอบเหล่านี้ได้อย่างไร ในเมื่อเป็นพวกเดียวกัน โอกาสที่จะคอรัปชั่นเกิดขึ้นมากมายแน่นอน ไม่มีทางปฏิเสธได้ ไม่มีทางป้องกันได้ ใครมีอำนาจอยู่ในมือ และเป็นอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ ก็แน่นอนว่า มันจะนำอำนาจนั้นไปใช้ในทางมิชอบ และเป็นประโยชน์กับตนเอง
เรื่องต่อไปเรื่องการแตกแยกในสังคม
เขาอ้างเป็นข้อแรก คมช.อ้างเป็นข้อแรก เพราะจะมีความแตกแยกในสังคมเกิดความรุนแรงขึ้น ในวันที่ 17 กันยายน กลุ่มพันธมิตรฯประกาศชุมนุมตายเป็นตาย นัดกันวันที่ 20 กันยายน เพราะฉะนั้นเลยต้องยึดอำนาจป้องกันความรุนแรง และรัฐบาลไทยรักไทยนั้นได้สร้างความแตกแยกในสังคมมากมายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
3 ปีมานี้เป็นยังไงครับ คนเห็นตรงกันไหมเรื่องรัฐประหาร ก็ยังไม่ตรงกันเต็มไปหมด คนเห็นตรงกันไหมเรื่องรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ตรงกันเต็มไปหมด หนักกว่าเดิม คนเห็นตรงกันไหมเรื่องรัฐบาล ใครควรเป็นรัฐบาล มันก็ไม่ตรงกันอย่างเดิม คนเห็นตรงกันไหมในเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ว่ามีความยุติธรรมหรือไม่ เมื่อวันที่ 19 กันยาฯที่ผ่านมา 2-3 วันนี้ ก็เห็นแล้วคนที่ชุมนุมไม่พอใจรัฐบาลก็ชุมนุมกันอยู่ ความจริงเป็นการชุมนุมรำลึก 3 ปีรัฐประหาร และดูซิครับคนที่รวมตัวกันยึดอำนาจไปทำอะไรอยู่ที่ศรีสะเกษ อันนั้นความแตกแยกลดลงไหมครับ มันไม่ใช่แตกแยกภายในเท่านั้น ความคิดแบบคมช.ซึ่งกล่าวนำเอาไว้หลังจากยึดอำนาจใหม่ๆจำได้ไหม นี่ข้อมูลอะไร โทรศัพท์อะไรสิงคโปร์รู้หมด ต้องซื้ออาวุธมากขึ้น เพราะเราจะรบ สงสัยรบชนะกัมพูชา หรือลาว ได้ประเทศเดียว
พูดมาแต่ละครั้ง ปลุกความคิดชาตินิยมบ้าคลั่ง มาตั้งแต่ คมช. พอต่อมาพันธมิตรฯมาปลุกปั่นจะเอาปราสาทพระวิหารคืน หนักๆเข้าจะเอาเขาพระวิหารคืน แกนนำพันธมิตรฯบางคนบอกว่าจะเอา พระตระบอง เสียมราช ศรีโสภณคืนด้วยซ้ำ วันนี้ถึงจะไปฮึมๆอยู่ที่ชายแดน และจะไม่ใช่แตกแยกเฉพาะในประเทศ จะเป็นความแตกแยกระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะกลายเป็นความเสียหายมากมายมหาศาล เพราะเราแก้ปัญหาทั้งหมดด้วยความรุนแรง การรัฐประหารคือการใช้ความรุนแรง จะบอกว่า ไม่เสียเลือดเนื้อไม่ใช่หรอกครับ อ้างไม่ได้ว่าไม่เสียเลือดเนื้อ และไม่รุนแรง
ก็ถ้ามีพวกโจรถือปืนเอ็ม 16 เข้ามาร้อยคน เข้ามาในนี้ แล้วมาริบกระเป๋าไปจากทุกคน ต้อนคนไปอยู่ในมุมหมด ทุกคนในนี้ก็ไม่มีปืนซักคน ก็เอากระเป๋าให้ไปหมด และโจรก็ออกไป และรายงานว่า มีคณะบุคคลเข้ามาในนี้และได้หยิบกระเป๋าไปโดยไม่เกิดความรุนแรง รายงานแบบนี้หรือ มันคือการปล้น รัฐประหารก็คือการปล้นอำนาจไปจากประชาชน เมื่อเริ่มต้นจากการปล้นคือการใช้ความรุนแรง การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย การที่คนๆเดียวอยู่เหนือกฎหมายได้ เขียนอะไรเป็นกฎหมายได้หมด ยกเลิกกฎหมายได้หมด แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญ แม้กระทั่งพระราชบัญญัติที่มีพระปรมาภิไธยไว้ยกเลิกไปหมด
เพราะฉะนั้นความคิดของคนในการแก้ไขปัญหาต่อไป แน่นอนว่าจะมีหลายฝ่ายเลียนแบบเอาอย่าง ไม่เชื่อถือระบบ ไม่เชื่อถือกฎหมาย ทั้ง 4 ข้อนี้เห็นได้ชัดครับว่า ล้มเหลวหมด เพราะว่าที่เริ่มต้นก็เริ่มต้นผิด เริ่มต้นจะจัดการกับคนๆเดียวคือนายกฯทักษิณ ผลปรากฏว่า 4 ข้อล้มเหลวหมด แต่ข้อเดียวที่ตั้งใจว่า จะขจัดนายกฯทักษิณก็ทำได้เพียงการเอานายกฯทักษิณออกจากความเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ 3 ปีมาแล้ว ไม่สามารถเอานายกฯทักษิณออกจากหัวใจคนไทยทั้งประเทศได้เลย
ใน 3 ปีนี้เห็นอะไรเพิ่มเติมบ้าง นอกจาก 4 ข้อที่เขาอ้างแล้วล้มเหลว เราจะพบว่าใน 3 ปีมานี้ได้เกิดความเสื่อมต่อกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะวงการตุลาการอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ที่เกิดเป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า เขาได้ใช้ขบวนการตุลาการภิวัตน์เข้ามาจัดการกับการเมือง โดยหวังว่าจะเอาตุลาการภิวัตน์เข้ามาจัดการกับการเมืองแก้ปัญหาการเมือง สุดท้ายพอเข้ามาแล้วมันเลยระโยงระยางกันไปหมด ตุลาการภิวัตน์ องค์กรอิสระ ซึ่งองค์กรอิสระก็มีบทบาทคล้ายๆกับพนักงานสอบสวน และเป็นศาลอยู่กลายๆ ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่เป็นศาล เพียงแต่เขาไม่มีกฎหมายเรื่องหมิ่นอำนาจศาล คนก็วิจารณ์ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญทำอะไรผิดมากๆเข้า คนก็ไปเข้าใจเรียกว่า ศาล แย่มาก ศาลใช้ไม่ได้ ศาลลำเอียง ศาลใช้พจนานุกรมเป็นเครื่องมือในการตัดสิน ศาลตัดสินโดยไม่ทันฟังเลย เตรียมคำพิพากษามาจากบ้าน ศาลตัดสินโดยที่จะหาทางลงให้กับพันธมิตรฯ แล้วพอมาป.ป.ช.ก็หาทางลงเพื่อที่จะให้นายกฯอภิสิทธิ์ในการตั้งผบ.ตร. เลยชี้มูลผบ.ตร.ว่ามีความผิด มันพัลวันกันหมด คนแยกไม่ออกว่าศาลไหน
ความจริงปัญหาใหญ่อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ทำหลายอย่างไม่ถูกหลักถูกเกณฑ์ แนวคิดตุลาการภิวัตน์เอาเข้ามาแล้ว เข้าใจผิดมาก เอาเข้ามาแล้วตั้งให้ผู้พิพากษาฝ่ายศาลมามีอำนาจในการตั้ง ส.ว.ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ส.ว.มีอำนาจในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งขั้นสูง รวมทั้งผู้พิพากษา ระโยงระยางกันไปมาก็เกิดระบบต่างตอบแทนขึ้น ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันขึ้น กลายเป็นระบบนี้ มันจะกลายเป็นระบบที่โปร่งใส ยุติธรรมไม่ได้ ทำหนักไปกว่านั้นเขียนรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถเสนอกฎหมายเองได้ อันนี้ผิดอย่างมาก ผิดหลักการในการแบ่งแยกอำนาจ และยังได้บอกด้วยว่า ให้ศาลสามารถเสนอคำแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการงบประมาณได้เอง ก็หมายความว่าศาลสามารถไปต่อรองกับกรรมาธิการงบประมาณ ซึ่งเป็นคนของรัฐบาล เป็นคนของฝ่ายนิติบัญญัติ ต่อรองกันก็ต้องมีได้มีเสีย คนลองต่อรองกันก็ต้องมีฝ่ายหนึ่งได้เรื่องนี้ ฝ่ายหนึ่งเสียเรื่องนั้น หรือฝ่ายเราได้เรื่องหนึ่งต้องเสียเรื่องหนึ่ง เอาศาลเข้ามาพัวพันอย่างนี้ได้อย่างไร รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำมาหมดครับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่น่าแปลกใจเลยที่เมื่อเร็วๆนี้มีโพลออกมาแล้วคนก็บอกว่า ประชาชนกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ที่ตอบคำถามในโพล ซึ่งน่าจะแทนความเห็นคนจำนวนมากได้ ไม่เชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมแล้ว ใน 3 ปีมานี้ ถ้าครบ 2 ปีที่แล้วพูดเรื่องตุลาการภิวัตน์ เรื่องกระบวนการยุติธรรมก็ไม่ชัดเจนเท่าวันนี้
“เรื่องที่มันเห็นชัดที่สุดในความหมายคำว่า “อำมาตย์” คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีการหารือกันที่บ้านนายปีย์ มาลากุล 2 - 3 ครั้ง มีใครอยู่ที่นั้นบ้าง หารือกันเรื่องอะไรบ้าง และมีคนออกมาเปิดเผยบอกว่า ที่หารือกันนั้นมีบอกว่า จะทำยังไงให้ทักษิณหายไป มีการพูดกันเตรียมการรัฐประหาร มีการนำเรื่องนี้มาเปิดเผยกันหลายครั้งหลายหน ไม่มีใครออกมาแก้ต่าง ผมติดใจทำไมไม่มีใครออกมาแก้ต่าง เอาเรื่องอะไรเลย และถ้าเป็นไปตามนั้น มันก็บอกได้ชัดว่า ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจ และถ้าพูดต่อไปคือ ใครคือผู้มีอำนาจตัวจริงในบ้านเมืองนี้...”
อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่พูดชัดเท่าวันนี้ก็คือคำว่า “อำมาตย์ หรือ อำมาตยาธิปไตย”
ช่วงยึดอำนาจใหม่ๆผมต้องนึกคำมากว่า จะเรียกอะไรดี มันเป็นระบบที่ข้าราชการ จะว่าข้าราชการก็ไม่ใช่ ก็ใช่อยู่บ้าง ก็เป็นผบ.ทบ. ข้าราชการนำโดยทหาร พอหนักๆเข้าก็ไม่ใช่อีกจะเรียกว่าอะไร พอมีบางคนเรียกว่า “อำมาตย์” คนก็มาทักว่า ไม่น่าจะเรียกว่าอำมาตย์เลย มันน่าจะไม่ตรง นักวิชาการบางคนก็เรียกว่า “อำมาตย์” และบางทีก็หายๆ ไป ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมานี้ เพราะ 2 ปีมานี้ผมพูดไม่ถนัดในเรื่องว่า คนทั่วไปไม่เข้าใจคำว่า “อำมาตย์” พูดใช้คำว่า อำมาตยาธิปไตย พูดได้ไม่ค่อยเต็มปาก ในปีหนึ่งมานี้ทำไมเป็นอย่างนี้ ผมว่ามี 2 เหตุการณ์มันฟ้องดี ความจริงมีอีกหลายอย่าง ใครไปฟังคุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ คุณจตุพร พรหมพันธุ์ ท่านวีระ มุกสิกพงษ์พูด ก็ได้ข้อมูลไปเยอะแล้วนะครับ
แต่ว่าในบรรดาเรื่องเหล่านั้น เรื่องที่มันเห็นชัดที่สุดในความหมายคำว่า “อำมาตย์” คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีการหารือกันที่บ้านนายปีย์ มาลากุล 2 - 3 ครั้ง มีใครอยู่ที่นั้นบ้าง หารือกันเรื่องอะไรบ้าง และมีคนออกมาเปิดเผยบอกว่า ที่หารือกันนั้นมีบอกว่า จะทำยังไงให้ทักษิณหายไป มีการพูดกันเตรียมการรัฐประหาร มีการนำเรื่องนี้มาเปิดเผยกันหลายครั้งหลายหน ไม่มีใครออกมาแก้ต่าง ผมติดใจทำไมไม่มีใครออกมาแก้ต่าง เอาเรื่องอะไรเลย และถ้าเป็นไปตามนั้น มันก็บอกได้ชัดว่า ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจ และถ้าพูดต่อไปคือ ใครคือผู้มีอำนาจตัวจริงในบ้านเมืองนี้ และอันนั้นคือตัวบอกว่า ผู้มีอำนาจตัวจริงในบ้านเมืองนี้คือ อำมาตย์ และระบบที่ใช้ปกครองประเทศนี้คือ อำมาตยาธิปไตย ถ้าคนที่มายืนยันได้ดีที่สุดใน 2-3 วันนี้ต้องขอบคุณอีกครั้ง คือพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ท่านบอกว่าท่านยึดอำนาจมา ท่านไม่ได้คิดอะไรเลย ท่านคิดว่าเป็นหน้าที่ในการที่จะเอานายกฯทักษิณออกไป ท่านเป็นผบ.ทบ. นอกนั้นไม่รู้อะไรแล้ว ก็ทำตามแผนบันได 4 ขั้น เขาบอกให้ทำอะไรก็ทำไป ความหมายคืออย่างนั้น
ทำให้เห็นว่า 3 ปีมานี้การเมืองไทย ระบบการเมืองหลังรัฐประหารใน 3 ปีมานี้ เทียบเคียงกับระบบการเมืองหลังการรัฐประหารในอดีต เช่น ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมจอมพลสฤกษ์ ธนรัตน์ ต่างกันลิบ ต่างกันตรงไหน จอมพล ป. พิบูลสงครามคือเป็น ผบ.ทบ.และยึดอำนาจเป็นนายกฯ มีอำนาจสูงสุดเต็มที่ , จอมพลสฤกษ์ ธนะรัชน์ เป็นผบ.ทบ.ยึดอำนาจมีอำนาจสูงสุดเต็มที่
จากคำพูดของพล.อ.สนธิใน 3 วันนี้ พล.อ.สนธิ ซึ่งเป็นผบ.ทบ.เป็นเด็กนิดเดียว และผู้ใหญ่คือใคร อันนี้มันบอกว่าการเมืองมันเปลี่ยนไปจริงๆ ก็คือว่า ที่เขาพูดๆกันว่าระบอบอำมาตยาธิปไตย อ๋อ..มันก็เป็นอย่างนี้นี่เอง เห็นชัดเจน ใน 3 ปีมานี้ที่สำคัญมาก ที่ผมคิดว่าทำให้มีการเปลี่ยนแปลงมากๆ ที่ผมพูดไป เป็นเรื่องที่ประชาชนเป็นล้านๆ คนเขาเข้าใจกันหมดแล้ว ความไม่ยุติธรรม ความล้มเหลวในการทำลายระบบการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น ตุลาการภิวัตน์ที่ทำให้เสื่อมขบวนการยุติธรรมเสื่อม ใครอยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจ ใครคือผู้มีอำนาจแท้จริงในประเทศนี้ ประชาชนเป็นล้านๆคนรู้หมดแล้ว
เพราะฉะนั้นมาสู่เรื่องที่ว่า อย่างนี้บ้านเมืองจะไปยังไงกันต่อ ความเสียหายที่มันเกิดขึ้นมันมากมาย ให้มาพูดฐานะอดีตรักษาการหัวหน้าไทยรักไทย และต้องขอพูดเรื่องพรรคการเมืองหน่อย เกิดอะไรกับพรรคการเมืองในขณะนี้ยุบพรรคไทยรักไทย มีการยุบพรรคไทยรักไทยจากความผิดของบุคคล และมีการใช้กฎหมายเผด็จการไปย้อนหลังไปเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหาร 111 คน โดยคณะกรรมการตุลาการที่มาจากการแต่งตั้งของเผด็จการ มันก็เกิดกรณีที่พรรคการเมืองก็อ่อนแอลง ไม่หยุดแค่นั้นด้วย ไม่หยุดแค่พรรคไทยรักไทย กรณีของพรรคไทยรักไทย พรรคการเมืองหนึ่งลงสมัครรับเลือกตั้ง ไปหาทางสนับสนุนให้พรรคการเมืองอื่นลงสมัครรับเลือกตั้ง ถูกตัดสินว่า ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย แต่พรรคการเมืองที่ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ไปต่อต้านคัดค้านการลงสมัครรับเลือกตั้งพรรคการเมืองอยู่รอดปลอดภัยทุกอย่าง อันนี้เกิดขึ้นกับพรรคการเมือง
พรรคการเมืองที่ถูกยุบตามมาคือ พรรคพลังประชาชน พรรคมัชฉิมาธิปไตย พรรคชาติไทย ทั้ง 3 พรรคนี้ เท่าที่จำตัวเลขได้ก็ดูเหมือนพรรคชาติไทยมีการใช้เงินหมื่นกว่าบาท บางพรรคใช้สอบสวนแล้วเชื่อว่าทุจริต ไม่มีจำนวนเงินด้วยว่าใช้เท่าไร แต่พรรคประชาธิปัตย์มีการเอาเงินจากบริษัทเอกชนมาใช้จ่ายในแกนนำของพรรค 258 ล้าน ดีเอสไอไปตรวจสอบมีหลักฐานชัดเจนเป็นคันรถๆ ยืนยันว่าทุจริต ผิดกฎหมายพรรคการเมืองแน่นอน 3 พรรคนั้นบางพรรคหมื่นกว่าบาทยุบไปแล้ว เพิกถอนสิทธิไปแล้ว แต่ 258 ล้านมีพนักงานตรวจสอบอย่างดี ยังพิจารณาไม่เสร็จ และที่พิจารณาไม่เสร็จ ทีแรกพรรคประชาธิปัตย์ก็ทำท่าว่า จะสนับสนุนแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 237 เพราะข่าวว่า สงสัยจะไปไม่รอดเรื่องเงิน 258 ล้าน มาวันนี้พรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนท่าที คือไม่สนใจการแก้รัฐธรรมนูญแล้ว ผมก็สงสัยไว้ก่อนว่า ข่าวที่ออกมาว่าอนุกรรมการลงมติกันไปเสียงส่วนใหญ่หลุดหมด ความผิดไม่ถึงพรรคประชาธิปัตย์เลยนั้นคงจะเป็นความจริง
เพราะฉะนั้นพรรคการเมืองเราก็มาอยู่ในสภาพยังไง อ่อนแอ นักการเมืองไม่ค่อยมีใครอยากเป็น กรรมการบริหารพรรค ต้องอาศัยคนเสียสละ คนกล้าจริงๆ แล้วก็เหลือกรรมการเล็กๆ ไม่มีการแข่งขันในนโยบายแล้ว ก็ยังดีพรรคเพื่อไทยพยายามทำอยู่ พรรคการเมืองอื่นๆ เขาถืออะไรตอนนี้ เขาถือหลักว่า ยอม ถ้าไม่ยอมสยบให้กับผู้มีอำนาจก็มีหวังถูกยุบอีก ก็ยอมสยบซะดีกว่า มันเป็นเรื่องคณิตศาสตร์ไปแล้ว สยบกับผู้มีอำนาจเสร็จ ก็คิดคณิตศาสตร์ใช้วิธีไหนก็ได้ ดึงคนวิธีไหนก็ได้ขอแค่ให้ได้มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งก็เป็นอันใช้ได้ อันนี้เป็นผมพูดเหตุการณ์การเมืองก่อนการรัฐประหาร มันแตกต่างกันลิบลับหลังการรัฐประหาร
บทบาทของทหาร 3 ปีมานี้ นอกจากรัฐประหารซึ่งเห็นมาก่อนแล้ว ใน 1 ปีมานี้เห็นชัดครับว่า ทหารไม่ได้กลับเข้ากรมกองเลย ทหารมามีบทบาทในการล้มรัฐบาล จะให้รัฐบาลไหนอยู่หรือไม่อยู่ ขึ้นอยู่กับผบ.ทบ.ผู้นำเหล่าทัพ การชุมนุมของพันธมิตรฯ ทหารบอกวางตัวเป็นกลาง การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง ไม่ต้องการใช้ความรุนแรง นายกฯควรจะลาออก นายกฯควรจะยุบสภา ผบ.ทบ.พูดทั้งนั้น พอตอนนี้แค่พูดว่า จะไปชุมนุมรำลึก 19 กันยาฯ ลวดหนามเต็มหมด ทหารเป็นพันๆเต็มหมด ไหนว่าการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง ไหนว่าทหารจะไม่ใช่ความรุนแรง แล้วสงกรานต์หมายว่าอะไร ขั้นตอนสลายการชุมนุมเริ่มต้นเขาบอกว่า เริ่มต้นใช้ไมโครโฟนไปเตือน แล้วเริ่มแรงขึ้นเป็นขั้นๆ จากน้ำไปเป็นกระบอง วันนั้นเริ่มต้นจากเอ็ม 16 แล้วตามด้วยรถฮัมวี่ รถถัง
ก่อนหน้านี้ชัดเจนไปตั้งรัฐบาลกันในค่ายทหาร เพราะฉะนั้นบทบาทของทหารเปลี่ยนแปลง รัฐประหาร 3 ปีมานี้ได้ทำบทบาทของทหารเปลี่ยนไปอย่างมาก ก็คือทหารไทยกลายเป็นผู้ชี้เป็นชี้ตายรัฐบาล เป็นผู้ที่กำหนด เขาอาจจะรับคำสั่งใครมาก็แล้วแต่ แต่เขาเป็นผู้ร่วมชี้ว่า ใครจะเป็นรัฐบาลต่อไปได้หรือไม่ เขาจะให้ใครเป็นก็ได้ ไม่ให้ใครเป็นก็ได้ ก็ง่ายนิดเดียวก็ไม่ให้ความร่วมมือในการชุมนุม จะให้เป็นก็คือ ช่วยแก้ไขปัญหาการชุมนุม
เรื่องที่แย่มากๆที่พูดไปว่า ก่อนรัฐประหารเรามีรัฐบาล ความจริงก่อนรัฐบาลไทยรักไทย ประเทศไทยมีปัญหามาโดยตลอด ถ้าไม่ใช่เป็นรัฐบาลคนกลาง รัฐบาลเผด็จการ เป็นรัฐบาลพลเรือนมาจากการเลือกตั้ง ที่ล้มลุกคลุกคลานตลอดไม่มีเสถียรภาพ นายกฯทำอะไรไม่ได้ ต้องฟังพรรคร่วมรัฐบาลเต็มไปหมด นโยบายเขียนโดยสภาพัฒน์ฯ พรรคไทยรักไทยมาเปลี่ยน ทำให้นโยบายมาจากประชาชน มาจากพรรคการเมือง และมีนายกฯที่มีประสิทธิภาพ มีความเข้มแข็ง เนื่องจากรัฐธรรมนูญเขียนไว้ บัญญัติไว้ต้องการให้เป็นอย่างนั้น ใน 3 ปีมานี้เกิดอะไร รัฐบาลสุรยุทธ์ รัฐบาลขิงแก่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนนั้น น้ำท่วมก็รอจนน้ำแล้งแล้วยังไม่ไปเยี่ยมเลย เสร็จแล้วก็มารัฐบาลท่านสมัคร ซึ่งก็มีนโยบายดีพอสมควร ทำอะไรมากไม่ได้อีก เพราะว่าต้องมาแก้ปัญหาพันธมิตรฯ เมื่อแก้ปัญหาพันธมิตรฯเสร็จยังต้องมาพะวงกับเรื่องตัวเองอีก ทำครัวออกทีวีถูกถอดออกไปอีก
การบริหารประเทศไม่มีสมาธิ เพราะพลังหลายฝ่ายรุม รุกเร้าเพื่อจะล้มรัฐบาลให้ได้ เพราะแผนบันได 4 ขั้นยังไม่สำเร็จ รัฐบาลท่านสมชายมา 2 เดือนกว่า ท่านมาในขณะที่ทำเนียบถูกยึดไปแล้ว ไม่มีเวลาบริหารประเทศ ไม่มีสมาธิทั้งนั้น เขาอาจจะบอกว่า ทำให้รัฐบาลประเภทที่เชื้อสายไทยรักไทยทั้งหลาย โยงกับไทยรักไทยทั้งหลายทำไม่ได้ ซึ่งประสบความสำเร็จนะ คือเอาจนออกไป แล้วออกไปจนหมดทุกรัฐบาลละ จนมาเป็นฝ่ายค้าน ถ้าหากเขาจะสำเร็จอะไรบ้างก็คือว่า ควรจะต้องได้รัฐบาลอภิสิทธิ์ที่บริหารประเทศได้ แต่นี้พอปรากฎว่า ได้รัฐบาลอภิสิทธิ์มาบริหารประเทศ รัฐบาลอภิสิทธิ์บริหารประเทศไม่ได้ เพราะว่าที่มามันไม่ชอบธรรม และรัฐบาลอภิสิทธิ์เป็นหนี้บุคคลหลายฝ่ายเหลือเกิน เป็นหนี้บุญคุณทหารและรัฐมนตรีกลาโหม เป็นหนี้บุญคุณกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นหนี้บุญคุณพรรคร่วมรัฐบาล เป็นหนี้บุญคุณสื่อบางแขนง บางคน
พอกลุ่มพันธมิตรฯบอกว่า ต้องช่วยจัดการคดีลอบสังหาร ก็พอไปตรวจสอบก็บอกว่า เจอตอก็จะไปเล่นงานพล.ต.อ.พัชรวาท ก็เจอรมว.กลาโหมคุมอยู่ พรรคร่วมฯเล่นแง่กัน เอากระทรวงหลักๆ ไปหมด เหลือกระทรวงการคลังกระทรวงเดียว มีไว้เพื่อสำหรับกู้เงิน ขึ้นภาษี ทำอะไรไม่ได้เลย นายกรัฐมนตรีจึงไม่สามารถนำพาประเทศได้ เพราะไม่สามารถนำทางนโยบายอะไรได้ คุมกระทรวงเดียวซึ่งไม่ได้ทำอะไรได้ และทำอะไรไม่ได้แล้ว และยังต่อรองกับรัฐมนตรี สั่งการ ประสานงานอะไรกับรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆไม่ได้ ไม่อยากตั้งก็ต้องตั้ง อยากตั้งไม่ได้ตั้ง ไม่อยากตั้งปลัดกระทรวงพาณิชย์ ไม่อยากตั้งกระทรวงมหาดไทย ไม่อยากเอาใจพรรคร่วมรัฐบาล และยังต้องการต่อรองเรื่องตำแหน่งผบ.ตร.ก็เกี่ยงไม่ตั้งๆ สุดท้ายต้องตั้งหมด แต่ที่อยากตั้งแต่ตั้งไมได้ทุกวันนี้ ถามว่าตั้งผบ.ตร.ไม่ได้เป็นยังไงบ้าง ก็ตำแหน่งเดียว แค่ตำแหน่งเดียวเท่านั้นไม่เป็นไร ตั้งเมื่อไรก็ได้ เมื่อก่อนจะตั้งหลายตำแหน่งเลย ตั้งไม่ได้อีก ถ้ากลับไปถามก็คงบอกว่า ก็ไม่เป็นไร ที่ตั้งหลายตำแหน่งไม่ได้ เพราะว่ารอตำแหน่งเดียวก่อน
000
“เพราะฉะนั้นถ้าจะแก้ปัญหาประเทศให้ได้ ถ้าหวังจะให้มีรัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ต้องแก้กติกา รีบแก้กติกาแล้วไปเลือกตั้งครับ อย่าไปอยู่นาน เพราะอยู่นานก็แก้ปัญหาประเทศไม่ได้ ไม่มีภาวะผู้นำ หมดภาวะผู้นำไปแล้ว รีบแก้กติกา แล้วยุบสภา แล้วไปเลือกตั้ง เสร็จแล้วแก้ใหญ่ แก้รัฐธรรมนูญใหญ่ทั้งฉบับ ประชาชนทั้งประเทศตัดสินอีกรอบหนึ่ง…”
000
ภาวะผู้นำหมดไปแล้ว ในเมื่อสั่งการประสานงานรัฐมนตรีในครม.ไม่ได้เลยอย่างนี้ แล้วจะบริหารยังไง นโยบายเศรษฐกิจก็ไม่มี ไม่ได้มาจากการยืนประกาศนโยบาย 1 , 2 , 3 ,4 ลงเลือกตั้งแล้วให้ประชาชนเลือก แต่คุณได้มา เพราะคุณเอาทหารมายึดอำนาจรัฐบาลไทยรักไทยเขา เสร็จแล้วคุณก็เขียนรัฐธรรมนูญกัน เลือกตั้งแพ้อีกคุณก็ล้มเขาด้วยกลไกตามรัฐธรรมนูญ แล้วก็ใช้กำลังทหารบังคับ ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร เพราะฉะนั้นมันก็แก้ปัญหาไม่ได้ ประเทศไทยจึงมาอยู่ในสภาพที่เป็นวิกฤตมาก วิกฤตคราวนี้มันเกิดขึ้นเนื่องจากการรัฐประหารครั้งนี้ มันไม่ใช่รัฐประหารแล้ว พอได้รัฐธรรมนูญ ได้เลือกตั้งก็เลิกกันไปกลับเข้ากรมกอง มันไม่จริง สำคัญคือมันได้สร้างกติกาที่ไม่ยุติธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง
คือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เป็นกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง ด้วยวัฒนธรรมการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ถูกครอบงำโดยบุคคลที่มีอำนาจในสังคมผสมเข้าไปด้วย จึงทำให้ประเทศมาอยู่ในวิกฤตอยู่ในปัจจุบัน
มีรัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้ คนอยากจะเปลี่ยนก็เปลี่ยนไม่ได้ บอกให้ยุบสภาแล้วก็ไม่ยุบ แล้วถ้ายุบแล้วก็ยังมีปัญหาตามมาอีก ยุบแล้วถ้าประชาธิปัตย์ชนะเป็นรัฐบาลไปแต่ก็คงบริหารไม่ได้ และรอวันที่ประชาชนไล่ เพราะบริหารไม่ได้ แต่ถ้าพรรคประชาธิปัตย์แพ้ พรรคเพื่อไทยชนะ และเกิดอะไรขึ้น รัฐธรรมนูญแบบนี้ก็ง่ายนิดเดียว ยุบพรรคง่ายนิดเดียว ผู้สมัครไม่เป็นกรรมการ คุณก็บอกว่าคุณประชุมกันอยู่ สมมุติว่ามาประชุมกันที่นี้อีก เวลาไปเลือกตั้ง หรือประชุมกันที่ไหนก็แล้วแต่ เขาบอกว่า กรรมการบริหารปล่อยปะละเลย ให้ผู้สมัครไปกระทำการทุจริต ไปอ่านรัฐธรรมนูญดู รู้เห็นเป็นใจ หรือปล่อยปะละเลย แล้วปล่อยปะละเลย มันคืออะไร ประชุมอยู่ หรือไปหาเสียงคนละจังหวัด ก็ปล่อยปะละเลยได้อีก ผู้สมัครอีกจังหวัดหนึ่งทุจริตได้ ก็ยุบได้อยู่ดี
เพราะฉะนั้นการเมืองไทยจึงอยู่ในวิกฤต ซึ่งวิกฤตคือเปลี่ยนรัฐบาลไม่ได้ ทั้งๆที่คนไม่พอใจ และยังมีกติกาใหญ่ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เลือกตั้งมาก็เอาอำนาจไปจากประชาชนได้ มีความไม่ยุติธรรมเต็มไปหมด โดยองค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยกระบวนการยุติธรรมที่ถูกบิดเบือน เบี่ยงเบนไป ทำให้ประเทศไทยเสียหายในการจะแก้ปัญหา วิกฤตเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง คนที่บอกว่า การเมืองยุติไปเถอะ เสื้อแดงหยุดชุมนุม ทุกอย่างก็จะกลับมาปกติ รัฐบาลก็จะแก้ปัญหาได้ มันไม่จริง เพราะรัฐบาลก็แก้ไม่ได้อยู่ดี และไม่จริง เพราะว่าประชาชนทั้งประเทศ ประชาชนวันนี้ถ้าวัดกันแล้วให้ไปลงคะแนนกัน ถามว่าประชาชนส่วนใหญ่เขาพอใจรัฐบาลชุดนี้ไหม ผมเชื่อว่าให้ลงคะแนนกันแบบยุติธรรม เขาก็จะบอกว่า ไม่เอารัฐบาลนี้ ไม่ใช่เป็นเพราะเสื้อแดงหรือไม่เสื้อแดงหรอก และเขาไม่พอใจระบบนี้
เพราะฉะนั้นถ้าจะแก้ปัญหาประเทศให้ได้ ถ้าหวังจะให้มีรัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ต้องแก้กติกา รีบแก้กติกาแล้วไปเลือกตั้งครับ อย่าไปอยู่นาน เพราะอยู่นานก็แก้ปัญหาประเทศไม่ได้ ไม่มีภาวะผู้นำ หมดภาวะผู้นำไปแล้ว รีบแก้กติกา แล้วยุบสภา แล้วไปเลือกตั้ง เสร็จแล้วแก้ใหญ่ แก้รัฐธรรมนูญใหญ่ทั้งฉบับ ประชาชนทั้งประเทศตัดสินอีกรอบหนึ่ง
แต่อย่าใช้กระบวนการมาซื้อเวลา จะแก้ 2 มาตรา บอกว่าจะไปประชาพิจารณ์ จะไปประชามติ อันนี้ไม่มีความจริงใจ เพราะอย่างนั้นผมก็เสนอว่า รีบแก้รัฐธรรมนูญตามแนวทางของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯก่อน ยุบสภาแล้วเลือกตั้ง เมื่อเลือกตั้งมาแล้วประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาล ผมคิดว่าประชาชนที่เขาไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ เขาก็คงจะยอมให้เป็นรัฐบาลไป ถ้าบริหารล้มเหลว ทุจริตคอรัปชั่นกันมาก เขาก็อาจจะมาประท้วงกันอีก ต่อต้านกันอีก แต่เขาก็จะให้โอกาสในการบริหาร และถ้าหากฝ่ายหนึ่งชนะบ้าง ก็หวังว่าพวกที่ไม่ยอมรับกติกาซักที พวกที่ไม่ยอมรับเสียงส่วนใหญ่มาตลอด อย่างกลุ่มพันธมิตรฯ จะยอมรับเสียงส่วนใหญ่บ้าง และเมื่อเราผ่านกระบวนการที่ให้แก้รัฐธรรมนูญโดยประชาชนทั้งประเทศมีส่วนร่วม
ผมยังมีความเชื่อมั่นว่า ถ้าให้ประชาชนตัดสิน ไปลงประชามติกันว่า จะเอารัฐธรรมนูญปี 40 หรือ 50 อย่าลงประชามติภายใต้กระบอกปืน ภายใต้กฎอัยการศึกเหมือนอย่างครั้งที่แล้ว นั้นแหละเชื่อว่าประชาชนทั้งประเทศจะเลือกเอารัฐธรรมนูญปี 40 กลับคืนมา ถ้าไม่ไปทางนี้ก็ยืดเยื้อกันไปอีกนาน และประเทศจะยังอยู่ในวิกฤตอีกนาน จะประสบความเสียหายอย่างยับเยินไปอีกนาน ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ทั้งในแง่ความขัดแย้ง ความแตกแยกที่รุนแรง แต่ความเสียหายต่อชีวิตเลือดเนื้อจะตามมาในอนาคต เพราะฉะนั้นต้องรีบหาทางออกกันโดยเร็วที่สุด