ที่มา ประชาไท
เมื่อประมาณกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดของสหรัฐฯ ได้กล่าวอย่างระมัดระวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐว่า “จากมุมมองทางเทคนิค พบว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นในขณะนี้ และมีความเป็นไปได้อย่างมากว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930 จะสิ้นสุดลง แต่ในอีกมุมมองหนึ่งก็พบว่าเศรษฐกิจยังคงอยู่ในภาวะที่เปราะบางและอ่อนแอ ....เนื่องจากอัตราว่างงานพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง....”
รายงานการวิเคราะห์วิกฤตภาคการธนาคารของกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2552 ก็สอดคล้องกับท่าทีที่ระมัดระวังของนายเบน เบอร์นันเก้เมื่อกล่าวถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและชี้ให้เห็นว่าการฟื้นตัวนั้นอาจต้องใช้ระยะเวลาพักใหญ่ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ทำให้เกิดการลดลงของการผลิต การจ้างงาน รวมถึงผลกำไรหรือการลงทุนในอนาคต ส่งผลให้การฟื้นตัวที่จะเกิดขึ้นอาจเป็นไปอย่างเชื่องช้ากว่าที่คาดการณ์กัน
ในบริบทของสหรัฐฯ อุปสรรคสำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็คืออัตราว่างงานที่สูง สำนักงานสถิติแรงงานของสหรัฐฯ ระบุว่า ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประชากรกว่า 7.5 แสนคนต้องกลายเป็นแรงงาน “ที่ถูกบั่นทอนกำลังใจ” (discouraged worker) คือ เลิกล้มความตั้งใจที่จะหางานเพราะเชื่อว่าไม่มีงานเพียงพอสำหรับตน ดังนั้น รัฐจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อสร้างงานใหม่และการฟื้นฟูขวัญและกำลังใจของคนงานเหล่านี้อย่างเร่งด่วน
สำหรับประเทศไทย ผู้บริหารนโยบายและนักวิจัยอาวุโสส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่ปัจจัยทางด้านนโยบายการเงิน การคลังและสถานการณ์การส่งออกเมื่อถูกถามถึงโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว เช่น นายโอฬาร ไชยประวัติ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กล่าวเมื่อต้นเดือนนี้ว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว! และการฟื้นตัวจะเป็นรูปตัว U แต่ก็มีความเสี่ยงจะเป็นรูปตัว L ได้หากดำเนินนโยบายการเงินผิดพลาด
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวในทำนองเดียวกันว่าปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจไทยในขณะนี้น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว! และคาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจฟื้นตัวเป็นรูปตัว U ทั้งนี้ การฟื้นตัวจะขึ้นอยู่กับปัจจัยอย่างเช่นเศรษฐกิจโลก ความคล่องตัวในการเบิกจ่ายงบไทยเข้มแข็ง รวมทั้งสถานการณ์ทางการเมือง
ในมุมมองของภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนนั้น เป็นที่เข้าใจได้ว่าการสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาใหม่คงจะเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ล่อแหลมและอันตรายมากก็คือ ความพยายามสร้างความเชื่อมั่นมากเกินไปจนละเลย “ความเป็นจริง” ทางเศรษฐกิจและสังคม อาจทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวบนโครงสร้างที่บิดเบี้ยวมากยิ่งขึ้น
“ความเป็นจริง” ดังกล่าวก็คือ สถานการณ์การเลิกจ้างที่น่าเป็นห่วง สภาพการทำงานที่สุ่มเสี่ยงและไร้ความมั่นคงของแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงาน “นอกระบบ”
ในภาคอุตสาหกรรมของไทย การปิดตัวลงของสถานประกอบการที่มีการจ้างงานขนาดใหญ่ยังคงปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง กรณีล่าสุดคือ บริษัทผู้ผลิตกรอบประตู หน้าต่างอลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์อลูมิเนียมส่งออกแห่งหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร (ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี) ได้ประกาศเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ว่าจะหยุดกิจการและจำเป็นต้องเลิกจ้างคนงานจำนวนมากกว่า 5,500 คน!
จากรายงานสถานการณ์แรงงานรายไตรมาสของกระทรวงแรงงาน ถึงแม้สถิติการปิดกิจการและเลิกจ้างคนงานในไตรมาสที่ 2 (เดือนเมษายนถึงมิถุนายน) ของปี 2552 จะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสแรก (มกราคมถึงมีนาคม) กล่าวคือ จากจำนวนสถานประกอบการที่เลิกกิจการ 272 แห่ง หรือจำนวนลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 23,712 คน ลดลงเป็น 101 แห่งหรือจำนวนผู้ถูกเลิกจ้าง 10,199 คน แต่เมื่อรวมตัวเลขของคนงานที่ถูกเลิกจ้างในช่วง 6 เดือนเข้าด้วยกันพบว่าสถานการณ์ยังอยู่ในขั้นที่น่าเป็นห่วงมาก
เมื่อพิจารณาในเชิงสาขา คนงานส่วนใหญ่หรือประมาณร้อยละ 70 ของคนงานที่ถูกเลิกจ้างเป็นแรงงานในภาคการผลิต ซึ่งไม่สามารถปรับตัวในแง่ของการฝึกทักษะเพิ่มเติมและหางานใหม่ได้ดีเท่ากับแรงงานในภาคบริการเช่น การเงินหรือการท่องเที่ยว ซึ่งมีสัดส่วนของการปิดกิจการต่ำกว่ามาก นอกจากนี้ สถานประกอบการที่ปิดกิจการและเลิกจ้างคนงานกว่าร้อยละ 60 อ้างสาเหตุการขาดทุนและขาดสภาพคล่องในการดำเนินงาน รองลงมาคือ เลิกกิจการเพราะมีคำสั่งซื้อลดลง คิดเป็นประมาณร้อยละ 28.71
จึงนำไปสู่คำถามว่า “จุดต่ำที่สุดที่ผ่านไปแล้ว” สำหรับเศรษฐกิจไทย ที่แท้จริงแล้วคืออะไร? หรือว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่กล่าวถึงกันนั้นจะมีตัวตนอยู่แต่ในมุมมอง “ทางเทคนิค” ในความหมายเดียวกับที่ประธานเฟดของสหรัฐฯใช้และกล่าวถึงในตอนต้นบทความ?
สำหรับแรงงานไทยในปัจจุบัน จุดที่ต่ำที่สุดของวิกฤตสำหรับพวกเขายังคงไม่ผ่านพ้นไปอย่างแน่นอน ตราบใดที่พวกเขายังต้องประสบกับความสุ่มเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงที่นายจ้างของตนจะหยุดกิจการชั่วคราวตามอำเภอใจและต่อรองให้รับค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าร้อยละ 75 โดยอ้างปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือแย่กว่านั้น ก็อาจจะถูกเลิกจ้างโดยที่นายจ้างไม่บอกกล่าวล่วงหน้า หรือไม่ได้รับค่าจ้างและค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งหมายถึงต้นทุนทั้งเวลาและตัวเงินที่จะต้องเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ต่อสู้เรียกร้องสิทธิที่ตนควรได้รับตามกฎหมาย
ยังไม่ต้องกล่าวถึงคนงานอีกจำนวนกว่า 24 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 62.8 ของกำลังแรงงานทั้งหมดที่ถูกเรียกว่าแรงงาน “นอกระบบ” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและการคุ้มครองสวัสดิการตามที่กฎหมายกำหนด ที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเนื่องจากการปรับตัวของภาคธุรกิจเพื่อลดภาระต้นทุนท่ามกลางสภาวะการแข่งขันรุนแรง ไม่ว่าการตีความ “การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ” จะแตกต่างกันไปอย่างไรสำหรับผู้กำหนดนโยบาย นักการเมืองและนักวิชาการ สำหรับคนงานที่หาเช้ากินค่ำ ดัชนีชี้วัดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีเพียงตัวเดียวที่แม่นยำที่สุด นั่นคือ การมีงานที่มั่นคงทำ
เหตุผลนี้เองกระมัง คนไทยจึงมักไม่เชื่อถือนักการเมืองและนักเศรษฐศาสตร์ แต่ใช้วิธีสอบถามเอาจากคนขับแท็กซี่หรือตรวจสอบจากราคาไข่ไก่ในตลาดใกล้บ้าน!
.........................
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ “มุมมองบ้านสามย่าน” หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม 2552