ที่มา ประชาไท
24 ต.ค.52 เมื่อเวลา 09.00 น.ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี 25 องค์กรร่วมกันจัดงานรำลึก 5 ปี กรณีกรือเซะ ตากใบ บนเส้นทางกระบวนการยุติธรรม โดยมีประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา รวมทั้งตัวแทนองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมเข้าร่วมกว่า 1,000 คน
ภายในงานมีการจัดนิทรรศการภาพถ่ายเกี่ยวกับเหตุดังกล่าว และมีการตั้งเต็นท์เลี้ยงข้าวยำ เพื่อหาเงินสมทบทุนกองทุนประชาชนเพื่อการเข้าถึงกระบวนความยุติธรรม ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐและถูกดำเนินคดีความมั่นคงในพื้นที่
นอกจากนี้ ยังมีการอภิปรายถึงประสบการณ์ ผลกระทบและข้อเสนอของผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น นางแยน๊ะ สะแลแม การบรรยายการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการเข้าถึงกระการยุติธรรม โดยนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น
ในการจัดงานครั้งนี้ นายมูฮัมหมัด อัซมี บิน อับดุลฮามิด ประธานองค์กร TERAS ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ(NGO) ด้านการพัฒนาและสิทธิมนุษยชนจากประเทศมาเลเซีย ได้มอบเงินบริจาคจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมุสลิมของประเทศมาเลเซียจำนวนหนึ่งมอบให้แก่ พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ ในฐานะประธานจัดงาน เพื่อนำเข้ากองทุน
พร้อมกันนี้ นายมูฮัมหมัด อัซมีได้อ่านแถลงการณ์ขององค์กรพัฒนาเอกชนและประชาสังคม 24 องค์กรของมาเลเซียที่เข้ามาร่วมเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนี้ด้วยว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้ความยุติธรรมแก่ชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีความจริงใจในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ ซึ่งองค์กรต่างๆ ของตนพร้อมให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาทางด้านสิทธิมนุษยชนและการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ รวมทั้งการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมและการใช้ความรุนแรงต่อความเป็นมนุษย์
นายมูฮัมหมัด อัซมี กล่าวต่อว่า ตนมองว่า การแก้ปัญหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวมุสลิมในประเทศไทยยังไม่ดีขึ้น องค์กรของตนก็ยังยืนยันที่จะให้ใช้ความยุติธรรมในการแก้ปัญหา ไม่เพียงแต่ชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเท่านั้น แต่ให้การช่วยเหลือชาวมุสลิมทั่วโลกที่ได้รับความเป็นธรรม นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยรับฟังข้อเสนอและการมีส่วนร่วมของชาวมุสลิมในพื้นที่ด้วย
นายมูฮัมหมัด อัซมี เปิดเผยหลังอ่านแถลงการณ์ว่า เหตุที่เข้ามาเคลื่อนไหวจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยขณะนี้ เนื่องจากเหตุการณ์ทำร้ายชาวมุสลิมที่มัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอร์ปาแย อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ที่มีชาวมุสลิมเสียชีวิตไปถึง 10 คน บาดเจ็บอีกหลายคน ซึ่งเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิต่อชาวมุสลิมในพื้นที่อย่างรุนแรง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่กระตุ้นให้องค์กรต่างๆในมาเลเซียให้ความสนใจ โดยได้ร่วมกับหลายองค์กรในมาเลเซียที่ตั้งเป็นเครือข่าย ชื่อว่า NADI ได้เข้าไปเยี่ยมชาวบ้านที่นั่น รวมทั้งกรณีอื่นๆ ในพื้นที่ด้วย
นายมูฮัมหมัด อัซมี เปิดเผยด้วยว่า ก่อนหน้านี้ได้ร่วมกับหลายองค์กรในประเทศไทยร่วมกันเคลื่อนไหวเพื่อนำกรณีการละเมิดสิทธิชาวมุสลิมในภาคใต้ของไทยเข้าเวทีมหากรรมประชาชนอาเซียน เพื่อนำเสนอต่อผู้นำรัฐบาลของไทย เช่นเดียวกับกรณีชาวมุสลิมโรฮิงญาและมุสลิมมินดาเนาด้วย
เขากล่าวต่อว่า หากรัฐบาลไทยได้รับข้อเสนอ พวกตนก็จะนำเสนอเรื่องนี้ในองค์การที่ประชุมประเทศมุสลิม หรือ โอไอซี(OIC) และสหประชาชาติต่อไป
สำหรับท่าทีขององค์กรอิสลามในมาเลเซีย 12 องค์กร นำโดยองค์กรTERAS ต่อความยุติธรรมและสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องในโอกาส งานรำลึก 5 ปี กรณีกรือเซะ ตากใบครั้งนี้ ที่ได้มีการออกบันทึกช่วยจำ ระบุสิ่งที่ต้องเข้าใจและสนใจว่า โศกนาฏกรรมตากใบ เป็นกรณีตัวอย่างที่ประชาชาติมุสลิมและบรรดานักกิเจกรรมที่รักความยุติธรรม รักความสันติทั้งหลาย จะนิ่งดูดายไม่ได้ ผู้ได้รับผลกระทบต้องได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม สถานการณ์ที่ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมตากใบ เริ่มต้นจากการปฏิบัติของรัฐที่ไม่คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และไม่ฟังเสียงประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมีความรู้สึกถูกข่มเหง
ส่วนข้อเรียกร้อง มีทั้งหมด 7 ข้อ ประกอบด้วย รัฐไทยต้องรับฟังเสียงของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม รัฐไทยต้องยอมรับความจริงต่อผลกระทบที่เกิดจากโศกนาฏกรรมตากใบ ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีในจิตใจของประชาชาติมุสลิมทั่วโลกต่อรัฐไทย ตราบใดที่รัฐไทยยังไม่ให้ความเป็นธรรม การเยียวยาที่เหมาะสม
ผู้ที่ได้รับผลกระทบต้องได้รับการเยียวยาตามกฎหมายไทยและกฎหมายสากลที่กำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ รัฐไทยต้องจริงจังและจริงใจในการแสวงหาการเจรจากับทุกภาคส่วน ไม่ว่าประชาชน ผู้นำท้องถิ่น หรือองค์กรต่างๆในชุมชน รัฐไทยต้องยกเลิกกฎอัยการศึก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ หรือกฎระเบียบต่างๆ ที่จำกัดสิทธิขั้นพื้นฐาน และขอเรียกร้องให้ใช้กฎหมายต่างๆ ในสถานการณ์ปกติ
รัฐไทยต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบยุติธรรมและการพิพากษาของศาล การจับกุม การอุ้มหาย การข่มขู่หรือการฆาตกรรม จะต้องยุติในทันทีทันใด และองค์กรเอกชนในประเทศไทย จะต้องร่วมกันสร้างสันติสุข โดยยึดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งและการละเมิดสิทธิมนุษยชน