ที่มา ไทยรัฐ
สัญญาณบางอย่างที่ส่งมาจากที่ประชุมผู้นำจี 20 ถึงภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯกับการรับมือวิกฤติเศรษฐกิจการเงินระลอกใหม่น่าสนใจไม่น้อย กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศจุดยืนในที่ประชุมชัดเจน ถึงเวลาที่ ชาวอเมริกันจะต้องอดออมมากขึ้น และบรรดาชาติที่มุ่งจะขายสินค้าให้กับสหรัฐฯจะต้องมองหาช่องทางอื่นๆ
ในการสร้างความเจริญเติบโตให้กับเศรษฐกิจของตัวเอง
เป็นคำพูดของ รมว.คลังสหรัฐฯ ทิมโมธี ไกธ์เนอร์ ซะด้วย ที่ต้องยอมรับความจริงก็คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศจะอาศัยการส่งออกเป็นหลักต่อไปไม่ได้ แต่ละประเทศจะเน้นเรื่องการออมแทนการใช้จ่าย เป้าหมายการออมมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 40 ของรายได้
แผนการเงินของโลกจะมีการปฏิรูปกันใหม่หมด
กลับมาที่แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ ไทยเข้มแข็ง ถูกวิจารณ์มาก วันนี้ยังอาจจะพิสูจน์ความสำเร็จหรือล้มเหลวไม่ได้ชัดนัก แต่ในทางด้านทฤษฎีแล้ว การเริ่มต้นโครงการและเป้าหมายของโครงการ รวมทั้งโครงสร้างของโครงการก็พอจะคำนวณได้ว่าสุดท้ายจะได้กำไรหรือขาดทุน
เมื่อเข้ามาบริหารประเทศใหม่ๆ มักจะได้ยินคำพูดของ นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจว่า เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้น เศรษฐกิจบ้านเราก็จะฟื้นตามไปด้วย ไปร่วมประชุมจี 20 เที่ยวนี้ นายกฯอภิสิทธิ์คงหูตาสว่างขึ้นเยอะ
วิสัยทัศน์สำคัญที่สุด
เข้าใจว่าทั้งนายกฯอภิสิทธิ์ ทั้งกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลังก็พยายามที่จะสร้างภาวะผู้นำเพื่อกำจัดจุดอ่อนของตัวเอง แต่ช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างรอยต่อตรงนี้กลายเป็นสุญญากาศของอำนาจขึ้นมา
ที่หมายถึงบารมี
การจะสร้างภาวะผู้นำ โดยสร้างภาพให้เด่นขึ้นมาจากความล้มเหลวของผู้อื่น เท่ากับเป็นการสร้างศัตรูมากกว่าการสร้างบารมี
ทำไมพรรคภูมิใจไทยที่แกนนำพรรคแต่ละคนโดนดูถูกว่าต้นทุนต่ำ จึงสามารถที่จะแย่งซีนความมีภาวะผู้นำชั่วคราวไปได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่แต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เพราะความใจกว้างและใจถึง
วันนี้ รมต.ภูมิใจไทย ก้าวล้ำหน้ากว่า รมต.ประชาธิปัตย์ อีกก้าว จับมือ 3 กระทรวงที่รับผิดชอบทำงานร่วมกันเพื่อให้งานไปถึงเป้าหมายสุดท้ายอย่างราบรื่น ทั้งมหาดไทย คมนาคม พาณิชย์ ไม่ต้องคอยไประวังว่าจะสะดุดเท้าใครเข้า ในขณะที่พรรคแกนนำรัฐบาลยังอีนุงตุงนังไม่เลิก แทงข้างหลังกันไม่หยุด.
หมัดเหล็ก