ที่มา บางกอกทูเดย์ สังคมไทยในวินาทีนี้ คงยังต้องบอกว่า ยังตกอยู่ในบรรยากาศของการหวาดระแวงกันอยู่ไม่จบสิ้น ทั้งๆที่ หลังสลายการชุมนุมแล้ว สิ่งที่จำเป็นที่สุดที่ต้องขอย้ำและขอเรียกร้อง ก็คือการเร่งสร้าง “ความปรองดอง” ในทุกวิถีทาง แต่สิ่งที่ยังปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในขณะนี้ แต่ละฝ่ายยังคงตั้งการ์ดระแวง จนกระทบต่อบรรยากาศความปรองดอง รัฐบาลยังคงไม่คิดที่จะยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แถมยังคงมีการประกาศต่อเวลาการบังคับใช้เคอร์ฟิว ออกไปเป็นช่วงๆ สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลเองก็ยังมีความกังวลใจอยู่ลึกว่า จริงแล้ว เรื่องนี้ จบหรือไม่จบกันแน่ ขณะเดียวกัน ศอฉ. เอง ก็ได้มีการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกมาเป็นระยะๆ ไม่ขาดสาย จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่า เหวี่ยงแหมากเกินไปหรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องของการประกาศควบคุมธุรกรรมทางการเงินของบุคคล และนิติบุคคล ร่วม 146 รายข่าวปก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้สอดคล้องกับแผนปรองดอง ที่ต้องการคืนสันติให้กับประเทศชาติแต่อย่างใด เพราะในมุมของกลุ่มเสื้อแดง ก็เกิดความระแวงว่า แม้จะสลายการชุมนุมแล้ว แม้แกนนำ นปช. จะมีการมอบตัวไปแล้ว แต่ดูเหมือนยังมีลักษณะของการเล่นไม่เลิก หรือพยายามซ้ำเติมกันอยู่ ในแง่ของความรู้สึกจึงยังมีอาการเปราะบาง นั่นคือสิ่งที่น่าเป็นห่วง และเป็นสิ่งที่รัฐบาล สิ่งที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี รวมทั้งบรรดาแกนนำ ศอฉ. จำเป็นที่จะต้องตอบ จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมไทย มากเสียยิ่งกว่าการเร่งชี้แจงบรรดาต่างประเทศเสียด้วยซ้ำ เพราะต่างชาติก็คือต่างชาติ ธรรมเนียมการทูต และมารยาทของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นมีกรอบล็อกอยู่ แม้จะห่วงจะกังวล แต่การทูตก็ไม่สามารถที่จะเข้ามายุ่งเกี่ยวอะไรได้มาก ...คงทำได้แค่แสดงความห่วงใยและวิตกกังวลเป็นหลัก อย่างเช่นที่ นายเตวกู ไฟซาซีอะห์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ออกมาระบุว่า รัฐบาลอินโดนีเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุดโดโยโน กำลังวิตกว่าความไร้เสถียรภาพ ที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทย อาจเป็นเชื้อไฟอย่างดีที่จะส่งผลให้เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ และวิกฤติด้านความเชื่อมั่นลุกลามไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนกระทบกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่นเดียวกับวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในเอเชียเมื่อปี 2540 ซึ่งก็มีจุดเริ่มต้นจากวิกฤติต้มยำกุ้งในประเทศไทยเช่นเดียวกัน แต่ก็ยังโชคดีที่ดูเหมือนผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในสิงคโปร์ ยังคงเห็นว่า ยังค่อนข้างโชคดี ที่ในขณะนี้นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่มองปัญหาทางการเมืองของไทย ว่ายังไม่ได้ เป็นปัญหาต่อการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในภาพรวม โดยเข้าใจดีว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเฉพาะของไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น ดังนั้นยังคงจำเป็นต้องย้ำเตือนรัฐบาล และนายอภิสิทธิ์ ว่าความปรองดองที่แท้จริง ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในสถานการณ์ขณะนี้ ความรู้สึกที่คลางแคลงใจต่อกัน ควรที่จะต้องลดลงให้ได้ กระบวนการเหวี่ยงแหโดยอาศัยอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นหลัก ควรจะต้องมีการทบทวนว่ายังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ เพราะต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ประโยคคำพูดของนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่พูดชัดเจนว่า หลังจากที่กลุ่ม นปช.ยุติการชุมนุมดูเหมือนว่า จะเป็นการเพิ่มวิกฤติอยู่มาก โดยเฉพาะการที่รัฐบาลใช้ความรุนแรงอย่างไร้ทิศทาง จนเกิดการสูญเสีย มีผู้เสียชีวิตกว่า 80 คน และบาดเจ็บร่วม 2,000 คน จึงเห็นว่าวิกฤติจะยิ่งซ้ำเติมยิ่งขึ้นมีการตอบโต้ล้างแค้นเข้าสู่ความขัดแย้งที่มากขึ้น เป็นผลจากการที่รัฐบาลล้มเหลวในการเจรจาสู่ความปรองดอง ซึ่งแผนการปรองดองของนายอภิสิทธิ์นั้น ต้องทำความเข้าใจกับเรื่องนี้เสียใหม่ อย่าเอาความเห็นที่แตกต่างทางการเมืองของผู้ที่อยู่ตรงข้ามมาเป็นศัตรู รวมทั้งรัฐบาลเอง และควรใช้กฎหมายตามที่จำเป็น ไม่ควรเกินเลยเพื่อเป็นเครื่องมือทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามที่สำคัญกระบวนการยุติธรรมจากนี้ไปต้องน่าเชื่อถือ และทุกฝ่ายยอมรับ “ห่วงว่าการต่อสู้ของคนที่เห็นต่างที่ไม่ได้รับความยุติธรรมอาจจะใช้วิธีการต่างๆ ต่อต้านรัฐบาลซึ่งมีโอกาสสูง แต่โดยส่วนตัวไม่สนับสนุนขบวนการใต้ดิน เพียงแต่เป็นห่วงว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ ถ้าบ้านเมืองยังไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่สามารถหาคนผู้ฆ่าประชาชนมาดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมหรือการหาผู้รับผิดชอบต่อผู้ที่เสียชีวิตจำนวนกว่า 80 ศพ จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาให้รอบคอบในการตั้งข้อหาดำเนินคดี ไม่ใช่เหมารวมว่าใครก็เป็นผู้ก่อการร้ายหมด มิฉะนั้น หากไม่มีความเป็นธรรมประเทศก็อาจจะถลำลึกกว่านี้” นายจาตุรนต์กล่าว ซึ่งนายจาตุรนต์ ยังเห็นว่า เหตุการณ์พฤษภาทมิฬมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลถูกขับไล่จนอยู่ไม่ได้ ตรงกันข้ามกับเหตุครั้งนี้ เป็นเพราะรัฐบาลได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอำนาจหลายฝ่าย ทั้งที่รัฐบาลนี้ทำผิด สังคมไทยต้องไม่ควรยอมรับเพราะประจักษ์ชัดว่า รัฐบาลนี้ทำผิด ส่งกำลังทหารปราบปรามประชาชนนี่คือความรู้สึก และมุมมองหนึ่งที่สะท้อนแทนกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง ที่คงจำเป็นต้องบอกว่า รัฐบาลไม่ควรที่จะมองข้าม หรือแม้แต่กระทั่งทำเพิกเฉยไม่นำพา... แต่ควรจะหาทางทำให้ทุกเรื่องกระจ่างอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมจริงๆ เพื่อให้เกิดการยอมรับขึ้นให้ได้ในสังคมไทยหากความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือความรู้สึกว่ากฎหมาย 2 มาตรฐาน หมดไปจากสังคมไทยได้ ... สันติ และความปรองดองก็น่าที่จะเกิดขึ้นได้ไม่ยากแน่ ดังนั้นในเวลานี้ แน่นอนว่าภาระหนักหน่วงจึงต้องตกเป็นของรัฐบาล เป็นของนายอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาให้ได้ประการแรก ก็คือ ควรจะต้องเร่งทบทวนบทบาทของ ศอฉ. และการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่ายังมีความจำเป็นอยู่จริงๆ หรือไม่ เพราะนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็ยอมรับว่า ได้ลงนามคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอเข้าตรวจค้นบ้านของเครือข่าย แกนนำ นปช. ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด กว่า 10 จุด แต่สุดท้ายเบื้องต้นก็ไม่พบอาวุธ และไม่ได้พบหลักฐานสำคัญ พบแค่ข้อมูลที่น่าจะมีความเชื่อมโยงทางคดีเพียงเล็กน้อย และได้อายัดของใช้บางส่วนมาตรวจสอบขยายผลเพิ่มเติ่ม ส่วนกรณีอายัดการทำธุรกรรมทางเงินบุคคลตามคำสั่ง ศอฉ.นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งข้อมูลย้อนหลัง 9 เดือน จากธนาคารและสถาบันการเงิน ของบุคคลตามที่ศอฉ.ประกาศ ทำธุรกรรมก่อนหน้านี้ ซึ่งจะครบกำหนดภายในวันที่ 26 พ.ค. และล่าสุดยังไม่ได้รับรายงานว่า มีบุคคลใดส่งเรื่องมายัง ศอฉ. ให้เพิกถอนคำสั่งอายัดการทำธุรกรรมแต่อย่างใด ซึ่งระหว่างการสอบสวน ดีเอสไอ จะพยายามไม่ขยายเครือข่ายผู้ที่ต้องถูกระงับการทำธุรกรรมทางการเงินแบบเหวี่ยงแห แต่จะสั่งห้ามเฉพาะราย เพื่อไม่ให้กระทบสิทธิของผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่สำคัญนายธาริตเองก็ยอมรับว่า คำสั่งระงับการทำธุรกรรมจะมีผลไปเรื่อย จนกว่าจะมีประกาศยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน นั่นคือสิ่งที่นายอภิสิทธิ์ ควรต้องพิจารณาว่าน่าจะลดแรงกดดันกับความรู้สึกที่ว่ามีรายการเหวี่ยงแหหรือไม่... ถ้าเร่งทำเรื่องนี้โดยเร็ว เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล และทำให้เกิดความปรองดองได้เร็วขึ้น ประการต่อมาก็คือ ถึงขณะนี้สังคมจับตามองว่า แผนปรองดองยังคงมีอยู่หรือไม่ เพราะท่าทีของรัฐบาลและ ศอฉ. ที่ไม่เลือกการเดินหน้าเจรจา ตามแนวทางของ นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภาและ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา ที่พยายามจะให้มีการเจรจาแม้ในวินาทีสุดท้าย แต่เนื่องจาก ศอฉ. เลือกการสลายการชุมนุมแทน ทำให้เกิดคำถามมากตามมาว่า แล้วแผนการปรองดองยังคงไม่อยู่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ควรที่จะต้องตอบตรงๆ ไม่ใช่ตอบในแนวทางของการเมืองเช่นที่ผ่านมา เพราะขณะนี้ไม่มีความจำเป็นในการที่จะต้องช่วงชิงความได้เปรียบแล้ว และสุดท้ายประการที่ 3 ก็คือ เรื่องของการกำหนดวันเลือกตั้ง 14 พฤศจิกายนนั้น หากจะมีการเลื่อนออกไปจริงๆ นายอภิสิทธิ์จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะต้องชี้แจงให้กระจ่างว่าที่ผ่านมาว่าจะเลื่อน หรือยกเลิก เพราะอะไร การที่บอกว่า เมื่อไม่มีการเจรจา ไม่มีการรับแผน เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งก็เป็นอันยุติไปนั้น ดูจะไม่เป็นการดีกับภาพลักษณ์ของทั้งนายอภิสิทธิ์ และรัฐบาลเองเลยแม้แต่น้อยยิ่ง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่เคยปฏิเสธการยุบสภาก่อนครบวาระ เพราะคือกระบวนการปกติตามระบอบประชาธิปไตย เพียงแต่ว่าก่อนหน้านี้ตอนที่เสนอแผนปรองดอง ซึ่งมีวันที่ 14 พฤศจิกายน เป็นวันเลือกตั้ง เป้าหมายคือว่าการเลือกตั้งหรือการยุบสภานี้ ควรจะเป็นการเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรม แข่งขันกันได้อย่างเสรี และที่สำคัญคือเลือกตั้งกันอย่างสันติ ไม่ใช่การเลือกตั้งที่นำไปสู่ความรุนแรง “ผมก็ได้บอกหลังแกนนำไม่ยุติการชุมนุมว่าตอนนี้ต้องกลับมาเป็นดุลพินิจของผม ว่าความเหมาะสมของการเลือกตั้งควรจะเป็นอย่างไร วันนี้ไม่มีใครบอกได้หรอกครับ เรายังไม่ทราบเลยว่าเหตุการณ์จากนี้ไปจะเป็นอย่างไร เพราะยังมีกลุ่มคนบางกลุ่มยังพูดถึงการจะต่อสู้ จะมีการชุมนุมอีกในเดือนมิถุนายนนี้ยังมีคนพูดอย่างนั้นอยู่ เราก็ว่าไปตามสถานการณ์” วันนี้สังคมไทยกำลังจับตามองว่า สุดท้ายดุลพินิจของนายอภิสิทธิ์ จะออกมาอย่างไร