WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Saturday, September 26, 2009

วิกฤตในบั้นปลายรัชกาลของราชอาณาจักรไทย(7):ปริศนากรณีสวรรคต ตอนที่ 1 : ฉาก

ที่มา Thai E-News




พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อยังทรงพระเยาว์

บทความชุดโดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
บทความนี้โดย ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ภาพประกอบและคำบรรยาย วิกิพีเดีย
25 กันยายน 2552


หมายเหตุไทยอีนิวส์:หลังจากไทยอีนิวส์ได้นำเสนอบทความซีรีส์ชุด"วิกฤตการณ์การเมืองในบั้นปลายรัชกาลของราชอาณาจักรไทย"มา6ตอนแล้วนั้น ในตอนที่ 7 นี้จะว่าด้วยกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ซึ่งไทยอีนิวส์พิจารณาเห็นว่ามีบทความ 2 ชิ้นของดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอไว้ในเชิงวิชาการอย่างทรงคุณค่า จึงขอนำเสนอเผยแพร่แบ่งเป็น2ตอน (คือตอนที่ 7 และตอนที่ 8 ของซีรีส์ชุดนี้)โดยต้นฉบับเดิมสำหรับตอนแรกนี้นำเสนอไว้เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2550


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงฉายที่พระตำหนักวิลล่าวัฒนา สวิสเซอร์แลนด์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ทุกครั้งที่ผมได้อ่านหรือได้ยินคนพูดถึงกรณีสวรรคตในหลวงอานันท์ว่าเป็นเรื่อง “ลึกลับ” หรือเป็น “ปริศนา” นั่นคือ เป็นเหตุการณ์ที่อธิบายได้ยากหรืออธิบายไม่ได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น ผมมักจะส่ายหน้าด้วยความอ่อนใจ โดยเฉพาะถ้าการพูดหรือเขียนทำนองนี้เป็นของนักวิชาการ สำหรับผม ใครที่พูดหรือเขียนแบบนี้แสดงว่า คงแทบไม่เคยได้อ่านหรือคิดเกี่ยวกับกรณีสวรรคตอย่างจริงๆจังๆ

ล่าสุด ผมอดแปลกใจและผิดหวังเล็กน้อยไม่ได้ เมื่ออ่าน The King Never Smiles (หน้า 76-79) และพบว่า เมื่อบรรยายถึงกรณีสวรรคต ผู้เขียน (Paul M Handley) แทบไม่มีอะไรใหม่เลย นี่ไม่ใช่การวิจารณ์เสียทีเดียว เพราะผู้เขียนเองรู้ตัวและได้เขียนยอมรับไว้เอง (ดูจดหมายของเขาที่โต้ตอบคำวิจารณ์ของ Grant Evans ใน Far Eastern Economic Review, November 2006: “I have said little new from what has been in print for years. . . . I have no idea whether Ananda shot himself or was killed. . .”) เป็นความจริงที่ว่า แฮนลี่ย์ได้พูดถึงความเป็นไปได้ 2 ทางของการสวรรคตที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด แต่เขาเพียงแต่สรุปสิ่งที่มีผู้เสนอไว้แล้ว เขาไม่ได้วิเคราะห์หรืออธิบายให้เห็นว่าความเป็นไปได้ 2 ทางนี้มีที่มาอย่างไร ทำไมจึงสรุปว่ามีความเป็นไปได้ 2 ทางนี้ แต่ละทางมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร

ในทัศนะของผม ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่า แฮนลี่ย์ไม่ได้มีอะไรพูดถึงมากไปกว่าที่มีการพูดกันไว้แล้ว แต่คือ เขาได้พูดน้อยกว่าสิ่งที่มีการเผยแพร่ไว้แล้วควรจะทำให้เขาพูดได้ พูดอีกอย่างหนึ่งคือ จากข้อมูลและการวิเคราะห์อันมากมาย ที่มีการเผยแพร่แล้ว โดยเฉพาะในภาษาไทย แฮนลี่ย์ควรที่จะสามารถเขียนถึงกรณีนี้ได้ดีกว่านี้ (กรณี 6 ตุลา เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ผมรู้สึกประหลาดใจและผิดหวังในทำนองเดียวกัน)

กรณีผู้เขียนอื่นในระยะใกล้ๆกัน เช่น กอบเกื้อ (Kings, Country, Constitutions หน้า 132-137 และ 246-247) ก็คล้ายกัน แต่แย่กว่ามาก คือไม่กล้าแม้แต่จะระบุให้หมด (อย่าว่าแต่จะพยายามวิเคราะห์) ว่ามีทฤษฎีอธิบายกรณีสวรรคตไว้อะไรบ้าง (คือ ระบุเพียงทฤษฎี “murdered by unknown person[s], most probably Pridi’s supporters”, อุบัติเหตุโดยพระองค์เอง และฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ กอบเกื้อยังกล่าวอย่างเหลือเชื่อว่า หนังสือกรณีสวรรคตของสรรชัย แสงวิเชียร ที่โปรเจ้าแอนตี้ปรีดีอย่างสุดๆ เป็นหนังสือที่เสนอทัศนะเป็นกลาง [balanced view]) ผมจะไม่พูดถึงกรณี Revolutionary King หนังสือเล่มนี้ ถ้าไม่ใช่เพราะการเขียนอย่างสัปเพล่าเต็มไปหมดของผู้เขียน จนกลายเป็นงานชวนหัวโดยไม่ตั้งใจ ต้องถือเป็นความพยายามล่าสุดที่จะบิดเบือนกรณีสวรรคต และแก้ต่างให้กับผู้ทำผิดตัวจริง โดยเฉพาะในกรณีที่หนังสือพยายามอธิบายว่าทำไมจึงไม่มีการรักษาชีวิตของ 3 จำเลยไว้ในนาทีสุดท้าย ที่ผมถือว่าเป็นการแก้ตัวที่น่ารังเกียจยิ่ง (ดูบทความเรื่อง “50 ปีการประหารชีวิต” ของผม)

ในบทความขนาดสั้น 3 ตอนจบนี้(หมายเหตุไทยอีนิวส์:จนบัดนี้ดร.สมศักดิ์ยังไม่ได้เผยแพร่บทความในตอนที่3แต่อย่างใด) ผมจะขอแสดงให้เห็นว่า กรณีสวรรคตนั้น สามารถอธิบายได้ (อย่างค่อนข้างง่ายด้วยซ้ำ) ว่าเกิดขึ้นอย่างไร และคำอธิบายนี้ แทบจะไม่สามารถโต้แย้งได้เลย “ปริศนา” หรือความลึกลับที่แท้จริง ของกรณีสวรรคตไม่ใช่อยู่ที่ว่า เป็นเรื่องอธิบายไม่ได้ แต่อยู่ทีว่า ทำไมคำอธิบายที่ง่ายและโต้แย้งไม่ได้นี้ จึงไม่ได้รับการนำเสนอออกมาตั้งแต่ต้น หรือตั้งแต่หลายสิบปีก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จาก 3 คนที่ได้รับความเสียหายโดยตรงมากที่สุดจากการไม่มีคำอธิบาย

แต่แท้จริงแล้วเป็นผู้ที่สามารถจะนำเสนอคำอธิบายเช่นนี้ได้ คือ ชิต สิงหเสนี บุศย์ ปัทมศรินทร์ และ ปรีดี พนมยงค์ คุณเฉลียว ปทุมรส ไม่อยู่ในฐานะที่จะนำเสนอคำอธิบายนี้ได้มากเท่ากับ 3 คนที่ผมเอ่ยถึง – แม้ว่า จะมีข่าวลือว่าเขาบอก “ความลับ” กรณีสวรรคต ให้เผ่าฟังก่อนตาย (ซึ่งอาจจะคาดคะเนได้ว่า “ความลับ” ที่เขาบอก มีลักษณะทำนองคำอธิบายที่ผมพูดถึง) ก็ตาม – ผมจะอธิบายประเด็นนี้ในตอนท้ายบทความ(หมายเหตุไทยอีนิวส์:เรื่องนี้เราจะนำเสนอในตอนที่9ของซีรีส์ชุดนี้)

ยิ่งกว่านั้น ผมจะอธิบายให้เห็นว่า กรณีสวรรคตสามารถอธิบายได้ โดยไม่ต้องอาศัยข้อมูลอันมหาศาลที่มีอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องไปพะวังถึงประเด็นปลีกย่อยนับไม่ถ้วน นั่นคือ ผมจะเสนอว่า กรณีนี้สามารถอธิบายได้โดยการคิดเชิงตรรกะ โดยอาศัยเพียงข้อมูลพื้นฐานจำนวนหนึ่ง ที่ทุกฝ่ายเห็นด้วยร่วมกันเท่านั้น (ยกตัวอย่างเช่น ผมจะแสดงให้เห็นว่า รายละเอียดบางเรื่อง เช่นปัญหาข้อกล่าวหาที่ว่า ปืนของกลางที่พบในที่เกิดเหตุ ไม่ใช่ปืนทีใช้ยิงจริง ปลอกกระสุนที่คุณชิตบอกว่าเก็บได้จากที่เกิดเหตุไม่ใช่ปลอกกระสุนสังหาร เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นความจริงหรือไม่ ก็ไม่จำเป็นต้องนำมาประกอบการพิจารณาเลย แต่สามารถอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้)



อากะธ่า คริสตี้ กับกรณีสวรรคต


ผมมักจะคิดว่า กรณีสวรรคตคล้ายกับนิยายฆาตกรรมสืบสวนของอากะธ่า คริสตี้ โดยเฉพาะชุดนักสืบแอร์กูล ปัวโรต์ และสักวัน น่าจะมีนักเขียนสักคนอาศัยกรณีสวรรคตเป็นพล็อตนิยายทำนองเดียวกันได้ ใครที่เป็นแฟนนิยายชุดนี้อย่างผม คงทราบว่า ลักษณะเด่นของนิยายชุดปัวโรต์ มี 2-3 ประการคือ

การฆาตกรรมเกิดขึ้นในสถานที่จำกัด คือไม่ใช่สถานที่สาธารณะที่ใครไปใครมาได้ตลอดเวลา อันที่จริง เรื่องที่ดังมากๆของชุดที่ได้รับการสร้างเป็นหนัง เช่น Murder on the Orient Express และ Death on the Nile นั้น สถานที่ฆาตกรรมอยู่ในประเภท “คนในไม่ได้ออก คนนอกไม่ได้เข้า” (รถไฟที่จอดติดหิมะอยู่กลางป่า และ เรือโดยสารที่ลอยอยู่กลางน้ำ)

สิ่งที่ตามมา – และนี่เป็นลักษณะเด่นประการที่สองของนิยายชุดนี้ – คือตัวละคอนจะมีจำกัดจำนวนแน่นอน และความเป็นไปได้ว่าใครจะเป็นฆาตกร ก็จะจำกัดอยู่เพียงหนึ่งในไม่กี่คนนั้น

ประการต่อมา ต่างจากนิยายฆาตกรรมสืบสวนสมัยใหม่ นิยายชุดปัวโรต์จะไม่เน้นที่แอ็คชั่น หรือการสืบสวนเชิง “นิติวิทยาศาสตร์” (มีบ้างแต่ไม่มาก) แต่เน้นที่การสอบปากคำ คือให้แต่ละคนที่อยู่ในที่เกิดเหตุอันจำกัดนั้น เล่าว่าตัวเองกำลังทำอะไรเมื่อเกิดฆาตกรรม มีความเกี่ยวข้องกับผู้ตายอย่างไรบ้าง แล้วใช้การคิดเชิงตรรกะ มาหาความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆ เพราะในนิยายชุดปัวโรต์ บรรดาผู้อยู่ในสถานที่ฆาตกรรม จะให้การโดยไม่ตรงความจริงมากบ้างน้อยบ้างแทบทุกคน บางคนก็โกหก บางคนก็ละเว้นไม่พูดความจริงบางอย่าง ปัวโรต์จะอาศัยการวิเคราะห์ความขัดแย้งกันเองในคำให้การเหล่านั้น บวกกับข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการฆาตกรรม มาระบุว่าใครเป็นฆาตกร.....

ในความเห็นของผม กรณีสวรรคตมีลักษณะเด่นคล้ายๆกัน : สถานที่จำกัด, ผู้อยู่ในเหตุการณ์จำกัด, ผู้อยู่ในเหตุการณ์ให้การไม่ตรงความจริง, สามารถใช้การคิดเชิงตรรกะมาอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น....


สถานที่เกิดเหตุ : พระที่นั่งบรมพิมานชั้นบน

ขอให้เรามาเริ่มต้นกันที่ สถานที่เกิดเหตุ พระที่นั่งบรมพิมานชั้นบน นี่คือแผนผังที่รู้จักกันดี



ผมจะลดรายละเอียดบางประการของแผนผังนี้ โดยตัดบริเวณที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่จำเป็นต่อการวิเคราะห์ออกไป จะได้ดังนี้


ลักษณะสำคัญที่ควรทราบเกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุนี้คือ เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าโดยประมาณ ปีกด้านตะวันออก (ด้านขวาของแผนผัง) คือส่วนที่เป็นห้องนอนของในหลวงอานันท์ (ตลอดบทความนี้ ผมจะหลีกเลี่ยงการใช้ราชาศัพท์ที่ไม่จำเป็น เพื่อให้เข้าใจง่าย บางครั้งจึงมีทั้งคำธรรมดาและราชาศัพท์ปนกันไป) ส่วนปีกด้านตะวันตก (ด้านซ้ายของแผนผัง) คือส่วนที่เป็นห้องนอนของพระราชชนนีและพระอนุชา ทางเดินที่เชื่อมต่อสองปีกนี้ ด้านบนเรียกว่า “เฉลียงหน้า” ซึ่งมี “มุขหน้า” ยื่นออกไปเป็นที่เสวยอาหารเช้า ส่วนทางเดินด้านล่าง เรียกว่า “เฉลียงหลัง”

ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ด้านที่เป็นห้องนอนในหลวงอานันท์ ซึ่งมีห้องขนาดเล็กลง 3-4 ห้อง ล้อมรอบอยู่ (ไล่ตามเข็มนาฬิกา) คือ ห้องทรงพระอักษร ห้องพระ ห้องแต่งพระองค์ (กับห้องสรงที่ติดกัน) และห้องทรงพระสำราญ นั้น ในขณะที่ จากตัวห้องนอนเอง มีประตูติดต่อกับห้องเล็กเหล่านี้ โดยเฉพาะห้องทรงพระอักษรและห้องทรงพระสำราญ ซึ่งถ้าประตูเหล่านั้นเปิดอยู่ จะทำให้เดินจากเฉลียงหน้าหรือเฉลียงหลังผ่านห้องทรงพระอักษร หรือห้องทรงพระสำราญ เข้ามาที่ห้องนอนในหลวงอานันท์ได้ (หรือในทางกลับกัน เดินออกจากห้องนอนผ่านห้องทั้งสองนี้ออกไปที่เฉลียงทั้งสองได้)

แต่ในขณะเกิดเหตุ ประตูที่เชื่อมระหว่างห้องนอนกับห้องทรงพระอักษร และห้องทรงพระสำราญ ปิดลงกลอนอยู่จากด้านในห้องนอนตลอดเวลา เข้าออกไม่ได้ (ด้านห้องทรงพระสำราญมีโต๊ะตู้ขวางอยู่เท่ากับปิดตาย ด้านห้องทรงพระอักษรเปิดเฉพาะเมื่อในหลวงอานันท์จะเสด็จไปมุขหน้าเพื่อเสวย ซึ่งยังไม่ได้เปิดในเช้านั้น หลังเกิดเหตุแล้วยังต้องเปิดกลอนให้พระราชชนนีเสด็จผ่านได้) ดังนั้น การเข้าออกห้องนอนในหลวงอานันท์ จะทำได้ทางเดียว คือ ผ่านห้องแต่งพระองค์ โดยผ่านประตูห้องแต่งพระองค์ที่ติดกับเฉลียงหลัง (ที่ผมทำเครื่องหมาย X ไว้ในแผนผัง) ซึ่งจุดสำหรับผ่านเข้าออกห้องนอนในหลวงอานันท์ได้เพียงจุดเดียวนี้ มีชิต กับ บุศย์ นั่งเฝ้าอยู่ตลอดเช้าวันสวรรคต


ผู้อยู่ในที่เกิดเหตุ

ในขณะที่เสียงปืนดังขึ้นในเช้าวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ประมาณ 9 โมงครึ่งนั้น มีผู้อยู่ที่ชั้นบนของพระที่นั่งบรมพิมาน นอกจากในหลวงอานันท์ เพียง 7 พระองค์/คน ดังนี้



1. สมเด็จพระราชชนนี
2. สมเด็จพระอนุชา
3. ชิต สิงหเสนี (มหาดเล็กรับใช้ประจำห้องบรรทมในหลวงอานันท์)
4. บุศย์ ปัทมศริน (มหาดเล็กรับใช้ประจำห้องบรรทมในหลวงอานันท์)
5. น.ส. เนื่อง จิตตดุลย์ (พระพี่เลี้ยงในหลวงอานันท์)
6. น.ส. จรูญ ตาละภัฎ (ข้าหลวงสมเด็จพระราชชนนี)
7. ฉลาด เทียมงามสัจ (มหาดเล็กรับใช้)


มีผู้เสนอว่า ความจริง มังกร ภมรบุตร มหาดเล็กรับใช้อีกผู้หนึ่ง และ/หรือ ขุนวรศักดิ์พินิจ หัวหน้ามหาดเล็กรับใช้ ก็อยู่ที่ชั้นบนของพระที่นั่งขณะเกิดเสียงปืนด้วย แต่ประเด็นนี้ไม่สำคัญในแง่การวิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้น อันที่จริง กระทั่งกรณีฉลาดเอง ก็แทบไม่มีความสำคัญต่อการวิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้นเช่นกัน คือ อาจกล่าวได้ว่า มีเพียง 6 พระองค์/คน แรกข้างต้น เท่านั้น ที่สำคัญต่อการอธิบายเรื่องนี้

หลายคนคงเคยเห็น แผนผังแสดงตำแหน่งที่อยู่ของทั้ง 7 พระองค์/คน เมื่อเกิดเสียงปืนขึ้น สิ่งที่ผมเห็นว่าควรย้ำ (ซึ่งหนังสือต่างๆที่ตีพิมพ์แผนผังนี้มักไม่พูดถึง) คือ ตำแหน่งเหล่านี้ เป็นเพียงตำแหน่งที่แต่ละพระองค์/คน ให้การเองว่าอยู่ที่นั้นขณะเกิดเสียงปืน ซึ่งควรถือเป็นเพียงคำให้การหรือข้ออ้างที่ยังต้องพิสูจน์ยืนยันอีก




เหตุการณ์ในเช้าวันที่ 9 มิถุนายน 2489

การเล่าเหตุการณ์ข้างล่างนี้ ผมเพียงแต่ต้องการให้ผู้อ่านมีภาพกว้างๆ ว่า เกิดอะไรบ้างในเวลาไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่ปืนจะลั่นขึ้น โดยความเป็นจริงแล้ว รายละเอียดปลีกย่อยของเหตุการณ์ที่จะเล่าแทบทั้งหมดต่อไปนี้มีปัญหา เพราะ (เช่นเดียวกับนิยายนักสืบปัวโรต์) การเล่าเหตุการณ์ของพยานแต่ละคน/พระองค์ ไม่ได้ตรงกันทั้งหมด หรือแม้แต่พยานคนเดียวกันบางคน ในการเล่าให้กรรมการสอบสวนสมัยรัฐบาลปรีดี-ธำรงที่เรียกว่า “ศาลการเมือง” กับการเล่าในศาลชั้นต้นเมื่อมีการพิจารณาคดีสวรรคตหลังรัฐประหาร 2490 ก็ไม่ตรงกัน

ความไม่ตรงกันระหว่างพยานแต่ละคน (หรือระหว่างคำให้การต่างวาระของพยานคนเดียวกัน) นี้ บางกรณีเป็นเรื่องรายละเอียดที่ดูเหมือนจะเล็กมากๆ (เช่น เรื่องเวลา หรือ เรื่องพยานได้พบเห็นใครที่จุดไหน) แต่ในกรณีสวรรคต รายละเอียดเล็กๆแบบนี้สามารถมีนัยยะสำคัญใหญ่โตได้ ดังนั้นการสร้างภาพเหตุการณ์ขึ้นใหม่ (reconstruction) โดยตัดต่อจากคำให้การของพยานแต่ละคนมารวมๆกัน โดยไม่คำนึงถึง (หรือไม่ระบุถึง) ปัญหาความขัดแย้งไม่ลงรอยกันเองของคำให้การดังกล่าว (ซึ่งเป็นเทคนิคของหนังสือโปรเจ้าแอนตี้ปรีดี กรณีสวรรคต ของ สรรใจ แสงวิเชียร ดูบทที่ 2 ของหนังสือนั้น) สามารถทำให้เกิดการบิดเบือนได้ คือทำให้เห็นราวกับว่า ภาพเหตุการณ์ที่ถูก reconstructed ขึ้นใหม่จากการตัดต่อคำให้การของพยานหลายๆปาก (ที่ความจริงมีจุดไม่ตรงกัน) เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆอย่างไม่มีปัญหา

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้เตือนผู้อ่านเช่นนี้แล้ว ผมควรชี้ให้เห็นด้วยว่า การวิเคราะห์ว่าการสวรรคตเกิดขึ้นอย่างไร ซึ่งจะทำในตอนที่ 2 และ 3 ของบทความนี้ ไม่ได้พึ่งพาหรือขึ้นต่อรายละเอียดของเหตุการณ์ที่จะเล่าต่อไปนี้ (คือความไม่ลงรอยในรายละเอียดของเหตุการณ์จากการเล่าของพยานหลายๆคน ไม่มีผลทำให้วิเคราะห์ไม่ได้) การเล่าต่อไปนี้จึงมีหน้าที่เพียงเป็นภาพแบ็กกราวน์กว้างๆเท่านั้น

ในการเล่านี้ ผมพยายามละเว้นรายละเอียดที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือที่อาจเป็นปัญหายังต้องตีความคำให้การหรือยังต้องพิสูจน์ยืนยัน โดยจะเล่าเน้นเฉพาะการเคลื่อนไหวของ 7 พระองค์/คน ซึ่งอยู่บนพระที่นั่งชั้นบนเมื่อเกิดเสียงปืน

. . . . . . . . . . . . . . . .

วันที่ 8 มิถุนายน 2489 ในหลวงอานันท์มีพระอาการประชวร แพทย์ประจำพระองค์ (หลวงนิตย์เวชวิศิษฐ์) ได้ถวายยาเม็ดตอนเย็น และแนะนำให้พระราชชนนีสวนพระบังคลหนักให้ในหลวงอานันท์ในค่ำนั้นและให้ถวายน้ำมันละหุ่งผสมนมสดและบรั่นดีในเช้าวันรุ่งขึ้น (พระราชชนนีทรงสวนพระบังคลหนักให้ในหลวงอานันท์เวลา 1 ทุ่มโดยมี ชิต สิงหเสนี เป็นผู้ช่วย) ช่วงกลางคืนมีมหาดเล็กอยู่เวรยามทั้งชั้นล่างชั้นบนตลอดคืน

เช้าวันที่ 9 มิถุนายน เวลาตี 5 เศษ พระราชชนนีทรงตื่นบรรทมแล้วเสด็จเข้าไปปลุกในหลวงอานันท์ที่ห้องนอน (เสด็จผ่านห้องแต่งพระองค์) เพื่อถวายน้ำมันละหุ่ง (มหาดเล็ก 2 คนช่วยยกถาดตามเสด็จ) หลังจากนั้นในหลวงอานันท์ทรงบรรทมต่อ พระราชชนนีกลับไปบรรทมต่อเช่นกันที่ห้องของพระองค์เอง (มหาดเล็กกลับลงชั้นล่าง)

เวลา 7 โมงเศษ บุศย์ ปัทมศริน เริ่มเวรมหาดเล็กประจำห้องบรรทมในหลวงอานันท์ ยกแก้วน้ำส้มคั้นมาเตรียมถวาย โดยนั่งรออยู่ที่หน้าห้องแต่งพระองค์ (คือที่จุด X ในแผนผังข้างบน) เวลา 8 นาฬิกาเศษ ในหลวงอานันท์ตื่นบรรทม เข้าห้องสรง ออกจากห้องสรงผ่านห้องแต่งพระองค์กลับไปยังห้องนอน บุศย์ยกน้ำส้มคั้นตามเข้าไปในห้องนอนเพื่อถวาย ในหลวงทรงโบกพระหัตถ์ไม่ต้องการ แล้วเสด็จขึ้นแท่นบรรทม บุศย์จึงวางน้ำส้มไว้ที่ธรณีประตู แล้วกลับมานั่งที่เดิม

7 โมงเศษ ชิต สิงหเสนี ซึ่งปกติเป็นมหาดเล็กประจำห้องบรรทมในหลวงอานันท์สลับวันกับบุศย์ วันนั้นไม่ใช่เวรของเขา แต่เขาได้รับมอบหมายให้ไปทำหีบพระตรา เมื่อไปถึงร้านทำหีบที่เสาชิงช้า ช่างบอกว่า ต้องรู้ขนาดดวงพระตราก่อนจึงทำหีบได้ ชิตจึงกลับมาที่พระที่นั่งบรมพิมานเพื่อมาวัดดวงพระตราที่อยู่ในตู้เซฟในห้องแต่งพระองค์ เมื่อมาถึงจุดที่บุศย์นั่งอยู่ ได้รับการบอกจากบุศย์ว่า ตื่นบรรทมแล้ว แต่กลับไปบรรทมอีก ชิตจึงนั่งรออยู่ที่เดียวกับบุศย์ เพราะเกรงว่า หากเข้าไปวัดพระตรา จะเป็นการรบกวน

7 โมงเศษ มหาดเล็กหลายคนรวมทั้ง ฉลาด เทียมงามสัจ ช่วยกันยกเครื่องพระกระยาหารเช้าจากชั้นล่างขึ้นไปจัดวางที่มุขหน้า หลังจากนั้น คนอื่นๆกลับลงไปชั้นล่าง ยกเว้นฉลาดอยู่เฝ้าเครื่องพระกระยาหาร

8 โมงเศษ พระอนุชาตื่นบรรทม เสด็จไปที่มุขหน้าเสวยอาหารเช้า ระหว่างนั้น มังกร ภมรบุตร และ ขุนวรศักดิ์พินิจ ขึ้นมาช่วยงาน หลังจากพระอนุชาเสวยเสร็จเวลาประมาณ 9 นาฬิกา ฉลาดยังคงอยู่เฝ้าเครื่องพระกระยาหารที่มุขหน้า (รอในหลวงอานันท์กับพระราชชนนีเสด็จมาเสวย) ส่วนมังกรและขุนวรศักดิ์อาจจะยังอยู่ด้วยหรือลงมาชั้นล่าง (ขึ้นอยู่กับคำให้การของใคร)

พระอนุชาเสวยเสร็จแล้วทรงเสด็จจากมุขหน้าไปยังห้องบรรทมในหลวงอานันท์ ถึงจุดที่ชิตกับบุศย์นั่งอยู่หน้าห้องแต่งพระองค์ ทรงถามอาการในหลวงอานันท์ บุศย์ตอบว่าตื่นแล้ว เข้าห้องสรง แล้วทรงเข้าบรรทมอีก หลังจากนั้น พระอนุชา – จากคำให้การของทั้งชิต, บุศย์ และพระอนุชาเอง – ทรงเสด็จกลับไปทางห้องของพระองค์เองโดยทางเฉลียงหลัง เมื่อถึงห้องของพระองค์แล้ว – จากให้คำการของพระองค์เอง – ทรง “เดินเข้าๆออกๆอยู่ที่สองห้อง” คือห้องนอนของพระองค์และห้องเครื่องเล่น

เวลาใกล้เคียงกัน เนื่อง จิตตดุลย์ ซึ่งมาถึงพระที่นั่งตั้งแต่ 7 โมงเศษถึง 8 โมง แต่ไม่ได้เข้าเฝ้าทั้งในหลวงและพระราชชนนี เพราะเห็นว่าทรงยังไม่ตื่น จึงทำงานอื่นไปพลาง จนประมาณ 9 นาฬิกา จึงไปที่ห้องพระราชชนนี พบว่าพระราชชนนีตื่นแล้ว พระพี่เลี้ยงเนื่องอยู่ที่ห้องพระราชชนนี “เป็นเวลาราว 20 นาที” ก็เดินต่อเข้าไปยังห้องนอนพระอนุชา (2 ห้องนอนเดินทะลุกันได้) เพื่อจัดเก็บฟิล์มภาพยนตร์ในห้องนั้น แต่ไม่ได้พบพระอนุชาในห้อง (“ข้าพเจ้าไม่พบใคร แม้แต่ในหลวงองค์ปัจจุบัน ซึ่งพระองค์จะเสด็จไปประทับอยู่ที่ไหนในขณะนั้นก็หาทราบไม่”)

จรูญ ตะละภัฎได้ให้การว่า เวลาประมาณ 9 นาฬิกา หลังจากกินอาหารเช้าที่ชั้นล่างแล้ว ได้ขึ้นมาที่ห้องนอนพระราชชนนี แต่ไม่พบพระราชชนนี “เข้าใจว่าคงเสด็จเข้าห้องสรง” เธอจึงทำการเก็บพระแท่นบรรทม (แต่พระราชชนนีทรงให้การว่า “มีพระพี่เลี้ยงเนื่องมาที่ห้องฉัน นางสาวจรูญเข้ามาด้วยหรือไม่นั้นจำไม่ได้แน่ แต่ตามความรู้สึกแล้วรู้สึกว่าไม่ได้มา”)

ประมาณเกือบๆ 9 นาฬิกา 30 นาที เกิดเสียงปืนขึ้นในห้องนอนในหลวงอานันท์ ชิตวิ่งเข้าไปดู แล้ววิ่งไปตามพระราชชนนี เมื่อพระราชชนนีเสด็จมาถึง พบในหลวงอานันท์นอนทอดพระวรกายบนที่นอนเหมือนทรงนอนหลับปกติ พระกรทั้งสองวางอยู่ข้างพระองค์ (ไม่งอ) พระวิสูตร (มุ้ง) ถูกตลบขึ้นเหนือพระแท่น บนที่นอนบริเวณใกล้พระหัตถ์ซ้ายมีปืนสั้นวางอยู่ มีแผลกระสุนที่พระนลาฏ (หน้าผาก) เหนือคิ้วซ้าย ....

ติดตามอ่านปริศนากรณีสวรรคต (ตอนที่ 2) : ในหลวงอานันท์ยิงพระองค์เอง หรือ ถูกผู้อื่นยิง
0000000

อย่าพลาดซีรีส์ชุดนี้:

-ความยุ่งยากวุ่นวายในบั้นปลายรัชกาลของราชอาณาจักรไทย :พระเจ้าปราสาททองตลุยเลือดโค่นบัลลังก์หลานพระนเรศวร
-(ตอนที่2:สงครามกลางเมืองในบั้นปลายรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง และการก่อการรัฐประหารของพระเพทราชา-พระเจ้าเสือในบั้นปลายรัชกาลพระนารายณ์มหาราช
-วิกฤตในบั้นปลายรัชกาลของราชอาณาจักรไทย(3):ศึกสายเลือดชิงราชบัลลังก์ กรณีเจ้าสามพระยา และกรณีพระเจ้าเอกทัศน์VSระเจ้าอุทุมพร
-วิกฤตในบั้นปลายรัชกาลของราชอาณาจักรไทย(4):ตัดหวายอย่าไว้หนามหน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก
-วิกฤตในบั้นปลายรัชกาลของราชอาณาจักรไทย(5):ปัญหาสืบราชสมบัติระหว่างลูกมเหสีเอกVSลูกสนม
-วิกฤตในบั้นปลายรัชกาลของราชอาณาจักรไทย(6):ยุวกษัตริย์กับบัลลังก์เลือด