ที่มา บางกอกทูเดย์
มติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ(ป.ป.ช.)เมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีลงมติเห็นข้างมาก 6 ต่อ 3 ชี้มูลความผิดทางอาญา ของอดีตนายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายนพดล ปัทมะ กำลังจะกลายมาเป็นประเด็นที่เปิดศึกภายในบ้านของรัฐบาล เพราะประเด็นนี้ผู้ที่ถูกชี้มูลล้วนแต่เป็นคนในเครือข่ายทักษิณ โดยเฉพาะตัวนายนพดล ที่เคยทำหน้าที่ทนายส่วนตัวตระกูลชินวัตร ก่อนจะเข้ามาชิมรางวงการ การเมือง พร้อมกับนั่งเก้าอี้ใหญ่ เป็นเจ้ากระทรวงมาแล้วศึกภายในบ้านที่ว่านี้ เริ่มก่อตัวขึ้นมาอีกครั้งหลังเครือทักษิณ เริ่มถูก “สอย”ในคดีการเมืองที่ติดพันมาจากครั้งที่ “คมช.”ยึดอำนาจไปเมื่อ 19 ก.ย.2549 โดยครม.รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่างมีคดีติดตัวกันแทบทุกคน ขึ้นอยู่กับความแรงของแต่ละคน
โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. เป็นผู้เช็คบิล อดีตรัฐมนตรีรัฐบาลทักษิณ ซึ่งก็มีรัฐมนตรีที่รอดคุก และไม่รอดคุก บางคนถึงขั้นต้องหนีออกนอกประเทศ แต่สำหรับกรณีคดีเขาพระวิหาร ที่ครม.นายสมัคร มีมติสนับสนุนกัมพูชาให้ขึ้นทะเบียนประสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกนี้ ถือเป็นการเก็บตก เครือข่ายทักษิณ อีก 1 คดี นางสาวสมลักษ์ จัดกระบวนพล กรรมการ ป.ป.ช .กล่าวว่า ป.ป.ช.จะเร่งทำสำนวนการชี้มูลความผิดนายสมัคร และนายนพดล ส่งให้อัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไปถึงแม้ทั้ง 2 คนจะพ้นจากตำแหน่งไปแล้วก็จะถูกตัดสิทธิทางการเมือง5ปี ส่วนกรณีนายนพดลออกมาประกาศไม่ยอมรับผลการชี้มูล และอาจฟ้องกลับ ป.ป.ช.ด้วยนั้น ถือเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ “ยืนยันว่าผลวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ได้ยึดตามตัวบทกฎหมาย ที่มีหลักฐานแน่นหนาว่า การกระทำในลักษณะนี้เข้าองค์ประกอบมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยยืนยันไม่มีการเมืองแทรกแซง”ขณะที่นายนพดล เปิดแถลงข่าวตอบโต้กรณีนี้ทันที ว่า มติดังกล่าวของ ป.ป.ช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อเท็จจริง และไม่เป็นธรรม เป็นการตัดสินโดยให้น้ำหนักกับพยานหลักฐานจากฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองกับพ.ต.ท.ทักษิณ
พร้อมยืนยันว่าแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวไม่ใช่สนธิสัญญา เป็นเพียงแถลงการณ์ทางการเมือง ซึ่งทำเพื่อปกป้องดินแดน และเป็นเอกสารชิ้นเดียวที่กัมพูชายอมรับว่า มีพื้นที่ทับซ้อนอยู่จริง และแถลงการณ์ดังกล่าว ได้พิจารณาและเห็นชอบร่วมกันหลายฝ่าย ทั้งจากข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้บัญชาการเหล่าทัพในที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ซึ่งตามกฎหมายถือว่าต้องรับผิดชอบร่วมกัน“มติดังกล่าว เหมือนจงใจเลือกดำเนินการเพียงตนเองกับนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งเป็นฝ่ายเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างไรก็ตาม เห็นว่า การชี้มูลของ ป.ป.ช.เป็นเพียงเบื้องต้นเท่านั้น และมีหลายคดีที่ศาลยกฟ้อง จึงพร้อมที่จะต่อสู้ตามกระบวนการ เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ซึ่งหวังว่า จะได้รับความเป็นธรรมจากศาล และวุฒิสภา” ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง มองว่า ทุกอย่างมีเหตุผลของเขาอยู่แล้ว คงไม่วิพากษ์วิจารณ์ อีกด้านหนึ่งคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่อยู่ในต่างแดน ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นนี้เช่นกัน โดยโพสต์ข้อความสั้นผ่านทวิตเตอร์ ในทำนองที่ว่า คำตัดสินของ ป.ป.ช.เป็นการทำเกินกว่าเหตุและจงใจกลั่นแกล้ง พร้อมกับโทรศัพท์สอบถามเรื่องนี้กับนายนพดลในวันที่ป.ป.ช.มีมติ ในขณะที่ศึกนอกบ้านตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เริ่มตรึงเครียดอีกครั้ง กองกำลังทั้งสองฝ่ายต่างระดมกำลังประชิดชายแดน ตรึงกำลังท่ามกลางความตรึงเครียดทางการเมือง ภายหลังที่สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ประกาศยิงทันทีหากมีคนไทยบุกเข้าไปในเขตกัมพูชา เช่นเดียวกับศึกในบ้านที่กำลังคุกรุ่น จากรณีคำติดสินคดีพระวิหาร แต่ดุจากรูปการณ์แล้ว “ศึกนอก”คงไม่ห่วงมากนัก ที่น่าห่วงเห็นจะเป็น “ศึกใน”บ้านที่ยังหาหนทางสมานฉันท์ไม่เจอ