ที่มา ไทยรัฐ
บทบรรณาธิการ
ขณะนี้กำลังมีการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯอีกครั้งหนึ่ง ระหว่างวันที่ 24 ถึง 30 กันยายน แต่มหกรรมภาพยนตร์นานาชาติคราวนี้ ผู้รับผิดชอบในการจัดงานคงจะเป็นรายใหม่ ไม่ใช่นายเจอรัลด์ กรีน และนางแพทรีเชีย กรีน สองสามีภรรยาชาวอเมริกัน ซึ่งเคยได้รับสัมปทานจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้เป็นผู้จัดงานในปี 2548 และอีกหลายปีต่อมา
ชื่อสองสามีภรรยาชาวอเมริกันทั้งสองกลายเป็นข่าวโด่งดังในกลางเดือนกันยายนนี้ เมื่อศาลสหรัฐอเมริกาตัดสินจำคุกทั้งสองคน เป็นเวลา 10 ปี ในข้อหาติดสินบนอดีตผู้บริหาร ททท.เป็นเงิน 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 60 ล้านบาท) เพื่อให้ได้เป็นผู้จัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ และรับงานโครงการอื่นๆอีก ทำให้มีรายได้ 14 ล้านดอลลาร์
เหตุผลที่ศาลสั่งจำคุกสองสามีภรรยาถึง 10 ปี เพราะถือว่ากระทำความผิดร้ายแรง ผิดกฎหมายถึง 2 ฉบับ คือกฎหมายว่าด้วยการติดสินบนต่างประเทศ และกฎหมายปราบปรามการฟอกเงิน เนื่องจากมีการโอนเงินให้เจ้าหน้าที่ของไทย โดยผ่านธนาคารต่างประเทศหลายครั้ง นับเป็นอีกคดีหนึ่งซึ่งถูกเปิดเผยขึ้นในต่างประเทศ และเป็นเรื่องนักธุรกิจต่างชาติติดสินบนเจ้าหน้าที่ของไทย
ยังมีคดีที่โด่งดังและมีลักษณะเดียวกันกับคดีเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯอีกอย่างน้อย 2 คดี คดีที่หนึ่งที่โด่งดังมาก คือการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่เรียกว่าเครื่อง "ซีทีเอ็กซ์" ที่นักธุรกิจชาวอเมริกันถูกดำเนินคดีในข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่พรรคการเมืองและข้าราชการไทย เพื่อจูงใจให้ซื้อเครื่อง
ซีทีเอ็กซ์ กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต และรัฐบาลไทยโดนอภิปรายในสภา
อีกคดีหนึ่งคือ กรณีที่ผู้บริหารบริษัทรับเหมาก่อสร้างของญี่ปุ่นถูกดำเนินคดีอาญาที่กรุงโตเกียว ในข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่ของไทย เพื่อจูงใจให้ได้รับสัมปทานก่อสร้างอุโมงค์ป้องกันนํ้าท่วมของ กทม. ในสมัยที่นาย สมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าราชการ กทม. ผู้บริหารบริษัทก่อสร้างที่ถูกดำเนินคดีบอกความจริงเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นว่า ในเมืองไทยถ้าอยากได้รับสัมปทานจากรัฐ จะต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ
ทั้งสองคดี คือคดีการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดของสนามบินสุวรรณภูมิ และคดีการก่อสร้างอุโมงค์ของ กทม. ล้วนแต่กล่าวหา ว่าเจ้าหน้าที่ไทยรับสินบนจากต่างชาติ เป็นเรื่องราวที่ถูกเปิดโปงขึ้นในต่างประเทศ โดยกระบวนการยุติธรรมต่างประเทศ แต่กระบวน การยุติธรรมไทยเงียบเฉย และไม่ทราบว่าจะยังเฉยอยู่หรือไม่? ในคดีล่าสุดคือสินบน 60 ล้าน ในมหกรรมภาพยนตร์นานาชาติ
เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยอาจจะมองว่าเรื่องแบบนี้ไม่ทำให้ประเทศไทยเสียหาย เพราะเจ้าหน้าที่ไทยงาบสินบนต่างชาติ เป็นคุณูปการต่อประเทศชาติเสียอีก เพราะนำเงินตรา ต่างประเทศเข้ามา แต่การที่เจ้าหน้าที่ไทยรับสินบนจากต่างชาติ เป็นความผิดตามกฎหมายไทย และทำให้ประเทศไทยเสียชื่อ ผู้รับสินบนมีโทษร้ายแรงยิ่งกว่าผู้ให้ และเป็นเครื่องพิสูจน์ ว่า ไทยเป็นนิติรัฐและประชาธิปไตยจริงหรือ?