WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Friday, April 30, 2010

เหตุที่ชนชั้นกลางควรจะต้อง "เข้าใจ" คนเสื้อแดง

ที่มา ประชาไท


ตอนนี้ผมรณรงค์เรื่องที่ชนชั้นกลางควรจะต้อง "เข้าใจ" คนเสื้อแดงอย่างหนัก เนื่องจากเห็นว่า หากชนชั้นกลางเข้าใจคนเสื้อแดงแล้ว นอกจากจะลดความเกลียดชังลงได้ จากบทความของวรรณสิงห์ ที่กล่าวว่า "หากเข้าใจ ความเกลียดชังก็ไม่จำเป็น" (อ่านได้ที่ wallของผม) ผู้เขียนเห็นว่า ความเข้าใจนี้เอง จะนำไปสู่ทางออกของวิกฤติการเมืองนี้ได้ ทำไมจึงเป็นทางออกได้ ขอเสนอเหตุผลไปทีละข้อ

1) ผมเคยอ่านเจอความคิดที่ว่า ประเทศไทยควรจัดให้มีที่กว้างๆ อาจจะเรียกเท่ๆว่า "ลานประชาธิปไตย" ก็ได้ เพื่อให้ม็อบไปชุมนุมตรงนั้น จะได้ไม่เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ผมคิดว่าลานนี้จะไม่ได้ผลเลยครับ หากรัฐบาลไม่มีจริยธรรม ถึงแม้ว่าจะมีคนไปนั่งอยู่ 1 ล้านคน ถ้ารัฐไม่เหลียวแลปัญหา ทุกอย่างก็จบครับ นี่ไม่ต้องพูดถึงม็อบเล็กๆ เช่นกลุ่มเกษตรกร มากันแค่ร้อยกว่าคนนี่ไม่ต้องพูดถึงเลยครับ ทีนี้ถ้ารัฐไม่เหลียวแลจะทำอย่างไร ก็ปิดถนนไงครับ เพราะมันเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดในการ "กดดัน" ให้รัฐหันมาสนใจปัญหาที่พวกเขาเรียกร้อง แน่นอนครับว่า คนแค่หลักร้อย การปิดถนนอาจจะไม่ได้กระทบกับคนส่วนใหญ่ เท่าม็อบแดงที่ราชประสงค์ตอนนี้ เพราะคนเข้าร่วมชุมนุม จึงหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ยาก

ถึงจุดนี้ ผมอยากถามท่านผู้อ่านว่า หากรัฐไม่เหลียวแลข้อเสนอ จะมีวิธีการอย่างไรให้รัฐหันมามอง ถ้าไม่ใช่การกดดันด้วยการก่อความเดือดร้อนให้แก่สังคมในแง่ใดแง่หนึ่ง ผมอยากจะคิดว่า การก่อม็อบแล้วเกิดความเดือดร้อนนั้นต้องอยู่คู่กันเสมอครับ หลีกเลี่ยงไม่ได้ ยกเว้นครับ หากเรามีความ "เข้าใจ" เข้าใจอย่างไร

1. เข้าใจว่าการก่อม็อบในที่แจ้งเป็นสิทธิอันชอบธรรมตามระบอบรัฐธรรมนูญ กล่าวคือไม่ว่าจะเป็นม็อบของชนชั้นล่างหรือชนชั้นกลาง ก็ย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกัน ชนชั้นกลางอาจจะนึกภาพตนเองเดือดร้อนจนต้องก่อม็อบยากหน่อย แต่ขอให้รู้ไว้ว่า หากมีความเข้าใจ เมื่อท่านก่อม็อบ ท่านก็สามารถกดดันรัฐบาลได้ไม่ต่างกัน

2. ต้องเข้าใจปัญหาของคนไทยร่วมแผ่นดินครับ หากเราสามารถเอาใจเขาใส่ใจเรา ไม่ว่าคุณจะเข้าใจเขาด้วยความเป็นมนุษย์, ผลประโยชน์ที่อาจจะกระทบมาถึงคุณ หรืออะไรก็แล้วแต่ เราจะช่วยผลักดันเรียกร้องรัฐบาลให้หันมาเหลียวแลปัญหาของม็อบครับ เพียงเท่านี้ ม็อบก็ไม่ต้องใช้วิธีกดดันรัฐบาล โดยการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นแล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความเหลื่อมล้ำของสังคมที่ฝังรากลึก และคนชนชั้นกลางไม่สามารถเข้าใจความทุกข์ยากของพวกเขาได้ หากพวกเขาไม่ได้รับผลกระทบจากม็อบ พวกเขาก็จะใช้ชีวิตอย่างปกติ แต่หากพวกเขาได้รับความเดือดร้อน พวกเขาจะเข้าใจแต่ความทุกข์ยากของตนเอง เช่น ไม่ได้รับความสะดวกสะบายจากการ ใช้ชีวิตในเมืองอย่างที่เคย ผลที่เกิดขึ้นก็คือ นอกจากคนชั้นกลางจะไม่เรียกร้องให้รัฐช่วยเหลียวแลปัญหาของม็อบ ยังกลับพร้อมที่จะให้รัฐเข้าปราบปรามม็อบ จนเกิดเป็นความเกลียดชังขึ้นมา

ในกรณีของสหรัฐอเมริกา การที่ประธาณาธิบดี จอร์จ ดับเบิ้ลยูบุช เปิดสงครามที่อิรัก มีผู้คนออกมาชุมนุมประท้วงมากมาย เชื่อว่าต้องมีผู้ได้รับผลกระทบจากการประท้วงเหล่านั้น ชาวอเมริกันที่ไม่ออกมาร่วมประท้วง ไม่จำเป็นที่จะต้องใส่ใจความทุกข์ร้อนของชาวอิรักในอีกซีกโลกหนึ่งเลยก็ได้ แต่คนไทยด้วยกันกลับมองไม่เห็นปัญหาของเพื่อนร่วมชาติกันเอง น่าเศร้าใจ

2) ผมได้ยินข้อเสนอหนึ่งของคนเสื้อเหลือง (เขานิยามตนเองเช่นนั้น) คือเขาทราบว่าเสื้อแดงมีหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มไม่เอาสถาบัน กลุ่มรักทักษิณ และกลุ่มที่สนใจแต่การยุบสภา แต่การไปนั่งรวมกันเป็นกลุ่มเดียว ไม่อาจหลีกเลี่ยงการ "เหมารวม" ไปได้ เขาเสนอว่าให้คนกลุ่มที่สนใจแต่การยุบสภา แยกตัวออกมาตั้งกลุ่มใหม่ เช่นนั้นแล้วชาวสีเหลืองน่าจะยอมเจรจา ผมคิดว่า ในเมื่อผู้พูดก็รู้อยู่แล้วว่า สังคมในขณะนี้มีการเหมารวมอยู่ และข้อหาที่เหมารวมนั้นก็รุนแรง จนก่อให้เกิดความเกลียดชัง ถึงขั้นมองคนไทยที่เห็นต่างไม่ใช่มนุษย์ กลายเป็นควายโง่ที่สมควรตายได้ และสถานการณ์ในตอนนี้ก็เรียกได้ว่าสุกจนเละแล้ว หากจำนวนของผู้ชุมนุมลดลง รัฐก็พร้อมที่จะเข้าปราบปราม กลุ่มเสื้อหลากสีและเหลืองที่มีความโกรธแค้น ก็พร้อมที่จะเข้าไปหาเรื่องม็อบทุกเมื่อ และแม้ว่าการรวมกันเป็นกลุ่มเดียว มีมวลชนมาก รัฐยังไม่ยอมยุบสภา ผมคิดว่ารัฐก็ยิ่งไม่สนใจกลุ่มที่แยกตัวออกมา โดยไม่ต้องถามถึงชนชั้นกลางที่เป็นแบบข้อ 1 ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว เขาไม่เดือดร้อนก็จบ

สิ่งที่ชนชั้นกลางควรจะ "เข้าใจ" ในเรื่องนี้ก็คือ ในเมื่อท่านก็รู้อยู่ก่อนแล้วว่า มันมีหลายกลุ่มปนกันอยู่ ใยท่านถึงเลือกที่จะมองแบบเหมารวม ซึ่งเกิดขึ้นทีหลังความเข้าใจเรื่องที่ว่าแดงมีหลายกลุ่ม ทั้งๆ ที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง ท่านควรเข้าใจว่า ข้อเรียกร้องในโต๊ะเจรจาทั้ง 2 ครั้ง มุ่งไปที่การยุบสภาเท่านั้น (แกนนำเสื้อแดงและรัฐที่พูดออกนอกเรื่องควรโดนตำหนิอย่างยิ่ง) เมื่อท่านไม่มองแบบเหมารวม ประโยชน์ที่เกิดขึ้นก็คือ ท่านไม่เกิดความเกลียดชัง และพร้อมที่จะรับฟังข้อเรียกร้องของเสื้อแดง อีกทั้งท่านยังสามารถกระตุ้นให้ทั้ง 2 คู่ขัดแย้ง พูดจาภาษาเดียวกันได้ด้วย ผมไม่เห็นความจำเป็นที่ท่านจะมองกลุ่มเสื้อแดงแบบเหมารวม

3) สิ่งที่ชนชั้นกลางควรจะ "เข้าใจ" ต่อไป ก็คือกระบวนการแบบประชาธิปไตยที่แท้ เพื่อเข้าใจว่าทำไมรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่เข้ามาเป็นนายกฯ ในครั้งนี้ โดยผ่านกระบวนการของสภา ซึ่งสามารถเปลี่ยนขั้วได้ตามระบอบประชาธิปไตย จึงควรยุบสภาตามข้อเรียกร้องของกลุ่มเสื้อแดง ผมขอให้เหตุผลอย่างนี้ครับ รัฐบาลชุดนี้เป็นผลพวงจากการทำรัฐประหารปี 49 คือถูกเลือกให้เป็น ส.ส. ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งแม้ว่าจะได้รับการประชามติมาแล้ว แต่ประชามตินั้นให้ความชอบธรรมแก่การใช้รัฐธรรมนูญ 50 เท่านั้น ไม่ได้ให้ความชอบธรรมแก่การทำรัฐประหาร หลังจากนั้นกระบวนการของรัฐธรรมนูญ 50 ได้ทำให้เจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเปลี่ยนขั้ว อันเป็นผลมาจากการยุบพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ผิดปกติไป จากการเปลี่ยนขั้วโดยทั่วไป (หมายถึงการเปลี่ยนขั้วโดยที่ ส.ส.ที่ ประชาชนเลือกเข้ามายังอยู่ครบทุกท่าน) ด้วยเหตุที่กล่าวมารัฐบาลอภิสิทธิ์จึงไม่ควรจะอยู่ในตำแหน่งนาน แต่ควรคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินกันใหม่ โดยเร็วที่สุด เพื่อความสง่างาม

อภิสิทธิ์เคยกล่าวว่าจะเป็นรัฐบาล เพียง 9 เดือน เพื่อแก้รัฐธรรมนูญก่อนแล้วค่อเลือกตั้งใหม่ แต่ปัจจุบัน เวลาได้ล่วงเลยมามากกว่า 1 ปีแล้ว อภิสิทธิ์ก็ยังไม่คิดที่จะแก้รัฐธรรมนูญ กลับดำเนินตามนโยบายประชานิยมของทักษิณ ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างแบบเดียวกัน เข่น นโยบายเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท ซึ่งเป็นเสมือนเบี้ยหัวแตก เมื่อเทียบกับกองทุนหมู่บ้าน 1,000,000 บาท นโยบายดังกล่าว หากจัดการให้ดี มีการให้ความรู้แก่ชาวบ้าน ก็ย่อมเป็นนโยบายที่มีประโยชน์ มากกว่าด้วยซ้ำ

ดังนั้นแม้อภิสิทธิ์จะเป็นนายกฯ โดยไม่ผิดกฏหมาย แต่ความไม่สง่างามก็น่าจะเพียงพอให้รัฐทบทวนบทบาทของตนเองได้ ความไม่สง่างามนี้เป็นกรณีเดียวกับเสื้อเหลืองที่ต้องการให้ทักษิณลาออก เนื่องจากว่าทักษิณยังไม่ถูกศาลตัดสินในกรณีคอร์รัปชั่น การเป็นนายกฯ ของทักษิณจึงชอบธรรม ไม่มีกฏหมายใดมาสั่งเขาลงได้ แต่เขาควรลาออกเพื่อความสง่างาม เช่นเดียวกัน

หากศรัทธาระบอบประชาธิปไตยจริงแล้วล่ะก็ ชนชั้นล่างถือเป็นประชาชนคนหนึ่ง มีสิทธิที่จะออกเสียงเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ การอ้างว่าชนชั้นล่างขาดความรู้ จึงไม่ควรให้เกิดการเลือกตั้งเพราะพวกเขาจะขาดวิจารณญาณในการเลือกผู้แทนที่ดี การอ้างแบบนี้จะถูกต้องได้ บุคคลผู้นั้นก็ระบุให้ชัดไปเลยว่า ไม่ต้องการระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากแม้บุคคลบางกลุ่มจะไม่ได้รับการศึกษา แต่เขาก็เป็นพลเมือง สิ่งที่จะตัดสินว่าใครจะเป็นผู้แทน คือเจตจำนงของเสียงข้างมากนั่นเอง ชนชั้นกลางต้องรู้จัก รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ตามกฏเกณฑ์ของระบอบประชาธิปไตย

4) ชนชั้นกลางควรจะ "เข้าใจ" ว่าการที่รัฐบาลออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วยการยุบสภานั้นจะทำให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ (ยกเว้นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการเป็นรัฐบาลเท่านั้น) กล่าวคือ การที่เสื้อแดงเรียกร้องให้เกิดการยุบสภานั้น เขาต้องการเพียงหนึ่งเสียงของเขากลับคืนมา ในขณะที่ไม่ว่านายกฯ อภิสิทธิ์ จะยุบสภาหรือไม่ ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะขึ้นมาบริหารแทน คนชั้นกลางก็ยังคงทำงานที่ได้ผลตอบแทนในอัตราเท่าเดิม และแน่นอนว่าหลายคนน่าจะได้รับสูงกว่าพี่น้องชาวเสื้อแดง ในขณะที่ชาวเสื้อแดงนั้นออกมา อยู่ม็อบเป็นเวลากว่า 1 เดือน การกินเงินเบี้ยม็อบจากนายทุนกลุ่มเสื้อแดงนั้น คงไม่ดีไปกว่าการที่เขาทำงานหาเงินอยู่ที่บ้าน เขาเรียกร้อง 1 เสียงคืน อาจไม่ใช่เพื่ออุดมการณ์บริสุทธิ์ทางประชาธิปไตย แต่เป็นการเรียกร้องไปพร้อมกับผลประโยชน์ที่เขาอาจจะได้รับจาก ส.ส.ที่เขาเป็นคนเลือก ซึ่งก็เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย

ถ้าแดงถอย รัฐไม่ยุบสภา แดงก็จะอยู่ด้วยความรู้สึกว่ารัฐไม่เหลียวแล และบรรยากาศของความเกลียดชัง ยิ่งทำให้รัฐบาลอยู่ครบเทอม กลุ่มผู้เกลียดชังเสื้อแดงประกาศชัยชนะ บรรยากาศของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็จะไม่เกิดขึ้น ในขณะที่รัฐถอย แดงก็จะรู้สึกว่าตนเองได้ความหลังอันหนึ่งกลับคืนมา ชนชั้นกลางจะได้รับบรรยากาศของการไม่เกลียดชังกลับคืนมา (ได้มาเมื่อท่าน "เข้าใจ" สิ่งเหล่านี้ แล้วช่วยกันส่งต่อความเข้าใจดังกล่าวแล้ว) รัฐก็เท่ากับได้แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุมวันที่ 10 เมษา หลีกเลี่ยงการปะทะและการเสียเลือดเนื้อ หลีกเลี่ยงการทำรัฐประหาร ในสภาวะการณ์ที่ดูไม่มั่นคง นานาประเทศให้การยอมรับ บ้านเมืองเข้าสู่สภาวปกติได้เร็วขึ้น

ในกรณีของผู้ที่ไม่ต้องการให้เกิดการนิรโทษกรรมทักษิณ ขอให้เข้าใจว่า การนิรโทษกรรมนั้น ทำได้เฉพาะกรณีของการโดนทำรัฐประหารเท่านั้น แต่เรื่องคอร์รัปชั่น ศาลยังคงดูแลอยู่ สู้กันตามระบอบต่อไป (อ่านบทความทางออกหลังการยุบสภา ใน note ของผม มีอีกหลายข้อ หากคุณเป็นกังวล)

ผมคิดว่า เมื่อชนชั้นกลางเกิดความ "เข้าใจ" คนเสื้อแดงตามที่ผมเสนอ ทางออกของประเทศก็จะแง้มออก เพียงท่านสนับสนุนให้รัฐเหลียวแลปัญหาของพวกเขา ลดความเกลียดชังที่เกิดจากความไม่เข้าใจ ยอมรับการแข่งขันตามระบอบประชาธิปไตย

หากท่านเห็นด้วยกับแนวทางนี้ โปรดส่งต่อความเข้าใจของท่านต่อไป เพื่อหวังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ครับ

หมายเหตุ: บันทึกเรื่อง "เหตุที่ชนชั้นกลางควรจะต้อง "เข้าใจ" คนเสื้อแดง" เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊ค ประชาไทเห็นว่าเป็นมุมมองที่น่าสนใจจึงขออนุญาตเจ้าของงานนำมาเผยแพร่