ที่มา ประชาไท
สามปีที่แล้วรัฐบาลทักษิณถูกขับไล่โดยการทำรัฐประหารของกองทัพ หนึ่งปีถัดมาหลังจากนั้นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งร่างขึ้นโดยมีทหารหนุนหลัง ก็ถูกประกาศใช้แทนรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” และในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมานี้ แทบไม่มีเดือนไหนเลยที่ไม่ มีม็อบหรือม็อบชนม็อบที่สำคัญๆ และบางครั้งก็มีความรุนแรงเกิดขึ้น ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ หรือไม่ก็เป็นเพราะความวุ่นวายทั้งหลายนี้เอง ที่ทำให้การปฏิรูปรัฐธรรมนูญกลับมาเป็นประเด็นทางการเมืองของประชาชนอีกครั้งในขณะนี้
หลังจากที่มีการถกเถียงกันเองภายในกลุ่มและภายในคณะอนุกรรมการของรัฐสภาอยู่หลายเดือน ในวันที่ 16-17 กันยายน จึงได้มีการประชุมร่วมวาระพิเศษของรัฐสภาเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อการสร้างสมานฉันท์และปฏิรูปการเมือง
ภายหลังจากการประชุม นายกรัฐมนตรีเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปรัฐธรรมนูญขึ้น โดยจะประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภาและผู้เชี่ยวชาญสายวิชาการ ซึ่งเคยมีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 มาแล้ว นอกจากนั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขนี้ จะต้องผ่านการทำประชามติเพื่อให้ประชาชนรับรองด้วย
นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นตรงกันข้ามกับข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี เขาเห็นว่าอาจไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกเลยก็ได้ และรัฐสภาสามารถดำเนินการเองได้ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขหรือรับรองรัฐธรรมนูญ และการทำประชามติเท่ากับเป็นการสูญเงินเปล่า
นายประสพสุข บุญเดช โฆษกวุฒิสภา เห็นด้วยเช่นกันว่าไม่จำเป็นต้องทำประชามติ การมีส่วนร่วมของอดีต สสร. ที่เคยร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับเป็นประกันอยู่แล้วว่าข้อเสนอของประชาชนจะปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับที่จะร่างขึ้นใหม่นี้
ในขณะที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส. พรรคเพื่อไทย ก็คิดว่าไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการเช่นกัน โดยให้รัฐสภาพิจารณาเพียงหกประเด็นหลักที่คณะอนุกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอขึ้นมาเท่านั้น
นี่เป็นเพียงตัวอย่างความคิดเห็นของนักการเมือง และนักวิชาการที่มีชื่อเสียงบางคนเท่านั้น ว่าแต่ว่าสามัญชนคนไทยคิดเห็นกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ?
ถือเป็นช่วงเวลาพอเหมาะพอดี ที่ในวันเดียวกับที่รัฐสภาประชุมร่วมวิสามัญเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มูลนิธิเอเชียก็ได้จัดงานแถลงข่าวผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนไทยเรื่องการปฏิรูปรัฐธรรมนูญเช่นกัน (อ่านรายงานผลการสำรวจฉบับสมบูรณ์ได้ที่ www.asiafound.org) หลายคำถามในการสำรวจเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตรง และผลที่ได้จากการสำรวจก็เกี่ยวข้องกับประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้
ตัวอย่างเช่น สองในสามของผู้ถูกสำรวจต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้ใช้รูปแบบที่แตกต่างกันไป (เช่น บางส่วนต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ในขณะที่อีกส่วนให้กลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 และอีกส่วนหนึ่งต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด)
ที่น่าสนใจก็คือ ความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความเห็นของนักการเมืองและนักวิชาการคนสำคัญๆ ที่ปรากฏตามสื่อ มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่สนับสนุนความคิดที่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรร่างและผ่านการรับรองโดยรัฐสภา ในขณะที่เพียงร้อยละ 16 เห็นด้วยกับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญโดยผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่ม
เสียงส่วนใหญ่ร้อยละ 67 บอกว่าพวกเขาอยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างมีส่วนร่วม นั่นหมายถึงการปรึกษาหารือประชาชนคนธรรมดาทั้งประเทศ เมื่อถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรได้รับความเห็นชอบโดยรัฐสภาหรือควรทำประชามติ เสียงส่วนใหญ่ท่วมท้นถึงร้อยละ 84 เลือกที่จะทำประชามติ
ถึงแม้ว่านายกรัฐมนตรีจะกล่าวว่าเขาสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการปฏิรูป แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เป็นที่แน่ใจนักว่าจะทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้อย่างไร
ในขณะที่บางคนเห็นว่าการดึงเอาสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญอันประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ ซึ่งมีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญสองฉบับที่แล้วมาร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการมีส่วนร่วมของประชาชนแล้ว แต่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าคนไทยโดยทั่วไปไม่เห็นด้วย
คนไทยส่วนใหญ่ต้องการให้คำปรึกษาโดยตรงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และต้องการเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะรับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือฉบับที่จะมีการแก้ไขนี้หรือไม่
หากเป้าประสงค์ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือการอำนวยให้เกิดความสมานฉันท์และการปฏิรูปการเมืองในประเทศ ความคิดเห็นที่ชัดเจนของคนไทยส่วนใหญ่นี้ควรได้รับการเคารพ
กระบวนการปฏิรูปรัฐธรรมนูญที่ประชาชนไทยส่วนใหญ่จะให้การสนับสนุน ถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เนื่องจากรัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดของประเทศ การนำมาบังคับใช้จึงไม่ควรเป็นเพื่อการรับใช้กระบวนการทางการเมืองทั่วไป
เมื่อมีการนำประเด็นที่มักทำให้เกิดการโต้แย้งหรือเป็นประเด็นผันแปรทางการเมืองมาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็จะส่งผลให้รัฐธรรมนูญถูกฉีกทิ้งได้ง่าย รัฐธรรมนูญที่จะคงทนถาวรได้จึงควรตั้งอยู่บนฐานของความเห็นที่เป็นเอกภาพ ในเรื่องเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ที่จะสามารถควบคุมกระบวนการทางการเมือง มากกว่าจะพยายามตอบคำถามหรือแก้ไขปัญหาทางการเมือง
จากความคิดเห็นที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชาชนชาวไทยกำลังเลือกกระบวนการซึ่งดูเหมือนว่าจะสร้างความเห็นร่วมเรื่องกติกาพื้นฐานได้มากที่สุด และนั่นจะเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญซึ่งจะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่ามีความเหมาะสมและชอบธรรม
ผลการสำรวจของมูลนิธิเอเชียชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่จะเป็นหลักประกันว่ากระบวนการปฏิรูปรัฐธรรมนูญจะเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยและสามารถช่วยสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในชาติได้จริง คือการที่ผู้นำทางการเมืองพิจารณาสนับสนุนกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งอย่างน้อยที่สุด ต้องกว้างขวางทั่วถึงและเปิดให้มีส่วนร่วมได้ในระดับเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในสมัยร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และตามด้วยนวัตกรรมที่เริ่มรู้จักกันเมื่อครั้งที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 นั่นคือ การทำประชามติ
.............................................
หมายเหตุ:
*ทิม ไมส์เบอร์เกอร์ เป็นผู้อำนวยการระดับภูมิภาค ฝ่ายการเลือกตั้งและกระบวนการทางการเมือง มูลนิธิเอเชีย บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน
**บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 23 ก.ย. 2552 ในชื่อ Opinions divided on constitutional reform process