ที่มา Thai E-News
The king maker- สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ( นั่งกลาง )ขุนนางตระกูลบุนนาค ซึ่งอยู่ใต้พระเจ้าแผ่นดินเพียงองค์เดียว แต่เป็นใหญ่เหนือคนทั่วหล้า ตระกูลบุนนาคมีบทบาทอย่างสูงในการสนับสนุนรัชกาลที่ 4 กลับขึ้นสู่ราชบัลลังก์ หลังจากบวชหนีราชภัยตลอดรัชกาลที่3นานถึง27ปี
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
24 กันยายน 2552
วิกฤตการณ์ทางการเมืองในบั้นปลายรัชกาลนั้นมีมาอย่างสืบเนื่องในทุกราชธานี และแทบจะทุกรัชกาล อันเนื่องจากการไม่มีกฎเกณฑ์การสืบราชสันตติวงศ์ที่แน่นอน
27ปีที่จำต้องอดทนรอคอยของรัชกาลที่4
*สมเด็จพระนั่งเกล้า รัชกาลที่ 3
หลังการทำรัฐประหารรัฐบาลของพระเจ้าตากสินมหาราช และประหารชีวิตพระเจ้าตาก กับรัชทายาท และกลุ่มผู้สนับสนุนอย่างนองเลือดแล้ว พระราชจักรีวงศ์ก็เผชิญปัญหานี้มาแต่ต้นเช่นกัน เมื่อพระราชอนุชาผู้มีบทบาทสำคัญในการคบคิดเอาราชสมบัตินั้น เกิดการปีนเกลียวกับรัชกาลที่ 1 อย่างหนัก ยังดีว่าวังหน้าพระยาเสือ(บุญมา)ได้ถึงแก่ทิวงคตไปก่อน ราชสมบัติจึงตกแก่รัชกาลที่ 2 อันเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 1
แต่เมื่อถึงบั้นปลายรัชกาลที่ 2 นั้นก็เกิดปัญหาอีกคราว และเป็นบาดแผลที่หยั่งลึกมายาวนานเกือบ 3 ปี ตลอดรัชกาลที่ 3 อันเนื่องมาจากรัชกาลที่ 3 อันเป็นพระราชโอรสอันเกิดแต่พระสนม และไม่มีสิทธิในราชสมบัติ แต่ทว่าพระองค์มีอำนาจเศรษฐกิจในมือมาก จากการคุมเรือสำเภาไปต่างประเทศ และคุมกำลังอำนาจทางทหารไว้ในมือมาก ได้ใช้กำลังเข้าควบคุมพระนครเอาไว้ในตอนที่รัชกาลที่ 2 จวนจะสวรรคต ส่งผลให้เจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งเกิดภายใต้เศวตรฉัตร และมีสิทธิในราชสมบัติตัวจริง ต้องหนีราชภัยออกบวชยาวนานถึง 27 ปี ตลอดรัชสมัยของรัชกาลที่ 3
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ "ความทรงจำ" ว่า "ปีวอก พ.ศ.2367 เจ้าฟ้ามงกุฎ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระชันษา 21 ปี เสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุตามประเพณี พอทรงผนวชได้ 15 วัน ก็เผอิญเกิดวิบัติ ด้วยสมเด็จพระบรมชนก เสด็จสวรรคต"
ความสำคัญตอนนี้มีอยู่ว่า ในเวลาท้ายรัชกาลที่ 2 นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีพระราชโอรสประสูติแต่พระอัครมเหสี (สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตร์ หรือฟ้าหญิงบุญรอด พระธิดาในกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งทรงเป็นพระพี่นางเธอของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) อยู่ 2 พระองค์ คือ เจ้าฟ้ามงกุฏ และเจ้าฟ้าจุฑามณี
เจ้าฟ้ามงกุฏนั้นทรงมีพระชนมายุได้ 20 ปี ได้เวลาอุปสมบทในบวรพระพุทธศาสนาตามโบราณราชประเพณี จึงเสด็จเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ฉศก จุลศักราช 1186 หรือ พ.ศ.2367 เวลา 8 โมงเช้า 9 บาท มีสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ พร้อมด้วยพระสงฆ์ร่วมสังฆกรรม 50 รูป เจ้าฟ้ามงกุฏได้พระฉายาในทางสมณเพศว่า"วชิรญาโณ" แปลว่า ผู้มีความรู้ประดุจเพชร
ขณะเดียวกัน ในเวลานั้น การบริหารการปกครองบ้านเมือง และการเศรษฐกิจการค้าล้วนตกอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระองค์เจ้าทับ) พระราชโอรสประสูติแต่พระสนม คือสมเด็จพระศรีสุราไลยหรือเจ้าจอมมารดาเรียม ผู้ทรงมีพระชนมายุสูงกว่าเจ้าฟ้ามงกุฏถึง 17 ปี
เมื่อเป็นเช่นนี้ เจ้าฟ้ามงกุฏถึงจะทรงมี "สิทธิในราชบัลลังก์" ตามโบราณประเพณี เพราะเป็นพระราชโอรสที่เกิดแต่พระมเหสีเอก แต่บัดนี้มีข้อยกเว้นแล้ว เพราะ "อำนาจชี้ขาดให้ใครได้ราชบัลลังก์" กลับตกอยู่ในเงื้อมมือพระเชษฐาต่างพระมารดา
ว่ากันว่า พระภิกษุวชิรญาณนำความเมืองเรื่องนี้ไปขอคำปรึกษาจากพระเจ้าลุง คือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพน ก็ได้รับคำตอบว่า "อย่าทรงห่วงเรื่องราชสมบัติเลย"
ก็เลยเป็นว่า พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หาใช่เป็น "พระราชโอรสในพระเหสี" ไม่ หากแต่เป็นพระโอรสประสูติแต่เจ้าจอมมารดา คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เวลาที่เจ้าฟ้ามงกุฏทรงผนวชและยอมผนวชต่อไปนั้น ทรงมีพระโอรสประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อย (พระธิดาในพระอินทรอำไพ-พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) อยู่ก่อนแล้วถึง 2 พระองค์ ได้แก่ 1.พระองค์เจ้านพวงศ์ ประสูติเมื่อ พ.ศ.2365 2.พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ ประสูติเมื่อ พ.ศ.2367
การออกผนวชในขณะที่มีทั้ง "เมีย" และ "ลูกน้อย" เช่นนี้ ดูให้ดีก็จะเห็นว่า "พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏหาได้มีความสุขในผ้ากาสาวพัสตร์แต่อย่างใดไม่"
กับมีพงศาวดาร"กระซิบ"ว่า แม้พระองค์ได้ออกบวชไปแล้ว ก็หาได้หมดความหวาดระแวงไม่ เพราะมีพวกที่หาเหตุกลั่นแกล้ง แม้กระทั่งต้มกรวดทรายร้อนระอุแล้วนำไปใส่บาตรในเวลาที่พระองค์มาบิณฑบาตโปรดสัตว์
ทั้งนี้เพราะการบวชนั้นเป็นไปตาม "ประเพณี" แต่ที่ยังสึกไม่ได้นั้นก็เพราะ "มีเหตุจำเป็น"ต้องหนีราชภัย ทำให้ทรงจำพระทัยต้องประทับอยู่ในผ้าเหลืองเป็นเวลานานถึง 27ปี กล่าวคือตลอดรัชสมัยในรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ปัญหาวิกฤตการณ์ในบั้นปลายรัชกาลมาเกิดอีกคราว ก่อนที่รัชกาลที่ 3 จะเสด็จสวรรคตนั้นได้ทรงเปรยเป็นนัยว่า อยากให้ราชสมบัติตกแก่พระราชโอรสของพระองค์เอง โดยได้มอบพระธำมรงค์(แหวน)ที่พระองค์รับสืบทอดมาจากรัชกาลที่ 2 มอบให้แก่พระโอรสพระองค์หนึ่ง แทนการบอกว่าประสงค์จะมอบราชสมบัติต่อพระโอรสองค์นั้น
แต่ทว่าขุนนางสกุลบุนนาค(ซึ่งต้นตระกูลบุนนาคนั้นเป็นข้าหลวงเดิมของพระราชจักรีวงศ์ ได้ร่วมมือกับเจ้าพระยาจักรีทำการรัฐประหารยึดอำนาจพระเจ้าตากฯมา) ซึ่งมีอำนาจบริหารกิจการบ้านเมืองอยู่ในขณะนั้นเห็นว่า ควรจะให้ราชสมบัติกลับไปเป็นของเจ้าฟ้ามงกุฎจึงจะชอบธรรม
โดยนักวิชาการบางสายชี้ว่า เพราะตระกูลบุนนาคจะได้ทรงอำนาจเหนือแผ่นดินตัวจริง หากให้เจ้าฟ้ามงกุฎครองราชสมบัติ เพราะพระองค์ละทางโลกไปอยู่ในทางธรรมมาตลอด อำนาจต่างๆก็ย่อมควบคุมโดยง่าย เข้าข่ายว่าตระกูลบุนนาคนั้น"อยู่ใต้คนๆเดียว แต่อยู่เหนือคนทั่วหล้า"เหมือนโจโฉให้พระเจ้าเหี้ยนเต้อยู่เหนือราชบัลลังก์ แต่พลังอำนาจที่แท้จริงตกอยู่ในเงื้อมมือของโจโฉ นายกฯตลอดกาล
ดังนั้นในช่วงที่รัชกาลที่3มีพระประชวรหนักนั้น ขุนนางสกุลบุนนาคจึงได้”ล้อมจุก”หรือล้อมพระราชวังไว้แน่นหนา แล้วไปเตรียมทูลขอให้พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎลาผนวชมาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
กระทั่งพระเชษฐา คือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว ขุนนางทั้งปวงจึงได้พร้อมใจกันทูลขอให้พระภิกษุวชิรญาณ พระชนมายุ 47 พรรษา เสด็จปริวัตรลาสิกขาออกมาครองราชย์เป็นรัชกาลที่4
*สมเด็จพระจอมเกล้า รัชกาลที่ 4
นักประวัติศาสตร์บางสำนักกล่าวกันว่า อำนาจราชกิจทั้งปวงนั้นต้องตกอยู่ในมือขุนนางตระกูลบุนนาคจนหมด เพราะความที่รัชกาลที่4ไปบวชยาว27ปี จึงไม่มีฐานกำลังอำนาจ และขาดการสนับสนุนจากขุนศึกขุนนางทั้งปวง นี่ก็อาจเป็นเหตสำคัญที่ตระกูลบุนนาคเลือกพระองค์เป็นกษัตริย์
การควบคุมอำนาจโดยเหล่าขุนนางนั้นน่าจะมีมาตลอดรัชกาล แม้เปลี่ยนแผ่นดินในรัชกาลที่5เมื่อแรกนั้น รัชกาลที่5ประชวรหนัก มีท่านผู้หญิงภริยาของท่านสมเด็จเจ้าพระยาตระกูลบุนนาคมาเยี่ยมแล้วพูดว่า เจ้าเด็กน้อยผู้นี้จะเหลืออายุอีกกี่วันหนอ?
ก็ทำให้รัชกาลที่5ทรงผูกใจเจ็บ เมื่อหายประชวรดีแล้ว กาลต่อมาเมื่อภริยาของผู้มีอำนาจราชศักดินั้นสิ้นลง รัชกาลที่5ไปรดน้ำศพก็ยังรำพันในใจอย่างสาแก่พระทัยในทำนองว่า "ยายคนนี้แกแช่งให้ฉันตายดีนัก แล้วเห็นหรือยังว่าใครมันตายก่อนกัน"
เมื่อแรกรับราชสมบัตินั้นรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นยุวกษัตริย์ ต้องทรงถูกควบคุมจำกัดพระราชอำนาจสารพัด มีขุนนางตระกูลบุนนาคเป็นผู้สำเร็จราชการแทน ทำให้เวลาต่อมาเมื่อพระองค์บรรลุนิติภาวะ และทำพิธีราชาภิเษกอย่าวเป็นทางการแล้ว พระองค์ได้คิดยกเลิกอำนาจของตระกูลบุนนาคเสีย ด้วยการปฏิรูปการปกครอง รวบพระราชอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ยกเลิกอำนาจของขุนนาง และเจ้าเมืองหัวเมืองทั้งหมด และสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นเป็นผลสำเร็จ อันเป็นอุดมคติของฝ่ายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้อ้างอิงเป็นภาพชวนฝันมาจนจวบทุกวันนี้
ขณะเดียวกันพระองค์ได้ยกเลิกระบบ2กษัตริย์ หรือตำแหน่งกษัตริย์วังหน้าลง เมื่อวังหน้าสมัยนั้นปีนเกลียวกับพระองค์ ถึงขั้นต้องหลบราชภัยไปอยู่ในสถานทูตอังกฤษ แล้วสถาปนาตำแหน่งพระบรมโอรสาธิราชสยามกุฎราชกุมารขึ้น ตามแบบอย่างกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยุโรป โดยมีเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศเป็นพระบรมโอรสาธิราชพระองค์แรก แต่เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศก็มาด่วนสิ้นพระชนม์ในวัยยังหนุ่มแน่น จึงได้แต่งตั้งเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธขึ้นเป็นพระบรมฯองค์ที่สอง
ซึ่งกาลต่อมาสมเด็จพระบรมฯพระองค์นั้น ก็เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 6 ในเวลาต่อมา โดยไม่ได้มีวิกฤตการณ์ในบั้นปลายรัชกาลที่ 5 แต่ประการใด
ตอนต่อไปติดตามอ่าน วิกฤตการณ์ในบั้นปลายรัชกาล อันเนื่องแต่การมียุวกษัตริย์ จากกรณีพระเจ้าทองลั่น,พระยอดฟ้า ถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหดิล