ที่มา ไทยรัฐ
นักวิชาการนิด้า เปิดผลวิจัยชี้ครบปีวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ เศรษฐกิจไทยยังแย่สุดใน เอเชีย สอบตกทั้งการฟื้นตัวและการบริโภคภายใน โดยการลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัว รัฐบาล ล้มเหลวในการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ..
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA Business School) ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) จัดเสวนาวิเคราะห์เศรษฐกิจการเงิน "ครบรอบปีวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ประเทศใดสอบผ่านหรือตก" โดยนายเอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ คณบดี NIDA Business School กล่าวว่า ทางนิด้าและ สถาบันวิจัยนครหลวงไทยได้ทำการวิจัยถึงการฟื้นตัว ของประเทศต่างๆ โดยแบ่งประเทศออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มประเทศที่มีวิกฤติสถาบันการเงินคือสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น กับกลุ่มประเทศในเอเชียรวมถึงไทย ซึ่งไม่มีปัญหาด้านสถาบันการเงิน แต่พึ่งพิงการส่งออกอย่างมาก โดยพบว่าสหรัฐฯและ สหภาพยุโรปมีการฟื้นตัวชัดเจน ขณะที่ญี่ปุ่นมีการ ฟื้นตัวที่แย่ที่สุดเมื่อเทียบกับสหรัฐฯและยุโรป แต่ถ้าพิจารณาการแก้ปัญหาสถาบันการเงินพบว่า สถาบันการเงินญี่ปุ่นเข้มแข็งที่สุด ส่วนสหรัฐฯและยุโรปยังเพิ่มทุนสถาบันการเงินไม่เท่ากับความเสียหาย ที่เกิดจากการลงทุนในตราสารซับไพร์ม
ส่วนกลุ่มที่ 2 ชาติเอเชียได้พ้นจากภาวะถดถอย ทางเศรษฐกิจเชิงเทคนิคหมดแล้ว แต่เมื่อประเมินความเข้มแข็งของการฟื้นตัวพบว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์ มีการฟื้นตัวดีที่สุด ขณะที่ประเทศไทยมีระดับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต่ำที่สุดในกลุ่ม รวมทั้งการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศยังแย่ที่สุดในกลุ่มอีกด้วย แม้เศรษฐกิจไตรมาส 2 จะเริ่มปรับตัวขึ้นมาบ้าง แต่ก็เป็นไปอย่างอ่อนแอ โดยการฟื้นตัว ที่เกิดขึ้นมาจากการอัดฉีดเม็ดเงินของรัฐบาล แต่ภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัวโดยยังมีปัญหาว่างงาน และการบริโภคที่ยังไม่เติบโต
"ไทยยังมีความล้มเหลวมาก เนื่องจากยังไม่ สามารถสร้างความต้องการให้เกิดขึ้นภายในประเทศได้ แต่นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นปัจจุบัน ไม่ใช่อนาคต ดังนั้น หากรัฐบาลทำให้ประเทศเข้มแข็งขึ้น ทั้งการ ฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการสร้างความต้องการภายใน ก็จะทำให้ทุกอย่างกลับมาเป็นบวกได้"
นายเอกชัยยังเสนอว่า รัฐบาลควรเน้นเรื่องการลงทุนเพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชนในอนาคต เนื่องจากขณะนี้ไทยมีปัญหาเรื่องหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหาเงินในอนาคตเข้ามา ช่วย ไม่เช่นนั้นจะทำให้ไม่มีเงินมาใช้หนี้ และเกิด ปัญหาเงินคงคลังของประเทศตามมาในที่สุด ส่วนการอัดฉีดเม็ดเงินของรัฐบาลอาจไม่สร้างประโยชน์มากนัก หากใส่ไปในโครงการที่ไม่ทำให้เกิดรายได้ต่อประชาชน
นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ระบุว่า ธนาคารกลางในหลายประเทศของเอเชีย ซึ่งรวมถึงไทยต้องระวังเศรษฐกิจเกิดภาวะฟองสบู่ โดยเฉพาะการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์หลังใช้นโยบายอัดฉีดสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำว่า ไทยยังมีความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้ เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณปรับ ตัวดีขึ้นแล้ว จึงมั่นใจว่าไทยมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดีไม่แพ้ประเทศอื่น และยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่เกิดปัญหาฟองสบู่แตกแน่นอน เนื่องจากดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงราคาที่ดินก็ไม่ปรับตัวสูงขึ้นเกินราคาพื้นฐานเมื่อเทียบกับสิงคโปร์และฮ่องกง
ส่วนการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาก็ยังติดลบ จึงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า จะไม่เกิดปัญหาอย่างที่เอดีบีกังวล เพราะเศรษฐกิจฟองสบู่นั้นธนาคารจะปล่อยสินเชื่อสู่ระบบเป็นจำนวน มาก และจากการเดินทางไปพบกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจและนักลงทุนประเทศอังกฤษพบว่า นักลงทุนยังมีมุมมองที่ดีต่อการเข้ามาลงทุนในไทย เนื่องจากตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ดัชนีหุ้นก็ปรับขึ้น อย่างต่อเนื่องจาก 400 จุด จนปัจจุบันอยู่ที่ 700 จุด รวมถึงผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนก็มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องไปอีก 1 ปีข้างหน้า
ด้านนายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่า การธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ ยังไม่เห็นสัญญาณเกิดปัญหาฟองสบู่ในเศรษฐกิจไทยและในภาคธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งหากจะดูด้านราคาก็ไม่ได้มีสัญญาณที่เพิ่มขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงจนผิดสังเกต อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้ดูแลและติดตามอย่างใกล้ชิด โดยไม่ปล่อยให้เกิดความไม่สมดุลด้าน ราคาในภาคอสังหาฯอย่างรวดเร็วเกินไป ส่วนการ ฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยนั้น จะฟื้นแบบค่อยเป็นค่อยไปและต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งต้องรอแรงกระตุ้นจากมาตรการกระตุ้นการลงทุนจากภาครัฐด้วย ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินช่วงนี้ ถือว่ายังนิ่ง ส่วน สาเหตุที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าช่วงนี้ เกิดจากการ เกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงมากและการอ่อนค่าของเงินสหรัฐฯทำให้ค่าเงินในภูมิภาคแข็งค่าขึ้น "แม้ขณะนี้สภาพคล่องในระบบจะสูงแต่ไม่น่าเกิดปัญหาฟองสบู่ แม้ดอกเบี้ยจะลดลงมาเยอะแต่ ธปท.ยังมีเครื่องมือ ดำเนินนโยบายการเงินอื่นๆอีกหลายวิธี ในการดูแลเศรษฐกิจหรือภาคธุรกิจ และเราก็ไม่ปล่อยให้ความไม่สมดุลเกิดขึ้นรวดเร็ว ต้องดูแลใกล้ชิดอยู่แล้ว" นายไพบูลย์กล่าว.