WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Thursday, October 1, 2009

ประชาธิปไตยที่ “มนุษย์เท่าเทียมกัน”

ที่มา ประชาไท

หากความหมายของประชาธิปไตยคือ “อำนาจตัดสินใจทางการเมือง และหรือที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะเป็นของประชาชน” ความหมายดังกล่าวนี้จะไม่มีทางทำให้เป็นจริงได้หากปราศจากการยอมรับหลักการที่ว่า “มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน”

แต่หลักการดังกล่าวนี้ดูเหมือนจะขัดแย้งกับข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ยืนยันว่ามนุษย์นั้นแตกต่างกันอย่างน้อยก็ 2 ด้านใหญ่ๆ คือ “ความแตกต่างด้านชีววิทยา” เช่น บางคนเกิดมาสมประกอบ บางคนเกิดมาพิการ บางคนร่างกายอ่อนแอ บางคนแข็งแรง บางคนโง่ บางคนฉลาด ความสามารถในการเรียนรู้ ความคิดความอ่านเป็นต้นของคนเราไม่เท่ากัน

ซึ่งความไม่เท่ากันดังกล่าวนั้นทำให้เกิดความแตกต่างที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ “ความแตกต่างด้านสังคมวิทยา” เช่น ระดับการศึกษา อาชีพ ทรัพย์สิน อำนาจ รสนิยม ชาติตระกูล ความสำเร็จ เกียรติ ชื่อเสียง ยศถาบรรดาศักดิ์ ฯลฯ

สังคมที่เรียบง่ายในยุคเกษตรกรรมความแตกต่างเหล่านี้อาจมีไม่มากนัก แต่สังคมที่ซับซ้อนเช่นปัจจุบันความแตกต่างดังกล่าวมีมากขึ้น และเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดชนชั้นทางสังคม เช่น คนชั้นสูง คนชั้นกลางระดับสูง คนชั้นกลางระดับกลาง คนชั้นกลางระดับล่าง คนชั้นต่ำหรือชนชั้นรากหญ้า

ความแตกต่างทางระดับการศึกษา อาชีพ ทรัพย์สิน อำนาจ รสนิยม ฯลฯ ทำให้คนเกาะเกี่ยวสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่นเฉพาะในชนชั้นของตนเองทั้งในด้านการทำงาน กิจกรรมทางสังคม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การแบ่งปันทุกข์สุข การพักผ่อน กิจกรรมบันเทิง ฯลฯ และรวมไปถึงการมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือการกำหนดประเด็นสาธารณะต่างๆ ด้วย

แม้ความแตกต่างทางชนชั้นในปัจจุบันจะไม่ใช่ความแตกต่างที่เข้มข้นเหมือนความแตกต่างภายใต้ระบบศักดินา แต่ก็เป็นความแตกต่างที่สะท้อนให้เห็น “ช่องว่าง” หรือความไม่เป็นธรรมทางสังคมอย่างน่าตกใจ ดังข้อสังเกตของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ที่ว่า

“... ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย หรือระหว่างคนข้างล่างกับคนข้างบน คือ ภาพสะท้อนมหภาคของความไม่เป็นธรรม เราเป็นคนเหมือนกันควรจะมีศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นคนเหมือนกัน แต่ทำไมจึงแตกต่างกันมากเหลือเกินระหว่างคนข้างล่างที่ปากกัดตีนถีบไม่พอที่จะเลี้ยงลูก กับคนข้างบนที่อาจมีรายได้เป็นล้านๆ บาทต่อเดือน เรามีปัญหาความไม่เป็นธรรมทุกด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางกฎหมายและการเข้าถึงทรัพยากร เรารู้หรือไม่ว่ากฎหมายและการประยุกต์ใช้กฎหมายมีอคติต่อคนจน ความขัดแย้งทั่วแผ่นดินเกิดจากการแย่งชิงทรัพยากรที่รัฐไม่อำนวยความเป็นธรรม” [1]

ประเด็นคือการเมืองเป็นเรื่องของการต่อรองอำนาจและผลประโยชน์ และหากประชาธิปไตยหมายถึงอำนาจเป็นของประชาชน และเป็นอำนาจบนหลักการที่ว่า “มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน” เพราะมีแต่มนุษย์ที่เท่าเทียมกัน (หรือสมาชิกแห่งสังคมที่ยืนยันหลักการ “ความเสมอภาค”) เท่านั้นเมื่อมาต่อรองอำนาจและผลประโยชน์กัน ผลลัพธ์ของการแบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์จึงจะออกมาอย่างเป็นธรรม

ฉะนั้น เราไม่อาจจินตนาการถึงสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริงซึ่งปฏิเสธหลักการ “ความเท่าเทียมของมนุษย์” เช่น ถือว่าในสังคมนั้นต้องมีบุคคลพิเศษที่อยู่เหนือมนุษย์อื่นๆ ทั้งในแง่ชาติตระกูล คุณธรรม การมีอภิสิทธิ์ หรืออำนาจที่ไม่มีประชาชนคนใดอาจตั้งคำถาม ตรวจสอบ หรือกำกับให้รับผิดชอบต่อการใช้อำนาจนั้นได้

แต่ในสังคมบ้านเรานั้น ไม่จำเป็นต้องใช้จินตนาการเราก็เห็นความเป็นจริงของสังคมที่ไม่อาจจินตนาการถึงนั้นอยู่เต็มตา ทั้งยังเห็นช่องว่างทางชนชั้นทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมซึ่งนับวันจะถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ ประชาธิปไตยที่อำนาจของประชาชนอยู่บนพื้นฐานของหลักการความเท่าเทียมของมนุษย์จึงยากจะเป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเราไม่เชื่อย่างลึกซึ้งในหลักการที่ว่า “มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน” [2] แต่จากที่กล่าวมาเราอาจสรุปข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกับหลักการนี้ให้ชัดขึ้น คือ

1.ความเชื่อร่วมหรืออุดมการณ์ร่วมของสังคม (ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญและวัฒนธรรมตกทอดจากอดีต) ที่ยอมรับอภิสิทธิชนที่อยู่เหนือการตั้งคำถามและการตรวจสอบในทุกรณี เป็นความเชื่อหรืออุดมการณ์ที่ขัดแย้ง “เชิงอุดมการณ์” ต่อหลักการ “มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน” อย่างสิ้นเชิง และนี่จึงเป็นอุปสรรคสำคัญของการเกิดประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกคนซึ่งเท่าเทียมกันสามารถต่อรองในเรื่องอำนาจและผลประโยชน์กันได้อย่างยุติธรรม

2.ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความแตกต่างด้านชีววิทยา สังคมวิทยา หรือปัญหาช่องว่างทางเศรษฐกิจ สังคม ที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม ไม่ใช่ความขัดแย้ง “เชิงอุดมการณ์” กับหลักการ “มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน” เพราะหากไม่ยึดเอาความแตกต่างเหล่านั้นมาเป็นเงื่อนไขในการจำแนกความแตกต่างทางคุณค่าหรือศักดิ์ศรีของมนุษย์ (เช่น ไม่ถือว่าคนรวยมีคุณค่าความเป็นคนมากกว่าคนจน ฯลฯ) สังคมก็ยังอาจรักษาอุดมการณ์ “มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน” เอาไว้ได้

เช่น ไม่ว่าคนจนคนรวยก็ต้องเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย ถูกตั้งคำถาม ตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ได้ และวาง “ระบบ” ที่ทำให้ทุกคนในฐานะสมาชิกแห่งสังคมประชาธิปไตยได้เข้าสู่เวทีการต่อรองในเรื่องอำนาจและผลประโยชน์อย่างเสมอภาค (มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ถ้าเชื่อในเรื่องอภิสิทธิชนตามข้อ 1 จะไม่มีทางเป็นไปได้เลย)

ดังนั้น ก้าวต่อไปของประชาธิปไตยในบ้านเรา จึงต้องเผชิญกับสิ่งท้าทายสำคัญอยู่ 2 เรื่องหลักๆ คือ

1.เราจะสลายความเชื่อหรืออุดมการณ์ยอมรับอำนาจพิเศษของอภิสิทธิชน ด้วยการสร้างรัฐธรรมนูญใหม่และวัฒนธรรมใหม่ที่ตั้งมั่นอยู่บนหลักการ “มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน” ได้อย่างไร โดยประชาชนไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ

2.เราจะจัดการกับปัญหาช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่เป็นธรรมอย่างไร จึงจะทำให้เกิดสังคมที่มีการกระจายสิทธิ อำนาจ และผลประโยชน์ในด้านต่างๆ อย่างเป็นธรรม หรือทำอย่างไรที่ประชาชนในทุกชนชั้นทางเศรษฐกิจ สังคม จะสามารถขึ้นสู่เวทีต่อรองในเรื่องอำนาจและผลประโยชน์ หรือมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะต่างๆ อย่างเท่าเทียมมากขึ้น

ก็ได้แต่ฝากปัญหาให้ช่วยกันคิดหาทางแก้นะครับ เพราะเป็นปัญหาที่ผมเองก็จนด้วยเกล้าจริงๆ

...............................................................................

[1] http://www.thaipost.net/news/180309/1893
[2] ขอยืมความหมายจากข้อความในโพสต์ของ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่ว่า “ประชาธิปไตย นั้น ก่อนอื่นที่สุด คือความเชื่ออย่างลึกซึ้งว่า คนเท่าเทียมกัน ไม่มีใครเป็นเทวดากว่าคนอื่น” (ดู http://www.prachatai.com/node/25214/talk)