ที่มา ไทยรัฐ การประกาศจัด ม็อบชนม็อบ ของภาครัฐบาล การประกาศสลายการชุมนุม อย่างชัดเจนของ ศอฉ. การออกมาสำทับว่า ความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมเป็นอันตรายร้ายแรงต่อประเทศในข้อหา ผู้ก่อการร้ายและล้มล้างสถาบัน เป็นยุทธวิธีที่ต้องย้อนไปในเหตุการณ์ 6 ตุลาและพฤษภาทมิฬ แต่เผอิญว่าผิดยุคผิดสมัยเพราะข้อมูลสื่อสารที่รวดเร็วในปัจจุบันและการพัฒนาของระบอบประชาธิปไตยที่ถือว่าเป็นระบบสากล ประเทศไทยจึงถูกจับจ้องจากชาวโลกอย่างไม่กะพริบตา หมัดเหล็ก
ไม่ใช่เฉพาะข้อมูลที่ กษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ รายงานในที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ว่า สหประชาชาติเริ่มสนใจที่จะแทรกแซงปัญหาวิกฤติของประเทศไทยเท่านั้น
แต่ข้อมูลเชิงลึก มีบุคคลสำคัญ ในระดับสากลหลายคนหลายองค์กรด้วยกันที่มีข้อมูลอยู่ในมือและพร้อมที่จะเข้ามาคลี่คลายวิกฤติในประเทศไทย รอระยะเวลาที่เหมาะสม จากข้อกังขาในเชิงของการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย ไปจนถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นเวลานี้
เมื่อใดก็ตามที่การต่อสู้เรียกร้องของผู้ชุมนุม กลายเป็นสงคราม กลางเมือง ขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็จะมีองค์กรสากลสหประชาชาติขอเข้ามาตรวจสอบทันที
นึกถึงสภาพของประเทศไทยเวลานั้นคงไม่ต้องอธิบายอะไรกันให้เมื่อยตุ้ม เท่าที่ได้ยินมามีผู้นำประเทศต่างๆทั้งในย่านนี้และยุโรปเริ่มจะซุบซิบนินทาการเมืองการปกครองในบ้านเรา เกรงว่าจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่ทำลายความเชื่อมั่นในด้านของความมั่นคงและการลงทุนจะถูกมองว่าเป็นโซนอันตราย
เป็นประเทศโลกที่สาม
สุดท้ายความขัดแย้งแตกแยกของคนไทย การเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศไทยก็จะเป็นวิกฤติความมั่นคงระลอกใหม่ ไม่แตกต่างจากความวิตกกังวลของการก่อการร้ายสากลเท่าไหร่นัก
เอาเถอะอนาคตของประเทศไทยจะติดหล่มจมปลักอย่างไรก็เป็นอีกเรื่อง ที่สำคัญกว่าคือคนไทยจะอยู่กันอย่างไร ประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในความขัดแย้งจะปฏิบัติิตัวอย่างไร
หรือจะให้อยู่กันแบบตัวใครตัวมัน
ก็ไม่ต่างอะไรจากประเทศที่ ตกอยู่ในภาวะสงคราม แต่นี่เป็นสงครามที่รัฐบาลรบกับประชาชน หรือประชาชนส่วนหนึ่งรบกับประชาชนอีกส่วนหนึ่ง
หน้าต่างมีหูประตูมีช่อง การที่ นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ดี การที่รอง นายกฯสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ดี หรือแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงผู้ชุมนุมในท่วงทำนองขึ้นมึงขึ้นกู
ส่อเจตนาชัดเจน
ผู้ชุมนุมไม่ได้มีแค่พันคนหรือหมื่นคนหรือแสนคน จนบัดนี้ยังประเมินไม่ได้ว่ากำลังคนเสื้อแดงหรือคนที่เห็นด้วยกับแนวความคิดของเสื้อแดง ที่ไม่พอใจกับการบริหารงานของรัฐบาล คนที่ไม่พอใจกับระบบสองมาตรฐาน ชาวไร่ชาวนาที่เดือดร้อนจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ มีอยู่อีกเป็นจำนวนเท่าไหร่
จะรับมือไหวไหม.