ที่มา ประชาไท ดังที่เห็นกันอยู่แล้วว่า ขบวนการเสื้อแดงนั้นเป็นทรัพยากรการเมืองที่ใหญ่มาก มีประโยชน์ทั้งต่อหีบบัตรเลือกตั้ง และการเคลื่อนไหวทางการเมืองในรูปแบบอื่นๆ จึงไม่แปลกอะไรที่มีคนหลากหลายประเภท กระโดดเข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรการเมืองชิ้นนี้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในบัดนี้ ก็ยอมรับกันแล้วว่า ขบวนการเสื้อแดงไม่ได้เป็น "เนื้อเดียวกัน" กล่าวคือ ประกอบด้วยคนที่มีความฝันทางการเมือง, ความต้องการ, วัตถุประสงค์, ปูมหลัง ฯลฯ หลากหลาย การแบ่งกลุ่มที่ชัดเจนอาจต้องการการวิจัย แต่อย่างน้อยก็น่าจะยอมรับได้ว่าขบวนการเสื้อแดงไม่ใช่ "เนื้อเดียวกัน" นอกจากไม่ใช่ "เนื้อเดียวกัน" แล้ว ขบวนการเสื้อแดงยังไม่ "สถิต" อีกด้วย หมายความว่ามีการเปลี่ยนแนวทาง, เป้าหมาย, ขยายตัว, หดตัว, การจัดองค์กร, การนำ ฯลฯ อยู่ตลอดเวลา ก็เหมือนขบวนการทางสังคมและการเมืองทั้งหลายในโลกนี้ ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง แต่ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนาของแกนนำ เพราะขาดข้อมูลที่เก็บรวบรวมอย่างเป็นระบบ ผมจึงไม่ต้องการจะชี้ว่า มีใครบ้างที่ประกอบกันขึ้นเป็นขบวนการเสื้อแดงใน พ.ศ.นี้ แต่ผมอยากเสนอแนะให้เห็นว่า มีใครบ้างที่เข้าไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองกับทรัพยากรการเมืองชิ้นนี้ เพราะนั่นพอจะมองเห็นได้ง่ายกว่า ทั้งจากเวทีเสื้อแดง, อุบัติการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น, และเวทีของฝ่ายรัฐบาล 1/ คุณทักษิณ ชินวัตร โดยเฉพาะในตอนเริ่มต้นหลังการรัฐประหาร ก่อนที่คุณทักษิณจะมีโทษทางอาญาติดตัว การเคลื่อนไหวของขบวนการเสื้อแดงย่อมเป็นฐานคะแนนเสียงที่ดีของคุณทักษิณ จนกระทั่งปฏิปักษ์ของคุณทักษิณย่อมเลือกจะประนีประนอมกับคุณทักษิณ มากกว่าหักกันจนพินาศไปข้างหนึ่ง แต่หลังจากคุณทักษิณถูกพิพากษาให้จำคุกแล้ว ขบวนการเสื้อแดงจะเป็นประโยชน์ทางการเมืองแก่คุณทักษิณได้ ขบวนการต้องนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขนานใหญ่ พอที่จะเปิดช่องให้คุณทักษิณกลับมามีอำนาจทางการเมือง เพราะจะนั่งรอให้มีการเลือกตั้งทั่วไปหลังการรัฐประหารไม่ได้เสียแล้ว ที่เหนือกว่าเงินของคุณทักษิณ คือความนิยมอย่างล้นเหลือที่คุณทักษิณได้รับจากประชาชนในชนบท และด้วยเหตุดังนั้น ขบวนการเสื้อแดงจึงกลายเป็นบันไดสำหรับไต่เข้าสู่วงการเมืองที่ดี โดยเฉพาะเมื่อผู้บริหารพรรค ทรท.ถูกสั่งห้ามเล่นการเมืองแล้ว จึงมีนักการเมืองหลายระดับเข้ามาร่วมกับคนเสื้อแดง เพื่อชูคุณทักษิณสำหรับการเลือกตั้ง แต่ขบวนการเสื้อแดงขยายตัวอย่างรวดเร็ว ดึงดูดเอาผู้คนเข้ามาร่วมอีกมากมาย รวมทั้งคนที่ไม่ใส่ใจว่าคุณทักษิณจะกลับมามีอำนาจหรือไม่ รวมแม้กระทั่งคนที่ไม่ได้ชื่นชอบคุณทักษิณเองด้วย และดังที่ผมเคยกล่าวไว้ในที่อื่นแล้วว่า คนเหล่านี้คือคนชั้นกลางระดับล่าง ซึ่งเลิกเป็นเกษตรกรรายย่อยไปนานแล้ว ฐานการผลิตของเขาอยู่ในตลาดเต็มตัว มีความจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะทุกระดับ แต่มาพบตัวเองอยู่ในโครงสร้างการเมืองที่ไม่เปิดโอกาสให้ตัวได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง มากกว่าการเลือกตั้ง (ซึ่งก็ถูกทำให้เป็นหมันไปเสียอีก เพราะการรัฐประหารหรือการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร) ผมอยากเดาว่านี่คือกลุ่มคนที่ใหญ่สุดในขบวนการเสื้อแดง ไม่ใช่ "คนจน" ดักดานที่เป็นแรงงานรับจ้างภาคการเกษตร หรือแรงงานรับจ้างรายวันที่ไม่มีงานทำตลอดปี และไม่ใช่ซาเล้งที่ซุกตัวอยู่ตามสลัมในเมืองใหญ่ และด้วยเหตุดังนั้น ขบวนการเสื้อแดงจึงมีลักษณะ "ปฏิวัติ" มากขึ้น จนกระทั่งหากคุณทักษิณเป็นนายกฯอยู่เอง ก็คงร้องไอ๊หยาเหมือนกัน "ประชาธิปไตย" ที่เขาเรียกร้องจึงแตกต่างจาก "ประชาธิปไตย" ของนักวิชาการและปัญญาชนสาธารณะเป็นส่วนใหญ่ และง่ายที่จะถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ในขณะเดียวกัน ชื่อของ "ทักษิณ" ก็กลายความหมายจากคนหน้าเหลี่ยม เป็นสัญลักษณ์ของรัฐที่อาทรต่อคนเล็กๆ มากขึ้น และไม่ใช่อาทรในลักษณะสังคมสงเคราะห์ แต่เป็นความอาทรในลักษณะรัฐสวัสดิการ กล่าวคือเป็นสิทธิ ไม่ใช่ความน่าสงสาร 2/ ในฐานะทรัพยากรการเมืองที่ใหญ่โตขนาดนี้ ไม่แปลกอะไรที่จะมีการช่วงชิงการนำกันอย่างอุตลุด ความแตกร้าวระหว่างกลุ่ม "สามเกลอ" กับ "สายเหยี่ยว" เป็นที่รู้กันดี ความสำเร็จในการนำการประท้วงในครั้งนี้ ทำให้ "สามเกลอ" พ้นสภาพความเป็นเครื่องมือของใครทั้งสิ้น เขากลายเป็นพลังทางการเมืองในตัวของตัวเอง ซ้ำยังมีมวลชนสนับสนุนจำนวนมาก นำความวิตกแก่คนอื่นที่ต้องการเข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรการเมืองชิ้นนี้มากขึ้น แม้แต่คุณทักษิณ ชินวัตร เองก็ต้องหมั่นโฟนอินเข้ามาบ่อยเกินความจำเป็น (และไม่เป็นผลดีต่อการประท้วงนัก) เพราะคุณทักษิณเองก็เกรงว่าทรัพยากรการเมืองชิ้นนี้จะหลุดมือตนไปเหมือนกัน กลุ่ม "สายเหยี่ยว" ซึ่งเคยปรามาสไว้ว่า "สันติวิธี" จะไม่นำไปสู่ความสำเร็จใดๆ คงรู้สึกเหมือนกันว่า หากการประท้วงนำไปสู่การยุบสภาได้ ทรัพยากรการเมืองชิ้นนี้จะยิ่งหลุดจากมือของตนมากขึ้น จึงต้องพยายามหาบทบาทบางอย่างอยู่เบื้องหลัง ในขณะเดียวกัน ความขาดเอกภาพในกองทัพและตำรวจ ทำให้การปฏิบัติตามคำสั่งเป็นไปอย่างลังเล นับตั้งแต่การผ่อนปรนมากกว่าที่ผู้บังคับบัญชาต้องการ ไปจนถึงอาจจะแทรกเข้ามาเป็น "มือที่สาม" ด้วย 3/ นักการเมืองฝ่ายค้าน ซึ่งเคยเกาะชื่อของคุณทักษิณอย่างเหนียวแน่น คงมาพบด้วยความประหลาดใจว่า ชื่อคุณทักษิณมีความหมายน้อยลงในขบวนการเสื้อแดงที่ทำการประท้วงขณะนี้ จึงเรียงหน้ากันขึ้นเวทีเสื้อแดงอย่างหนาแน่นกว่าทุกครั้ง ขบวนการเสื้อแดงเป็นทรัพยากรการเมืองที่สำคัญกว่าคุณทักษิณ ชินวัตร เป็นอันมาก ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องเกาะเกี่ยวเอาไว้ แต่ในขณะเดียวกันก็ดูจะอึกๆ อักๆ ในการปราศรัย เพราะจับอารมณ์ของประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่ได้ เพราะไม่ใช่ภาพที่ตัวเข้าใจตลอดมา 4/ สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทุกฝ่ายแม้แต่ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับขบวนการเสื้อแดง คงยอมรับว่าขบวนการเสื้อแดงเป็นทรัพยากรการเมืองที่ใหญ่มหึมา อย่างที่ไม่เคยพบในประเทศไทยมาก่อน อย่านึกแต่จำนวนคนที่เดินทางมาร่วมชุมนุมในกรุงเทพฯ ต้องคิดถึงกองหลังนับตั้งแต่ลูกเมีย (ผัว) ที่อยู่ข้างหลัง เงินและเสบียงกรังที่ส่งลงมาเสริมตลอดเวลา แม้จะถูกสลายการชุมนุมลงได้ในที่สุด (ด้วยวิธีรุนแรงหรือวิธีไม่รุนแรงก็ตาม) ทรัพยากรการเมืองนี้ก็จะไม่สลายตัวลง ปัญหาคือจะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรนี้อย่างไร ไม่ว่าจะผ่านหีบบัตรเลือกตั้ง หรือผ่านการโบกธง น่าประหลาดที่ชนชั้นนำไทยที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นนำตามจารีต หรือชนชั้นนำในระบบทุน มองไม่เห็นช่องทางที่จะใช้ประโยชน์ทางการเมืองกับทรัพยากรนี้เลย กลับมุ่งแต่จะทำลายล้างลงด้วยทรัพยากรที่มีในมือ นับตั้งแต่การใช้สื่อ, การใช้อำนาจรัฐควบคุมสื่อ, การปลุกม็อบขึ้นต่อต้าน, การอ้างอุดมการณ์เดิม (ชาติ, ศาสน์, กษัตริย์) ซึ่งแม้ยังมีความศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็อาจตีความไปได้หลายแง่หลายมุม โดยไม่สำนึกว่าสังคมไทยในปัจจุบันนั้น แม้ยังยึดถืออุดมการณ์เดิม แต่อยู่ในช่วงที่กำลังตีความอุดมการณ์ใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว ว่าเฉพาะนักการเมืองทั้งในซีกฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลนั้น เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือตามความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไม่ทัน และด้วยเหตุดังนั้นจึงคิดว่าขบวนการเสื้อแดงนั้นเป็น "เนื้อเดียวกัน" และ "สถิต" เหมือนกัน ฝ่ายค้านเกาะชื่อทักษิณเพื่อนำไปสู่หีบบัตรเลือกตั้ง ฝ่ายประชาธิปัตย์เกาะชื่อทักษิณ เพื่อเก็บความรังเกียจทักษิณเอาไว้เป็นคะแนนเสียงของตน อันที่จริง หากมองขบวนการเสื้อแดงเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สลับซับซ้อน และเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ก็จะเห็นได้ว่าเราไม่อาจขจัดขบวนการนี้ลงไปได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีรุนแรงหรือวิธีอื่น นอกจากต้องปรับเปลี่ยนระบบการเมืองเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงนี้ จริงอย่างที่นักสันติวิธีชอบพูดคือ เราต้องฟังกันให้มากขึ้น แต่ไม่ใช่ฟังแกนนำ หากต้องฟังประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุม ทั้งแดงและเหลือง เราก็จะสามารถจับสำนึกทางการเมืองใหม่ๆ ที่ผลักพวกเขาเข้าร่วมชุมนุม ไม่ใช่สิ่งที่แกนนำปราศรัย เราก็จะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสังคมไทยมากขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อคนต่างกลุ่มไม่เหมือนกัน แล้วเราก็จะสามารถจัดระบบให้เกิดการต่อรองที่เท่าเทียมกัน ระหว่างความต้องการที่แตกต่างได้โดยสงบ ที่มา:มติชนออนไลน์ matichon.co.th/news_detail.php
ตลอดจนแรงสนับสนุนอย่างเข้มแข็งทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดของคนอีกจำนวนมาก