ที่มา มติชน
ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา มีความรู้สึกที่บรรยายไม่ถูก ทั้งเศร้า หดหู่ อเนจอนาถ สังเวชใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นหลายเรื่องโดยเฉพาะการแย่งชิงเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)
ไม่น่าเชื่อว่า แค่ข้าราชการประจำตำแหน่งเดียว ทำให้รัฐบาลปั่นป่วน เกิดความแตกแยกขัดแย้ง จนนายกรัฐมนตรีในฐานะประมุขฝ่ายบริหารต้องสูญเสียภาวะผู้นำ รัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาล ข้าราชการประจำไม่ให้ความเคารพเกรงใจ จัดประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ(ก.ต.ช.)ครั้งแล้วครั่งเล่า ก็ยังไม่สามารถแต่งตั้ง ผบ.ตร.ได้
ในอดีตโดยเฉพาะยุครัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม อธิบดีกรมตำรวจเป็นตำแหน่งที่สำคัญ มีอิทธิพลและเรืองอำนาจ มีกองทัพอันเกรียงไกรสามารถค้ำยันเสถียรภาพของรัฐบาลได้
ในยุคหลังแม้อำนาจจะลดน้อยถอยลง แต่ยังมีอิทธิพลและเต็มไปด้วยผลประโยชน์เพราะรวมศูนย์อำนาจการควบคุมตำรวจทั่วประเทศ 300,000 คนไว้ในมือ ผบ.ตร.
นักการเมืองจึงพยายามเข้าควบคุมตำแหน่งดังกล่าวเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและแสวงหาผลประโยชน์
การแย่งชิงเก้าอี้ ผบ.ตร.จึงดุเดือดไม่แพ้สุนัขแย่งเศษกระดูกซึ่งสุนัขที่แย่งเศษกระดูกคิดแต่จะครอบครองเศษกระดูกเพื่อผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น โดยมิได้คิดถึงเรื่องอื่นๆ
จึงมีคำถามว่า หลังจากแย่งชิงตำแหน่ง ผบ.ตร.สำเร็จแล้ว ประชาชนจะได้อะไร มีใครคิดจะทำประโยชน์แก่ส่วนรวม หรือพัฒนาวงการสีกากีให้ดีขึ้น รวมถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น(ขั้นกลาง และขั้นสุดท้ายก็กำลังวิกฤต)ที่กำลังเสื่อมทรามอย่างหนัก
มีข่าวที่เล่าลือกันทั้งในที่ลับและในสื่อมวลชนถึงกระบวนการแย่งชิงเก้าอี้ ผบ.ตร.จำนวนมาก แต่ไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่า ข่าวดังกล่าวจริงหรือไม่ ที่สำคัญ ได้แก่
หนึ่ง มีการแอบอ้าง"สัญญาณพิเศษ"ผลักดันให้ รอง ผบ.ตร.คนหนึ่งขึ้นเป็น ผบ.ตร.
ทั้งนักการเมือง ข้าราชการและ รอง ผบ.ตร.คนที่แอบอ้าง "สัญญาณพิเศษ"ดังกล่าว ช่างไร้ศักดิ์ศรีและไร้ยางอายอย่างมากเพราะแทนที่จะถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผล ด้วยความรู้ความสามารถของบุคคลที่ควรดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.มากกว่าการอ้าง"สัญญาณพิเศษ"ที่จับต้องไม่ได้ และไม่ต้องรับผิดชอบใดๆทั้งทางการเมืองและทางกฎหมาย
ลองนึกดู ถ้าปล่อยให้มีการแอบอ้างและทำตาม"สัญญาณพิเศษ"ในลักษณะเช่นนี้ในการบริหารราชการแผ่นดิน เท่ากับบ้านเมืองไร้ขื่อ ไร้แปซึ่งจะนำไปสู่วิกฤตและการล่มสลายของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
สอง มีการอ้างว่า เลขาธิการนายกรัฐมนตรีซึ่งเชื่อ "สัญญาณพิเศษ"เที่ยวไปล็อบบี้ กรรมการ ก.ต.ช.หลายคนให้เลือกรอง ผบ.ตร.สวนทางกับนายกรัฐมนตรี
เลขาธิการนายกฯนั้นเป็นนักการเมืองที่คร่ำหวาดอยู่ในแวดวงการเมืองมานาน ย่อมรู้จักความควรไม่ควรว่า ตนอยู่ในฐานะตำแหน่งใด
จึงเป็นไปไม่ได้ที่ เลขาธิการนายกฯจะหน้าด้าน ไร้มารยาท จนไปเที่ยวกระทำการที่เป็นปฎิปักษ์กับ"ผู้บังคับบัญชา"ของตนเอง ทั้งๆที่ดำรงตำแหน่งอยู่
ถ้าคิดที่จะกระทำการเช่นนั้นก็ควรลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกฯเสียก่อน หรือทางที่ดีควรลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ด้วย
สาม มีการอ้างว่า นายกรัฐมนตรีผลักดันนายตำรวจระดับรอง ผบ.ตร.ขึ้นเป็น ผบ.ตร.เพราะทำตามใบสั่งของแกนนำบางคนของกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม
จริงอยู่ แม้นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบหรือรับผลการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ทั้งในทางการเมืองและตามกฎหมาย แต่มิได้หมายความว่า นายกฯสามารถทำตามใบสั่งที่ไร้เหตุผลและความชอบธรรม เพราะ นอกจากจะสะท้อนให้เห็นว่า นายกฯไร้วุฒิภาวะแล้ว ยังสูญสิ้นศักดิ์ศรีความเป็นผู้นำอีกด้วย
เป็นได้อย่างมากเพียง"หุ่นเชิด"ของกลุ่มการเมืองดังกล่าวเท่านั้น
สิ่งที่นายกรัฐมนตรีควรทำคือ ละเลิกมิจฉาทิฐิ หยุดหมกหมุ่นอยู่กับการเอาชนะคะคาน แต่ต้องกระประกาศนโยบายในการปฏิรูประบบตำรวจให้มีประสิทธิภาพและสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง(มีกรอบหรือโจทย์ชัดเจน) แล้วให้นายตำรวจที่มีคุณสมบัติสามารถขึ้นเป็น ผบ.ตร.มาเสนอแนวทางแผนงาน แผนปฏิบัติการในการปฏิรูปตำรวจต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อใช้ในการคัดเลือก ผบ.ตร.โดยนายกรัฐมนตรีต้องตั้งคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนและได้รับความเชื่อถือจากสังคมขึ้นมาพิจารณาแผนการการปฏิรูประบบตำรวจ
ในการเสนอแผนการปฏิรูประบบตำรวจนั้นต้องทำกันอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะและถือเป็นสัญญาที่ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็น ผบ.ตร.ต้องทำให้สำเร็จตามแผน มิเช่นนั้นต้องถูกประเมินให้พ้นจากตำแหน่ง
นายกรัฐมนตรีอาจให้เวลาให้ผู้ที่ต้องการเสนอตัวเป็น ผบ.ตร.สัก 1-2 เดือนไปจัดการทำแผน โดยไม่จำเป็นต้องรีบร้อนแต่งตั้งให้เสร็จสิ้นในเดือนกันยายน 2552
การคัดเลือก ผบ.ตร.ด้วยวิธีการดังกล่าว เป็นการมองข้าม"ตัวบุคคล"หรือทำตาม"ใบสั่ง" ของใคร แต่เป็นการคัดเลือกคนโดยยึดเป้าหมายหรือความสำเร็จของงานเป็นหลัก
ถ้าทุกฝ่ายยังไม่เลิกแย่งเศษกระดูกกัน แล้วหันมาจับมือกันปฏิรูประบบตำรวจแล้ว ต่อให้ได้ใครมาเป็น ผบ.ตร. วงการสีกากีก็ยังคงต้องถูกสาปอยู่ตลอดไป